หน้าตาหุ่นยนต์ - Institute of Field roBOtics (FIBO)
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • ไทย
    • อังกฤษ

หน้าตาหุ่นยนต์

logo robot brain

หน้าตาหุ่นยนต์

ในบรรดาสิ่งที่มีชีวิตด้วยกัน มนุษย์สามารถแสดงออกทางหน้าตาได้มากและซับซ้อนที่สุด ส่วนจะแสดงออกมาหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมของแต่ละชนชาติ ช่วงเวลาที่ผมศึกษาอยู่สหรัฐอเมริกามีกลุ่มเพื่อนๆ ชาวสเปน เจอกันแต่ละทีผมจะตามบรรยากาศการสนทนาไม่ค่อยจะทันเพราะมีการแสดงออกทั้งหน้าตาและท่าทางมาก ที่ผมแปลกใจคือ แม้จะแย่งกันพูดพร้อมๆกันทุกคน แต่ก็หาข้อสรุปได้โดยไม่ขุ่นข้องหมองใจกันเลย

มนุษย์ใช้หน้าตาสนับสนุนคำพูดเพื่อช่วยสื่อความหมายที่ตนต้องการ รวมทั้งสถานะอารมณ์ที่มีอยู่ ทำให้สื่อสารกับคู่สนทนาได้ดีและเร็วยิ่งขึ้น ในบางครั้งไม่จำเป็นต้องพูดเลยเพียงแค่เลิกคิ้ว ตาโต ก็อาจหมายถึงตื่นเต้นมากก็เป็นได้ หรือแม้แต่ตอนเราไปพบผู้ใหญ่แล้วท่านทำหน้าตาเฉยๆเรายังเกรงและเกร็งจนต้องตั้งสติดีๆ

การศึกษาเรื่อง “FACE ROBOT” นั้นเริ่มจากผลงานการวิจัยของนักหุ่นยนต์ชาวญี่ปุ่น: ดร. มาซาฮิโร โมริ เขาพบว่ามนุษย์มีอาการตอบสนองทางจิตวิทยาเชิงบวกต่อหุ่นยนต์ที่มีหน้าตาคล้ายมนุษย์ อย่างไรก็ตามหากสร้างออกมาบูดเบี้ยวไม่เหมือนจริง กลับทำให้ดูน่ากลัวแทนที่เราจะกล้าเข้าใกล้ไปมีปฏิสัมพันธ์ด้วย โปรดสังเกตว่าผมแปล “FACE ROBOT” ว่า “หน้าตาหุ่นยนต์” เพราะตาเป็นส่วนสำคัญที่สร้างพฤติกรรมบนใบหน้า

มุมมองอีกด้านหนึ่งของ ดร. รีด ไซมอนส์ นักวิจัยที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน ท่านเป็นอาจารย์ผมด้วย กล่าวว่าเมื่อมนุษย์ปฎิสัมพันธ์กับหุ่นยนต์นานพอจะพบว่าความสามารถของปัญญาประดิษฐ์ในปัจจุบันยังไม่สามารถสร้างพฤติกรรมโต้ตอบให้ “เนียนแบบธรรมชาติ” ในระดับของมนุษย์ได้ มนุษย์ก็จะเริ่มไม่ไว้ใจหุ่นยนต์ ปัญหานี้จะรุนแรงขึ้นหากมีหุ่นยนต์ที่หน้าตาเหมือนมนุษย์แต่ไร้ความสามารถ ผมคิดว่าประเด็นของ ดร. รีด น่าสนใจ เราควรมุ่งพัฒนาอัจฉริยะภาพของหุ่นยนต์ไปพร้อมกับรูปร่างหน้าตาด้วย ผมได้เคยสอบถามคนนอกวงการหุ่นยนต์ว่ารู้สึกอย่างไร หากต้องอยู่ร่วมกับ หุ่นยนต์เหมือนมนุษย์ เช่น Repliee Q1 ที่สร้างโดย Prof. Hiroshi Ishiguru แห่งมหาวิทยาลัยโอซากา คำตอบที่ได้ บวกลบเท่าๆกันครับ ที่ลบมากๆคือเห็นว่าหุ่นยนต์ประเภทนี้นั้นเหมือน “ผีดิบ” มากกว่า

70

Prof. Hiroshi Ishiguru ออกแบบ Repliee Q1 ให้มีหน้าตาและรูปร่างเหมือนกับภรรยาตนเอง ท่านคงรักภรรยามากหรือจะด้วยเหตุผลอื่นใดไม่ทราบได้ครับ Repliee Q1 ปรากฏต่อครั้งแรกต่อสายตาสาธารณะที่งาน “เอ็กซโป” ปีที่แล้ว สามารถแสดงท่าทางเชื้อเชิญได้เช่นเดียวกับมนุษย์ ใบหน้าทำจากส่วนผสมของยางธรรมชาติและซิลิโคนให้มีความยืดหยุ่นคล้ายผิวหนังของคนเรา งานวิจัยใหม่ๆจะใช้ artificial muscle based on dielectric elastomer เพื่อให้แสดงออกถึงอารมณ์ต่างๆได้อย่างอ่อนโยน กระพริบตาเป็นจังหวะหรือส่งสายตาเป็นเชิงตำหนิและชื่นชมต่อผู้ใกล้ชิด เจรจาบางคำพูดง่ายๆได้ และแม้กระทั่งมีการเคลื่อนไหวขึ้น-ลง ของหน้าอกและช่องท้องในลักษณะการหายใจเข้า-ออก ทำให้ดูเป็นธรรมชาติมากขึ้น ไม่เหมือนกับหุ่นยนต์รุ่นพี่ๆ ก่อนหน้านี้ ที่ทำมาจากโลหะและการเคลื่อนไหวยังกระโดกกระเดกไม่นิ่มนวล เฉพาะท่อนบนของ Repliee Q1 ประกอบไปด้วย 34 องศาอิสระ (Degree of Freedom) รวดเร็วพอที่เอามือมาป้องกันการจู่โจมอย่างไม่ได้ตั้งตัวจากคนข้างเคียง นักวิจัยคาดการณ์คงต้องใช้เวลาอีกสักพักใหญ่ในการพัฒนาให้ Repliee Q1 ไปถึง “แอนดรอยด์” เต็มรูปแบบ ทำงานเป็นพนักงานต้อนรับหรือไกด์นำเที่ยวได้ งานวิจัยในแนวทางนี้เกิดจากความเชื่อว่าหากหุ่นยนต์ยิ่งมีลักษณะรูปร่างและการทำงานใกล้เคียงมนุษย์เท่าไหร่ การยอมรับให้หุ่นยนต์มาอยู่ในสังคมชีวิตประจำวันของเราก็มีมากขึ้นเท่านั้น

นักออกแบบหุ่นยนต์เช่น เดวิด แฮนสัน ที่เท็กซัส ก็ได้ออกแบบหุ่นยนต์ชือว่า “เฮิรทซ์” ที่มีหน้าตาเหมือนแฟนตัวเอง กลายเป็นหัวข้อที่โต้เถียงกันมากพอสมควร แฮนสันมั่นใจว่าหน้าตามนุษย์คือ “รูปแบบธรรมชาติที่สุด” ที่มนุษย์ใช้ในการปฏิสัมพันธ์ เฮิรทซ์ มีเพียงส่วนหัวติดตั้งกล้องเพื่อใช้จับภาพและสามารถหันหน้ามองตามการเคลื่อนไหวของคู่สนทนาได้ เมื่อพิจารณาระดับอัจฉริยะภาพแล้วยังต่ำมาก อย่างไรก็ตามที่น่าทึ่งก็คือ แฮนสันมีความมุ่งมั่นสูง สร้างเฮิรทซ์ที่อพารต์เมนต์ของตนเองโดยใช้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (STUDENT LAON) เป็นทุนในการพัฒนา

งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ศึกษาอัจฉริยะภาพด้านพฤติกรรมด้านหน้าตาของหุ่นยนต์อย่างจริงจังอยู่ที่ เอ็มไอที หุ่นยนต์ “KISMET” ถูกสร้างให้มีกลไกและการควบคุมให้สามารถแสดงได้ถึง 9 อารมณ์พื้นฐาน คือ กลัว เป็นทุกข์ แปลกใจ โกรธ สะอิดสะเอียน ถมึงทึง ยอมรับ เหนื่อย และ สำราญใจที่ซับซ้อนมากคือขณะที่มีการแสดงออกทางหน้าตานั้นต้องสัมพันธ์กับอาการตอบสนองทันทีเพื่อเอาตัวรอด เช่น หุบปากปิดตาเมื่อมีอันตรายเข้าใกล้ ดังนั้นขบวนการตีความ “COGMITION” และปฏิบัติการ “ACTION” จึงมีมากกว่าหนึ่งและเป็นลักษณะคู่ขนาน (PARALLEL PROCESS)
จึงจะสามารถแสดงอารมณ์แบบพลวัตต่อเนื่องกันไปได้ใน REAL TIME ซึ่งผมคิดว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การปฏิสัมพันธ์ของหุ่นยนต์ตัวนี้ “เนียน” เป็นธรรมชาติมากที่สุด มิใช่อารมณ์กระตุก หรือเปลี่ยนไปมาจนเป็นลักษณะเพี้ยนและมนุษย์คงจะยอมรับไม่ได้

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ผมยังไม่ได้รวมถึงการ “หลอกล่อ” ทางหน้าตา ประเภทหน้าเนื้อใจเสือเลยครับ

คนที่กล้าหลอกคนอื่นได้นั้นมีความผิดปกติทางจิต คนที่รู้ว่าโดนหลอกก็ยังยอมให้หลอกน่าจะมีระดับผิดปกติสูงกว่า ส่วนคนที่สามารถหลอกตัวเองได้ต้องถือว่าถึงขั้นสูงสุดของความหลงในโมหะจิตแล้วครับ

——————————————————————————————
ข้อมูลจำเพาะของผู้เขียน

djitt2

ดร. ชิต เหล่าวัฒนา จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาและทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา

 
ภายหลังจบการศึกษา ดร. ชิต ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม “ฟีโบ้ (FIBO)” เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เพื่อทำงานวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนให้คำปรึกษาหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และบริษัทข้ามชาติ (Multi-national companies) ในประเทศไทยด้านการลงทุนทางเทคโนโลยี  การใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติชั้นสูง และการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ

 

 

 

 

Categories: บทความของ ดร. ชิต เหล่าวัฒนา