|
อุตสาหกรรมวิจัย:ฮาร์ดดิสค์
วันวาน ผมไปเชียร์นักศึกษาแข่งขันหุ่นยนต์ TPA โรบอตคอนเทสต์ชิงแชมป์ประเทศไทย รอบชิงชนะเลิศระดับมหาวิทยาลัยระหว่างทีมจากม.ธุรกิจบัณฑิตย์และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เกมการแข่งขันตื่นเต้นมากรวมทั้งกองเชียร์ที่ออกแรงเชียร์กันสุดเหวี่ยง
สิ่งที่ผมประทับใจมากคือได้ประจักษ์ความมีน้ำใจนักกีฬาของเยาวชนไทย เมื่อทีมจากม.ธุรกิจบัณฑิตย์ ได้รับชัยชนะแล้ว ทั้งผู้แข่งขันและกองเชียร์ของคู่ต่อสู้ต่างส่งเสียงแสดงความยินดี และนี่คือธรรมเนียมการแข่งขันของเด็กไทย พวกเขาจะร่วมมือกันช่วยเหลือทีมตัวแทนไทยให้ไปนำชัยชนะในสนามนานาชาติ ผมเชื่อว่าเยาวชนเก่งๆเหล่านี้เป็นกำลังสำคัญของชาติเพื่อไปวิจัยพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีซับซ้อนและต้องอาศัยการทำงานเป็นทีมเวิร์ค เช่น อุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ |
ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์มีแนวโน้มที่จะถูกพัฒนาให้เล็กลง หรือสามารถเก็บข้อมูลให้ได้มากขึ้นนั้น จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีที่มีความแม่นยำมากขึ้น และเป็นเทคโนโลยีในระดับที่สูงขึ้น สำหรับอุตสาหกรรมวิจัยด้านฮาร์ดดิสก์ในประเทศไทย มุ่งพัฒนาเทคโนโลยีหลัก 4 ด้านที่จำเป็นและจะช่วยให้ไปสู่การผลิตชิ้นส่วนที่สำคัญและการออกแบบ ได้แก่ เทคโนโลยีด้านเครื่องจักรกลอัตโนมัติ (Automation) เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ Electrostatic Discharge (ESD) เทคโนโลยีด้านการออกแบบและการจำลอง (Design and Simulation Software) เทคโนโลยีด้านวัสดุและการตรวจวัดความแม่นยำ การสนับสนุนด้านทุนวิจัยเพื่อให้เกิดงานวิจัย พัฒนา และวิศวกรรมร่วมกันระหว่างภาคอุตสาหกรรมและภาครัฐ โดยรัฐให้การสนับสนุนบางส่วนร่วมกับการลงทุนของภาคอุตสาหกรรมอีกประมาณ 30% เพื่อจัดหาเครื่องมือ อุปกรณ์ และโครงสร้างพื้นฐานต่าง รวมไปถึงการเป็นแกนกลางในการเริ่มต้นจัดตั้งเครือข่ายการวิจัย พัฒนา และวิศวกรรมร่วมกันระหว่างภาครัฐ เอกชน หน่วยวิจัยอิสระ และมหาวิทยาลัย เพื่อสนับสนุนให้เกิดการวิจัยและพัฒนาเพื่อไปสู่การผลิตในอุตสาหกรรมต้นน้ำ หรือการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยแยกออกเป็น 4 ด้านได้แก่เทคโนโลยีด้านการออกแบบและการจำลอง เทคโนโลยีด้านวัสดุและการตรวจวัดความแม่นยำ เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ Electrostatic Discharge (ESD) เทคโนโลยีด้านเครื่องจักรกลอัตโนมัติ |
มีความเห็นจากท่านผู้อ่านบทความสัปดาห์ที่แล้วว่าการที่รัฐบาลสนับสนุนโครงการนี้แล้วจะคุ้มหรือไม่นั้น ผมเห็นว่านอกจากช่วยรักษาฐานอุตสาหกรรมการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรพ์และขยายการลงทุนไปสู่ Wafer Fabrication ในประเทศไทยแล้ว ยังมีผลกระทบเชิงบวกด้านการพัฒนาบุคลากรทางเทคนิคและความสามารถทางเทคโนโลยีจะทำให้ไทยมีองค์ความรู้ในด้านเทคโนโลยี เช่น เทคโนโลยีการวัด เทคโนโลยีด้านแผ่นเก็บข้อมูล รวมไปถึงเทคโนโลยีในกระบวนการผลิต เทคโนโลยีด้านเวเฟอร์และหัวอ่าน ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้ไม่เพียงมีประโยชน์ต่อการผลิตในอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์เท่านั้น แต่ยังจะทำให้เกิด Spill over effect ทางเทคโนโลยีไปสู่อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ในอนาคต กล่าวคือ
1.เทคโนโลยีเหล่านี้สามารถประยุกต์ไปใช้การพัฒนา nano-technology 2. บุคลากรที่ผ่านการอบรมทางเทคนิคหรือเทคโนโลยีกับเครื่องมือเหล่านี้จะมีความรู้ทางเทคนิคขั้นสูง ซึ่งสามารถใช้ทักษะทั้งในด้านการควบคุมการผลิตและการวิเคราะห์ปัญหาในการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ซึ่งจะในที่สุดไทยจะเป็นแหล่งบุคลากรที่มีความรู้ขั้นสูงในอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ของโลก ซึ่งเป็นปัจจัยดึงดูดที่สำคัญในการช่วยขยายฐานการพัฒนาเทคโนโลยีไปสู่อุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ได้อีกด้วย ซึ่งในที่สุดจะทำให้ไทยลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศและช่วยให้ไทยเป็นผู้นำในเทคโนโลยีด้านนี้ในอนาคต การขยายตัวของอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์จะส่งผลให้ความต้องการแรงงานและการจ้างงานสูงขึ้นด้วย โดยคาดว่าจะมีการจ้างงานในอุตสาหกรรมนี้ถึง 150,000 คนในปี 2554 นอกจากนั้นรายได้ของแรงงานจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากทำงานในอุตสาหกรรมที่ใช้ความรู้และทักษะมากขึ้น อันทำให้แรงงานไทยกินอยู่อย่างพอเพียงขึ้นและช่วยลดปัญหาทางสังคมหลายประการ นอกจากนั้นการผลิตด้วยเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยขึ้นและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจะช่วยลดปัญหามลพิษ และที่สำคัญคือการไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้ความรู้และเทคโนโลยีจะช่วยให้ประเทศไทยก้าวไปสู่สังคมฐานความรู้ เช่นประเทศที่พัฒนาแล้วอื่นๆ ต่อไป จริงอยู่ประเทศไทยมิใช่ต้นคิดด้านเทคโนโลยี แต่เรามีเยาวชนไทยที่เก่ง ผมจึงหวังว่า เราต้องอดทน เพียร ขยัน ทำงานให้หนัก เพื่อให้ไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก เมื่อทฤษฎีถูกต้อง ความเพียรเป็นหนึ่ง พรสวรรค์นั้นเป็นรอง ดร. ชิต เหล่าวัฒนา จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาและทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา
|