เทคโนโลยีหุ่นยนต์ในการทหาร
จั่วชื่อบทความข้างต้นเช่นนี้ อย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่าผมจะชวนท่านผู้อ่านเข้าสู่สนามรบนะครับ คำว่า การทหาร นั้นยังมีมิติความหมายครอบคลุมไปถึงการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการป้องกันประเทศกับการพึ่งตนเอง คนที่ศึกษาประวัติศาสตร์ชาติของเราย่อมรู้ดีว่า ไทยนี้รักสงบ แต่ถึงรบไม่ขลาด และเมื่อจำเป็นต้องรบแล้วผมเห็นว่าไทยจำเป็นต้องมี เทคโนโลยี พอสมควรเพื่อลดความสูญเสียชีวิตของทหารหาญและเพิ่มสมรรถนะในการปฏิบัติการ | ||
มีเทคโนโลยีอยู่สามกลุ่มหลักเมื่อทำงานประสานกันแล้วเป็นตัวบ่งชี้ว่าระบบอัตโนมัตินั้นๆคือ หุ่นยนต์ นั่นคือ การตรวจสอบ(Perception) การประมวลผล(Cognition) และ การเคลื่อนไหว(Motion and Mobility) การสื่อสารระหว่างกันจะเป็นทั้งแบบไร้สายและใช้สาย ซึ่งต้องอาศัยการใส่รหัส (Encryption) เพื่อมิให้ศัตรูล่วงรู้ความหมายเมื่อเขาดักฟังสัญญาณของเรา บางครั้งมีการป้อนข้อมูลเท็จเพื่อหลอกล่อ หากใครได้ชมภาพยนตร์เรื่อง Beautiful Minds คงเข้าใจความสำคัญของเรื่องนี้ดี ผมเคยร่วมหารือเพื่อออกแบบและสร้างระบบในการระบุตำแหน่งของระเบิดที่ฝังไว้ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ระหว่างช่วงสงครามเย็น ถ้าเป็นวัตถุทั่วไปเราสามารถใช้การสะท้อนของเสียงเมื่อตกกระทบ(Sonar) แล้วพิจารณาลักษณะโปรไฟล์ความก้องของเสียง ในกรณีชิ้นส่วนระเบิดนั้นเราจะใช้การตรวจสอบโลหะแทนเพราะสัญญาณชัดเจนกว่า อย่างไรก็ตามผมรับทราบมาจากทหารผู้เชี่ยวชาญด้านระเบิดว่าวิวัฒนาการได้เปลี่ยนมาใช้กล่องพลาสติกแทน จึงต้องหันไปตรวจสอบอนุมูลของไนโตรเจนอันเป็นส่วนประกอบสำคัญของระเบิด แต่ก็ไม่ง่ายเสียทีเดียวเพราะในดินก็มีไนโตรเจนอยู่ด้วยเหมือนกัน สุดท้ายก็เป็นเรื่องความไวและละเอียด (Sensitivity and Accuracy) ที่ต้องนำตัวกรองสัญญาณ (Filter) และซอฟท์แวร์มาช่วยในการประมวลผลครับ หากเปรียบเทียบกับหุ่นยนต์ที่สหรัฐฯ ส่งเข้าไปค้นหาตำแหน่งหัวจ่ายท่อก๊าซและน้ำมันรั่วลุกเป็นไฟกลางทะเลทรายระหว่างสงครามอ่าวเปอร์เซีย การค้นหาระเบิดฝังอยู่ใต้ดินในป่ารกชัฏของเราจึงเป็นเรื่องที่ยุ่งยากกว่ามากเลยครับ |
||
สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น คือธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์ ดังนั้นเซ็นเซอร์รุ่นใหม่ๆจึงเน้นเรื่องการมองเห็นมาก กล้องประเภท Night Vision มีการใช้งานกันจริงๆนอกจอภาพยนต์ ภาพที่ได้ (Visualization) ในบางครั้งจะผสมผสานกับคอมพิวเตอร์กราฟฟิกเพื่อสร้างรูปร่างตามข้อมูลที่เซ็นเซอร์ตรวจจับได้ อาทิเช่นรังสีความร้อนจากร่างกายมนุษย์ถูกนำมาสร้างเป็นภาพเทียมขึ้นแต่ระบุตำแหน่งได้อย่างแม่นยำ เป็นต้น สหรัฐฯเคยใช้ปลาโลมาที่ถูกฝึกอย่างดีถึงสี่ตัวติดตั้งกล้องและระบบเซ็นเซอร์ต่างๆเพื่อไปสอดแนมในช่วงต้นของสงครามกับอิรัก เจ้าสี่ตัวนี้ต้องว่ายอย่างแคล่วคล่องไปมาฝ่าดงระเบิดและอันตรายต่างๆ คนที่รักสัตว์ได้ยินเรื่องนี้แล้วคงไม่พอใจ ต่อมาหน่วยงานวางแผนงานวิจัยชั้นสูงเพื่อการทหารหรือเรียกย่อๆว่า ดาร์ป้า (DARPA) จึงเปลี่ยนความคิดมาร่วมมือกับศาสตราจารย์ลีโอนาร์ดแห่งเอ็มไอทีพัฒนาหุ่นยนต์ทำงานใต้น้ำขึ้นสร้างแผนที่ของตำแหน่งทุ่นระเบิดในระดับผิวน้ำที่ยากต่อการมองเห็นของเรือนาวิกโยธินตอนบุกเข้าฝั่ง มีการคาดคะเนกันว่าสหรัฐจะติดตั้งระบบหุ่นยนต์เพื่อกิจการทหารถึง 3,600 ระบบ งบประมาณวิจัยและพัฒนาสูงถึง 5 ล้านล้านบาท (เกือบ 5 เท่าตัวของงบประมาณทั้งปีของไทย) การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ยังล้ำหน้าไปถึงการสร้าง หุ่นยนต์บิน น้ำหนักเบา บินไปสอดแนมที่พักค่ายทหารของศัตรู จินตนาการของดาร์ป้ายังมุ่งไปที่การลดขนาดหุ่นยนต์ให้ใกล้เคียงกับนกจริงๆเพื่อพรางตาผู้พบเห็น นกหุ่นยนต์ตัวนี้ติดตั้งกล้องทีวีวงจรปิด CCTV จะบินไปมาระหว่างตึกในเมืองใหญ่เพื่อลาดตระเวนหาข้อมูลสัญญาณภาพเพื่อป้องกันการก่อวินาศกรรม ผมเคยตรวจสอบข้อกำหนดทางเทคนิค (Technical Specification) ของสถานที่ราชการไทย สมรรถนะการประมวลโดยคอมพิวเตอร์ก้าวไปไกลมากครับ ตัวอย่างเช่น หากผู้เยือนแอบวางกระเป๋าไว้ที่ด้านหน้าเคาน์เตอร์โดยที่พนักงานต้อนรับไม่เห็น ระบบประมวลผลจะเปรียบเทียบระหว่างภาพอดีตกับปัจจุบันตลอดเวลา เมื่อพิกเซลไม่ต่อเนื่องเนื่องจากมีการวางกระเป๋า กริ่งเตือนภัยจะดังขึ้นทันที |
||
ผมได้ดูทีวีตอนไปสหรัฐฯ เมื่อปลายปีที่แล้ว มีการสาธิตการระงับเหตุการณ์ปล้นธนาคาร เจ้าหน้าที่ตำรวจติดตั้ง ปืนหุ่นยนต์ กล้องสองเลนส์บนฐาน Pan/Tilt คอยสอดส่องตำแหน่งคนร้ายแล้วส่งสัญญาณไปเหนี่ยวไกปืนอย่างอัตโนมัติ ส่วนเจ้าหน้าที่หลบไปอยู่ในรถตู้กันกระสุนดูภาพจากจอมอนิเตอร์ ในอนาคตอันใกล้นี้เราคงได้เห็นระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติเหล่านี้ถูกใช้มากขึ้นในสถานการณ์การต่อสู้ที่รุนแรงที่เราทั้งหลายไม่อยากให้เกิดขึ้น ทุกคนบนโลกใบนี้ล้วนเป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ และตายตามธรรมชาติในที่สุด ดังนั้นผมไม่เห็นด้วยกับการใช้เทคโนโลยีเข้าห้ำหั่นเร่งเอาชีวิตซึ่งกันและกันเลย แต่เราจำเป็นต้องมีเทคโนโลยีเหล่านี้เพื่อป้องกันประเทศและพึ่งพาตนเองได้ครับ |
||
—————————————————————————————– ข้อมูลจำเพาะของผู้เขียน ดร. ชิต เหล่าวัฒนา จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาและทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา
|