สมองกล 100 $US - Institute of Field roBOtics (FIBO)
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • ไทย
    • อังกฤษ

สมองกล 100 $US

logo robot brain

สมองกล 100 $US

 

22-1

วันก่อนผมได้พบกับ ดร. นิโคลัส นิโกรปอนเต้ แห่งมีเดียแล็บ สถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซตส์ (Media Lab, Massachusetts Institute of Technology: MIT) ได้สนทนากันถึงเรื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพาราคา 100 $US จึงทราบว่าตอนนี้บริษัทคอมพิวเตอร์ยักษ์ใหญ่ของไต้หวัน “ควอนตร้า” ได้รับจ้างผลิตล็อตแรกให้กับประเทศที่ร่วมโครงการ ซึ่งมี จีน อินเดีย อียิปต์ อาร์เจนตินา บราซิล และไทย

ในขณะนี้อยู่ในช่วงที่แต่ละประเทศสามารถดัดแปลงข้อกำหนดทางเทคนิค ตามความเหมาะสมของการใช้งานแต่ละประเทศ น้องๆ และคุณครู มีความคาดหวังว่าอยากใช้คอมพิวเตอร์ในงานใดบ้าง กรุณา e-mail มาที่ผม เพื่อประมวลข้อมูลให้สอดคล้องกับทาง Hardware Specification.

เอ็มไอที ร่วมกับสมาคมที่ไม่แสวงหาผลกำไร “เด็กหนึ่งคนคอมพิวเตอร์หนึ่งเครื่อง” (One Laptop per Child Nonprofit Association) สั่นสะเทือนวงการอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์โลกด้วยการออกแบบเพื่อสร้างคอมพิวเตอร์ราคาถูกเครื่องนี้ ในฐานะวิศวกรที่คุ้นเคยกับการผลิตที่ละจำนวนมากๆ ผมไม่แปลกใจเลยที่ได้ยินว่า ต้องมีการผลิต 7-8 ล้านเครื่องจึงจะได้ราคานี้

เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านในช่วงที่ผมไปติดตามโครงงานต่างๆระหว่าง เอ็มไอทีกับประเทศไทย ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนข้อมูลทางเทคนิคกับทีมพัฒนาของมีเดียแล็บ ผมชอบใจที่ ผู้ประดิษฐ์คิดลึก-คิดไกล ออกแบบให้มี ที่ปั่นไฟในตัวเอง ดังนั้นจึงไม่ต้องมีปลั๊กไฟตามโต๊ะให้ยุ่งยากวุ่นวาย อีกทั้งน้องๆ ยังนำแลปทอปนี้ไปใช้งานที่สนามหญ้าเด็กเล่น หรือเข้าป่าเข้าพงก็ทำงานได้อีกด้วย จอแสดงผลทำงานได้อย่างชัดเจนกลางแจ้ง นอกจากนี้ แลปทอปแต่ละตัวทำหน้าที่เป็นโหนดในการสื่อสารถึงตัวอื่นๆในระยะหนึ่งกิโลเมตรได้ตลอดเวลาที่มีไฟเลี้ยงอยู่

ผมได้ส่งนักศึกษาระดับปริญญาเอกจากสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) ไปทำงานวิจัยที่ มีเดียแลป เอ็มไอที ร่วมกับนักศึกษาคนไทยอีกสองท่านที่นั่นที่จะช่วยประสานงานให้เราเข้าใจเทคโนโลยีใน 100$US แลปท็อบนี้ดีขึ้น

อย่างไรก็ตามผมไม่คิดว่า เรื่องเทคโนโลยีดีมีส่วนเกี่ยวข้องกับความสำเร็จของโครงการนี้มากเท่าใดนัก การจัดการในระดับประเทศของโครงการนี้จึงต้องเน้นไปที่เนื้อหาและซอฟท์แวร์ไทย โดยเริ่มที่การศึกษาวิจัยเพื่อหาความต้องการในด้านการใช้งานที่เหมาะสมเพื่อกำหนดมาตรฐานเครื่องและซอฟท์แวร์ จากนั้นควรจัดประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกับคุณครู และน้องๆนักเรียนในกลุ่มตัวอย่าง เพื่อขยายผลในการตรวจสอบข้อมูลให้มีความชัดเจนแม่นยำ

บริษัทข้ามชาติมักชื่นชมความสามารถคนไทยเรื่องการออกแบบ Graphic User Interface (GUI) สำหรับระบบปฏิบัติการและซอฟท์แวร์พื้นฐาน โดยเฉพาะความเข้าใจที่ง่ายต่อการใช้งาน เหมาะสมต่อการเรียนของนักเรียนกลุ่มเป้าหมาย GUI นอกจากใช้งานได้ดีแล้ว ยังมีความโดดเด่นด้านความสวยงามอันก่อให้เกิดแรงจูงใจในการเรียน ดังนั้น ทีมผู้ชำนาญการของไทยเองจะเป็นผู้สร้างต้นแบบเหล่านี้ หลังจากมีการทดสอบระบบปฏิบัติการและซอฟท์แวร์พื้นฐาน ทั้งในด้านการใช้งาน และ GUI อย่างเข้มข้นแล้ว จึงจะขยาย scale ให้คุณครู และ น้องๆ ที่มีความสนใจ นำต้นแบบนี้ไปขยายผล

เนื่องจากวัตถุประสงค์หลักของการใช้งานแลปท็อปนี้เน้นเพื่อเป็น “เครื่องมือ” ในการเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อให้ก่อเกิดปัญญาให้แก่เด็กนักเรียนในระดับป.1-6 ในระดับมหภาคจำนวนถึง 1 ล้านเครื่อง ดังนั้น เนื้อหาของโปรแกรมที่บรรจุไปพร้อมกับแลปท็อปจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวด มิฉะนั้น น้องๆ รับแลปท็อป อาจนำไปเล่นแต่เกมคอมพิวเตอร์อย่างเดียวเท่านั้น

โดยทั่วไปเราอาจจำแนกการใช้งานแลปท็อปสำหรับนักเรียนได้ดังนี้ (1) การพิมพ์รายงาน, (2) การสร้างงานสำหรับแสดงผลงาน (3) การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่ประกอบไปด้วย การท่องอินเทอร์เน็ต การตรวจเช็คอีเมล์ การติดต่อโดยใช้ Instant Messager และการเข้าใช้ Webboard (4) การอ่าน e-Document เช่น เอกสารประกอบการเรียนการสอน แบบทั้ง interactive และ non-interactive (5) การสืบค้นข้อมูลแบบ offline เช่นจาก CD-ROM หรือ ฮาร์ดดิส (6) งานด้านกราฟฟิก เช่นการวาดรูป สร้างกราฟ และ (7) งานด้านมัลติมีเดีย เช่น ดูหนัง ฟังเพลง และ เล่นเกมต้องยอมให้บ้าง เพราะการเล่นถือเป็นการเรียนรู้อย่างหนึ่ง

นอกจากนี้ เราได้ร่วมมือกับ ท่านอาจารย์ ซีมัวร์ แพรพเพิร์ด ปรมาจารย์ด้านการเรียนรู้ของ เอ็มไอที พัฒนาขบวนการเรียนรู้ด้วยปัญญา และนำมาใช้กับ โรงเรียนดรุณสิกขาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี นั้น เราประยุกต์และ “บูรณาการ” แนวความคิดจากทฤษฎี Constructionism ของท่าน เข้ากับธรรมชาติของผู้เรียนรู้ในสภาพสังคมและวัฒนธรรมไทย โดยเน้น การเรียนรู้อย่างธรรมชาติที่เกิดจากทัศนคติของน้องผู้เรียนเอง ถ้าผู้เรียนมีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนนั้นๆ ย่อมทำให้การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นเต็มไปด้วยความกระตือรือร้นอยากเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา

ปกติแล้ว การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา ไม่ถูกจำกัดเฉพาะในห้องเรียนหรือห้องคอมพิวเตอร์แต่เพียงเท่านั้น สภาพแวดล้อมในการเรียนที่ดีส่งผลให้การเรียนรู้นั้น เป็นไปอย่างมีสนุกสนาน และมีประสิทธิภาพ จนถึงการสร้างองค์ความรู้ใหม่นั้น จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ถ้าผู้เรียนไม่มีโอกาสในการนำเสนอผลงานที่สร้างให้กับผู้อื่น

การเรียนรู้เป็นทีมจะช่วยให้ผู้เรียนมีความสามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆได้อย่างดีขึ้น อีกทั้งยังจะส่งเสริมให้ผู้เรียนพัฒนาความสามารถในการทำงานเป็นทีมร่วมกับผู้อื่น ซึ่งรูปแบบในการพัฒนาโปรแกรมและเนื้อหาในการเรียนรู้ใน แลปท็อป 100$US นี้ ควรสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาแบบ Open Source Project ซึ่งต้องการเชื่อมต่อกันเป็นระบบเน็ตเวิร์ค หรืออินเทอร์เน็ต อันนี้

ท่านอาจารย์ ประเวศ วะสี เคยกล่าวไว้ว่า ความรู้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทุก 4-5 ปี ความรู้จะเพิ่มขึ้นหนึ่งเท่าตัว ดังนั้นการรู้และการคิดแบบแยกส่วน ในความรู้ที่มากมายมหาศาลนี้ จึงมีลักษณะของ “ตาบอดคลำช้าง” ซึ่งดูเสมือนว่าแต่ละคำตอบถูกหมดแต่เมื่อนำมารวมกันแล้ว กลับผิดความจริงไป เราจึงต้องเปลี่ยนมาคิด-มารู้แบบเป็นองค์รวมมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องผสาน “การรู้ตัวเอง” กับสภาวธรรมจริงรอบๆตัวเองได้

ดังนั้น เครื่องมือที่ช่วยในการเรียนรู้ จำต้องมีคุณลักษณะเป็น “เวที” ให้น้องๆได้สร้างผลงานผ่านความคิดเชิงระบบ อีกทั้งการทำ Simulation ยังช่วยพัฒนาการคิดอย่างเป็นองค์รวมของผู้เรียน อันที่จริง ดร. นิโกรปอนเต้ บอกผมว่าท่านหวังมากกว่านี้ อยากเห็นเด็กทั่วโลก สามารถคิดในสิ่งที่กำลังคิด: Thinking of Thinking ได้ เนื้อหาการเรียนรู้จึงต้องครอบคลุมทั้งการพัฒนาวิชาเรียนและทักษะการดำเนินชีวิต

แม้ว่าคอมพิวเตอร์ 100 $US เครื่องนี้จะไม่ใช่ “สมองกลอัจฉริยะ” แต่ก็เน้นเรื่องการให้น้องๆสามารถติดต่อถึงกันได้โดยตลอดเวลา เพื่อแลกเปลี่ยน “พหุปัญญาอัจฉริยะ” ซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ เนื้อหาและซอฟต์แวร์ที่ใช้ต้องสอดคล้องกับการต่อยอดปัญญาท้องถิ่น ที่น้องๆ อยู่อาศัย ปฏิสัมพันธ์และปฏิบัติจนเกิดตัวอย่างจริงและผลลัพธ์ที่ใช้ประโยชน์ได้

นอกจากนี้ การที่น้องๆมีช่องทางหาความรู้ได้เอง นำมาเพื่อวิเคราะห์แก้ไขปัญหาตรงหน้าได้แล้ว ยังเกิดความเคยชินและสำนึกว่าความรู้เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ต้องไม่ไปยึดมั่นถือมั่นมากจนเกิดการเรียนมาก รู้มาก จนบางครั้ง ก็หนักมาก ทุกข์มาก ทุกข์โดยไม่จำเป็น เพราะเราไปจำและใช้ “สัญญาขันธ์” ยึดถือ ความฉลาดแบบดั้งเดิม เป็นสรณะ แทนการใช้ ปัญญาและการปฏิบัติที่นำไปสู่ความรู้ตามสภาวธรรมจริง

เรื่องที่ “สัญญา” แอบมาทำหน้าที่แทน “ปัญญา” นี้ เกิดขึ้นกับผมอยู่บ่อยๆ หากตามไปดูจิตตัวเองไม่ทัน เมื่อมีโอกาสจะมาเล่าให้ฟังครับ

ท่านผู้อ่านสามารถส่งข้อคิดเห็น/เสนอแนะมาที่ผู้เขียนที่ djitt@fibo.kmutt.ac.th

——————————————————-

ข้อมูลจำเพาะของผู้เขียน

djitt2

     ดร. ชิต เหล่าวัฒนา จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาและทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา

ภายหลังจบการศึกษา ดร. ชิต ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม “ฟีโบ้ (FIBO)” เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เพื่อทำงานวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนให้คำปรึกษาหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และบริษัทข้ามชาติ (Multi-national companies) ในประเทศไทยด้านการลงทุนทางเทคโนโลยี  การใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติชั้นสูง และการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ

Categories: บทความของ ดร. ชิต เหล่าวัฒนา