ยุทธศาสตร์หุ่นยนต์ไทย(จบ)
2.ด้านการศึกษาและการเรียนรู้ มีการใช้เครื่องมือด้านหุ่นยนต์ เพื่อการเรียนรู้แบบConstructionism ของเด็กเล็กระดับประถมเช่น ร.ร.ดรุณสิกขาลัย โรงเรียนนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิศึกษาพัฒน์ ในการทำงานร่วมกับ Media Lab, จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซตส์ |
||
การเรียนรู้ที่ปะปนกับการแข่งขันหุ่นยนต์เกิดขึ้นที่ไทยกว่า 10 ปี เราประสบความสำเร็จอย่างสูง ถ้าเทียบเกรดแล้วน่าจะได้ A เช่น สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนามฟีโบ้ได้รับเชิญให้จัดสร้างหุ่นยนต์แข่งขันในระดับ Humanoid ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในการแข่งขัน ในปีแรกนี้เด็กไทยสามารถเข้าสู่รอบแปดทีมสุดท้ายได้นับเป็นความภาคภูมิใจเพราะงบประมาณของหุ่นยนต์ไทย :Jaidee มีเพียง 200,000 บาท ขณะที่หุ่นยนต์แชมป์เปี้ยนของญี่ปุ่นมีงบประมาณ 20 เท่าตัวซึ่งสูงถึง 4,500,000 บาท ส่วนปีที่สองและสาม ทีมเด็กไทยได้รับอันดับที่สี่ ทางด้านโปรแกรมการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย 3. ด้านอุตสาหกกรรม หุ่นยนต์อุตสาหกรรม เฉพาะทางหากนำเข้าจะมีราคาแพงมาก ทางสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนามฟีโบ้ ได้ร่วมมือกับอุตสาหกรรมไทยสร้างหุ่นยนต์ขนาดใหม่ (30 ตัน) ใช้ในสายการผลิตเหล็กรูปพรรณ และ หุ่นยนต์หยิบยางแท่ง (10 ตัน) นอกจากนี้สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนามฟีโบ้ได้ออกแบบ และ จัดสร้างหุ่นยนต์อุตสาหกรรมต้นแบบ ให้บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เพื่อให้บริษัทไปผลิตเองอีก 100 ตัว ใช้ในโรงงาน และ ขยายออกไปในเชิงการค้า ซึ่งอาจถือได้ว่า เป็นหุ่นยนต์อุตสาหกรรมสายพันธุ์ไทยตัวแรก ในปัจจุบันประเทศไทยมีบริษัทขนาดเล็ก (SME) ที่มีความสามารถในการออกแบบ และ บูรณาการเทคโนโลยีหุ่นยนต์ อยู่ประมาณ 20 บริษัท ความสามารถเชิงเทคนิคยังห่างไกลจากการเป็นอุตสาหกรรมสนับสนุนด้าน Robotics and Automation |
||
บทสรุปด้านยุทธศาสตร์ที่จำเป็น ยุทธศาสตร์ ส่งเสริมสนับสนุน เชิดชู น้องๆเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง อย่าให้เป็นเพียงเทวดาตกสวรรค์เพียงแค่หนึ่งสัปดาห์หลังได้เป็นแชมป์มา อีกประการหนึ่งผมจะได้ยินอยู่ทุกปีว่า น้องเหล่านี้ต้องควักเงินค่าขนมตนเองเพื่อมาเป็นทุนสร้างหุ่นยนต์ แต่ละวิทยาลัย มหาวิทยาลัยควรมีงบประมาณจัดสรรไว้เพื่อกิจกรรมนี้อย่างชัดเจน ผู้บริหารหน่วยงานควรสนับสนุนตั้งแต่วันแรกที่เริ่มสร้างหุ่นยนต์ เด็กๆจะประทับใจมากขึ้นไปอีก เพิ่มเติมจากที่มายินดีด้วยเมื่อได้รับชัยชนะ ข. กิจกรรมประเภท 3 (อุตสาหกรรม) ไทยล้าหลังประเทศก้าวหน้าอยู่ประมาณ 10-15 ปี ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเกี่ยวข้องกับการพัฒนาผลิตภาพเชิงอุตสาหกรรมโดยตรง อุตสาหกรรมของไทยจะสู้กับประเทศที่เป็นเจ้าของ เทคโนโลยีการผลิตได้ลำบากมาก จึงจำเป็นที่ เราต้องเพิ่มความสามารถประยุกต์ให้ใช้เทคโนโลยีที่คิดค้นเอง ในอุตสาหกรรมไทยให้มากขึ้น ยุทธศาสตร์ รัฐบาลวางแผน แตก-หัก 5 ปี สร้าง 10 สถาบันวิจัย แข่งขันกับสิงคโปร์และมาเลเซีย สถาบันเหล่านี้มีลักษณะการทำงานแบบแบบถึงลูกถึงคนเช่นเดียวกันกับ ฟีโบ้หรือดีกว่า ตั้งอยู่ในพื้นที่อุตสาหกรรม ด้วยการร่วมมือกับสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทยและมหาวิทยาลัยต่างๆ งบประมาณ 50-100 ล้านบาทต่อหนึ่งสถาบันวิจัย โดยต้องกำกับตัวชี้วัดสมรรถนะ KPI ให้สร้างมูลค่างานวิจัยได้อย่างน้อย 10 เท่าตัว ภายในรยะเวลาที่ได้รับทุนสนับสนุนส่งเสริม |
||
ค. รัฐบาลเป็นผู้นำสร้างกลไกความร่วมมือระหว่าง รัฐ อุตสาหกรรม และมหาวิทยาลัย เพื่อสร้างโจทย์ที่มีความหมายต่อการพัฒนาชาติไทย โจทย์ดังกล่าวต้องมีความสมดุลย์ระหว่าง กิจกรรม 1 + 2 และ กิจกรรม 3 จนนำไปสู่การทำให้นักเทคโนโลยีไทยสามารถ คิดเอง สร้างได้และใช้ดี และนักเทคโนโลยีเหล่านี้สามารถสร้างกิจการของตนเองได้ยุทธศาสตร์ บีโอไอส่งเสริมและ สร้าง บริษัทสายพันธุ์ไทยเหล่านี้ให้เป็นอุตสาหกรรมสนับสนุนด้าน Robotics and Automation อย่างน้อย 150 บริษัท โจทย์แบบไทยๆที่น่าสนใจหัวข้อหนึ่งคือการสร้างหุ่นยนต์ที่มาจัดการกับสารพิษและมลภาวะ หรือแม้กระทั่งการสร้างกลไกหุ่นยนต์อย่างง่ายๆมาช่วยเก็บขยะตามชายหาดของไทย เราต้องทำงานให้หนัก ประหยัดให้มาก คิดหาคำตอบต่อปัญหาของเราเอง หลายท่านชมชอบไปจ้างญี่ปุ่นหรือฝรั่งมาทำให้เพราะคิดหรือว่าเขาจะเก่งกว่าเรา ผมไม่ค่อยเชื่อเช่นนั้นครับ ผมคิดมาได้เท่านี้เองก็หมดเนื้อที่แล้ว ขอวิงวอนให้ท่านผู้อ่านช่วยคิดให้ความเห็นเพิ่มเติมด้วยครับ ผมจะรวบรวมข้อเสนอแนะต่างๆส่งให้ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อไป |
——————————————————————————————
ข้อมูลจำเพาะของผู้เขียน
ดร. ชิต เหล่าวัฒนา จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาและทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา
ภายหลังจบการศึกษา ดร. ชิต ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม ฟีโบ้ (FIBO) เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เพื่อทำงานวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนให้คำปรึกษาหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และบริษัทข้ามชาติ (Multi-national companies) ในประเทศไทยด้านการลงทุนทางเทคโนโลยี การใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติชั้นสูง และการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ