ฝันเฟื่องเรื่องหุ่นยนต์ที่ฟีโบ้ (จบ)
จะเห็นได้ว่าวิชาเรียนมีความหลากหลายที่เกี่ยวข้องกับวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติโดยเฉพาะ และเมื่อจบการศึกษาแล้วบัณฑิตสามารถทำงานได้หลากหลายสาขาเช่นกัน ทั้งงานวิเคราะห์ ออกแบบ สร้าง ระบบหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในโรงงานอุตสาหกรรม หรือนักวิจัยและสร้างทางด้านเทคโนโลยีในหน่วยงานของรัฐและเอกชน ไม่แน่เราอาจจะได้เห็นบัณฑิตจากฟีโบ้ได้คิดค้นระบบอัตโนมัติที่ช่วยในการประหยัดพลังงานและทรัพยากรขององค์กรภายในประเทศ หรือระบบการเชื่อมต่อระหว่างผู้ใช้กับคอมพิวเตอร์ขั้นสูงที่ให้บริการและความสะดวกแก่ลูกค้าของธนาคาร หรือบริษัทออกแบบสร้างบ้านโดยใช้เทคโนโลยีความจริงเสมือน (Virtual Reality) หยิบจับวัตถุเสมือนที่เป็นคอมพิวเตอร์กราฟฟิกเหมือนในหนังฮอลลีวู้ดก็เป็นได้
ส่วนอีกหลักสูตรที่มีสอนที่ฟีโบ้คือหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการพัฒนาความสามารถทางการแข่งขันเชิงอุตสาหกรรม หลักสูตรนี้เปิดขึ้นควบคู่กับหลักสูตรทางด้านวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเนื่องจากในปัจจุบันประเทศที่มีความเติบโตทางเศรษฐกิจจะต้องมีการพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมควบคู่กันไป การแข่งขันทางธุรกิจอุตสาหกรรมจึงถือเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศ ตลอดระยะเวลา 12 ปี ที่ฟีโบ้ได้มีส่วนร่วมในการวางรากฐานให้กับอุตสาหกรรมของประเทศไทย ในฐานะองค์กรชั้นนำด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระดับสูง ฟีโบ้ตระหนักถึงความสำคัญของการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อสร้างองค์ความรู้ที่เหมาะสมเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศในระยะยาว ซึ่งการสร้างความสามารถทางการแข่งขันในระดับสากลนั้น เป็นปัญหาที่มีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดระหว่างองค์ความรู้ด้านการพัฒนาความสามารถทางการแข่งขันเชิงอุตสาหกรรม กับองค์ความรู้ในหลักสูตรด้านวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ดังนั้นการผสานองค์ความรู้ทางด้านกลยุทธ์ การดำเนินการ รวมถึงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดศักยภาพทางการแข่งขัน โดยมิใช่เป็นเพียงการบริหารจัดการนวัตกรรมเชิงธุรกิจ หากแต่เป็นการดำเนินการหรือนวัตกรรมเชิงเทคโนโลยีที่มีการผสานองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมกับการบริหารจัดการทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม เชิงนโยบายและกลยุทธ์ อันนำไปสู่การพัฒนาความสามารถทางการแข่งขันเชิงอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง
หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการพัฒนาความสามารถทางการแข่งขันเชิงอุตสาหกรรม จัดการเรียนการสอน โดยเน้นองค์ความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติด้านการพัฒนาความสามารถทางการแข่งขันเชิงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อการพัฒนากระบวนวิธีการผลิตและนวัตกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การผสานองค์ความรู้ด้านการจัดการเทคโนโลยี การจัดการทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ ตลอดจนการจัดการสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สามารถรองรับกับความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอันส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันเพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ในเชิงรุก
ภายในหลักสูตรได้มีการนำงานวิจัยทางด้าน การพัฒนาความสามารถทางการแข่งขันเชิงอุตสาหกรรมทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ มาเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการเรียนการสอน เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความคิดสร้างสรรค์และเป็นผู้นำในด้านการพัฒนาความสามารถทางการแข่งขันเชิงอุตสาหกรรม ฟีโบ้เองมุ่งหวังที่จะสร้างองค์ความรู้ด้านการพัฒนาความสามารถทางการแข่งขันเชิงอุตสาหกรรม ที่ทันสมัยและเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของประเทศไทย ทั้งยังต้องสามารถเชื่อมโยงความรู้และประสบการณ์ระหว่างภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้มหาบัณฑิตมีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ในการผสานองค์ความรู้ด้านการใช้เทคโนโลยี การตัดสินใจ และแก้ไขปัญหา การพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์ การพัฒนาและวิจัย การตอบสนองการเปลี่ยนแปลงและการคิดค้นนวัตกรรมทางเทคโนโลยี โดยฝึกฝนทักษะการเรียนรู้ และแก้ไขปัญหาแบบ Project-based learning เกี่ยวกับการพัฒนาความสามารถทางการแข่งขันซึ่งประกอบด้วยการเรียนรู้แบบแก้ไขปัญหาแบบพึ่งตนเอง (Autonomous learning) กระบวนการเรียนรู้แบบสืบค้น (Inquiry-based learning) การเรียนรู้แบบอิสระ (Independent learning) การมีส่วนร่วมและการทำงานเป็นทีม และการแก้ไขปัญหาจากสถานการณ์จริง
ดังนั้นภายใต้รั้วสถาบันเดียวกันฟีโบ้จะมีทั้งส่วนเน้นสร้างเทคโนโลยีที่มาจากหลักสูตรระดับปริญญาโทด้านวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และส่วนที่เน้นการการบริหารจัดการทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม เชิงนโยบายและกลยุทธ์จากหลักสูตรการพัฒนาความสามารถทางการแข่งขันเชิงอุตสาหกรรม โดยทางฟีโบ้มีนโยบายส่งเสริมการทำงานร่วมกันของทั้งสองหลักสูตร โดยนอกจากการทำกิจกรรมนอกเวลาเรียนร่วมกันแล้วนักศึกษายังสามารถเลือกเรียนวิชาเรียนข้ามสาขาเพื่อเพิ่มทักษะและความรู้ได้ ยกตัวอย่างเช่นนักศึกษาในหลักสูตรด้านวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ อาจลงเรียนการบริหารจัดการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี หรือการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ของหลักสูตรด้านการพัฒนาความสามารถทางการแข่งขันเชิงอุตสาหกรรมได้ และฟีโบ้มีการสนับสนุนการทำงานวิจัยร่วมกันของทั้งสองหลักสูตรไม่ว่าการส่งประกวดการเขียนแผนธุรกิจหรือการทำงานวิทยานิพนธ์เพื่อเสริมงานซึ่งกันและกัน
สำหรับภาคการศึกษาที่ 2551 นี้ ท่านที่สนใจมาศึกษาและค้นพบเทคโนโลยีหุ่นยนต์ สามารถสอบถามได้ที่ โทร. 0-2470-9339, 0-2470-9691 หรือสมัครผ่านเว็บไซต์ http://www.admission.kmutt.ac.th วันจันทร์ที่ 3 ธันวาคม 2550 วันศุกร์ที่ 25 มกราคม 2551
ท่านผู้อ่านสามารถส่งข้อคิดเห็น/เสนอแนะมาที่ผู้เขียนที่ djitt@fibo.kmutt.ac.th
——————————————————————————————
ข้อมูลจำเพาะของผู้เขียน
ดร. ชิต เหล่าวัฒนา จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาและทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา
ภายหลังจบการศึกษา ดร. ชิต ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม ฟีโบ้ (FIBO) เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เพื่อทำงานวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนให้คำปรึกษาหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และบริษัทข้ามชาติ (Multi-national companies) ในประเทศไทยด้านการลงทุนทางเทคโนโลยี การใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติชั้นสูง และการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ