อัจฉริยะสารสนเทศเพื่อการศึกษา - Institute of Field roBOtics (FIBO)
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • ไทย
    • อังกฤษ

อัจฉริยะสารสนเทศเพื่อการศึกษา

logo robot brain

อัจฉริยะสารสนเทศเพื่อการศึกษา

สมัยก่อนนั้น คนเดินทางไปที่โรงภาพยนตร์หรือโรงละครหากต้องการผ่อนคลายได้รับความเพลิดเพลินบันเทิงใจจากการชื่นชมผลงานศิลปะการแสดง แต่ด้วยข้อจำกัดarticle54-1ด้านทรัพยากรบุคคลและอื่นๆ ผลงานศิลปะเหล่านี้จึงถูกจำกัดวงอยู่แต่เพียงในเมืองใหญ่หรือสำหรับบุคคลที่มีกำลังทรัพย์และเวลาเหลือเพียงพอ อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีสารสนเทศในปัจจุบันที่อยู่ในรูปแบบดิจิตอล:วีซีดีและดีวีดี ได้มีบทบาทสำคัญยิ่งที่ช่วยลดข้อจำกัดเหล่านี้ สามารถย่นระยะทางและเพิ่มความสะดวกเราอยากจะดูเมื่อใดก็ได้ยืดหยุ่นตามความต้องการ ลักษณะนี้ยังเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้เรียนการละครที่สามารถทบทวนบทเรียนที่ตนเองบกพร่องจากการ Playback การแสดงของครูศิลป์หรือดาราศิลปินชั้นแนวหน้าได้ตามที่ต้องการ นอกจากนี้นักวิชาการใช้คำว่า scalability กับเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศ คือสามารถทำให้ระบบการเรียนรู้ขยายใหญ่ขึ้นได้โดยง่าย
เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบการพัฒนาสื่อบันเทิงเหล่านี้กับสื่อการศึกษาในระดับอุดมศึกษา (Higher Education) เราพบมีความคล้ายคลึงกันอยู่พอสมควร นักศึกษายังจำเป็นต้องไปกระจุกตัวรวมกันตามห้องเรียนที่มหาวิทยาลัยต่างๆ เหมือนกับการไปดูละครที่โรงมหรสพ แต่อย่าไปคิดว่าอาจารย์ที่สอนอยู่กำลังเล่นละครให้ดูนะครับ ท่านผู้รู้หลายท่านจึงเห็นว่าเทคโนโลยีสารสนเทศดังกล่าวข้างต้นควรถูกนำมาใช้เพื่อบริหารจัดการ “เนื้อหา” ด้านการเรียนรู้ ผมเองนั้นเกี่ยวข้องเรื่องนี้ทั้งทางตรงและทางอ้อม อีกทั้งอยู่ในระบบที่ต้องใช้เทคโนโลยีนี้ “สร้าง” คนรุ่นใหม่ จึงอยากจะเสนอความเห็นดังนี้
       article54-2        เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา ต้องมีความเป็น “อัจฉริยะ” มากกว่าการเรียงเอาตำรามาใส่ไว้ในซีดีเท่านั้น แต่ต้องมี มิติการแสดงออก (Expression of Content) ที่ครอบคลุมลักษณะการเรียนรู้ของผู้เรียน หากท่านผู้อ่านอยู่ในสาขาของวิทยาการคอมพิวเตอร์คงคุ้นเคยกับคำว่า “Semantics” ในปัญญาประดิษฐ์ ผมยังหาคำแปลไทยไม่ได้เลยครับ แต่ความหมายโดยรวมคือ การที่ผู้ใช้ข้อมูลสามารถ ค้นหาองค์ความรู้ได้หลายมิติการค้นหา ตัวอย่างเช่น เมื่อศึกษาคุณลักษณะและหน้าที่ของน๊อตชนิดหนึ่ง (Form-Function) แต่เผอิญไปเจอกลไกที่ใช้น๊อตตัวนี้อยู่ รายละเอียดความสัมพันธ์เบื้องต้นที่ต้องการก็ยังปรากฏอยู่ ผลการสืบค้นเช่นนี้จะเป็นการพอกพูนความรู้ หลายครั้งที่ผมมีโอกาสเดินดูซีดีเพื่อการศึกษาตามห้างสรรพสินค้าทั่วไปพบว่าการออกแบบโครงสร้างข้อมูลแทบไม่มีเลย ส่วนใหญ่เป็นการแปลงจากอนาล็อกสู่ดิจิตอลโดยตรง เปิดหน้าจอดูแล้วรู้สึกน่าเวทนายิ่งนัก สู้อ่านหนังสือแบบเดิมๆไม่ได้เลย
       ประการที่สองคือการสื่อสาร(Communication) ผมเองนั้นเป็นผลิตผลกับการศึกษาarticle54-3ระบบเก่า อาจารย์ของผมทั้งสามประเทศ (ไทย-ญี่ปุ่น-อเมริกา) ล้วนใช้ชอล์ก เขียนกระดานทั้งสิ้น ห้องเรียนเล็กๆจึงใกล้ชิดอาจารย์มาก ทุกวันนี้ผมเขียนสมการคณิตศาสตร์สอนลูกศิษย์ผมคราวใด จะนึกถึงครูบาอาจารย์ที่ประสาทความรู้ให้ผมในอดีต แม้กระทั่งรายละเอียดปฏิสัมพันธ์ในอดีต ผมยังจำวิธีการและแนวความคิดของแต่ละท่านได้เลยครับ เมื่อถึงเวลาเทคโนโลยีสารสนเทศต้องเข้ามีบทบาทแล้ว เราไม่ควรจำกัดเพียง “การสื่อสารทางเดียว” (Unilateral mode) กับจอคอมพิวเตอร์เพราะอาจทำลาย “ศิลปะและจิตวิญญาณ” ในขบวนการศึกษาไป ในเรื่องนี้ เทคโนโลยีเช่น “Telepresence” จะช่วยสร้างชุมชนเสมือนระหว่างผู้รู้ ผู้เรียน และผู้เชี่ยวชาญขึ้นมา และแน่นอนครับปัญญาประดิษฐ์จะแฝงตัวอยู่ในระบบด้วยเพื่อจัดการให้การสื่อสารและปฏิสัมพันธ์เกิดขึ้นในชุมชนข้างต้น โดยส่วนตัวแล้วผมไม่ค่อยเชื่อว่าจะทดแทนสิ่งที่ผมได้รับมาจากอาจารย์ผมได้เลย แต่ ณ. เวลานี้ ยังอยู่ในระยะต้นของการพัฒนา จึงยากที่จะตอบได้ และเมื่อทิศทางมาทางนี้แล้ว พวกเราที่เป็นนักวิชาการด้านนี้คงต้องช่วยกันอย่างสุดความสามารถแล้วละครับ
article54-4

สุดท้ายเป็นเรื่องของประเมินผล (Assessment) เดี๋ยวนี้นักศึกษาส่งรายงานการบ้านหลายหน้า แต่ไปคัดลอกมาจากอินทราเนตหรือไฟล์จากเพื่อน…ง่ายและเร็วดี ก็เลยไม่รู้ว่ารู้จริงหรือเปล่า? สมัยก่อนผมจะลอกการบ้านเพื่อนทั้งทีต้องเขียนด้วยลายมือตัวเองอย่างน้อยได้ทบทวน จนบางครั้งตอนสอบทำคะแนนได้ดีกว่าเพื่อนที่ให้ลอกเสียอีก ในระบบการศึกษาใหม่ที่เทคโนโลยีสารสนเทศมาเกี่ยวข้อง ความหมายของใบกระดาษปริญญาและประกาศนียบัตรคงต้องเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม หลักสูตรอาจต้องถูกสร้างขึ้นมาอย่างหลวมๆเพื่อให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาไปในทิศทางที่ตนเองมีศักยภาพได้ เราอาจได้เห็นหลักสูตรปริญญา 4 ปี ถูกทอนออกมาเป็นกลุ่มๆละครึ่งปี แล้วมีการวัดผลแต่ละครั้งและได้รับประกาศนียบัตรย่อยไป อย่างไรก็ตามมาตรฐานการวัดผลยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่มาก ต้องอาศัยงานวิจัยมาสนับสนุนและหาแนวทางที่มีประสิทธิภาพ

ข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของการหารือระหว่างผมและ Prof. Fred Moavenzadeh ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสส์ (MIT) รายละเอียดทั้งหมดอยู่ใน บทความวิชาการเรื่อง “IT-enabled Higher Educational System: A Paradigm Shift” ครับ

——————————————————————————————
ข้อมูลจำเพาะของผู้เขียน

djitt2

ดร. ชิต เหล่าวัฒนา จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาและทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา
ภายหลังจบการศึกษา ดร. ชิต ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม “ฟีโบ้ (FIBO)” เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เพื่อทำงานวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนให้คำปรึกษาหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และบริษัทข้ามชาติ (Multi-national companies) ในประเทศไทยด้านการลงทุนทางเทคโนโลยี  การใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติชั้นสูง และการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ

 

 

 

Categories: บทความของ ดร. ชิต เหล่าวัฒนา