กรณีศึกษา: ถ่ายทอดเทคโนโลยีหุ่นยนต์
เทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งในการสร้างความสามารถทางการแข่งขัน ทั้งในระดับองค์กรและระดับประเทศ ในระยะหลังนี้ไทยมีการวางนโยบายด้านการพัฒนาเทคโนโลยี แม้ว่ายังไม่สัมฤทธิ์ผลมากนัก แต่นับว่าเราได้มีการขยับเดินก้าวแรกแล้ว
ประมาณ 30 ปีที่ผ่านมางบประมาณแผ่นดินด้านงานวิจัยเทคโนโลยีถูกอัดฉีดมายังคณะวิศวกรรมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยรัฐต่างๆ โดยส่วนใหญ่เป็นงบประมาณวิจัยโดยตรงจากสำนักงบประมาณ และผ่านการบริหารจัดการ ของสภาวิจัยแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช) ดังนั้นในปัจจุบันเราจึงมีเทคโนโลยีมากมายอยู่ในห้องปฎิบัติการวิจัยของมหาวิทยาลัย ความสามารถทาง เทคโนโลยีหุ่นยนต์ ของสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม(ฟีโบ้) เป็นผลจากการสนับสนุนของรัฐดังกล่าวข้างต้น
เทคโนโลยี คือการนำเอาความรู้ ผลผลิต กระบวนการ เครื่องมือ วิธีการทำงาน รวมถึงระบบการทำงาน ที่สร้างขึ้นมาใช้เพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ เทคโนโลยียังรวมถึง ซอฟท์แวร์ (Software) และ ทักษะทางฝีมือ (Human Skill) อยู่ด้วย ดังนั้นองค์ประกอบที่สำคัญและมีความเกี่ยวเนื่องกันคือ
-ฮาร์ดแวร์ (Hardware) เครื่องมือ เครื่องจักร ลักษณะสภาพแวดล้อมทั่วๆ ไป ของเครื่องมือ เครื่องจักร ที่นำมาใช้ในการทำงานที่ต้องการ
-ซอฟแวร์ (Software) การนำเอาความรู้ที่จะไปใช้ในการควบคุมระบบของเครื่องมือและเครื่องจักรต่างๆ ให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
-เบรนแวร์ (Brain-ware) การวิเคราะห์หาเหตุผลในการตัดสินใจเลือกใช้เทคโนโลยีประเภทต่างๆ ให้เหมาะสมกับการใช้งาน และมีประสิทธิภาพมากที่สุด หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Know-why
นอกเหนือจากทั้งสามองค์ประกอบหลักๆ แล้วยังมีอีกหนึ่งองค์ประกอบที่สำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จจากการใช้เทคโนโลยี คือ ความเชี่ยวชาญ (Know-how) ซึ่งนับว่าเป็นกระบวนการหนึ่งในการใช้งานเทคโนโลยี
ผมเห็นว่าการถ่ายทอดเทคโนโลยี ไป-มา ระหว่างสถาบันการศึกษาและอุตสาหกรรมและองค์กรเอกชนนั้นเป็นขบวนการพัฒนาเทคโนโลยีที่จำเป็นอย่างยิ่งในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของประเทศไทย อันจะนำมาซึ่ง เทคโนโลยีที่ต้องการ
ลดเวลาในการทำ R&D ลดความเสี่ยง ลดต้นทุน การเรียนรู้และประสานให้จุดแข็งที่แตกต่างมาลงรอยทำงานด้วยกันได้เป็น วัฒนธรรม ของการต่อยอดทางเทคโนโลยี ขบวนการถ่ายทอดนี้ทำให้เกิดการเคลื่อนของเทคโนโลยี จากแหล่งกำเนิดไปยังผู้รับ ในที่นี้แหล่งกำเนิดหมายถึงผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ถือครององค์ความรู้หรือเทคโนโลยี และผู้รับหมายถึงผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการได้รับมาซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าว ซึ่งมีอยู่หลายแบบ การถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างประเทศ (International Technology Transfer) ภายในประเทศ (Regional Technology Transfer) ข้ามประเภทอุตสาหกรรม (Cross-industries or Cross Sector Technology Transfer) ระหว่างองค์กร (Inter-firm Technology Transfer) และภายในองค์กร (Intra-firm Technology Transfer)
วันนี้ผมขอยกกรณีศึกษา: การทำงานวิจัยร่วมกัน (Collaborative R&D) ระหว่างสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้)และบริษัทเวสเทิร์นดิจิตอล (ประเทศไทย) จำกัดเป็นงานวิจัยของคุณอิทธิพล เชี่ยววานิช นักศึกษาระดับปริญญาโทสาขาพัฒนาความสามารถทางการแข่งขันเชิงอุตสาหกรรมของสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม(ฟีโบ้) งานวิจัยร่วมกันที่ผมกล่าวถึงนั้นมีลักษณะเฉพาะคือ
เป็นกิจกรรมที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง ใช้ทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้ ประสบการณ์ มีความชำนาญหลากหลายสาขา และใช้เวลานาน นอกจากนั้นยังมีความเสี่ยงทางธุรกิจสูง
เป็นการร่วมวิจัยระหว่างบริษัทกับสถานบันการศึกษา กับหน่วยงานวิจัยของรัฐบาล หรือระหว่างบริษัท เพื่อให้ได้มาซึ่งนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อมีผล เชิงปฎิบัตินำมาใช้ในองค์กรได้จริง
ในช่วงต้นของความร่วมมือทีมงานได้รับการอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตหัวอ่าน/เขียน (Slider) ของฮาร์ดดิสค์ตลอดจนได้รับความกรุณาจากวิศวกรมืออาชีพของบริษัทเวสเทิร์นดิจิตอล (ประเทศไทย)ได้ชี้แนะเทคนิคขบวนการผลิต ค่าพารามิเตอร์ต่างๆที่มีความสำคัญ นับได้ว่าเป็นถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ตรงประเด็นกับปัญหาที่ต้องการแก้ไข จากนั้นทางทีมงานได้ประยุกต์ใช้ความรู้ทางทฤษฎีที่สะสมมาจากงานวิจัยหุ่นยนต์ของสถาบันฟีโบ้ ออกแบบและสร้างอุปกรณ์อัตโนมัติหรือหุ่นยนต์เพื่อการผลิตต้นแบบ โดยไม่มีการปกปิดรายละเอียดทางเทคโนโลยีจนทางทีมงานของบริษัทเวสเทิร์นดิจิตอล (ประเทศไทย) สามารถขยายผลจากต้นแบบนั้นได้ ต้นแบบที่บูรณาการด้วยองค์ความรู้ทางเทคโนโลยีหุ่นยนต์จึงถูกถ่ายทอดกลับออกไป
ผลลัพท์ของการทำงานวิจัยร่วมกันนี้ทำให้ได้เครื่องจักรอัตโนมัติต้นแบบ 2 เครื่องคือ เครื่องตรวจสอบผิวชิ้นงานสไลเดอร์แบบอัตโนมัติ (Auto Slider Inspection)และเครื่องหยิบจับชิ้นงานสไลเดอร์แบบอัตโนมัติ (Auto Slider Sorting) ตลอดจนฟีโบ้ได้ประสบการณ์ทางด้านการจัดการและรับทราบจุดอ่อน/จุดแข็งของสถาบันเพื่อจะได้ทำงานในอนาคตได้ดีขึ้น
Auto Slider Inspection: ส่วนของการตรวจสอบ (Inspection) สามารถตรวจสอบและแยกแยะประเภทของความผิดปกติบนพื้นผิวตัวสไลเดอร์ได้ 8 ประเภทคือ ได้แก่
? A1, A10, C1 และ C10 คราบสีติดแน่นบนผิวงาน
? A2 เป็นชนิดของรอยบิ่น
? A3 รอยร้าวตามขอบหรือแถบรุ้งบริเวณอลูมิน่า
? A4P มีหลุมบนพื้นผิว
? ความถูกต้องในการตรวจสอบพื้นผิว 90%
ส่วนของการเคลื่อนที่ (Motion) ผลของการทดสอบได้ข้อมูลดังนี้
? ค่าความคลาดเคลื่อนในการการเข้าสู่ตำแหน่งอยู่ที่ ?10 ไมครอน (micron)
? ความเร็วในการตรวจสอบตัวสไลเดอร์ที่ 900 ชิ้นต่อชั่วโมง (UPH)
ส่วนควบคุมการเคลื่อนที่ (Motion Control) จากทดลองกับสไลเดอร์ จำนวน 300 ตัว
? ความเร็วในการหยิบชิ้นงาน 850 ชิ้นต่อชั่วโมง (UPH)
? หยิบไม่ขึ้น 4.25 %
? วางไม่ถูกตำแหน่ง 5.75%
ส่วนของการจดจำตัวอักษร (Optical Character Recognition: OCR) จากการทดลองกับสไลเดอร์จำนวน 252 ตัว
? ภาพถ่ายไม่ชัด ทำให้ไม่สามารถอ่านค่าได้ 4.45%
? ความถูกต้องในการอ่าน 95.45%
อย่างไรก็ตามแม้ผลลัพท์ทางเทคโนโลยีของโครงการนี้ได้ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างสถาบันการศึกษาและอุตสาหกรรมที่ต้องการเทคโนโลยีชั้นสูง แต่การบริหารจัดการเรื่องระยะเวลามีความสำคัญอย่างยิ่งโดยเฉพาะกับอุตสาหกรรมที่ผลิตภัณฑ์มีวงจรชีวิตสั้น (Fast Cycle Time) เช่น ฮาร์ดดิสค์ เป็นต้น หากฟีโบ้ทำงานได้รวดเร็วขึ้นอาจช่วยทดแทนการนำเข้าของอุปกรณ์นี้ถึง สองล้านเหรียญสหรัฐ และหากทำเองในประเทศราคาจะลดไปกึ่งหนึ่งทีเดียว ประสบการณ์การบริหารงานล่าช้านี้เป็นบทเรียนที่สำคัญของผมครับ ภายภาคหน้าจักต้องวางแผนให้รัดกุมขึ้น
Failure is divided into two classes: those who thought and never did, and those who did and never thought.
——————————————————————————————
ข้อมูลจำเพาะของผู้เขียน
ดร. ชิต เหล่าวัฒนา จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาและทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา
ภายหลังจบการศึกษา ดร. ชิต ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม ฟีโบ้ (FIBO) เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เพื่อทำงานวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนให้คำปรึกษาหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และบริษัทข้ามชาติ (Multi-national companies) ในประเทศไทยด้านการลงทุนทางเทคโนโลยี การใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติชั้นสูง และการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ