เรียนรู้จากอดีตเพื่อสร้างอนาคต(จบ)
เมื่อเราเข้ามหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเราอยู่ในกรุงเทพและหัวเมืองหลักสามแห่ง ชีวิตนิสิตนักศึกษาเราและเพื่อนเรายังฟุ้งเฟ้อ ติดระบบโซตัส มีนิสิตนักศึกษาไม่น้อยที่มุ่งมาหาความหมายและแก่นสารของชีวิตในมหาวิทยาลัยแต่ผิดหวังจึงมีถ้อยความ ฉันเยาว์/ฉันเขลา/ฉันทึ่ง ฉันจึง/มาหา/ความหมาย ฉันหวัง/เก็บอะไร/มากมาย สุดท้าย/ให้กระดาษ/ฉันแผ่นเดียว หลายคนจริงจังเรื่องเผด็จการและความอยุติธรรมทางสังคม ต้องการพลิกแผ่นดินจึงต้องจับปืนและเข้าป่าไป พวกเราที่เรียนครูก็ยังเป็นนักเรียนดีของพื้นที่ เราผ่านอุดมศึกษามาทางสำนักประสานมิตรและวิทยาลัยครูรุ่นเดิม ซึ่งขณะนั้นยังเป็นตักศิลาทางการฝึกหัดครู เราผ่านครุศาสตร์จุฬาซึ่งเริ่มให้ปริญญาตรีทางครุศาสตร์
เราเริ่มทำงานในต้นทศวรรษ 2510 เมืองไทยมีสงครามทางอุดมการณ์และคนไทยรบกันเอง ประเทศของเราถูกดึงเป็นตัวแทนอเมริกาไปทำสงครามกับเพื่อนบ้าน นิสิตนักศึกษาเริ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองจนนำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม2516 และ 6 ตุลาคม 2519 เพื่อนเราหลายคน ลูกศิษย์เราหลายคนเข้าป่าไป ในทศวรรษ 2510 และ 2520 การศึกษาพื้นฐานและการศึกษาภาคบังคับของเราขยายตัวรวดเร็ว วิทยาลัยครูของเราต้องขยายตัวเพื่อผลิตครูและเพิ่มวุฒิครู โปรแกรมทไวไลท์เกิดขึ้น
นอกจากนั้นนักการเมืองให้วิทยาลัยครูของเรารองรับคนจบมัธยมที่ไม่มีมหาวิทยาลัยให้เข้า และไม่มีงานทำ เปิดสอนภาคค่ำให้คนเหล่านี้เรียนมีปริญญาและไปตกงานในอนาคตหลังได้รับการศึกษาอุดมศึกษาอีกสี่ปี แม้ครูวิทยาลัยครูจะมีเงินเดือนที่ต่ำแต่มีรายได้เพิ่มจากการสอนพิเศษทไวไลท์และเป็นสิ่งเสพย์กันต่อมา ไม่มีการแก้ปัญหาสถานะภาพและเงินเดือนของครูจริงจัง ค่าสอนพิเศษทำให้ครูอยู่ได้ นอกจากนั้นประเทศเรามีปัญหาเศรษฐกิจจากวิกฤติการณ์น้ำมัน ระบบราชการต้องรัดเข็มขัด อาชีพข้าราชการและอาชีพครูตกต่ำ ไม่มีคนเก่งคนดีเข้ามาเป็นครู เป็นข้าราชการ เมื่อเราเริ่มชีวิตการทำงาน เราเริ่มสังเกตว่าคนที่เข้ามาเรียนครูจำนวนมากขึ้น มักจะเลือกเรียนครูเป็นลำดับท้าย ๆ
ทศวรรษ 2520 และ 2530 อาชีวศึกษาและอุดมศึกษาของเราขยายตัวมาก แต่สังคมไทยยังเป็นสังคมเชิงฐานานุภาพ (Status Symbol) ให้คุณค่าปริญญาสูงกว่าความสามารถในการทำงานจริงและการทำงานด้วยมือ ระบบราชการเป็นตัวนำในการให้ความสำคัญแก่ปริญญามากกว่าความสามารถหรือการทำงานด้วยมือ อาชีวศึกษาจึงยังไปไม่ถึงดวงดาวทั้งที่เป็นแกนของระบบเศรษฐกิจ พ่อแม่จึงคาดหวังให้ลูกเรียนอุดมศึกษา มัธยมศึกษาจึงถูกลากด้วยแรงอุดมศึกษา
ในช่วงเดียวกัน บ้านเมืองเราตื่นตัวและฟื้นตัวทางการเมือง การเมืองดึงครูของเราไปเป็นหัวคะแนนเป็นฐานเสียง ครูของเราบางคนไต่เต้าขึ้นมาในระบบการศึกษาโดยใกล้ชิดการเมือง ปัจจุบันมีนักการเมืองที่มีชื่อหลายคนในวัยห้าสิบหกสิบเจ็ดสิบปีที่เริ่มชีวิตทำงานจากครู วงการครูของเรามีครูหลายคนที่ใช้กระบวนการการเมืองในสถาบันครู มีการจัดตั้งที่เข้มแข้ง สถาบันครูถูกใช้เป็นฐาน เป็นเสมือนก่อนหิน ใช้เหยียบ ใช้เขย่ง เพื่ออำนาจของตนเองมากกว่าเพื่อการศึกษาของลูกหลาน ผู้บริหารหลายคนถูกเพื่อนครูมองกันว่าเป็นเด็กฝากทางการเมือง เราจะทบทวนเรื่องกันหรือไม่ ทำอย่างไรวงการครูของเราจะลดความเป็นองค์กรจัดตั้งทางการเมือง แต่เป็นองค์กรทางวิชาการวิชาชีพครู หรือเราจะหวังไม่ได้เลย กระทรวงศึกษาธิการเคยมีปูชนียบุคคลเช่น ม.ล.ปิ่น มาลากุล ปราชญ์ เช่น อาจารย์สุกิจ นิมมานเหมินทร์ นักการศึกษาเช่นอาจารย์ก่อ สวัสดิ์พาณิช นักคิดเช่นอาจารย์สิปปนนท์ เกตุทัต ปฏิมากรการศึกษาอย่างอาจารวิจิตร ศรีสะอ้าน
ทศวรรษสุดท้ายของการทำงานของเราคือทศวรรษ 2540 เราได้รัฐธรรมนูญที่เชื่อกันว่าเป็นฉบับที่ดี เราได้ พรบ.การศึกษาแห่งชาติ 2542 รัฐธรรมนูญ 2540 ประกันสิทธิเสรีภาพสูงแก่คนไทย แต่คนของเราช่วงสามสิบสี่สิบปีหลังขาดการขัดเกลาเรื่องหน้าที่และความรับผิดชอบเช่นคนรุ่นเราที่ถูกบุพการีสั่งสอนมา บ้านเมืองไทยเลยสำลักสิทธิเสรีภาพ และโหยหาเรื่องหน้าที่และความรับผิดชอบ คงจะต้องดูกันว่าระบบการศึกษาของเราทำเรื่องหน้าที่ความรับผิดชอบตกหล่นไว้ที่ไหนหรือไม่ พรบ.การศึกษาแห่งชาติ 2542 ทำให้เราตั้งธงเรื่องปฏิรูปการศึกษาได้ แต่เราขัดแย้งเรื่องอำนาจ โครงสร้าง ผลประโยชน์กันหลายปี จนสาระหลักเรื่องการปฏิรูปการเรียนรู้และการดูแลสถานภาพและการพัฒนาครูเป็นตัวตาม แปดปีผ่านมาเพิ่งตั้งหลักได้ การหลอมรวมกระทรวงและหน่วยงานเป็นหนึ่งกระทรวงและห้าองค์กรหลัก เป็นโครงสร้างที่ควรเกิดเอกภาพเชิงนโยบายและเอื้อให้เกิดสัมฤทธิ์ผลถ้าได้เจ้ากระทรวงที่ดีและเข้าใจการใช้โครงสร้างนี้ แม้จะสะดุดเพราะวัฒนธรรมองค์กรและสภาพจัดตั้งที่ต่างกัน เป็นเรื่องที่ต้องฝาน ถาก ขัด และเกลากันต่อไป
สามสิบกว่าปีของการทำงาน เราคงทำผิดบ้าง ทำบาปบ้าง ต้องขออภัย เราคงทำชอบ ทำถูก ทำบุญ ทำประโยชน์ไว้พอสมควร ขอให้คนรุ่นต่อไปใช้ประโยชน์ให้เป็นเนื้อนาบุญสร้างการศึกษาเพื่อลูกเพื่อหลานต่อไป
ขอกราบขอบพระคุณท่านอาจารย์กฤษณพงศ์ สำหรับผลงานสร้างสรรค์ด้านการศึกษาของไทยครับ
ท่านผู้อ่านสามารถส่งข้อคิดเห็น/เสนอแนะมาที่ผู้เขียนที่ djitt@fibo.kmutt.ac.th
——————————————————————————————
ข้อมูลจำเพาะของผู้เขียน
ดร. ชิต เหล่าวัฒนา จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาและทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา
ภายหลังจบการศึกษา ดร. ชิต ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม ฟีโบ้ (FIBO) เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เพื่อทำงานวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนให้คำปรึกษาหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และบริษัทข้ามชาติ (Multi-national companies) ในประเทศไทยด้านการลงทุนทางเทคโนโลยี การใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติชั้นสูง และการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ