|
อุตสาหกรรมฮาร์ดดิสค์ในไทย
วันนี้ ผมขอนำท่านผู้อ่านมารู้จักอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์และชิ้นส่วนในประเทศไทย มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับวิชาการด้านเทคโนโลยีอัตโนมัติ หุ่นยนต์ เคมี แม่เหล็กไฟฟ้า ซอฟท์แวร์คอมพิวเตอร์ขั้น อัจฉริยะ และอื่นๆอีกมาก ปัจจุบันอุตสาหกรรมนี้ก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่อประเทศไทยอย่างมาก โดยมีสัดส่วนของปริมาณการผลิตรวมเป็นอันดับ ๑ ของโลก มีการจ้างแรงงานกว่า ๑๐๐,๐๐๐ คน และการส่งออกมากกว่า ๔ แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตาม การดึงดูดการลงทุนของประเทศเพื่อนบ้านและประเทศพัฒนาใหม่ เช่น ประเทศจีน และคู่แข่งของไทยคือ ประเทศมาเลเซีย และประเทศสิงคโปร์ การพัฒนาของเทคโนโลยีใหม่เพื่อรองรับการผลิตสำหร้บฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่มีขนาดเล็ก หรือที่มีความสามารถในการจุข้อมูลมากขึ้น ตลอดจนความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานที่จะรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่ง
ผลอย่างมากต่อการคงอยู่ของอุตสาหรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ในประเทศไทย ดังนั้น โจทย์ที่สำคัญสำหรับประเทศไทยคือ ทำอย่างไรจะรักษาฐานการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่สำคัญของโลกที่เป็นอยู่ให้คงอยู่ต่อไปในประเทศไทยและทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มภายในประเทศและความเชื่อมโยงต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต
ในวันนี้ผมและทีมงานจาก สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงได้เสนอ โครงการยกระดับความสามารถทางเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ (ส่วนของอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการในการดึงดูดให้อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูงมาขยายการลงทุนในประเทศไทยในระดับที่แข่งขันได้กับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งได้มีข้อเสนอกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน (Workforce Development Fund) ในรูปแบบต่างๆ ที่ประเทศไทยยังไม่เคยทำมาก่อน และหากไม่ดำเนินการในแนวทางดังกล่าว ผู้ลงทุนอาจตัดสินใจที่จะไม่มาลงทุนในประเทศไทย เนื่องจากขาดแรงจูงใจจากรัฐบาลในการพัฒนาแรงงานชนิดที่มีฝีมือและความชำนาญในระดับสูง
ทั้งนี้ แผนการดึงดูดการลงทุนอาจจะพิจารณาในภาพรวมของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ แต่ด้วยเหตุของความเร่งด่วน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เห็นสมควรให้จัดทำข้อเสนอโครงการเพื่ออุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์และชิ้นส่วนเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาก่อน
โครงการยกระดับความสามารถทางเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมไฟฟ้อิเล็กทรอนิกส์ (ส่วนของอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์) มีระยะเวลาดำเนินการ ๕ ปี (ปีงบประมาณรายจ่าย ๒๕๕๐-๒๕๕๔) งบประมาณทั้งสิ้นประมาณ ๑,๓๖๐ ล้านบาท โดยภาคเอกชนในอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์และชิ้นส่วนจะร่วมดำเนินการอย่างใกล้ชิดและร่วมสนับสนุนค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งด้วย สำหรับกิจกรรมหลักในโครงการฯ ประกอบด้วย
๑. การฝึกอบรมเทคนิคและเทคโนโลยีการผลิตในต่างประเทศ สำหรับบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม และบุคลากรในสถาบันวิจัยหรือมหาวิทยาลัย จำนวน ๑๐๐ คนตลอดโครงการ ในวงเงินงบประมาณ ๑๐๐ ล้านบาท โดยสาขาความชำนาญที่มุ่งเน้น ได้แก่ด้าน Thin Film and Microelectronics, Storage Technology, Advanced IC Packaging เป็นต้นการฝึกอบรมเทคนิคและเทคโนโลยีการผลิตในประเทศ สำหรับบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมจำนวน ๓,๕๐๐ คนตลอดโครงการ ในวงเงินงบประมาณ ๙๐ ล้านบาท
๒. โดยสาขาการอบรมที่มุ่งเน้นได้แก่ด้าน Precision Automation, Automated Inspection, Storage Technology, Storage Media, Metrology เป็นต้น
๓. การวิจัยและพัฒนา เช่น ด้าน Media, Substrate, Wafer และหัวอ่าน โดยการจัดหาเครื่องมือ สร้างโครงสร้างพื้นฐาน การให้ทุนสนับสนุนการวิจัย (บางส่วนร่วมกับอุตสาหกรรม) รวมทั้งการอบรมขั้นสูง ในวงเงินงบประมาณ ๑,๑๐๐ ล้านบาท
๔. การสนับสนุนทางเทคนิคและเทคโนโลยีสำหรับโครงการเร่งด่วน จำนวน ๗๐ ล้านบาท ได้แก่ การศึกษาข้อกำหนดและมาตรฐานทางเทคนิค การจัดการสนับสนุนทางเทคโนโลยีสำหรับกิจกรรมพิเศษที่เกี่ยวข้อง
ผลจากการดำเนินโครงการยกระดับความสามารถทางเทคโนโลยีฯ จะทำให้ผู้ลงทุนในอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์และชิ้นส่วนเกิดความมั่นใจในความพร้อมของบุคลากรในประเทศไทย และมั่นใจว่ามีแหล่งสนับสนุนทางเทคโนโลยี และสามารถตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย (แทนการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น) โดยคาดว่าจะทำเกิดการขยายการลงทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมนี้อย่างน้อย ๗๐,๐๐๐ ล้านบาท โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมระดับต้นน้ำเช่น อุตสาหกรรมแผ่นบันทึกข้อมูล หรือ media (การผลิตแผ่นและเคลือบแผ่นบันทึกข้อมูล)นอกจากนั้นการขยายการลงทุนจะทำให้การส่งออกฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์จากไทยไปสู่ตลาดโลกเพิ่มขึ้นเป็น ๘๕๐,๐๐๐ ล้านบาทในปี ๒๕๕๔ หรือเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าตัวของปัจจุบัน อีกทั้งยังก่อให้เกิดการขยายตัวของการจ้างงานในอุตสาหกรรมอีกจำนวนมาก และการพัฒนาในเทคโนโลยียังสามารถเป็นฐานความรู้ทำให้ประเทศไทยลดการพึ่งพาเทคโนโลยีต่างประเทศอีกด้วย
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนซึ่งเป็นผู้ริเริ่มและดำเนินโครงการฯ ยังเห็นประโยชน์อีกว่าโครงการยกระดับศักยภาพทางเทคโนโลยีนี้จะทำให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไปสู่ระดับต้นน้ำซึ่งมีมูลค่าสูงในอนาคตอันใกล้ อีกทั้งหากโครงการในลักษณะนี้ได้มีการขยายไปยัง
กลุ่มผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ก็จะทำให้ประเทศไทยพัฒนาไปได้อย่างรวดเร็วและยั่งยืนเช่นประเทศที่พัฒนาแล้วอื่นๆ อีกด้วย
สัปดาห์หน้าผมจะลงรายละเอียดงานวิจัยในอุตสาหกรรมนี้ที่นักวิจัยไทยกำลังร่วมงานกันทำอยู่
งานวิจัยเหล่านี้เราทำแข่งขันกับนักวิจัยของเขาที่ Slicon Valley ครับ
——————————————————————————————
ข้อมูลจำเพาะของผู้เขียน
ดร. ชิต เหล่าวัฒนา จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาและทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา
ภายหลังจบการศึกษา ดร. ชิต ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม ฟีโบ้ (FIBO) เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เพื่อทำงานวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนให้คำปรึกษาหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และบริษัทข้ามชาติ (Multi-national companies) ในประเทศไทยด้านการลงทุนทางเทคโนโลยี การใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติชั้นสูง และการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ