คนงามเพราะแต่ง หุ่นยนต์แกร่งเพราะคิดเป็น - Institute of Field roBOtics (FIBO)
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • ไทย
    • อังกฤษ

คนงามเพราะแต่ง หุ่นยนต์แกร่งเพราะคิดเป็น

logo robot brain

คนงามเพราะแต่ง หุ่นยนต์แกร่งเพราะคิดเป็น

นักวิจัยหุ่นยนต์ต่อยอดวิทยาการหุ่นยนต์เคลื่อนที่ (Mobile Robotics) ที่แต่เดิมอาศัยล้อ และ/หรือ หลายๆขาคล้ายแมลง มาเป็นฮิวแมนนอยด์ที่เลียนแบบมนุษย์ที่มีสองขาเดินและวิ่งอย่างสมดุล จนกระทั่งถึง หุ่นยนต์แอนดรอยด์ที่ประกอบไปด้วยกลไกและส่วนที่เป็นเนื้อเยื่อของสิ่งที่มีชีวิตหรือรับสัญญาณจากสมองมนุษย์หรือทำงานร่วมกับอวัยวะของสิ่งที่มีชีวิต

พวกเรานักวิชาการทางด้านหุ่นยนต์ต่างจินตนาการกันว่า หุ่นยนต์แอนดรอยด์นี่แหละครับที่จะมาอยู่ร่วมกับมนุษย์ในอนาคตอันใกล้นี้ บางประเทศเลยไปคิดล่วงหน้าเกี่ยวกับสิทธิและธรรมนูญหุ่นยนต์กันแล้ว การพัฒนาฮิวแมนนอยด์-แอนดรอยด์อยู่ทั่วโลกถึง 85 โครงการ แน่นอนครับผู้นำของการพัฒนาหุ่นยนต์ประเภทนี้คือญี่ปุ่น ที่บุกเบิกสร้างขึ้นมาถึง 37 ตัว ที่เด่นๆเด็กไทยรู้จักดีก็คือ “อาซิโม” จากค่ายบริษัทรถยนต์ฮอนด้า ล่าสุดอาซิโมตัวใหม่วิ่งได้ กำลังเดินทางมาแสดงที่เมืองไทยเดือนหน้าที่งานของสภาอุตสาหกรรมไทย เมืองทองธานี ที่ฮือฮามากอีกตัวหนึ่งชื่อ “Repliee Q1” พัฒนาขึ้นโดยท่าน ศ ฮิโรชิ อิชิโกรุ แห่งม.โอซาก้า มีหน้าตาเลียนแบบภรรยาท่าน ที่อื่นๆมีดังนี้ สหรัฐฯ 10, เยอรมนี 9, เกาหลี 9, อังกฤษ 4, จีน 5, สวีเดน 2, ส่วน ออสเตรเลีย ไทย สิงคโปร์ บัลแกเรีย อิหร่าน อิตาลี ออสเตรีย สเปน และรัสเซีย มีการพัฒนาฮิวแมนนอยด์ประเทศละหนึ่งโครงการ

ล่าสุด ท่านศ.อิชิโกรุ ได้สร้างแอนดรอยด์ชื่อ Geminoid HI-1 ที่มีหน้าตาเหมือนตัวท่านเองขึ้นมา นัยว่าอยากให้มาช่วยสอนหนังสือแทนท่าน เทคโนโลยีซิลิโคนล้ำหน้ามากจนทำให้เราต้องใช้เวลาสังเกตแยกแยะระหว่างตัวจริงตัวปลอม ดังภาพแสดงภาพด้านซ้ายคือหุ่นยนต์ ในส่วนของการเคลื่อนไหวสัดส่วนบนใบหน้าที่เกิดขึ้นจากมอเตอร์กว่าสิบตัวนั้น ก็ค่อนข้างแนบเนียนมาก แม้กระทั่งตอนดุนักศึกษาในห้องเรียนคงเหมือนจริงมากๆ

อย่างไรก็ตาม การควบคุมยังอยู่ในระดับพื้นๆ แบบTeleoperation/Master-Slave System กล่าวคือยังต้องอาศัยสันญาณควบคุมจากภายนอก ตัวอย่างเช่นใช้กล้องจับภาพความเคลื่อนไหวของปาก อาจารย์อิชิโกรุ แลัวส่งข้อมูลความเคลื่อนไหวนี้ไปที่หุ่นยนต์ โดยหุ่นยนต์เปล่งเสียงตัวเองออกมาตามเสียงของอาจารย์ การทำงานปัจจุบันของ Geminoid HI-1 นี้ ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์จากปัญญาประดิษฐ์ อย่างใดเลย แต่ผมคาดว่าในไม่ช้านี้จะมีการนำเทคนิคนี้มาใช้ในหุ่นยนต์ประเภทแอนดรอยด์อย่างแน่นอน และจะทำให้หุ่นยนต์เหมือนมนุษย์เข้าไปทุกที

งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ศึกษาอัจฉริยะภาพด้านพฤติกรรมด้านหน้าตาของหุ่นยนต์ที่นำปัญญาประดิษฐ์มาใช้อย่างจริงจังอยู่ที่ เอ็มไอที หุ่นยนต์ “KISMET” ถูกสร้างให้มีกลไกและการควบคุมให้สามารถแสดงได้ถึง 9 อารมณ์พื้นฐาน คือ กลัว เป็นทุกข์ แปลกใจ โกรธ สะอิดสะเอียน ถมึงทึง ยอมรับ เหนื่อย และ สำราญใจที่ซับซ้อนมากคือขณะที่มีการแสดงออกทางหน้าตานั้นต้องสัมพันธ์กับอาการตอบสนองทันทีเพื่อเอาตัวรอด เช่น หุบปากปิดตาเมื่อมีอันตรายเข้าใกล้ ดังนั้นขบวนการตีความ “COGMITION” และปฏิบัติการ “ACTION” จึงมีมากกว่าหนึ่งและเป็นลักษณะคู่ขนาน จึงจะสามารถแสดงอารมณ์แบบพลวัตต่อเนื่องกันไปได้ใน REAL TIME ซึ่งผมคิดว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การปฏิสัมพันธ์ของหุ่นยนต์ตัวนี้ เป็นธรรมชาติมากที่สุด มิใช่อารมณ์กระตุก หรือเปลี่ยนไปมาจนเป็นลักษณะเพี้ยนและมนุษย์คงจะยอมรับไม่ได้
107

ความเหมือนมนุษย์นี่เองที่มีความน่ากลัวในตัวของมันเอง เนื่องจากแนวโน้มการพัฒนาความเหมือนนี้ไม่ได้หยุดอยู่ที่เพียงลักษณะรูปร่างท่าทางเท่านั้น ทิศทางการวิจัยมุ่งไปที่พัฒนาให้สมองของแอนดรอยด์สามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่าง ความจริง ความคิดเห็น และความเชื่อ เช่นคำพูดที่ว่า “มีวัตถุสีแดงอยู่บนโต๊ะ” ต่างจาก “ผมคิดว่ามีกล่องสีแดงอยู่บนโต๊ะ” และ “ผมเชื่อว่ามีกล่องสีแดงอยู่บนโต๊ะ” เพื่อนผมคนหนึ่งที่ Media Lab, MIT บอกว่าหากแอนดรอยด์ทำได้เช่นนี้จริงอาจจะเก่งกว่าคนบางคนที่มัก “ไม่รู้” ว่าตัวเองรู้หรือไม่รู้ ที่สำคัญประการหนึ่ง การรู้ไม่น่าจะสื่อถึงความจริงที่เกิดขึ้นเสมอไป ตั้งแต่เด็กผมรู้เห็นว่าพระอาทิตย์โผล่ลอยขึ้นตอนเช้าทุกวัน แต่การรู้ของผมไม่เป็นความจริง พระอาทิตย์ไม่ได้ลอยขึ้นมาสักหน่อย แท้ที่จริงนั้นเกิดจากการที่โลกหมุนรอบรอบตัวเองต่างหาก

107-1

ในความเห็นของผมเรื่องหุ่นยนต์คิดเป็นนั้นเป็นเรื่องสุดยอดในสาขานี้ หากพูดแบบภาษานิยายจีนกำลังภายในแล้ว นี้คือปรมัตถ์วิชา เป็นเรื่องที่แอนดรอยด์สามารถก้าวขึ้นมาเทียบเคียงมนุษย์หรืออาจแซงหน้าไปได้ในเรื่องความคิด สุภาษิตไทยโบราณที่ว่า “ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง” มีความหมายลึกซึ้งมากกว่าเรื่องความสวยงาม สัตว์เดรัจฉานเกิดมาก็มีค่าในตัวมันเอง ตายไปแล้วซากศพยังมีค่า ต่างจากร่างกายมนุษย์ที่เมื่อตายไปไม่มีค่าเลยและยังเป็นภาระแก่คนอื่นอีก มนุษย์เราจึงต้อง “แต่ง” หมายถึงเรียนรู้ปรับปรุงปัญญาทางกายวาจาและใจ จึงจะมีมูลค่าขึ้นมาได้

ขอเพิ่มเติมว่าเมื่อคนงามเพราะแต่งแล้ว หุ่นยนต์จะ “แกร่ง” ได้เพราะเขาเริ่มคิดเป็นครับ

 

——————————————————————————————
ข้อมูลจำเพาะของผู้เขียน

djitt2

ดร. ชิต เหล่าวัฒนา จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาและทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา

 
ภายหลังจบการศึกษา ดร. ชิต ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม “ฟีโบ้ (FIBO)” เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เพื่อทำงานวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนให้คำปรึกษาหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และบริษัทข้ามชาติ (Multi-national companies) ในประเทศไทยด้านการลงทุนทางเทคโนโลยี  การใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติชั้นสูง และการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ

 

 

 

 

Categories: บทความของ ดร. ชิต เหล่าวัฒนา