หุ่นยนต์มิตรไมตรีจิต - Institute of Field roBOtics (FIBO)
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • ไทย
    • อังกฤษ

หุ่นยนต์มิตรไมตรีจิต

logo robot brain

หุ่นยนต์มิตรไมตรีจิต

article38-1หุ่นยนต์มีภาพลักษณ์ของการเป็นผู้ร้ายอันน่าสะพรึงกลัว แข็งแกร่งและมีอำนาจการทำลายล้างสูงนับตั้งแต่เขาปรากฏตัวขึ้นครั้งแรกในนิยายวิทยาศาสตร์จนถึงภาพยนตร์จากฮอลลีวูดในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ภาพยนตร์เหล่านี้ก็ยังคงสร้างความรู้สึกข้างต้นไว้อย่างต่อเนื่อง

แต่เมื่อพิจารณาความเป็นจริง หุ่นยนต์ที่ถือกำเนิดมายังโลกนี้มีอายุมาแล้วกึ่งศตวรรษ ได้สร้างประโยชน์มากมายในภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่มีสภาวะแวดล้อมที่อันตรายต่อมนุษย์ กระบวนการสร้างชิ้นงานที่ต้องมีความละเอียดสูง งานรักษาความปลอดภัยและต่อต้านวินาศกรรม การสำรวจสถานที่ที่มนุษย์ไม่สามารถเข้าถึงได้โดยง่าย เช่น การสำรวจภูเขาไฟ และแม้กระทั่งนอกโลก เช่น ดาวอังคารเป็นต้น

ผมจึงเห็นว่าหุ่นยนต์ในระยะต้นนี้เป็นอุปกรณ์ที่ทำให้มนุษย์สามารถดำรงชีพและทำงานได้หลายอย่างขึ้น ทั้งนี้ “เทคโนโลยีหุ่นยนต์” เป็นศาสตร์ที่ทำงานตามกฎเกณฑ์ธรรมชาติ (Physics) และขณะเดียวกันก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้มนุษย์เข้าใจธรรมชาติมากยิ่งขึ้น

ผมได้ปรารภกับเพื่อนๆ นักวิจัยที่ มีเดียแล็บ สถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาซูเซตส์ (MIT) ว่า ณ ช่วงเวลานี้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ได้มาถึงจุดเปลี่ยนจากการแทนแรงงานคนไปอีกสถานะหนึ่งแล้ว พวกเราได้เห็นผลลัพธ์งานวิจัยด้านแฮปติกส์ (Haptics)ที่ทำให้ “หุ่นยนต์” สามารถเรียนรู้ความรู้ความชำนาญของมนุษย์ประเภทถ่ายทอดไม่ได้ทางคำพูดหรือตัวอักษร (Tacit Knowledge)

แฮปติกส์เป็นวิธีการหนึ่งในเทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่สร้างความสัมพันธ์ระหว่างการเคลื่อนที่ แรง/โมเมนต์ที่เกิดขึ้น และข้อมูลทางภาพที่เห็น (Visual Information) ซึ่งไม่มีสมการคณิตศาสตร์หรือคำพูดที่อธิบายได้อย่างสมบูรณ์แบบ ปัจจุบันมีการสร้างถุงมือผ่าตัดที่มีอุปกรณ์แฮปติกส์ติดตั้งอยู่ แล้วให้คุณหมอผู้เชี่ยวชาญใช้งาน ความสัมพันธ์ข้างต้นจึงถูกบันทึกไว้ เมื่อคุณหมอฝึกหัดมาใช้ถุงมือนี้ แฮปติกส์จะสร้างแนวทาง (Guidelines) ให้คุณหมอได้ขยับนิ้วขยับมือได้อย่างถูกต้อง ความชำนาญจึงถูกถ่ายทอดจากคุณหมออาวุโสไปยังคุณหมอมือใหม่ภายในระยะเวลาที่สั้นลง

เมื่อประยุกต์หลักการทำนองเดียวกันนี้ในบรรดากิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ เราจึงเห็นโอกาส “รำไร” ในการรักษาความสามารถของคนรุ่นเก่าๆ ที่กำลังสาบสูญไป ท่านผู้อ่านที่นิยมดูพระพุทธรูป คงเห็นด้วยกับกระผมว่า เราคงหาช่างปัจจุบันค่อนข้างยากที่มีฝีมือใกล้เคียงกับบรรพบุรุษสมัยสุโขทัย พระพุทธรูปสมัยนั้นมีรูปร่างทุกส่วนสวยงามยิ่งนัก พระพักตร์เปี่ยมด้วยพระเมตตา

หุ่นยนต์จะถ่ายทอดความชำนาญนี้ได้ อย่างน้อยหุ่นยนต์ต้องมี “ปฏิสันถาร (Interaction)” กับมนุษย์ ดังนั้นการวิจัยและพัฒนา “หุ่นยนต์มิตรไมตรีจิต (Social Robots)” จึงเริ่มขึ้น เพื่อให้มนุษย์เริ่มยอมรับในขั้นต้นได้บ้าง หุ่นยนต์ควรมีรูปร่างคล้ายมนุษย์ เช่น หุ่นยนต์อะซิโม จากฮอนด้า นอกเหนือจากนี้สภาวะแวดล้อมต้องพร้อมให้เขาเรียนรู้ด้วย มนุษย์ผู้เป็นพี่เลี้ยงต้องเข้าใจการอยู่ร่วมกับหุ่นยนต์ก่อนที่จะทำให้เรียนรู้การมาอยู่ร่วมกับเรา

article38-2       หุ่นยนต์ต้องสามารถตอบสนองในอัตราความเร็วใกล้เคียงกับมนุษย์ ช้าไปก็น่าเบื่อ เร็วไปก็น่ากลัว การติดตั้งระบบการรับรู้ (Perception) เซ็นเซอร์ต่างๆ เพื่อรับข้อมูลไปกระตุ้นความสนใจของหุ่นยนต์เป็นเรื่องที่จำเป็นยิ่ง เพื่อให้การแลกเปลี่ยนระหว่างเขากับมนุษย์มีสีสันและก้าวหน้าพ้นความจำเจ ความคาดหมายสูงเกินไปและอยากให้หุ่นยนต์ “เก่ง” เหมือนในภาพยนตร์อาจทำให้มนุษย์ผู้เป็นพี่เลี้ยง “เซ็ง” ไปเสียก่อน บางครั้งจึงต้องปฏิบัติเหมือนกับการสอนเด็กเล็กนั่นแหละครับ

หุ่นยนต์ต้องสามารถตีความ (Cognition) การแสดงออกของมนุษย์ในสังคมชนกลุ่มมาก ไม่ว่าจะเป็นทางหน้าตา คำพูด แม้กระทั่งลักษณะทางกายบางประการ ในขณะเดียวกัน หลังจากเรียนรู้หุ่นยนต์สามารถเลียนแบบการแสดงออกดังกล่าว หรือเลือกที่จะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่ต้อง “สื่อสาร” ให้พี่เลี้ยงเข้าใจความหมายของแต่ละอาการที่เขาแสดงออกมาให้เห็น

เป็นที่น่าสนใจว่าในระยะแรกๆ ของการพัฒนาหุ่นยนต์มิตรไมตรีจิตนี้ นักวิจัยหลายกลุ่มเริ่มหาแนวทางสอนให้หุ่นยนต์รู้จักความแตกต่างระหว่างความจำเป็น (Need) และความต้องการ (Want) ผมเลยเสริมต่อไปเลยว่า ในระบบประสาทเทียม (Synthetic Nervous System) ที่สร้างขึ้นมานี้ เราควรใส่ “สติ” ในลักษณะของ Precaution Module ให้เขาสามารถแยกแยะการกระทำที่อาจจะมีผลเสียตามมา มิใช่รอให้ตรวจสอบ (Sensing) ได้ก่อนแล้วค่อยหยุดการกระทำ เพราะอาจสายเกินไปและผลเสียหายได้เกิดขึ้นแล้ว
article38-3ที่ผ่านมามนุษยชาติได้รับผลกระทบในเชิงลบมากเพราะขาดสติ  ไปติดยึดเรื่องที่นำพาทุกข์มาให้ แพ้ – ชนะ ได้  เสีย ไม่มีจริง ชื่อเสียงยิ่งเป็นเรื่องไม่จริง ล้วนเป็นเรื่องสมมุติที่ลวงให้เกิดทุกข์ทั้งสิ้นหากเราเข้าไปยึดมั่นถือมั่น เรื่องจริงกลับอยู่ที่ “ใจ” ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งสอนผมว่า เมื่อละความชั่วอย่างเด็ดขาดและทำแต่ความดีแล้ว ก็อย่าไป “ติดดี” ให้ละแม้กระทั่งความดีเข้าสู่ความบริสุทธิ์ ให้มีความสงบแบบ “รู้พ้น” มิใช่สงบแบบ “ไม่รู้” หลังจากได้ปฏิบัติตามคำสอนจึงค้นพบว่า กุญแจสำคัญในการทำงานของผมอย่างไร้ทุกข์ก็คือ การมีใจที่สงบ และสามารถ “วาง” แม้กระทั่งใจที่สงบนั้นลงได้นั่นเอง
ถ้าคนเราได้ทุกอย่างดังที่คิด
สิ้นชีวิตจะเอากองไว้ที่ไหน
ได้บ้างเสียบ้างช่างปะไร
ตายไปสักนิดไม่ติดตัว

 

——————————————————————————————
ข้อมูลจำเพาะของผู้เขียน

djitt2

ดร. ชิต เหล่าวัฒนา จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาและทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา

 
ภายหลังจบการศึกษา ดร. ชิต ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม “ฟีโบ้ (FIBO)” เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เพื่อทำงานวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนให้คำปรึกษาหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และบริษัทข้ามชาติ (Multi-national companies) ในประเทศไทยด้านการลงทุนทางเทคโนโลยี  การใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติชั้นสูง และการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ

 

 

 

Categories: บทความของ ดร. ชิต เหล่าวัฒนา