หุ่นยนต์บำบัดเด็กออทิสติก - Institute of Field roBOtics (FIBO)
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • ไทย
    • อังกฤษ

หุ่นยนต์บำบัดเด็กออทิสติก

logo robot brain

หุ่นยนต์บำบัดเด็กออทิสติก (1)

 

 

109

คอลัมน์ สมองกลสู่สมองคนอัจฉริยะ
อาการที่ปรากฏชัดของเด็กออทิสติกส์คือ การที่พวกเขาขาดความสามารถปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เช่น หลีกเลี่ยงหรือมีการสบตาน้อย ขาดความเข้าใจในท่าทางและการแสดงออกทางหน้าตา การใช้คำพูดตะกุกตะกัก ประสบความยากลำบากในการรับรู้เจตนาและความรู้สึกของผู้ใกล้ชิด ท่านที่มีบุตรหลานที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติจึงน่าเห็นใจอย่างยิ่ง ในปัจจุบันนี้การตรวจอาการดังกล่าวใช้เพียงการสังเกตเชิงพฤติกรรมเท่านั้น ยังไม่มีการตรวจเลือดหรือตรวจสอบทางยีนแม้ว่าจะมีหลักฐานทางแพทย์ว่ามีส่วนสัมพันธ์กับการถ่ายทอดทางพันธุกรรม

สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) ได้ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ในการวิจัยนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์มาช่วยบำบัดผู้ป่วยเด็กเหล่านี้ เราได้นำหุ่นยนต์ PARO จากประเทศญี่ปุ่นพัฒนาขึ้นโดย ดร.ทากาโนริ ชิบาตะ มาเป็นเครื่องมือในการวิจัยในครั้งนี้ ซึ่งทางเนคเทคได้กำหนดรูปแบบการศึกษาในเด็กออทิสติก จำนวน 34 คนใช้เวลาในการทดลอง 10 สัปดาห์ ซึ่งแบ่งเป็น 3 ช่วง ดังนี้ ช่วงที่ 1 เป็นการศึกษาแบบเดี่ยว โดยให้เด็กเล่นกับหุ่นยนต์สัตว์เลี้ยงแบบ 1 ต่อ 1 เพื่อให้เด็กได้ทำความรู้จักกับหุ่นยนต์สัตว์เลี้ยงใช้เวลาในการศึกษา 4 สัปดาห์ ช่วงที่ 2 เป็นการศึกษาแบบกลุ่ม โดยให้เด็กเล่นกับหุ่นยนต์สัตว์เลี้ยงแบบ 1 ต่อ 1 กลุ่มละ 3-5 คน เวลาในการศึกษา 4 สัปดาห์ และช่วงที่ 3 ทำการศึกษาเชิงบูรณาการโดยใช้หุ่นยนต์สัตว์เลี้ยงร่วมกิจกรรมบำบัดฟื้นฟูในชีวิตประจำวันเวลาในการศึกษา 2 สัปดาห์ ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยการบันทึกภาพด้วยกล้องวงจรปิดบันทึกพฤติกรรมของเด็กระหว่างทำกิจกรรม รวมทั้งบันทึกข้อมูลพฤติกรรมของเด็กก่อนและหลังการทดลอง เพื่อนำข้อมูลมาเปรียบเทียบผลการบำบัดเด็กออทิสติกด้วยหุ่นยนต์สัตว์เลี้ยง

หุ่นยนต์เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ดึงดูดและกระตุ้นความสนใจจากเด็กๆทั่วไปรวมทั้งกลุ่มเด็กออทิสติกหลายหน่วยงานวิจัยในต่างประเทศจึงริเริ่มทดลองนำหุ่นยนต์มาเป็นตัวสื่อปฏิสัมพันธ์กับเด็กที่มีอาการผิดปกติเหล่านี้ หลายคนเชื่อว่าหุ่นยนต์ของเล่นให้ความเป็นกันเองและความ “อุ่นใจ” ต่อเด็กๆมากกว่าผู้ใหญ่รอบข้างเสียอีก ผมเคยสังเกตเด็กป่วยที่ต้องไปหาคุณหมอบ่อยๆในวัยเด็กจะเกิดความระแวงเมื่อเห็นผู้ใหญ่เล่นด้วยและยิ้มให้ คงเป็นเพราะคุณหมอเหล่านั้นต้องหลอกล่อเล่นกับเด็กจนเพลินเสียก่อนแล้วจึงทิ่มเข็มฉีดยา เด็กบางคนถึงกลับวิ่งอ้อมไปดูด้านหลังผู้ใหญ่ที่ยืนยิ้มเอามือไพล่หลังอยู่เพราะกลัวว่าในมือจะมีเข็มฉีดยาอยู่ การเลียนแบบถือเป็นลักษณะการสื่อสารประเภทหนึ่งที่บ่งบอกถึงความสนใจและการเข้าหาผู้อื่นจนไปกึงการมีปฏิสัมพันธ์ (Nadel, 1999)

109-1

เราได้ใช้กล้องวงจรปิดจำนวน 3 ตัวสำหรับบันทึกภาพ ซึ่งกล้องจะถูกติดตั้งไว้บนเพดานภายในห้องสังเกตุพฤติกรรม ทำมุมต่อกัน 120 องศาเพื่อทำการบันทึกภาพที่เกิดขึ้นในระหว่างการทำวิจัย โดยนำภาพที่ได้ไปทำการวิเคราะห์ข้อมูลอัตรา การจ้องมอง การสัมผัสวัตถุ และช่วงความสนใจของเด็กออทิสติก

โปรแกรมจับการสัมผัสและการมองของเด็กกับหุ่นยนต์เป็นโปรแกรมอย่างง่ายๆช่วยตรวจจับการสัมผัสและการมองของเด็กกับหุ่นยนต์เพื่อช่วยในการวิเคราะห์ผล แต่ผลทางเทคนิคที่ออกมาไม่ดีเท่าที่ควร

แบบบันทึกและสังเกตพฤติกรรม
1. แบบสอบถามพฤติกรรมของเด็กออทิสติกเป็นแบบสอบถามข้อมูลทั่วไปของผู้ดูแลข้อมูลของเด็กออทิสติกส์ และพฤติกรรมที่เด็กออทิสติกแสดงออกมาโดยทำการบันทึกทั้งก่อนและหลังการทดลอง
2. แบบบันทึก Burn Out Scale เป็นแบบบันทึกภาวะ Burn Out ของกลุ่มผู้ดูแล เด็กออทิสติกก่อนและหลังการทดลอง
3.แบบบันทึกข้อมูลพฤติกรรมของเด็กออทิสติกระหว่างการทดลอง ได้แก่
3.1 แบบบันทึกพฤติกรรมของเด็กออทิสติกระหว่างเล่นกับหุ่นยนต์แมวน้ำ “พาโร”และตุ๊กตาของเล่น ทำการบันทึกจำนวนครั้งและระยะเวลาที่กลุ่มตัวอย่างแต่ละรายในช่วงที่ 1และ 2 ของการทดลองโดยสังเกตพฤติกรรมการจ้องมอง การสัมผัส การเปล่งเสียง ช่วงความสนใจ และปฏิสัมพันธ์สังคมในระหว่างการเล่นกับหุ่นยนต์แมวน้ำ หรือตุ๊กตาของเล่น จาก VDO ที่บันทึกขณะทำกิจกรรม
3.2 แบบบันทึกพฤติกรรมของเด็กออทิสติกระหว่างการทำกิจกรรม ทำการบันทึกจำนวนครั้งและระยะเวลาที่กลุ่มตัวอย่างแต่ละรายในช่วงที่ 1 และ 2 ของการทดลองโดยสังเกตพฤติกรรมการจ้องมอง การสัมผัส การเปล่งเสียง ช่วงความสนใจ และปฏิสัมพันธ์สังคมในระหว่างการเล่นกับหุ่นยนต์แมวน้ำ หรือตุ๊กตาของเล่น จาก วิดิโอที่บันทึกขณะทำกิจกรรม

 

——————————————————————————————
ข้อมูลจำเพาะของผู้เขียน

djitt2

ดร. ชิต เหล่าวัฒนา จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาและทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา

ภายหลังจบการศึกษา ดร. ชิต ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม “ฟีโบ้ (FIBO)” เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เพื่อทำงานวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนให้คำปรึกษาหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และบริษัทข้ามชาติ (Multi-national companies) ในประเทศไทยด้านการลงทุนทางเทคโนโลยี  การใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติชั้นสูง และการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ

Categories: บทความของ ดร. ชิต เหล่าวัฒนา