หุ่นยนต์และระบบการผลิตอัตโนมัติ(จบ) - Institute of Field roBOtics (FIBO)
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • ไทย
    • อังกฤษ

หุ่นยนต์และระบบการผลิตอัตโนมัติ(จบ)

logo robot brain

หุ่นยนต์และระบบการผลิตอัตโนมัติ(จบ)

ลักษณะสำคัญของระบบการผลิตอย่างอัตโนมัติประกอบด้วยเครื่องจักรควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ สายพานลำเลียงและหรือหุ่นยนต์เพื่อลำเลียงชิ้นงาน มีระบบควบคุมส่วนกลางประสานการทำงานระหว่างเครื่องจักร สายพาน หุ่นยนต์เหล่านี้ให้ทำงานสอดคล้องกันโดยผ่านแผนภูมิตรรกะ (Logical Map) แผนภูมินี้ประสานข้อมูลที่ได้จากเซ็นเซอร์แต่ละตัว เมื่อต้องหยุดระบบกะทันหันเพื่อนำชิ้นงานที่ติดขัด(Jam)ในระบบออกจากสายการผลิต การสตาร์ทระบบขึ้นมาอีกครั้งต้องใช้แผนภูมินี้เพื่อดำเนินตามซีเควนซ์ที่ถูกต้อง

แม้จำเป็นต้องซื้ออุปกรณ์จากต่างประเทศ แต่อย่างน้อยวิศวกรไทยควรเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างแผนภูมิตรรกะและซีเควนซ์นี้ จนทำให้เราแก้ไขปัญหาพื้นๆได้เอง โดยมิต้องเสียเวลารอ และเสียค่าใช้จ่ายให้ผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศมาทำงานง่ายๆเหล่านี้

ผมเห็นว่าอุตสาหกรรมไทยนั้นหลีกเลี่ยงเทคโนโลยีอัตโนมัติไม่ได้หากต้องการแข่งขันในตลาดโลก ระบบอัตโนมัติที่ใช้คงไม่ใช่ผลิตคราวละมากๆ (Fixed Automation) แต่จะมีลักษณะที่ผลิตคราวละไม่มากเป็นแบบยืดหยุ่น (Flexible Automation)แต่มีความหลากหลายในรูปลักษณ์ที่เกิดจากการผสมผสานการออกแบบเฉพาะในแต่ละครั้ง เพื่อตอบสนองตลาดที่สูงขึ้นกว่าการเน้นที่ราคาถูกอย่างเดียว ผลิตภัณฑ์ไทยแม้มีความพยายามก็ไม่สามารถแทรกตัวเองในตลาดล่างที่เป็นของจีนและเวียดนาม

บริษัทที่ต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายในการจัดหาและติดตั้งระบบนี้ ไม่อยากจ่าย “ค่าเทคโนโลยี” ควรต้องเตรียมบุคลากรที่มีความสามารถดังนี้: ชำนาญในการใช้ภาษา G-Code/M-Code ของเครื่องจักรควบคุมด้วยตัวเลขและคอมพิวเตอร?(NC/CNC Machines) วางแผนสถานที่ติดตั้ง วางแผนการผลิตและกระบวนการผลิต การเขียนโปรแกรมพื้นฐาน การควบคุมคุณภาพ และการจัดการและบำรุงรักษาเครื่องมือ

ระยะเวลาในการจัดหาและติดตั้งระบบนี้โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2 ปี จากวันที่ท่านผู้บริหารได้ตัดสินใจ(Executive Decision)ว่าต้องใช้ระบบนี้แล้ว จากนั้นต้องมีเวลาเพิ่มเติมอีกประมาณ 6 เดือน เพื่อการปรับแต่งอย่างละเอียด(Fine Tuning)จนกระทั่งระบบสามารถทำงานได้เต็มกำลังการผลิต (Full Production) หากระบบที่ติดตั้งนี้มาทดแทนระบบเดิมผลิตชิ้นงานที่คุ้นเคย การปรับแต่งระบบไม่ยุ่งยาก สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าว่าจะมีปัญหาอะไรบ้าง แต่หากต้องไปผลิตชิ้นงานใหม่ การแก้ไขซอฟต์แวร์จะมีความยุ่งยากและใช้เวลาพอสมควร อย่างรีบเร่งในขั้นตอนนี้ จนเกิดภาวะ “สุกเอาเผากิน” เพราะจะทำให้ปัญหาแฝงตัวอยู่ จนทำให้ระบบไม่ผ่านขบวนการ Commissioning and Shakedown คาราคาซัง ไม่เป็นผลดีทั้งบริษัทและผู้ขายอุปกรณ์

อีกย่างผมได้เตือนท่านผู้บริหารทั้งหลายไปว่า ต้องทำรายละเอียดข้อกำหนดทางเทคนิคแบบสายกลาง อย่าเข้มหรืออ่อนเกินไป เพราะอาจทำให้งบประมาณบานปลายหรือไปยับยั้งความคิดสร้างสรรค์ของผู้พัฒนาระบบ แต่ควรต้อง “ระบุเชิงตัวเลข” เลยว่าต้องการ ลดต้นทุนการผลิตของชิ้นส่วน แรงงาน leadtime ความยืดหยุ่นในการผลิต และของค้างในพื้นที่โรงงาน (Work In Progress) เท่าใด?

ท้ายที่สุดควรจัดตั้ง ทีมงาน (Task Force) เพื่อรับผิดชอบขั้นตอนรายละเอียดดังนี้
1. เลือกชิ้นงานเครื่องจักรสำหรับการใช้ระบบอัตโนมัติ
2. ออกแบบความต้องการคร่าวๆ
3. ประเมินความเหมาะสมของระบบที่มีอยู่ในท้องตลาด
4. ระบุข้อกำหนดทางเทคนิคและเชิญชวนผู้พัฒนา/ผู้ขายเข้าประมูลงาน (Request for proposal)
5. ให้คะแนนเอกสารข้อเสนอของแต่ละผู้ขาย เพื่อให้ผู้บริหารตัดสินใจ
6. ควบคุมการติดตั้ง รวมทั้ง commissioning ระบบ ตามข้อกำหนด
7. แผนการใช้งานและการบำรุงรักษา

 

——————————————————————————————
ข้อมูลจำเพาะของผู้เขียน

djitt2

ดร. ชิต เหล่าวัฒนา จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาและทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา

 
ภายหลังจบการศึกษา ดร. ชิต ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม “ฟีโบ้ (FIBO)” เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เพื่อทำงานวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนให้คำปรึกษาหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และบริษัทข้ามชาติ (Multi-national companies) ในประเทศไทยด้านการลงทุนทางเทคโนโลยี  การใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติชั้นสูง และการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ

 

 

 

Categories: บทความของ ดร. ชิต เหล่าวัฒนา