รถอัจฉริยะ
น้องๆหลายคนที่เล่นรถวิทยุบังคับเข้าใจว่าการควบคุมรถอัจฉริยะเหล่านี้สามารถทำแบบง่ายๆคือป้อนข้อมูลมุมบิดของล้อที่ตำแหน่งต่างๆเข้าคอมพิวเตอร์แล้วสั่งการทำงาน เช่นนี้คงไม่พอ รถอัจฉริยะต้องขับเคลื่อนได้ในทิศทางและสภาพถนนที่ไม่รู้ล่วงหน้ามาก่อน แผนที่มีเพียงแบบคร่าวๆ และบางครั้งก็ไม่สามารถวิ่งบนถนนไฮเวย์ปกติได้ต้องออกนอกเส้นทาง (Off Road) ดังนั้นจึงต้องประยุกต์ใช้ ปัญญาประดิษฐ์ในขั้นตอนของการวางแผนการเดินทาง การวิเคราะห์ข้อมูลจากเซนเซอร์ต่างๆ NavLav 1 เคยเข้าใจผิดหลบเงาของต้นไม้แล้วหลงวิ่งไปชนต้นไม้เสียพังยับเยิน นอกจากนี้ผู้ประดิษฐ์ต้องเข้าใจระบบพลวัต (Dynamics System) ของรถด้วยเพื่อลดข้อผิดพลาดต่างๆ
กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ได้เล็งเห็นความสำคัญของเทคโนโลยีที่เกิดจากการพัฒนารถอัจฉริยะดังกล่าว จึงได้กำหนดการแข่งขัน DARPA Grand Challenge Desert Race ครั้งแรกในปี ค.ศ. 2003 ปรากฏว่าทีมชนะเลิศสามารถวิ่งไปไกลสูงสุดได้เพียง 7 ไมล์ มาในปีนี้ เพิ่งแข่งขันเสร็จไปเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมานี่เอง ทีมชนะเลิศมาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดมีชื่อว่า Stanley เข้าเส้นชัยหลังจากวิ่งมาแล้วถึง 131 ไมล์ด้วยเวลา 6 ชั่งโมง 53 นาที เฉือนทีมตัวต็งจากมหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน SandStorm ไป 11 นาที ที่ประสบปัญหาจากการที่เครื่องยนต์ดับกลางคัน ผลการแข่งขันนี้ทำให้ผู้จัดการของทั้งสองทีมคือ ดร. เซบัสเตียน ทรุน และ ดร. วิลเลี่ยม วิตเทเคอร์ โด่งดังมากท่ามกลางหน่วยงานทหารสหรัฐฯที่รับผิดชอบด้านพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูง
ผมขอกลับมาที่การแข่งขัน Thailand Intelligent Vehicle Challenge ของสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย เราจะมีการตัดสินโดยแบ่งเป็น 3 รอบ คือ รอบคัดเลือกจากรายงานการออกแบบ รอบแข่งคัดเลือก และ รอบแข่งชิงชนะเลิศ ในรอบคัดเลือกจากรายงานการออกแบบจะพิจารณาจากรายละเอียดในรายงานการออกแบบรถอัจฉริยะ ซึ่งรายงานจะต้องมีรายละเอียดของรถที่ใช้ ประเภทของเครื่องยนต์ ชนิดของเซ็นเซอร์ ระบบควบคุม เทคนิคการหยุดรถกรณีฉุกเฉิน และกลยุทธ์การแข่งขัน ทีมที่ผ่านรอบคัดเลือกที่มีคะแนนของรายงานดีที่สุด 25 ทีมแรก จะได้รับฮาร์ดดิสก์ซีเกท รุ่น EE 25 ความจุ 40 กิกะไบต์ ที่ถูกออกแบบสำหรับใช้งานในรถยนต์เพื่อใช้ในการแข่งขัน ในรอบแข่งคัดเลือก ผู้เข้าแข่งขันจะต้องพัฒนารถไร้คนขับให้วิ่งไปบนเส้นทางโล่ง ที่กำหนดให้ ทีมที่วิ่งได้ระยะทางไกลที่สุดเร็วที่สุด 8 ทีมแรกจะได้รับเงินสนับสนุนทีมละ 50,000 บาท ในรอบแข่งชิงชนะเลิศ ผู้เข้าแข่งขันจะต้องพัฒนารถไร้คนขับ ให้วิ่งไปบนเส้นทางที่กำหนดให้ ซึ่งมีสิ่งกีดขวางและสัญญานจราจรต่าง ๆ การตัดสินทีมชนะเลิศ จะพิจารณาจากทีมที่วิ่งได้ระยะทางไกลที่สุดเร็วที่สุดและปฏิบัติตาม กฎจราจรมากที่สุด เราจะแข่งขันกันที่ Bangkok Racing Circuit (BRC) ด้านหลังห้างสรรพสินค้าซีคอนสแควร์
สำหรับผู้สมัครเข้าแข่งขันนั้นสมาชิกในทีมต้องเป็นนักศึกษาระดับอาชีวะศึกษา ระดับอุดมศึกษาหรือสูงกว่าและมีสัญชาติไทยมีสมาชิกในทีมไม่เกิน 3 ท่าน และมีอาจารย์ที่ปรึกษาหนึ่งท่าน สามารถดาวน์โหลดใบสมัครที่ http://www.ise.ait.ac.th/TIVChallenge/index.htm
หลังจากกรอกข้อมูลให้เรียบร้อย โปรดอีเมล์ใบสมัครมาที่ ดร. มนูกิจ พานิชกุล ประธานการแข่งขัน ที่ manukid@ait.ac.th ภายในวันที่ 8 ธันวาคม 2549 ครับ
ผมหวังว่าอีกไม่เกิน 5 ปีทีมชนะจากการแข่งขันนี้สามารถเป็นตัวแทนประเทศไทยสร้างรถอัจฉริยะไปเข้าร่วม แกรนด์แชแลนจ์ ที่สหรัฐอเมริกา สร้างชื่อเสียงได้เช่นเดียวกับแชมป์หุ่นยนต์จากไทยที่ก้าวไปไกลถึงแชมป์โลก WorldCup
——————————————————
ข้อมูลจำเพาะของผู้เขียน
ดร. ชิต เหล่าวัฒนา จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาและทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา
ภายหลังจบการศึกษา ดร. ชิต ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม ฟีโบ้ (FIBO) เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เพื่อทำงานวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนให้คำปรึกษาหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และบริษัทข้ามชาติ (Multi-national companies) ในประเทศไทยด้านการลงทุนทางเทคโนโลยี การใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติชั้นสูง และการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ