หุ่นยนต์คิดเป็น
เป็นความจริงที่มนุษย์พัฒนาการทำงานของคอมพิวเตอร์และโปรแกรมตรรกะที่เกี่ยวข้องให้หุ่นยนต์สามารถทำงานบางอย่างที่สมองมนุษย์ทำได้หรือในบางครั้งบรรลุผลลัพธ์ที่ดีกว่าสมองมนุษย์เสียอีก มีผู้อ่านหลายท่าน อีเมล์ถึงผมว่า นักวิทยาศาสตร์ บ้าบอ จะมาสร้างเครื่องจักรกลสังหาร ผมขอเรียนว่าการที่หุ่นยนต์คิดเป็นนั้นยังห่างไกลกับการเป็นนักสังหารมากนัก อันที่จริงนักวิจัยออกแบบโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ ก็เพื่อเพิ่มความฉลาดให้หุ่นยนต์จนสามารถช่วยงานมนุษย์ได้มากขึ้น คงเป็นไปไม่ได้ที่เราคิดหุ่นยนต์ขึ้นมาทำลายสายพันธุ์มนุษย์ของเราเอง
อย่างไรก็ตามมีความเป็นได้สูงว่าประชากรหุ่นยนต์จะมีชีวิตที่ยืนยาวกว่ามนุษย์ เมื่อมนุษย์สร้างปัญญาประดิษฐ์ที่ฉลาด เช่น โปรแกรมหมากรุก DEEPTHOUGHT ก็เริ่มตกใจ DEEPTHOUGHT สำรวจคำตอบความเป็นไปได้ ถึง 1050 มากกว่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ทั่วไปจะทำได้ถึง 1040 เท่าในขณะที่ มีการทำวิจัยรายงานผล (Groots 1965) ว่า แชมป์หมากรุก นานๆทีถึงจำเป็นต้องค้นหาคำตอบที่ดีที่สุดจากความเป็นไปได้เพียง 100 คำตอบ เท่านั้น อย่างไรก็ตามการแข่งขันครั้งแรกแชมป์โลกชาวรัสเซีย DEEPTHOUGHT แพ้เพราะโปรแกรม แฮงค์ คำนวณวกวนไปมาหลังจากการแข่งขันดำเนินไป ประมาณสามชั่วโมง สี่ปีต่อมาพบกันอีกที คราวนี้ DEEPTHOUGHT เอาชนะแชมป์คนเดียวกันอย่างสิ้นฟอร์มไปได้ภายในเวลาเพียง 17 นาที |
ศ.มาร์วิน มินสกี้ ปรมาจารย์ทางด้านปัญญาประดิษฐ์ที่เอ็มไอที กล่าวว่าจิตนั้นประกอบขึ้นด้วยขบวนการเล็กๆหลายกระบวนการ เรียกว่าเป็นหน่วยย่อย (Agents) ทำงานประเภทง่ายๆที่ไม่ต้องการความคิดที่ซับซ้อนอะไรมากนัก แต่เมื่อนำหน่วยย่อยเหล่านี้มาต่อเชื่อมกันในรูปแบบเฉพาะเจาะจงปรากฏว่าสามารถทำงานยากๆอย่างชาญฉลาดได้ ผมมีความสนใจเกี่ยวกับบทบาทของบิตและไบต์ แต่ละบิตมีความหมายในตัวมันเองน้อยมากทำงานอะไรไม่ได้มากนัก แต่เมื่อบิตรวมมากขึ้นจะสามารถสร้างสมองกลที่ทำงานซับช้อนให้ได้ใกล้เคียงหรือดีกว่าที่มนุษย์ทำได้ จิตหุ่นยนต์ (Robotics Mind) ลักษณะนี้ เกิดจากส่วนย่อยที่ไม่มีความสามารถในการคำนวณ (Computing ability) ไม่มีความชาญฉลาดเลย สถานะปัจจุบันนั้นจิตหุ่นยนต์ทำหน้าที่เพียงแค่เป็นสมองกลคำนวณ แต่ผมเชื่อว่าไม่นานจะพัฒนาไปสู่ความรู้สึกนึกคิดได้ การพัฒนาจิตหุ่นยนต์ให้สมบูรณ์ขึ้นนั้นอาจจำเป็นต้องศึกษาจิตมนุษย์อยู่เหมือนกัน หน้าที่ของจิตมนุษย์จำแนกได้เป็น4 อย่างหลักๆคือ รับ (เวทนา) จำ (สัญญา) คิด (สังขาร) รู้ (วิญญาณ) จิตและไมโครโปรเซสเซอร์ทำงานแบบอนุกรม คือทำงานได้เพียงอย่างเดียว ณ. เวลาหนึ่งๆ ลองให้มือซ้ายมือขวาเขียนอักษรพร้อมๆกันจะพบว่าทำไม่ได้ บางครั้งผมเห็นเพื่อนสามารถทำงานหลายอย่างในคราวเดียวกัน คงเนื่องจากจิตวิ่งไปจดจ่องานแต่ละอย่างแบบ Time Sharing เช่นเดียวกันการให้ไมโครโปรเซสเซอร์ ทำงานแบบ Multiplex จนดูเหมือนว่าทำงานได้หลายอย่าง ความจริงงานนั้นถูกซอยย่อยเล็กลงไปแล้วนำมาทำอย่างต่อเนื่องกันไป จิตมนุษย์เมื่อทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วจะทิ้งงานที่เหลือทั้งสามไป ดังคำสอนวรรคทองของหลวงปู่ดูลย์ คิดเท่าไรๆ ก็ไม่รู้ ต่อเมื่อหยุดได้จึงรู้ แต่ต้องอาศัยความคิดนั่นแหละจึงรู้ เทคโนโลยีหุ่นยนต์นั้นยังก้าวไม่ถึงความสามารถรับรู้เวทนาความรู้สึกต่างๆ รวมทั้งอารมณ์แม้มีความพยายามมากอยู่ก็ตาม ส่วนด้านความจุความจำมีมากแต่จำกัด ขณะที่การรับข้อมูลด้าน รูป เสียง กลิ่น รส และ ร้อนหนาว หุ่นยนต์ทำได้ค่อนข้างละเอียดกว่ามนุษย์ เรื่องสำคัญคือ คิดปรุงแต่ง นั้นยังห่างไกลจากมนุษย์มาก นักวิจัยฝั่งตะวันตก เห็นความสัมพันธ์ระหว่าง การปรุงแต่งกับความคิดสร้างสรรค์ ชาวพุทธเห็น ทุกข์ จากความคิดปรุงแต่ง เรื่องนี้เราต้องใช้พุทธปัญญาในการแยกแยะครับ |
การสร้างบิตให้คิดเป็นนั้นโยงถึง หน้าที่และอำนาจ (Function and Authority) ควรได้รับการจัดสรรอย่างไร? เพื่อให้แต่ละหน่วยย่อยหรือบิตปรองดรองกันได้ในท่ามกลางสถานการณ์ขัดแย้งกันหรือตกลงกันไม่ได้ ผมเชื่อว่าบิตก็ต้องเรียนรู้ให้เข้าใจเรื่องหน้าที่ก่อนที่จะได้รับอำนาจในการทำงาน เด็กๆตอนผมเรียนวิชาหน้าที่พลเมือง เจอหัวข้อ อำนาจและหน้าที่ ก็ยังงงๆอยู่ว่าทำไม่กลับทางกันอย่างนั้น การเรียนรู้ (Learning) บิตเรียนรู้ได้อย่างไร หรืออย่างน้อยต้องสามารถสร้างบิตใหม่จากบิตเก่าได้เพื่อให้เกิดวิวัฒนาการ (Evolution) บิตจะเรียนรู้ได้ดีต้องมีการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์ (Interaction) วิธีการที่มีประสิทธิผลนั้นต้องทำอย่างไร ใครเป็นผู้ให้ตัวตนหรือบุคลิกภาพของบิต (Selfness) จนกระทั่งนำไปสู่คำถามการรู้สึกตัว (Consciousness and Awareness ) หรือแม้แต่การคำถามพื้นๆแต่ตอบยากคือที่มาของบิตตัวแรกมีตรรกะและเหตุผลสนับสนุนอย่างไรบ้าง?
เป็นเรื่องที่น่าแปลกอยู่พอสมควรที่มนุษย์กล้าหาญคิดเรื่องจิตและปัญญาประดิษฐ์ทั้งๆที่เรามีความรู้เกี่ยวกับจิตและสมองของเราน้อยมาก ในการศึกษาทางวิทยาศาสตร์นั้นดูเสมือนเราเห็นลางๆว่ามีความเกี่ยวข้องระหว่างจิตและความคิด สมองนั้นเปรียบเสมือนโรงงานหรือเครื่องจักรในขบวนการผลิตที่ทำหน้าที่แปรข้อมูลที่ได้รับมาเป็นผลิตภัณฑ์ทางความนึกคิด จิตมีสังขารปรุงแต่ง ตลอดจนการตัดสินใจ สิ่งที่แตกต่างมากๆจากขบวนการการผลิตสิ่งของทั่วไปคือ ผลที่ได้ถูกนำไปปรับปรุงตัวขบวนการเองด้วยซึ่งในที่นี้ก็คือจิตและสมองนั่นเอง ดังนั้นจิต สมองและความคิดจึงไม่สามารถแยกออกจากกันได้โดยสิ้นเชิง |
——————————————————————————————
ข้อมูลจำเพาะของผู้เขียน
ดร. ชิต เหล่าวัฒนา จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาและทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา
ภายหลังจบการศึกษา ดร. ชิต ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม ฟีโบ้ (FIBO) เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เพื่อทำงานวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนให้คำปรึกษาหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และบริษัทข้ามชาติ (Multi-national companies) ในประเทศไทยด้านการลงทุนทางเทคโนโลยี การใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติชั้นสูง และการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ