เบื้องหลังเด็กไทยได้แชมป์โลก “หุ่นยนต์กู้ภัย” สองปีซ้อน(จบ) - Institute of Field roBOtics (FIBO)
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • ไทย
    • อังกฤษ

เบื้องหลังเด็กไทยได้แชมป์โลก “หุ่นยนต์กู้ภัย” สองปีซ้อน(จบ)

logo robot brain

เบื้องหลังเด็กไทยได้แชมป์โลก “หุ่นยนต์กู้ภัย” สองปีซ้อน(จบ)

สำหรับปีนี้มีทีมที่เข้าร่วมแข่งขันทั้งสิ้น 18 ทีม สำหรับทีมที่น่ากลัวก็คงเป็นทีม เพลลิแกน ยูไนเต็ด จากประเทศญี่ปุ่นที่ขนหุ่นยนต์ทั้งแบบควบคุมระยะไกล และหุ่นยนต์อัตโนมัติถึง 6 ตัว นอกจากนี้ก็เป็นทีมจากประเทศเยอรมันนีที่พึ่งชนะเสิศการแข่งขัน เยอรมันโอเพ่นมา เร็วๆ นี้ ทีมจากประเทศออสเตรเลียก็ยังคงเป็นทีมที่น่าจับตามอง ทีมจากทางเจ้าภาพ Georgia Tech เอง และทีมจากสถาบันชั้นนำของประเทศสหรัฐอเมริกาคือ California Institute of Technology – Cal Tech ที่เป็นที่ตั้งของศูนย์วิจัยหลักขององค์การนาซ่า อย่าง Jet Propulsion Lab – JPL
       การแข่งขันปีนี้เป็นการแข่งขันสุดโหดที่ต้องมีการพันธกิจ (Mission) ระหว่างการแข่งขันถึง 9 พันธกิจ โดย 5 พันธกิจแรกจะคัดทีมกว่าครึ่งออก สำหรับ 3 พันธกิจถัดมาจะเป็นการตัดสินรอบชิงชนะเลิศ และพันธกิจสุดท้ายจะเป็นการแข่งแบบวัดใจดูความสามารถและสมรรถนะของหุ่นยนต์ เรียกว่า “Best-In-Class” คล้ายๆ เทคนิคยอดเยี่ยม เป็นต้น สำหรับ ในพันธกิจที่ 1 ทีมอินดิเพนเดนท์ยังทำได้ไม่ดีเท่าไหร่ คือพบเหยื่อเคราะห์ร้ายเพียง 2 เหยื่อและยังมีปัญหากับการติดต่อสื่อสารระหว่างหุ่นยนต์และผู้ควบคุม ซึ่งไม่น่าจะเกิดขึ้นในทีมระดับแชมป์โลก ซึ่งผมเองและอาจารย์อีกสองท่านในฐานะที่ปรึกษาและโค้ช จากทางสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย ก็ยังไม่ยอมทำอะไรโดยยังให้โอกาสสมาชิกทีมอยู่ นอกจากนี้ก็เป็นทีมรุ่นน้อง “ไอเดียล” ที่ทำได้ไม่เลวโดยค้นพบเหยื่อเคราะห์ร้ายได้ถึง 4 เหยื่อ และทีมจากมหาวิทยาลัยหอการค้ายังคงตื่นสนาม ยังไม่พบเหยื่อเคราะห์ร้ายเลย และมีปัญหาเรื่องการสื่อสารระหว่างหุ่นยนต์เป็นอย่างมาก

พันธกิจที่ 2 ในวันต่อมา ทีมอินดิเพนเดนท์ ทำได้ดีขึ้นแต่ผมรู้ว่า มันยังไม่ใช่ความสามารถสูงสุดของพวกเขา โดยสามารถหาเหยื่อเคราะห์ร้ายได้ 4 เหยื่อ แต่ปัญหารเรื่องการสื่อสารยังคงมีอยู่ ทำให้ทีมไม่สามารถใช้หุ่นยนต์หลัก คือ Indy 1 ได้ โดยต้องใช้หุ่นยนต์รองคือ Indy 2 ในการทำคะแนน และทีมไอเดียลก็ยังคงเส้นคงวาทำได้ดีขึ้นโดยค้นพบเหยื่อเคราะห์ร้าย ถึง 5 เหยื่อในขณะที่ ทีมจากมหาวิทยาลัยหอการค้า สภาพดีขึ้น ทั้งนี้คะแนนอย่างเป็นทางการตั้งแต่พันธกิจที่ 1 ยังไม่ออก ผมก็ได้ปรึกษากับอาจารย์วรา และสรุปได้ว่า ถึงเวลาจุดไฟสตาร์ทเครื่องทีมแชมป์เก่าได้แล้ว ทั้งนี้เพราะทีมอินดิเพนเดนท์ หลังจากได้แชมป์โลกที่เบรเมน แต่ละคนก็เริ่มขยับขยายเพื่ออนาคตของเขา ไม่ว่าจะเป็น นายพินิจ (โน๊ต) ที่กำลังจะเตรียมตัวไปเรียนต่อปริญญาโท และเอก ที่ประเทศฝรั่งเศส และนายเนติ (เน) ที่ ทาง สจพ. ส่งให้ไปทำวิจัยที่ประเทศเยอรมันนี ทีมจึงขาดความเป็นทีมเวิร์กลงไป อาจารย์วราและผมก็ได้เรียกสมาชิกทีมอินดิเพนเดนท์มารวมพลคุยกันเป็นการส่วนตัว เรียกได้ว่า เราใช้จิตวิทยา เพียงเล็กน้อย กับสมาชิกทีมที่เรียกว่ามีศักยภาพสูงอยู่แล้ว ทำให้เขาลดความตื่นแชมป์ หรือที่เรียกว่า Champion Syndrome ไปได้ ทีมเขากลับมามีระบบอย่างน่าเหลือเชื่อ ในพันธกิจที่ 3 ทีมอินดิเพนเดนท์ก็ทำลายสถิติสนามได้ทันทีโดยสามารถหาเหยื่อเคราะห์ร้ายได้ถึง 6 เหยื่อ ซึ่งเป็นกำลังใจให้ทีมน้อง อย่างไอเดียวที่ตามติดมาเป็น 6 เหยื่อเช่นกัน สำหรับทีมจากหอการค้าก็ได้ 5 เหยื่อเคราะห์ร้าย เป็นว่าทีมจากประเทศไทยเข้าที่เข้าทางและเป็นที่โดดเด่นกว่าทีมอื่นๆ มาก

104

สรุปว่าเราผ่าน 5 พันธกิจ เข้ารอบชิงชนะเลิศ เป็นที่หนึ่ง ที่สอง และที่สาม โดยที่ ทีมน้องใหม่ “ไอเดียล” แสดงความ “นิ่ง” กว่ารุ่นพี่เข้าเป็นที่หนึ่ง ทีมอินดิเพนเดนท์ เข้าเป็นที่สอง หลังจากคืนฟอร์มมาได้ แลทีมน้องใหม่ จากหอการค้ามาเป็นที่ 3 ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับประธานกรรมการจัดการแข่งขัน นายอาดาม จาคอบ (Mr. Adam Jacob) ในปีนี้และพบว่า สิ่งที่ทีมอินดิเพนเดนท์ทำไว้ได้ดีกว่าทีมอื่นๆ หรือแม้แต่ดีกว่ากฏกติกาของการแข่งขันนั้น ถูกนำไปใช้ในการปรับปรุงมาตราฐานการทดสอบหุ่นยนต์กู้ภัยของประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้เป็นการแสดงถึงความสำเร็จในการยกระดับการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยที่จัดขึ้นภายในประเทศที่โดย สมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทยเป็นอย่างดี นอกจากนี้ผมก็ยังได้รับเชิญให้เข้าร่วมเป็นกรรมาธิการกำหนดมาตรฐานหุ่นยนต์กู้ภัยในระดับนานาชาติอีกด้วย ซึ่งจะทำให้เป็นการเปิดโอกาสแก่วงการวิชาการหุ่นยนต์ไทย ต่อไป

สำหรับในรอบชิงชนะเลิศของการแข่งขัน เวิร์ลด์ โรโบคัพ เรสคิว 2007 นั้น สนามแข่งขันได้ถูกดัดแปลงให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเป็น 2 เท่าและมีความยากซับซ้อนเพิ่มมากขึ้นเป็นอย่างยิ่ง คุณมัทนา เหลืองนาคทองดี ผู้อำนวยการสำนักงานสื่อสารองค์กร เครือซีเมนต์ไทย ได้นำทีมนักข่าวจากประเทศไทยเพื่อเข้าทำข่าว รวมถึงให้กำลังใจน้องๆ สมาชิกทีมแข่งหุ่นยนต์เป็นอย่างดี ในที่สุดพันธกิจที่ 1 ของรอบชิงชนะเลิศ ทีมอินดิเพนเดนท์ก็ทำลายสถิติของสนามได้อีกครั้งโดยค้นพบเหยื่อ เคราะห์ร้ายได้ถึง 7 เหยื่อ ในขณะที่ ทีมไอเดียลทำได้ 6 เหยื่อ และหอการค้าทำได้ 5 เหยื่อ จากนั้นทีมเพลลิแกน ยูไนเต็ด จากประเทศญี่ปุ่น ก็เริ่มตีตื่นจากความได้เปรียบที่เขามี หุ่นยนต์อัตโนมัติ จนแซงหน้าขึ้นมาเป็นที่ 2 ในที่สุด สรุปผลการแข่งขันคือ ชนะเลิศอันดับที่ 1 ทีมอินดิเพนเดนท์ จาก สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ แชมป์โลกจาก เบรเมน 2006 สามารถรักษาแชมป์ขึ้นครองตำแหน่งแชมป์โลก เวิร์ลด์ โรโบคัพ เรสคิว ปี 2007 ที่แอตแลนต้า เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน สำหรับ อันดับที่ 2 ได้แก่ทีม เพลลิแกน ยูไนเต็ด จากประเทศญี่ปุ่น อันดับที่ 3 ได้แก่ทีม CEO Mission II จากมหาวิทยาลัยหอการค้า และอันดับที่ 4 ทีมแชมป์ประเทศไทยปี 2549 จากสถาบันพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

จากผลการแข่งขันที่ประสบความสำเร็จครั้งนี้ เป็นเครื่องยืนยันถึงมาตรฐาน ความพร้อมของ ศาสตร์ทาง วิชาการหุ่นยนต์ ของไทยที่อยู่ในระดับแข่งขันกับชาติต่างๆ ได้แล้ว นอกจากนี้ก็คือคุณภาพของ นักศึกษา วงการศึกษา ของไทยที่สามารถผลิตบุคลาการระดับโลกได้ ผมต้องของขอบคุณ นักศึกษา ครูอาจารย์ของทีมทุกทีมที่เข้ามามีส่วนร่วมผลักดันให้มาตราฐานหุ่นยนต์ของเราให้สูงขึ้น ผู้สนับสนุนจากภาคเอกชน เครือซิเมนต์ไทย และกรรมการและสมาชิกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทยทุกท่าน อดีตนายกสมาคมฯ ทุกท่าน รศ.ดร.ชิต เหล่าวัฒนา รศ.ดร.มนูกิจ พานิชกุล และรศ.ดร.ประภาส จงสถิตย์วัฒนา ที่ได้ร่วมกันส่งเสริมวิชาการทางด้านหุ่นยนต์ในประเทศไทยให้พัฒนามาจนถึงจุดสูงสุดจุดนี้ได้ ผมมั่นใจว่าเราจะยังก้าวให้สูงขึ้นต่อไป สุดท้ายขอขอบคุณคนไทยทุกคนที่ส่งใจไปเชียร์และให้การต้อนรับความสำเร็จ ซึ่งผมกล่าวในนามนายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทยคนปัจจุบันว่า “แชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัยสองสมัยซ้อนนี้ เป็นความสำเร็จของคนไทยทุกคน”

 

——————————————————————————————
ข้อมูลจำเพาะของผู้เขียน

djitt2

ดร. ชิต เหล่าวัฒนา จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาและทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา
ภายหลังจบการศึกษา ดร. ชิต ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม “ฟีโบ้ (FIBO)” เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เพื่อทำงานวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนให้คำปรึกษาหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และบริษัทข้ามชาติ (Multi-national companies) ในประเทศไทยด้านการลงทุนทางเทคโนโลยี  การใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติชั้นสูง และการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ

 

 

 

Categories: บทความของ ดร. ชิต เหล่าวัฒนา