ใจมนุษย์-ความคิดหุ่นยนต์
ศาสตราจารย์ ฮิโรชิ อิชิกูรุ นักวิจัยชั้นนำด้าน Android ผู้สร้างหุ่นยนต์ที่เหมือนภรรยาและตัวท่านเองขึ้นมา ได้คาดการณ์ว่าคงต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 100-200 ปีในการวิจัยพัฒนาที่จริงจังของนักวิจัยหุ่นยนต์ทั่วโลกเพื่อจะทำเกิดหุ่นยนต์ที่มีความสามารถใกล้เคียงมนุษย์ หรือที่ผมมักใช้คำว่าเป็นสิ่งที่มีชีวิตเสมือนเต็มรูปแบบ (Virtual Life Form) เมื่อหุ่นยนต์ยิ่งมีลักษณะรูปร่างและการทำงานใกล้เคียงมนุษย์เท่าไหร่ การยอมรับให้หุ่นยนต์มาอยู่ในสังคมชีวิตประจำวันของเราก็มีมากขึ้นด้วย
เมื่อเขาเหล่านั้นมาใช้ชีวิตปะปนอยู่กับพวกเรา แน่นอนครับว่าความเป็นห่วงว่าจะเกิดมนุษย์ไร้จรรยาบรรณใช้หุ่นยนต์ในทางที่ผิดทำให้เกิดโทษมหันต์ ดังตัวอย่างเช่น หุ่นยนต์สังหารจากบทความที่แล้ว คุณ Osama ท่านผู้อ่านท่านหนึ่งได้แสดงความเห็นต่อท้ายบทความผมในเว็ปว่า เรากำลังหาที่มาว่า แท้ที่จริงแล้วเรากำลังสร้างตัวเราเอง บางครั้งเราก็งงใช่ไหมครับ ว่ารูปแบบและทิศทางในการพัฒนาเทคโนโลยีมันมาจากไหน มันเป็นสิ่งที่เราทั้งหลายช่วยกำหนด ชี้นำด้วยกันผ่านสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น นิยาย ภาพยนต์ นิตยสาร อื่นๆ เพราะฉะนั้นการได้รับรู้ผ่านสื่อเหล่านี้ก็เป็นแนวทางสำหรับนักประดิษฐ์ ส่งผลให้รูปแบบที่จะเกิดขึ้นสำหรับหุ่นยนต์จะไม่ต่างจากที่เราเห็นกันในภาพยนต์ เรื่องนี้สำคัญยิ่งและผมหวังว่า นักคิดจากหลายหลากอาชีพจะกันช่วยระดมสมองกำหนดแนวทาง จรรยาบรรณ ขั้นต่ำที่หุ่นยนต์ต้องมีซึ่งน่าจะครอบคลุมมากกว่ากฎเหล็กหุ่นยนต์สามข้อ ของปรมาจารย์นิยายวิทยาศาสตร์อาซิมอฟ
สัปดาห์ที่แล้วผมรับเชิญไปชมการสาธิต หุ่นยนต์กู้ภัยจากสหรัฐเอมริกา ที่สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทหารกลาโหม ถนนแจ้งวัฒนะ ผมมีโอกาสคุยฝรั่งผู้ผลิตหุ่นยนต์ดังกล่าว ก็ได้รับการยืนยันว่าความสามารถของหุ่นยนต์ที่ผมได้กล่าวไว้ในบทความที่แล้ว เป็นเรื่องที่ทำได้แล้วจริงๆ
ย้อนเวลาโลกตะวันตกในช่วงประวัติศาสตร์ยุคกลางนั้น ประชาชนเริ่มตื่นตัวและหลงไหลกับเทคโนโลยี และนำไปสู่นิยายฝันร้ายที่มนุษย์พยายามสร้างสิ่งมีชีวิตเทียมขึ้น ตั้งใจให้มาช่วยเหลือมนุษย์แต่ผิดพลาดกลับมาทำลาย เรื่องของ ดร. แฟรงเกนสไตน์ ในปี ค.ศ. 1818 เป็นตัวอย่างที่คลาสสิกว่าสิ่งที่มนุษย์พยายามสร้างขึ้นนั้นเกิดผลลัพท์ที่เกินความคาดหมาย หรือแม้แต่ละครของ คารเรล คาเปก ชาวเชกโกสโลวาเกีย (ค.ศ. 1920) ที่กล่าวถึง สิ่งมีชีวิตที่เป็นกลไก เป็นครังแรก และถูกสร้างให้มีความคิดเหตุและผลเป็นเลิศกว่ามนุษย์
ความคิดดีส่งถึงการกระทำที่ดี ความคิดของหุ่นยนต์จึงเป็นเรื่องที่ผมเห็นว่าจำเป็นต้องเร่งศึกษา ในขณะที่ขบวนการคิดของหุ่นยนต์ (Cognitive Process) อาจจะเหมือนหรือไม่เหมือนมนุษย์นั้นกลับได้รับความสนใจจากสาธาณะชนค่อนข้างน้อย แต่เป็นเรื่องใหญ่ที่เหล่านักวิจัยหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์-เอไอ ทั่วโลกพยายามค้นหาทั้ง ในและนอก กรอบวิธีคิดแบบเดิมๆ ทั้งนี้เพื่อให้ ทายาทเอไอ ของเรามีความสมบูรณ์ที่สุดและต้องรับสิ่งที่ดีๆจากสายพันธ์มนุษย์ไปเท่านั้น
คำว่า Artificial Intelligence และ Computing Intelligence นั้น มีอยู่หลายครั้งที่ผมใช้คำสองนี้กลับไปมาในความหมายเดียวกัน อาจเป็นเพราะพวกเราที่ทำงานวิจัยในสาขานี้คุ้นเคยกับการคำนวณและการจำลองสถานการณ์ (Simulation) บนแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ ข้ออ้างที่สำคัญคือ การจำลองเชิงคำนวณ (Computational Simulation) ที่เราใช้เพื่อศึกษาขบวนการคิดของหุ่นยนต์ดังกล่าวนั้น โดยตัวของมันเองก็เป็นสมมุติฐาน (Assumption) อยู่ในขบวนการเดียวกันนั่นเอง ดูไปคล้ายๆกับ Circular Reasoning ที่ท่านผู้รู้ด้านปรัชญาเคยแนะนำผม แม้ปัญญาประดิษฐ์มีรากเหง้ามาจากการคำนวณทางคณิตศาสตร์ และขบวนการคิดของมนุษย์ก็สามารถอธิบายโดยแบบจำลองเดียวกันตามที่อาจารย์ของผมท่านหนึ่งคือ Prof. Herb Simon, นักวิทยาศาสตร์โนเบลไพร์ส ได้ศึกษาไว้นั้นจะเป็นจริงหรือไม่ก็ตาม ก็ไม่ได้ไปปิดกั้นจนทำให้เอไอไปไม่ถึงเป้าหมายหรอกครับ การพัฒนาอัจฉริยะภาพจึงน่าจะอยู่ที่การปฏิสัมพันธ์และเรียนรู้จากสิ่งรอบข้างและธรรมชาติ โดยเฉพาะสิ่งที่แสดงความเป็น อัจฉริยะ ออกมา ข้อโต้แย้งที่ว่าขบวนการคิดของมนุษย์มีส่วนเกี่ยวข้องด้านสังคมอยู่มากพอสมควร ทำให้ขบวนการมีโครงสร้าง (Organization) มากไปกว่าเพียงแค่หน้าที่ (Function) Dr. Humphrey (1984) ชี้ว่า นิสัยใจคอและลักษณะทางจิตศาสตร์ พัฒนาขึ้นมาจากแรงกดดันจากเงื่อนไขในสังคม ท่านผู้อ่านคงเห็นเหมือนผมว่าความอยู่ดีกินดีและอยู่แบบเอื้ออาทรของคนในสังคมไทยตั้งแต่อดีต ส่งผลให้คนไทยมีความสุขได้โดยไม่จำเป็นยึดถือวัตถุและอำนาจจนเกินไป ด้วยเหตุนี้กระมังครับช่างสุโขทัยจึงปั้นพระพุทธรูปได้ความอ่อนโยนและลุ่มลึกอันเป็นลักษณะเด่นของบรรพบุรุษไทย
เอไอในมิติข้างตนไม่ได้เป็นเป้าหมายสำคัญครับ อาจจะดีเสียอีกเพราะ ทายาทเอไอ ของเราไม่ต้องไปเปลี่ยนพฤติกรรมและอุปนิสัยไปทางเลวลงเมื่อหลุดไปอยู่สังคมที่มีเงื่อนไขเชิงลบภายใต้แรงกดดันมากๆ เป็นระบบคุ้มกันได้อย่างดี ในอนาคต มนุษย์ควรพยายามบูรณาการ สิ่งที่บุคลิกภาพด้านบวก เข้าไป Cognitive Simulation ที่พวกเราต้องใช้ความคิดมากๆ คือ เรื่องความจำเป็น มาตรวัดความพึงพอใจ รูปแบบการบูรณาการด้านข้อมูล ความสามารถในการเชื่อมโยงปัญหาและตีความหมาย และที่สำคัญที่สุดคือเป้าหมายรวมของการพัฒนาที่ต้องเน้นการสร้างประโยชน์มากกว่าทำลายล้าง สำนึกนี้ต้องอยู่ในความคิดและใจของผู้พัฒนา
ผมเชื่อว่าต้นกำเนิดสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีคือ ใจ ของมนุษย์ ที่ทำให้เราเข้าใจธรรมชาติได้นั่นเอง จุดที่เยี่ยมยอดของโลกคือใจ ควรบำรุงรักษาด้วยดี ได้ใจแล้วคือได้ธรรม เห็นใจตนแล้วคือเห็นธรรม รู้ใจตนแล้วคือรู้ธรรมทั้งมวล…ใจคือสมบัติอันล้ำค่า จึงไม่ควรอย่างยิ่งที่จะมองข้ามไป ส่วนหนึ่งของ มุตโตทัย โอวาท ของ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ
ท่านผู้อ่านสามารถส่งข้อคิดเห็น/เสนอแนะมาที่ผู้เขียนที่ djitt@fibo.kmutt.ac.th
——————————————————————————————
ข้อมูลจำเพาะของผู้เขียน
ดร. ชิต เหล่าวัฒนา จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาและทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา
ภายหลังจบการศึกษา ดร. ชิต ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม ฟีโบ้ (FIBO) เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เพื่อทำงานวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนให้คำปรึกษาหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และบริษัทข้ามชาติ (Multi-national companies) ในประเทศไทยด้านการลงทุนทางเทคโนโลยี การใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติชั้นสูง และการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ