ค่ายหุ่นยนต์ - Institute of Field roBOtics (FIBO)
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • ไทย
    • อังกฤษ

ค่ายหุ่นยนต์

logo robot brain

ค่ายหุ่นยนต์

article86-1สัปดาห์ก่อนผมได้มีโอกาสไปร่วมเปิด “ค่ายหุ่นยนต์” เป็นค่ายอบรมนักวิจัยรุ่นเยาว์ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เกิดจากความร่วมมือระหว่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช) และ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) ได้พบปะแลกเปลี่ยนความรู้กับน้องๆเยาวชน นักเรียนชั้นมัธยมปลาย ม. 4 ม. 5 และ ม. 6 ที่มาร่วมโครงการจากทั่วประเทศถึง 48 คน ภาคเหนือจากเชียงราย ภาคใต้จาก นครศรีธรรมราชและปัตตานี จำนวนนักเรียนชายและหญิงเท่ากัน

อันที่จริงก่อนหน้านี้ผมได้รับการขอร้องจากบรรดาผู้ปกครองว่า ฟีโบ้ควรจัดอบรมประเภทนี้แก่เยาวชนบ้าง แต่ด้วยขาดงบประมาณ ผมจึงต้องขอผ่อนผันไปก่อน เพราะไม่ต้องเก็บค่าใช้จ่ายจากน้องๆ ตลอดจนเราขาดทีมงานที่ต้องมารับภาระรับสมัครและคัดเลือกเด็กที่สนใจจริง โดยส่วนตัวผมมักจะรับทุกคนที่สนใจซึ่งเป็นไปไม่ได้ทางด้านค่าใช้จ่ายหากสมัครมากันถึง300-400 คน โชคดีที่โครงการค่ายวิทยาศาสตร์ถาวร สวทช ได้กรุณาอาสามาเป็นเจ้าภาพให้ทุนสนับสนุน และรับทำงานบริหารจัดการกิจกรรมที่ฟีโบ้ไม่ถนัดดังกล่าวข้างต้น เมื่อโครงการค่ายวิทยาศาสตร์ถาวร เป็นหน่วยงาน “ถาวร” ขึ้นมาจริงๆ คงจะเป็นประโยชน์ต่อเยาวชนไทยที่สนใจทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ปัจจุบันนี้เทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ มีบทบาทจริงๆในภาคอุตสาหกรรมและสาธารณะค่อนข้างมาก เพื่อให้มนุษย์มีความสะดวกและชีวิตปลอดภัยจากสภาวะแวดล้อมที่อันตราย นอกจากนี้หุ่นยนต์ยังโดนกำกับให้มีบทบาท “เทียมๆ” ทางจินตนาการในจอภาพยนต์ แต่เป็นปัจจัยที่โน้มน้าวเด็กๆให้มาสนใจเรื่องหุ่นยนต์ แม้ในบางครั้งภาพยนต์เหล่านี้ได้แถมความรุนแรงและเรื่องไม่สร้างสรรค์อื่นๆมาด้วย เป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่รุ่นเรา ต้องให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ลูกหลานเรา เพื่อเตรียมพวกเขาสู่โลกอนาคตที่ต้องอยู่ร่วมกับประชากรหุ่นยนต์

ในประเทศไทยเอง เทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง ไม่เพียงแต่ในกลุ่มคณาจารย์ นักวิจัยและพัฒนาเท่านั้น แต่ในระดับเด็กเล็กและเยาวชนก็มีกิจกรรมการแข่งขันหุ่นยนต์ในทุกระดับ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะน้องๆเหล่านี้ได้รับความเพลิดเพลินไปพร้อมๆกับการเรียนรู้ไปด้วย นอกจากนี้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนได้มีส่วนสนับสนุนให้เกิดงานนิทรรศการๆที่จัดขึ้นอย่างมากมายในแต่ละปี อย่างไรก็ตาม เด็กไทยยังขาดความรู้พื้นฐานทางด้านระบบกลไก ระบบไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ บางครั้งจึงท้อแท้article86-2เมื่อเริ่มศึกษาทางด้านหุ่นยนต์ จะหันไปปรึกกษาเพื่อนๆหรือรุ่นพี่ใกล้ตัว น้อยครั้งที่จะได้รับคำตอบที่กระจ่าง ผมเองจึงหารือกับลูกศิษย์ ที่ชมรมธนบุรีโรบอทคอนเทส ขอให้รวมตัวกันเป็นพี่เลี้ยงสำหรับค่ายหุ่นยนต์นี้ ผมเห็นพี่เลี้ยงเหล่านี้ทุ่มเทมากก็รุ้สึกดีใจแทนน้องๆและเชื่อว่าเยาวชนที่มีบุคคลิกภาพดังกล่าวนี้แหละครับที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย

กิจกรรมในค่ายนี้มุ่งเน้นการศึกษาการทดลองหาความรู้นอกชั้นเรียน น้องๆจะมีโอกาสขลุกทำงานวิจัยร่วมกับรุ่นพี่ปริญญาโทและเอกของสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนามด้วยเพื่อให้ได้ลิ้มรสการทำงานวิจัยแบบหามรุ่งหามค่ำ น้องๆจะได้สำรวจโครงสร้างหุ่นยนต์ต่างๆและเข้าใจเหตุผลในการออกแบบหุ่นยนต์แต่ละประเภท และมีโอกาสได้ออกแบบด้วยตนเอง ที่สำคัญได้พัฒนาทักษะความคิดด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ รุ่นพี่มีวิธีสอดแทรกกิจกรรมเสริมอื่นๆเพื่อสร้างความเพลิดเพลินมิให้เครียดวิชาการมากเกินไป
article86-3        สำหรับน้องๆที่พลาดจากการเข้าค่ายครั้งนี้ แต่ต้องการเข้าร่วมครั้งต่อไป โปรดติดต่อมาที่ ฟีโบ้ หรื่อที่ โครงการค่ายวิทยาศาสตร์ถาวร ศูนย์บริหารจัดการเทคโนยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีแห่งชาติ 111 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ถ. พหลโยธิน ต. คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ. ปทุมธานี 12120 โทรศัพท์ 025647000 ต่อ 1346

หวังว่าคงได้เจอกันนะครับ

 

——————————————————————————————
ข้อมูลจำเพาะของผู้เขียน

djitt2

ดร. ชิต เหล่าวัฒนา จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาและทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา

 
ภายหลังจบการศึกษา ดร. ชิต ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม “ฟีโบ้ (FIBO)” เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เพื่อทำงานวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนให้คำปรึกษาหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และบริษัทข้ามชาติ (Multi-national companies) ในประเทศไทยด้านการลงทุนทางเทคโนโลยี  การใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติชั้นสูง และการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ

 

 

 

 

 

Categories: บทความของ ดร. ชิต เหล่าวัฒนา