ประดิษฐ์ปัญญา - Institute of Field roBOtics (FIBO)
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • ไทย
    • อังกฤษ

ประดิษฐ์ปัญญา

logo robot brain

 ประดิษฐ์ปัญญา

article37-1

ท่านผู้รู้ท่านหนึ่งกล่าวว่า มีสามเหตุการณ์ยิ่งใหญ่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ หนึ่งนั้นคือการสร้างจักรวาลขึ้นมาจากบิ๊กแบง (Big Bang) สอง-สิ่งมีชีวิตได้ปรากฏขึ้น และสามเป็นเหตุการณ์ที่มีความสำคัญพอๆกับสองเหตุการณ์แรก นั่นคือมนุษย์ได้ออกแบบและสร้าง “ปัญญาเทียม”ขึ้นมา ชื่อที่ไพเราะคือ ปัญญาประดิษฐ์: เอไอ (Artificial Intelligence: AI)

ถือเป็นวิวัฒนาการของเผ่าพันธุ์มนุษย์ที่ท้าทายปัญญาทางธรรมชาติของตนเอง ผมลองค้นหาคำนี้จากกูเกิล พบถึง 111 ล้านโฮมเพจ ย้อนไปสมัยผมเรียนปริญญาเอกที่สหรัฐฯ ประมาณปี พ.ศ.2534 เรื่องของปัญญาประดิษฐ์เพิ่งเริ่มต้น เป็นเพียงประเด็นการศึกษาและวิจัยอยู่แต่ภายในห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัยชั้นนำและหน่วยงานรัฐบาล แต่ในปัจจุบันงานประยุกต์ของสาขานี้ได้แผ่ขยายเข้าไปในวงการอุตสาหกรรม ธุรกิจพาณิชย์ การแพทย์ กิจการทหารและระบบข่าวกรองป้องกันประเทศจากการก่อวินาศกรรม อุปกรณ์เช่นเครื่องปรับอากาศหรือแม้กระทั่งกล้องถ่ายรูปที่ท่านใช้อยู่อาจทำงานภายใต้การควบคุมของสมองกลที่มีโปรแกรมคอมพิวเตอร์ปัญญาประดิษฐ์กำกับอยู่

ผมเชื่อว่าต่อจากนี้ไปโลกเราจะมีผลิตภัณฑ์ที่ใช้ประโยชน์จากเอไอมากขึ้นเป็นทวีคูณและตรรกที่เกี่ยวข้องจะซับซ้อนมาก น้องๆที่กำลังว่าจะตัดสินใจเลือกเรียนสาขาใดเพื่อมิให้ตกขบวนรถ มีงานทำในอนาคต อาจพิจารณาเอาดีทางวิทยาการนี้ได้หากใจชอบ

เป็นการยากที่ตอบให้ชัดเจนลงไปว่า คอมพิวเตอร์สามารถมีความชาญฉลาดได้แท้จริงหรือไม่? เพราะความหมายของคำว่า “ฉลาดหรืออัจฉริยะ” นั้นยังไม่มีคำจำกัดความที่เห็นชอบร่วมกันในกลุ่มนักปรัชญาและนักสังคมศาสตร์ หลายครั้งที่เราท่านได้พบเห็นคนฉลาดมึนงงอยู่กับเส้นผมบังภูเขา ตกม้าตายน้ำตื้นๆอย่างง่ายดายและอย่างน่าเสียดาย
article37-2
อย่างไรก็ตาม ความพยายามมหาศาลที่พัฒนาเอไอตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมาอยู่ในกลุ่มนักวิทยาการคอมพิวเตอร์ หุ่นยนต์ และวิศวกร ซึ่งค่อนข้างผิดปกติเพราะเมื่อผมอ่านบทความวิชาการที่เกี่ยวข้องพบว่ารายละเอียดเกี่ยวข้องไปถึงด้านจิตวิทยา ปรัชญา และอื่นๆ ประเด็นคำถามและข้อหารือหลายเรื่องเช่น “เส้นแบ่งมนุษย์และเครื่องจักรกล” “ธรรมชาติและวิวัฒนาการในการใช้เหตุผลและความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์” หรือเรื่องยากๆเช่น แนวความคิดด้านอัจฉริยะภาพของมนุษย์สัมพันธ์ กับเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอย่างไร ? ได้รับการศึกษาและวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างลึกซึ้งและกว้างขวางในหมู่นักวิชาการด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ วรรณกรรม ศิลปวัฒนธรรม ศาสนา ทำไมองค์ความรู้ที่สะสมไว้อย่างมากมายกลับถูกละเลยไปในขบวนการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ หรือว่านี่คือขีดจำกัดของปัญญามนุษย์ที่มี “อัตตานุปทาน” ที่ยึดถือ ตัวกู ของกู และยึดมั่นแนวทางความคิดของตนเป็นใหญ่จนไม่สามารถพัฒนาปัญญาให้ก้าวหน้าได้ จึงเหลือแต่ความคิดแบบเห็นตามกันมาเป็นความชาญฉลาดแบบดั้งเดิม

ลูกศิษย์คนหนึ่งเคยมานั่งสนทนาธรรมกับผม เขางงคำสอนขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตรัสสอนไว้ขัดแย้งกัน พระองค์เน้นให้ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน: อัตตาหิ อัตโน นาโถ แต่ท่านก็ยังย้ำว่า สัพเพ ธัมมา อนัตตา สรรพสิ่งนั้นไม่มีตัวตน เลยสรุปไม่ได้ว่ามีตัวตนหรือไม่ นี่คือเส้นผมบังภูเขาตัวอย่างหนึ่ง

ผมจึงค่อยๆแนะลูกศิษย์ทำเข้าใจธรรมที่เนื้อหามากกว่ารูปแบบ ที่จริงแล้วพระพุทธเจ้าสอนได้ชัดเจนอย่างยิ่ง ท่านมีพระมหาเมตตาชี้ทางสว่างว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ในการทำให้ตนไม่มีตัวตน” ท่านไม่ให้เราติดยึดสมมุติบัญญัติ หนังสือเรียน คำเทศน์ แต่ให้พึ่งตนปฏิบัติจนเห็นจริงรู้แจ้งเอง เมื่อทิ้งตัวตนได้ “ปัญญาแท้” จะบังเกิดขึ้น ผมหวังว่านักหุ่นยนต์สมองกลของไทยมีปัญญาในลักษณะนี้จนสามารถเข้าถึงวิทยาการสาขาอื่นๆและนำมาบูรณาการจนสร้าง “เอไอ:สมองกลอัจฉริยะภาพ” ได้สำเร็จอย่างแท้จริง

ก่อนที่จะมาเป็นเอไอในปัจจุบัน มนุษย์มีความใฝ่ฝัน เรื่อง ไซเบอร์เนติกส์ ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2377 โดย นาย อังเดร แอมแปร์ ให้ความหมายว่าเป็นวิทยาศาสตร์ของการควบคุม อีกร้อยปีต่อมา ดร. วีเนอร์ ที่ใช้คำเดียวกันนี้อธิบายธรรมชาติของกิจกรรมที่มีระดับความซับซ้อนด้านความเข้าใจและการตีความให้ถ่องแท้ ทั้งนี้รวมไปถึงการเรียนรู้ ความจำชั้นเลิศ และตรรกะที่อธิบายพฤติกรรมต่างๆ วิสัยทัศน์ของคนรุ่นก่อนมอง ไซเบอร์เนติกส์ เป็นสิ่งที่บูรณาการธรรมชาติและของเทียมๆ เข้าด้วยกัน
article37-3

ไซเบอร์เนติกส์ เน้นเรื่องความสามารถในการคำนวณผ่านโมเดลระบบประสาทเช่น นิวรอนเน็ทเวิร์ก แปรเปลี่ยนข้อมูลทางเข้าเป็นผลลัพธ์ทางออก ทั้งสองทางเป็นข้อมูลเชิงตัวเลข จึงหลีกเลี่ยงไม่ค่อยได้ที่ต้องผูกโยงความสามารถในการอธิบายปรากฏการณ์และพฤติกรรมผ่านศักยภาพการคำนวณของคอมพิวเตอร์ ในขณะที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากวิทยาการสาขาอื่นมาช่วย จึงทำให้ได้คำตอบที่ไช้อธิบายขบวนการความคิดในวงจำกัดมากเป็นได้แค่เพียงเรื่องสมรรถนะการย่อยตัวเลขเท่านั้น ไซเบอร์เนติกส์รุ่นแรกจึงล้มเหลวด้วยประการฉะนี้

ประดิษฐ์ปัญญา ให้ได้ “ปัญญาประดิษฐ์” ถึงขั้นสมองกลอัจฉริยะภาพ นั้น ยังคงเป็นเรื่องวนอยู่ในอ่าง แต่ก็เป็นงานที่ท้าทายน้องๆและพวกเรานักวิจัยต่อไป อย่าไปติดกับดัก “เส้นผมบังภูเขา” ก่อนนะครับ

——————————————————————————————
ข้อมูลจำเพาะของผู้เขียน

djitt2

ดร. ชิต เหล่าวัฒนา จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาและทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา

 
ภายหลังจบการศึกษา ดร. ชิต ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม “ฟีโบ้ (FIBO)” เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เพื่อทำงานวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนให้คำปรึกษาหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และบริษัทข้ามชาติ (Multi-national companies) ในประเทศไทยด้านการลงทุนทางเทคโนโลยี  การใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติชั้นสูง และการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ

 

 

 

Categories: บทความของ ดร. ชิต เหล่าวัฒนา