อัจฉริยะเคลื่อนที่
องค์ประกอบสำคัญของหุ่นยนต์ มีอยู่สามส่วนคือ ส่วนรับข้อมูล ส่วนวิเคราะห์/สรุปความ และส่วนการเคลื่อนที่/เคลื่อนไหว ผมมักใช้มุมมองนี้ในการประเมินขีดความสามารถของหุ่นยนต์ โดยเฉพาะส่วนที่สองนั้นมนุษย์เราได้พัฒนา อัจฉริยะภาพ ขึ้นมาก จนหุ่นยนต์สามารถตัดสินใจทำงานได้เอง จบการทำงานทั้งรับข้อมูล-วิเคราะห์-แอ็กชั่น ภายในตัวเอง เป็นหุ่นยนต์อัตโนมัติอย่างแท้จริง เช่นหุ่นยนต์ที่องค์การนาซ่าใช้สำรวจดวงจันทร์ ดาวอังคาร เป็นต้น | ||||
มีคนพยายามให้ความหมายของอัจฉริยภาพและเสนอเกณฑ์วัด IQ ขึ้นมา แต่ก็ยังเป็นเรื่องถกเถียงกันอยู่มาก ทั้งนี้ ในความเป็นอัจฉริยะภาพนั้นต้องมี รู้ เกิดขึ้น หากยังมีข้อโต้แย้งอยู่ว่ามนุษย์เรามีวิธีการรู้อย่างไร แล้วเรารู้จริงแล้วหรือ? อัจฉริยภาพของหุ่นยนต์หรือปัญญาประดิษฐ์ จึงยังเทียบไม่ได้กับอัจฉริยภาพของมนุษย์ เพราะถูกจำกัดด้วยเหตุผลและประสบการณ์ที่ผ่านมาหรือ สัญญาขัณธ์ ของมนุษย์เราเท่านั้น ในโลกของหุ่นยนต์ เขาคิดได้เร็วและอย่างละเอียดด้วยวิธีการและข้อมูลที่อยู่บนฐานเหตุผลและวิธีคิดของมนุษย์ ผมเพิ่งสนทนาในประเด็นนี้กับเพื่อนนักวิจัยของ Media Lab ที่ Massachusetts Institute of Technology (M.I.T.) เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว บ่อยครั้งเราพบเห็นว่าคอมพิวเตอร์ คิดมาก คิดจนเลอะ วนเวียน หาคำตอบไม่ได้ จนค้างและหยุดการทำงานไป อันนี้แตกต่างจากมนุษย์อย่างสิ้นเชิง การรู้ของเรามิได้ขึ้นอยู่กับการคิดได้ คิดเป็นเสมอไป ท่านผู้อ่านที่สนใจพุทธธรรมคงเคยได้รับทราบคำสอน : คิดเป็นก็เย็นใจ คิดไม่เป็นก็เย็นดี อย่างไรก็ตาม นักวิจัยหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ทั่วโลก ได้เร่งเพิ่มความสามารถด้านค้นหาและวิเคราะห์/ประมวลผลข้อมูล ให้แก่อุปกรณ์ที่มนุษย์สามารถพกพาติดตัว หรือแม้กระทั่งสวมใส่ไปกับร่างกายมนุษย์ วิศวกร และสถาปนิก ที่ไปตรวจงานโครงสร้างตึกสูง จำเป็นต้องตรวจสอบความถูกต้องสิ่งปลูกสร้างและระบบต่างๆกับรายละเอียดที่ออกแบบไว้ ไม่จำเป็นต้องแบกพิมพ์เขียว จำนวนมากๆอีกต่อไปเพราะอุปกรณ์สมัยใหม่ เช่น แว่นตา นาฬิกาข้อมือ เสื้อผ้า และรองเท้า ได้ถูกออกแบบผสมผสาน ด้วยคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก กล้อง ไมโครโฟน และแน่นอนข้อมูลมหาศาลได้ถูกจัดเก็บไว้ในฮารด์ดิสก์ขนาดเล็ก 40GB มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณเหรียญสิบบาทไทย ขอให้เข้าใจว่าอุปกรณ์ตามแนวคิดนี้มิได้ต่อกับการทำงานของระบบประสาทภายใน เช่นในกรณีของ Bioimplants หรือ Biochemistry Data Gloves และ Head Mounted Devices คือตัวอย่างของอุปกรณ์ที่ผมพูดถึง ปัจจุบันยังมีการผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์แบบอ่อนตัว เพื่อฝังตัวเข้าไปในเสื้อผ้าที่เราสวมใส่อยู่ สามารถส่งผ่านข้อมูลที่ได้รับมาจากอินเทอร์เน็ตและเซ็นเซอร์ตรวจรับข้อมูลอื่นๆ อุปกรณ์พกพาที่นิยมใช้กันในปัจจุบันเช่น PDA อาจหมดสมัยไป เพราะอุปกรณ์ประเภทสวมใส่นี้เข้ามาแทนที่ ที่กำลังนิยมกันมาก คือ อุปกรณ์ดังกล่าวนี้สามารถใช้ในทางการแพทย์ ก่อนหน้านี้พวกเราส่วนใหญ่มีโอกาสพบแพทย์ปีละครั้ง แล้วพบว่าคอเรสเตอรอลพุ่งจาก 210 เป็น 430 ภายใน 1 ปี โดยที่เราหรือคุณหมอไม่มีข้อมูลของการเปลี่ยนแปลงนี้เลย ทำให้วิเคราะห์สาเหตุและผลลัพธ์จากอาการเจ็บป่วยได้ไม่ละเอียดหรือไม่ทันการณ์ ในกรณีที่ผู้ป่วยสูงอายุ การตอบสนองให้การรักษาพยาบาลอย่างทันท่วงทีจะช่วยรักษาชีวิตไว้ได้ สำหรับคนธรรมดาทั่วๆไป ข้อมูลปัจจุบันเหล่านี้ จะช่วยเฝ้าระวังสุขภาพให้ดีตลอดเวลา พวกเราทราบกันดีว่าค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยสูงกว่าการเฝ้าระวังสุขภาพค่อนข้างมาก อยู่ระหว่าง 10 100 เท่าตัวเลยทีเดียว |
||||
ใดๆ ในโลกล้วนมีของคู่กัน ทุกเทคโนโลยีมีทั้งข้อดีข้อเสีย อุปกรณ์เหล่านี้บางครั้งให้ข้อมูลมากเกินไป จนผู้ใช้เกิดอาการสำลักสารสนเทศ แม้จะมีการติดตั้งซอฟต์แวร์ช่วยกรองเฉพาะข้อมูลสำคัญ เนื่องจากการพัฒนาซอฟต์แวร์นั้นก็มาจากฐานความคิดด้านเหตุผลมิใช่ รู้ตามความเป็นจริง ดังที่ผมกล่าวไว้ในตอนต้น บางคนเมื่อใช้อุปกรณ์เหล่านี้ไปนานๆ จะยึดติดเป็นสรณะขาดไม่ได้ ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับอุปกรณ์เหล่านี้เหมือนเด็กติดเกมคอมพิวเตอร์ แม้แต่ผมเองบางครั้งทำอะไรไม่ได้เลย เมื่อขาดคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กส์ อุปกรณ์อัจฉริยะแบบสวมใส่นี้ยังเทอะทะ ดูแข็งๆยังไม่มีความงดงามแบบศิลปะ ทำให้การใช้งานอยู่ในวงจำกัด ในฐานะนักเทคโนโลยีผมเห็นว่าเมื่อช่างศิลป์เข้ามาช่วยแล้วรูปลักษณ์ต้องดีขึ้นอย่างแน่นอน แต่โจทย์ทางเทคนิคที่เหลืออยู่คือการสื่อสารข้อมูลที่แตกต่างจากการดำเนินธุรกิจโดยทั่วไป ซึ่งต้องมีข้อมูลมาก ติดต่อคนคราวละหลายพันหลายหมื่นคน แต่สำหรับอุปกรณ์นี้ เราต้องบูรณาการข้อมูลและการสื่อสารที่จำเป็นในชีวิตประจำวันไม่มากหรือน้อยจนเกินไป ผมหวังว่าอุปกรณ์อัจฉริยะแบบสวมใส่เหล่านี้ แม้จะคิดและวิเคราะห์เป็นอย่างเดียวแต่สามารถช่วยเพิ่มระดับอัจฉริยภาพของมนุษย์ให้ รู้ มากขึ้น จนกระทั่งถึงการ รู้ตามความเป็นจริง ได้ |
ท่านผู้อ่านสามารถส่งข้อคิดเห็น/เสนอแนะมาที่ผู้เขียนที่ djitt@fibo.kmutt.ac.th
——————————————————————————————
ข้อมูลจำเพาะของผู้เขียน
ดร. ชิต เหล่าวัฒนา จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาและทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา
ภายหลังจบการศึกษา ดร. ชิต ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม ฟีโบ้ (FIBO) เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เพื่อทำงานวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนให้คำปรึกษาหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และบริษัทข้ามชาติ (Multi-national companies) ในประเทศไทยด้านการลงทุนทางเทคโนโลยี การใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติชั้นสูง และการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ