
ผมได้ยินเรื่องเล่าขานมานานว่า เมื่อห้าสิบปีก่อนตอนที่เกาหลีใต้สร้างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับแรกนั้นเขาต้องส่งทีมงานมาศึกษาจากผลงานของประเทศไทย มาในระยะหลังเราเองต้องกลับไปศึกษาจากเขา ครั้นผมมาค้นหาข้อมูลเรื่องการพัฒนาเทคโนลีหุ่นยนต์ของประเทศเกาหลีใต้จึงได้พบว่าเขาแน่จริงและรัฐบาลของเขาให้การสนับสนุนอย่างจริงจังครับ วันนี้ผมขอให้ข้อมูลท่านผู้อ่านเกี่ยวกับสถานภาพของวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในประเทศเกาหลีใต้ ดังต่อไปนี้ครับ
ประเทศเกาหลีใต้เป็นอีกหนึ่งประเทศผู้นำทางด้านวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ โดยประเทศเกาหลีใต้มีจุดแข็งทางเทคโนโลยีในด้านหุ่นยนต์เชื่อมต่อโครงข่าย (Network-Based Robot) และมีความสนใจมุ่งเน้นไปในประเภทหุ่นยนต์บริการ หุ่นยนต์ใช้ส่วนตัว และหุ่นยนต์คล้ายมนุษย์ โดยในเดือนพฤศจิกายนปี 2005 ได้มีการนำหุ่นยนต์ไปทดลองใช้ในสนามบิน สถานีรถไฟ และที่ทำการไปรษณีย์ต่างๆทั่วกรุงโซล อันประกอบไปด้วยหุ่นยนต์อำนวยความสะดวก ซึ่งทำหน้าที่ให้คำแนะนำและข้อมูลต่างๆแก่ผู้ใช้บริการ นอกจากนี้ยังมีหุ่นยนต์เพื่อความบันเทิง ซึ่งสามารถเล่านิทานและทำนายดวงชะตาได้ และหุ่นยนต์รักษาความปลอดภัยซึ่งสามารถดูแลเฝ้ายามและเตือนภัยได้ ดังแสดงในรูปที่ 1 นอกจากนี้ในเดือนตุลาคมปี 2006 ได้มีโครงการ Network Based URC Robot ซึ่งประเทศเกาหลีใต้ได้ติดตั้งหุ่นยนต์ขับเคลื่อนด้วยล้อและควบคุมผ่านโทรศัพท์มือถือตามที่อยู่อาศัยและโรงเรียนอนุบาลกว่า 1000 แห่งทั่วกรุงโซลอีกด้วย
ส่วนทางด้านการตลาด อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ในประเทศเกาหลีใต้มีส่วนแชร์ตลาดโลกอยู่ที่ประมาณ 3% ทั้งนี้ Ministry of Commerce, Industry and Energy หรือ MOCIE ของประเทศเกาหลียังระบุอีกด้วยว่า ตลาดภายในประเทศของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ในประเทศเกาหลีมีแนวโน้มการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ดังแสดงในรูปที่ 2

รูปที่ 1 การทดลองใช้หุ่นยนต์บริการที่สนามบิน Inchon และ สถานีรถไฟ Seoul

รูปที่ 2 แนวโน้มตลาดภายในประเทศของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ประเทศเกาหลีใต้
นอกจากนี้ประเทศเกาหลีใต้ยังมีจำนวนผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และรายย่อยที่ทำธุรกิจทางด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติอยู่เป็นจำนวนมาก โดยในสิ้นปี 2006 MOCIE ได้สรุปจำนวนผู้ประกอบการทางด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในประเทศเกาหลีใต้ดังที่แสดงในตารางข้างล่าง ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่ามีจำนวนบริษัทแยกตัวจากศูนย์บ่มเพาะและบริษัทขนาดย่อมอยู่เป็นสัดส่วนที่มากกว่าบริษัทขนาดใหญ่
ตารางแสดงจำนวนผู้ประกอบการทางด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในประเทศเกาหลี
Business |
Manufacturing | Services | Components | Total |
Large | 13 (7) | 5 (-) | 4 (-) | 22 (7) |
Small | 47 (2) | 64 (-) | 47 (-) | 158 (2) |
*( ) : Selling over $10 Million USD for a Year
ที่มา : Establishing a Korean Robot Ethics Charter, Ministry of Commerce [63]
รัฐบาลเกาหลีใต้ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นและความสนใจของประชาชนในประเทศเกาหลีใต้ที่มีต่อหุ่นยนต์ ซึ่งจัดทำโดย MOCIE ในปี 2005 ผลการสำรวจระบุว่าประชาชนเกาหลีใต้ให้การตอบรับในเชิงบวกต่อการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์มาใช้ในสังคมของประเทศ โดย 90.8% ของประชาชนเกาหลีมีทัศนคติในทางบวกต่อภาพลักษณ์ของหุ่นยนต์ และ 78% ของประชาชนเกาหลีมีความสนใจที่จะซื้อหุ่นยนต์บริการไว้ใช้ส่วนตัว

รูปที่ 3 ผลสำรวจทัศนคติของประชาชนเกาหลีใต้ที่มีต่อหุ่นยนต์

รูปที่ 4 ผลสำรวจความสนใจซื้อหุ่นยนต์บริการไว้ใช้ส่วนตัวของประชาชนเกาหลีใต้
นโยบายและแนวทางการพัฒนาวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในประเทศเกาหลีใต้ ประเทศเกาหลีใต้เป็นประเทศหนึ่งที่ทางภาครัฐบาลของประเทศเล็งเห็นความสำคัญและให้การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ โดยสามารถสรุปเป้าหมายและทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ในประเทศเกาหลีใต้ได้ดังนี้
– มีเป้าหมายมุ่งไปเป็นหนึ่งในสามประเทศผู้นำในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์
– สามารถครอง 15% ของตลาดหุ่นยนต์โลกได้ภายในปี 2013
– มีทัศนวิสัยมุ่งไปเป็นประเทศบ่มเพาะเทคโนโลยีหุ่นยนต์ของโลก
– ภายในปี 2020 สามารถมีหุ่นยนต์อย่างน้อยหนึ่งตัวในทุกๆครัวเรือนของประเทศ
– เนื่องด้วยประเทศเกาหลีมีอัตราการเพิ่มจำนวนประชากรที่ลดลง หุ่นยนต์จะถูกใช้เป็นทางแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอนาคต
ประเทศเกาหลีใต้มีโครงการระดับชาติที่สำคัญอยู่สามโครงการหลักคือ
1. โครงการ 21C Frontier Technology Development ในโปรเจค Intelligent Robot Technology Development for Human Life ซึ่งเน้นไปทางหุ่นยนต์ช่วยเหลือผู้สูงอายุ และได้รับการสนับสนุนจาก Ministry of Science and Technology (MOST) และ Ministry of Commerce, Industry and Energy (MOCIE) ของประเทศเกาหลีใต้ โดยมีระยะเวลาการดำเนินงานระหว่างปี 2003 ถึงปี 2012
2. โครงการ New Growth Engine of Korea ในโปรเจค Intelligent Robot Development ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก MOCIE ดำเนินงานระหว่างปี 2004 ถึงปี 2011
3. โครงการ Ubiquitous Robot Companion ในโปรเจค IT Based Intelligent Service Robot Development และโปรเจค Public Robot Development ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก Ministry of Information and Communication (MIC)
ทิศทางในการพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ของประเทศเกาหลีใต้ สามารถสรุปตามประเภทของหุ่นยนต์ได้ดังตารางข้างล่างนี้
ตารางทิศทางในการพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ของประเทศเกาหลีใต้ตามประเภทหุ่นยนต์
2007 | 2010~2015 | |
Home Service | Cleaning/Educational Robot | Coexistence with Humans |
Silver/Life Care | Health/Silver Care Robot | Silver-Mate assisting Senior Citizens |
Security/Military | Disaster Recovery/ Rescue/Military Robot | Extension to Practical Applications |
Humanoid/Android | Prototype Robots | Like Bicentennial Man |
Network Robot | Ubiquitous Robotic Companion | Network Robots for an ubiquitous presence in society |
Nano/High-precision | Industrial Robots | Cooperative/Intelligent Works |
ที่มา : Establishing a Korean Robot Ethics Charter, Ministry of Commerce
ท่านผู้อ่านสามารถส่งข้อคิดเห็น/เสนอแนะมาที่ผู้เขียนที่ djitt@fibo.kmutt.ac.th
——————————————————————————————