หุ่นยนต์ช่วยการเรียนรู้ - Institute of Field roBOtics (FIBO)
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • ไทย
    • อังกฤษ

หุ่นยนต์ช่วยการเรียนรู้

logo robot brain

หุ่นยนต์ช่วยการเรียนรู้

 มีคุณพ่อคุณแม่หลายท่านโทรมาปรึกษาและอีเมล์มาถึงผมเพื่อขอแนวทางการสนับสนุนให้บุตร – ธิดา ที่มีความสนใจด้านหุ่นยนต์ สามารถพัฒนาตนเองต่อไปทางด้านการศึกษาและอาชีพในสาขานี้

ผมถามท่านเหล่านั้นว่าทราบได้อย่างไร? ว่าน้องๆ สนใจวิทยาการหุ่นยนต์จริง เป็นไปได้ว่า ความสนใจของน้องเกิดจากการกระตุ้นให้เรียนรู้มากขึ้นจากอุปกรณ์ – ของเล่น เช่น เลโก้ (LEGO) และอื่นๆ ที่สนุกสนานเสริมจินตนาการให้เด็กสามารถประลองความคิด สู่สิ่งประดิษฐ์ที่สัมผัสแตะต้องได้จริงขึ้นมาได้

ลักษณะโดดเด่นของเทคโนโลยีหุ่นยนต์คือ การผสมผสานสหวิทยาการพื้นฐานหลายสาขาเข้าด้วยกัน เพื่อให้สิ่งที่เราเรียกว่า “หุ่นยนต์” สามารถรับรู้ ประมวลข้อมูลที่รับรู้มา และตอบสนองโดยการเคลื่อนไหวเคลื่อนที่ได้ ส่วนที่สำคัญคือการผสมผสานนี้ไม่ได้สิ้นสุดที่คำตอบเดียวหรือรูปแบบเดียวเสมอไป ขบวนการเรียนรู้สหวิทยาการ อาศัย “การปฏิบัติ” จริงเพื่อเข้าถึง “ความรู้” อันแท้จริง ความเพลิดเพลินพร้อมการเรียนรู้ในขณะเดียวกันจึงเกิดขึ้น เมื่อน้องๆพยายามคิด/ประกอบหุ่นยนต์ ให้ทำงานได้ตามความคิดของตนเอง

ในที่ประชุมโรโบเฟสตา 2005 ณ เมืองนาโกย่า ประเทศญี่ปุ่น นอกจากการหารือเรื่องการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์และหุ่นยนต์แล้ว พวกเรายังวางแนวทางการเรียนรู้ของเด็กๆ ผ่านการใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ด้วย โดยมีการแข่งขันหุ่นยนต์นานาชาติ เช่น RoboCup Junior เป็นเวทีให้เยาวชนแต่ละประเทศทั่วโลก ได้มาพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ตลอดจนความรู้ซึ่งกันและกัน

ผมได้รับมอบหมายให้จัดตั้งหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการแข่งขันนี้ขึ้นที่ประเทศไทยเพื่อหาตัวแทนสู่ทีโลก ท่านผู้ปกครอง/ครูอาจารย์ และน้องๆที่สนใจโปรดติดตามความก้าวหน้าเรื่องนี้จาก FIBO Homepage https://fibo.kmutt.ac.th

นอกจากการเป็นเทคโนโลยีเพื่อเรียนรู้ดังกล่าวข้างต้นแล้ว หุ่นยนต์เองยังเป็นเทคโนโลยีที่สำคัญที่ได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็วในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาด้วยงานวิจัยและพัฒนา นักวิชาการจึงคุ้นความหมายนี้ของหุ่นยนต์ ประเทศที่ก้าวหน้าอย่างที่ญี่ปุ่นและอเมริกา ลงทุนด้านนี้มหาศาล เพื่อสร้างองค์ความรู้พื้นฐานด้านหุ่นยนต์เพื่อชิงความเป็นผู้นำที่แท้จริง

3

แนวโน้มของโลกหุ่นยนต์อนาคตสามารถดูได้จากหัวข้องานวิจัยที่เสนอในงานประชุมวิชาการนานาชาติชั้นนำต่างๆ เช่น งาน Intelligent Robotics System (IROS) ปีนี้ ณ ประเทศแคนนาดา จะพบว่าเรื่องหุ่นยนต์คล้ายมนุษย์ (Humanoid) ได้รับความสนใจอย่างมาก ถัดมาคือ การทำงานร่วมกันของกลุ่มหุ่นยนต์ และสัญญาณระบบประสาทควบคุมหุ่นยนต์

เป็นที่น่ายินดีว่านักวิจัยหุ่นยนต์ไทยที่เน้นงานวิจัยพื้นฐาน มีอยู่พอสมควร ท่านเหล่านี้ได้รับทุนการศึกษาจากรัฐบาลไทยศึกษาระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยชั้นนำของทั้งอเมริกา ยุโรปและเอเชีย แม้แต่ขณะนี้ยังได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนันสนุนงานวิจัย (สกว.) จึงทำให้องค์ความรู้พื้นฐานด้านหุ่นยนต์ของไทย ไม่เป็นรองใครในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เมื่อเวลาจำเป็นมาถึง ผลงานของนักวิจัยเหล่านี้จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศชาติ มีความแข็งแกร่งด้านเทคโนโลยี เพราะมีฐานกำลังขององค์ความรู้อย่างแท้จริง น้องๆ ที่อยากเป็นนักเทคโนโลยีหุ่นยนต์ในความหมายที่นักวิจัยรู้จักนี้ ผมขอแนะนำให้ใส่ใจ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์กายภาพ ให้มากไว้ วิทยาการทั้งสองจักเป็นอาวุธสำคัญให้น้องๆรู้แจ้งแทงตลอด ทั้ง Perception- Cognition-Actuation ได้เป็นอย่างดี เช่น การเดินแบบพลศาสตร์ของหุ่นยนต์อาซิโม ของบริษัทฮอนด้า สามารถอธิบายได้ทั้งหมดโดยสมการคณิตศาสตร์ ภาษาคณิตศาสตร์ เป็นภาษาที่นักวิจัยใช้คุยกันครับ เมื่อผนวกกับวิทยาศาสตร์กายภาพ จะทำให้ปริมาณพลังงานที่ให้หุ่นยนต์ต้องใช้มีความถูกต้องและแม่นยำยิ่งขึ้น

สาธารณชน วงการภาพยนตร์ และอุตสาหกรรมที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ให้ความหมาย “หุ่นยนต์” ที่แตกต่างออกไป เน้นรูปธรรมของ ระบบหุ่นยนต์ เรื่องนี้ประเทศไทยยังล้าหลังตามประเทศญี่ปุ่นและเอมริกาไม่ทัน “นักสร้าง” หุ่นยนต์ไทยมีน้อยเกินไปทั้งๆที่ ในส่วนของRobotics Technology and Research เราไม่ได้ด้อยจากประเทศอื่นมากนัก ที่จริงชาติอื่นเขาคาดหมายว่าไทยในอนาคตจะเป็นผู้นำด้านหุ่นยนต์เนื่องจากเด็กๆประเทศเขาแข่งหุ่นยนต์ที่ไรแพ้เด็กไทยทุกที อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่างานวิจัยประยุกต์เพื่อสร้างระบบหุ่นยนต์นี้ ยังมีทางลัด และต้องอาศัยการบริหารจัดการระดับประเทศเพื่อประสานพลังจากอุตสาหกรรม หน่วยงานวิจัย และสถาบันการศึกษาต่างๆ

ส่วนที่ยังขาดทำให้เกิดขึ้น ส่วนที่ดีอยู่แล้วต้องสนับสนุนต่อไปให้ดียิ่งขึ้น

………………………………………………..

ท่านผู้อ่านสามารถถส่งข้อคิดเห็น/เสนอแนะมาที่ผู้เขียนที่ djitt@fibo.kmutt.ac.th

ข้อมูลจำเพาะของผู้เขียน

——————————————————————————————

djitt2

ดร. ชิต เหล่าวัฒนา จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาและทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา

ภายหลังจบการศึกษา ดร. ชิต ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม “ฟีโบ้ (FIBO)” เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เพื่อทำงานวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนให้คำปรึกษาหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และบริษัทข้ามชาติ (Multi-national companies) ในประเทศไทยด้านการลงทุนทางเทคโนโลยี  การใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติชั้นสูง และการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ

Categories: บทความของ ดร. ชิต เหล่าวัฒนา