ผู้สร้างเทคโนโลยี
เมื่อเดือนที่แล้ว ตอนที่ไปสร้างความร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาซูเซสต์ หรือเอ็มไอทีนั้น ผมยังได้มีโอกาสพูดคุยชักชวนให้นักเรียนไทยที่นั่นกลับมาทำงานที่เมืองไทย หลังจากจบการศึกษาแล้ว
น้องๆ ถามความเห็นผมในประเด็นยอดฮิตของนักเรียนไทยต่างแดนตามเว็บบอร์ดทั่วไป : เมื่อมีการศึกษาดี ความรู้ดี และมีโอกาสทำงานตรงกับสาขาที่เรียนมา ทำไม? ต้องกลับมาประเทศไทยสู้กับความลำบาก ทนอยู่กับระบบที่ไม่สนับสนุนความเจริญก้าวหน้าของพวกเขาเหล่านั้น |
||||
พร้อมทั้งยกตัวอย่างรุ่นพี่ที่จบเอ็มไอที กลับมาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยชั้นนำของไทยแห่งหนึ่ง สักพักก็ลาออกมาทำธุรกิจส่วนตัว อันที่จริงแล้วความเป็นพุทธศาสนิกชนและนักวิทยาศาสตร์ ทำให้ผมชอบทำมากกว่าพูด ปฏิบัติให้รู้จริงเห็นจริงด้วยตนเอง จนเกิดศรัทธาแท้ นำไปสู่ปัญญาที่ละ ทุกข์ ได้จริง แต่ครั้งนี้ยากที่จะหลีกเลี่ยง จำเป็นต้องแสดงความเห็น รุ่นพี่ที่ลาออกมาทำธุรกิจนั้น ผมเห็นว่าเขาทำประโยชน์อย่างมากมาย โดยริเริ่มธุรกิจลักษณะใหม่ ประยุกต์ความรู้พื้นฐานเพื่อหาความรู้ใหม่อยู่ตลอดเวลา ในขณะที่ธุรกิจต้องแข่งขันอย่างมากกับคู่แข่งเดิมที่ใหญ่กว่ามีเงินมากกว่า ผมชื่นชม วิธีคิด ของเขายิ่งกว่าความรู้ที่เขามีอยู่ และเชื่อว่าความสามารถของเขาอยู่ในระดับท็อปเท็นของเมืองไทย แม้นเขามิได้เป็นอาจารย์แต่ก็ยังทำประโยชน์และได้ถ่ายทอดความรู้แก่สังคมธุรกิจไทยในลักษณะใหม่ได้ ผมเห็นว่าที่น้องๆ นักเรียน/นักศึกษาโต้เถียงกันมากในประเด็นนี้ ก็เนื่องจากขบวนการศึกษาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทำให้เราเป็นคนมีเหตุผล ตัดสิน ผิดถูก โดยเครื่องมือเหตุผลนี้ จึงเกิดสภาวะธรรมที่ ถูกทั้งสองฝ่าย เพราะต่างฝ่ายต่างมีเหตุผล ผมจึงเตือนสติน้องๆที่เอ็มไอทีไปว่า จริงอยู่เรื่องของผิดถูกรู้ได้ด้วยเหตุผลแต่ ควรหรือไม่ควร นั้นรู้ได้ด้วย มโนธรรม ดังนั้น ความถูกต้องบางอย่างอาจมิใช่ความดี และความผิดไม่จำเป็นต้องเป็นความชั่วเสมอไปก็ได้ |
||||
ทุกประเทศต้องผ่านช่วงเวลาความยากลำบากทั้งสิ้น เราเกิดมาเป็นคนไทยในยามที่ประเทศต้องพัฒนาในทุก ๆ ด้าน รวมทั้งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พวกเราจึงต้องร่วมมือกัน ฮึดสู้ อดทน ทำงานหนักและประหยัด วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแข็งแรงมีส่วนสำคัญทำให้เศรษฐกิจแข็งแกร่ง คนไทยจึงจะกินอยู่อย่างพอดีได้ หากต้องซื้อเทคโนโลยีคนอื่นอยู่ร่ำไปและยิ่งไม่รู้ว่าซื้ออะไรมาด้วยแล้ว ทรัพยากรที่บรรพบุรุษไทยเหลือไว้ให้คงหมดไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้นจึงต้องเลิกเชื่อเสียที่ว่า ไทยเป็นเพียงประเทศผู้ซื้อเทคโนโลยี พุทธจริต ที่ไม่เชื่ออะไรง่ายๆจนเกินไปนี้กระมัง ที่เป็นจุดกำเนิดของสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 10 ปีที่ผ่านมาของฟีโบ้ นอกจากการสร้างความตื่นเต้นขึ้นในสังคมไทยแล้ว ยังทำให้ประชาคมวิจัยต่างประเทศทั้งที่ เอเชีย ยุโรป และอเมริกา เริ่มรู้จักประเทศไทยในฐานะ ผู้สร้างเทคโนโลยีหุ่นยนต์ มีผู้จบการศึกษาระดับปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐอเมริกา สมัครขอมาทำ Postdoctoral Research ที่ฟีโบ้ แต่ไม่สามารถรับได้เพราะเรามีงบประมาณจำกัด แม้กระทั่งรัฐบาลของประเทศเพื่อนบ้าน เดินทางไปเยี่ยมชมงานวิจัยหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน โดยตั้งใจจะกลับไปตั้งศูนย์หุ่นยนต์ที่ประเทศเขา ก็ยังได้รับคำแนะนำว่าควรมาศึกษาและดูตัวอย่างจากฟีโบ้ อย่างไรก็ตาม ฟีโบ้ยังห่างไกล จากความเป็นผู้นำเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ยังไม่สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้จริง จึงต้องมีการวางแผน 10 ปีต่อไป เพื่อก้าวขึ้นสู่สถาบันหุ่นยนต์ระดับโลก ซึ่งประกอบด้วยกันสี่ด้านดังนี้ 1. ด้านการเรียนรู้และสรรสร้างนวัตกรรม เน้นการจัดการเพื่อบุคลากรที่มีความสามารถได้ใช้ศักยภาพเต็มที่ การจัดการที่ดีสำหรับบุคลากรวิจัยอาจทำเพียงอำนวยการให้บุคลากรนั้นจัดการงานวิจัยเองได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านสารสนเทศ เพื่อให้ฟีโบ้ติดตามสอดประสานพัฒนาความก้าวหน้าเทคโนโลยีหุ่นยนต์ 2. เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพสูงทั้ง Output และ Outcome เน้นผลผลิตที่แท้จริงคือ คุณภาพของบัณฑิตวิจัยที่จบการศึกษาจากฟีโบ้ ลดอัตราเสี่ยงและแรงเสียดทานที่เกิดจาก ผู้ไม่รู้แต่มาชี้ ที่มีแนวโน้มอันตรายกว่าประเภท ผู้ไม่รู้ไม่ชี้ 3. ทางด้านงบประมาณ ต้องสร้างคุณค่าเพิ่มขึ้นจากแต่เพียงความพึงพอใจ ฟีโบ้ทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐภายนอกและอุตสาหกรรมเอกชน สิ่งที่ต้องทำอยู่และต้องเน้นต่อไปคือการให้ผู้ว่าจ้างมีความสามารถทางเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นและพึ่งพาตนเองได้เอง ทั้งนี้ เนื่องจากฟีโบ้มิใช่องค์กรทางด้านการค้าที่ต้องหารายได้จากลูกค้าอย่างต่อเนื่อง 4. ทางด้านทรัพย์สินทางปัญญา ต้องเพิ่มจำนวนสิทธิบัตรและบทความวิจัยในอัตราก้าวหน้า เร่งสร้างความเข้มข้นในงานวิจัยพื้นฐาน ซึ่งส่งผลโดยตรงทำให้ไทยเป็นผู้นำเทคโนโลยีหุ่นยนต์อย่างแท้จริง ตลอดจนมีความสัมพันธ์เชิงงานวิจัยระดับนานาชาติ เช่น Media Lab ที่เอ็มไอที และงานแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก เช่น Robo Cup และ Robo Festa เป็นต้น ผมหวังว่าน้องๆ นักเรียนไทยต่างแดน ที่โต้เถียงกันบนเว็บบอร์ดเรื่องจะกลับหรือไม่กลับเมืองไทยดีนั้น จะให้โอกาสตัวเองโดยการทดลองปฏิบัติ กลับมาสร้าง มาร่วมงานกับ ห้องวิจัย/ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยเช่นเดียวกับที่ฟีโบ้และอื่นๆ ที่มหาวิทยาลัยต่างๆ ตลอดจนที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ผมมิได้บอกว่าทุกอย่างจะราบรื่นไม่มีปัญหา แต่เป็นเรื่องที่ท้าทายมาก ปัญหากับทุกข์นั้นเป็นคนละเรื่อง ปัญหามีไว้ให้แก้ ทุกข์เมื่อเกิดขึ้นต้องกำหนดรู้แล้วไปละที่ สมุทัย ต้นเหตุของมัน พวกเรากลับมาช่วยกันทำงานที่บ้านเมืองเราเป็น เหตุปัจจัย สำคัญที่ไปทำลาย ทุกข์ จากการเป็นทาสเทคโนโลยีของผู้อื่นนั่นเอง ท่านผู้อ่านสามารถส่งข้อคิดเห็น/เสนอแนะมาที่ผู้เขียนที่ djitt@fibo.kmutt.ac.th ดร. ชิต เหล่าวัฒนา จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาและทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา ภายหลังจบการศึกษา ดร. ชิต ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม ฟีโบ้ (FIBO) เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เพื่อทำงานวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนให้คำปรึกษาหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และบริษัทข้ามชาติ (Multi-national companies) ในประเทศไทยด้านการลงทุนทางเทคโนโลยี การใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติชั้นสูง และการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ |