เรียนหุ่นยนต์ฟรีที่ฟีโบ้ - Institute of Field roBOtics (FIBO)
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • ไทย
    • อังกฤษ

เรียนหุ่นยนต์ฟรีที่ฟีโบ้

logo robot brain

เรียนหุ่นยนต์ฟรีที่ฟีโบ้

ขอเชิญร่วมงาน “เรียนต่อโท-เอกด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ” พร้อมสัมภาษณ์รับทุนเรียนฟรี วันศุกร์ที่ 23 มกราคม 2552 ตึกอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จัดโดย สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) http://ThaiRobot.org  สำรองที่นั่งได้ที่คุณดลยาทิพย์ (study@fibo.kmutt.ac.th) โทร. 02-470-9339 และ 02-470-9691 ผู้สนใจสัมภาษณ์รับทุนต้องติดต่อรับลำดับการสัมภาษณ์ก่อนวันพุธที่ 21 มกราคม 2552

SS 12 01 2009 pic 1

โอกาสเป็นของน้องๆที่สนใจที่ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์แล้วครับ  สถานการณ์ปัจจุบันน่าจะพร้อมทั้งบุคลากร (อาจารย์และนักวิจัย) งบประมาณ และข้อมูล ผมยังจำได้เมื่อ 30 ปีก่อนแม้แต่จะหาข้อมูลด้านหุ่นยนต์มาโปรเจคปริญญาตรีก็ลำบากมากไม่มีอินเทอร์เนตที่เราจะไปค้นหาที่ต้องการ ในทางวิศวกรรมศาสตร์นั้นการได้เห็นของจริงที่เคยมีผู้คิดค้นมาแล้วมีความสำคัญช่วยให้เราทั้งลอกเลียนแบบ (Copy and Development) และ/หรือสร้างขึ้นมาเองโดยใช้ความคิด (idea) ใหม่ ผมเห็นว่าในระยะต้นของการพัฒนาเทคโนโลยีนั้น การลอกเลียนแบบไม่ใช่เป็นเรื่องเสียหายอะไรเลย แต่ต้องมีการปรับปรุงเพิ่มเติมที่ละเล็กละน้อย (Continuing Improvement) ญี่ปุ่นเรียกลักษณะนี้ว่าไคเซ็น เพื่อมิให้เจ้าของความคิดเดิมฟ้องเราทางกฏหมายเราได้  ประเทศที่เป็นผู้นำทางเทคโนโลยีล้วนผ่านขั้นตอนไคเซ็นมาทั้งนั้น

SS 12 01 2009 pic 2

นอกจากที่สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนามแล้ว ผมยังมั่นใจว่ามหาวิทยาลัยต่างๆในประเทศไทยก็มีความพร้อมด้านบุคลากรในการเปิดหลักสูตรหุ่นยนต์ เมื่อประมาณสองปีที่แล้วขณะที่สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนามจัดทำแผนยุทธศาตร์หุ่นยนต์แห่งชาติโดย ดร. สยาม เจริญเสียงเป็นหัวหน้าโครงการ  เราขอให้ทุกส่วนงาน/สถาบัน แนะนำงานที่ได้ดำเนินการศึกษา วิจัย และประยุกต์ใช้ เพื่อให้ได้ทราบสถานภาพปัจจุบันของกิจกรรมทางด้านวิทยาการหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ ของแต่ละส่วนงาน/สถาบันโดยสามารถรวบรวมข้อมูลได้ดังนี้  ดร.ธนกร  จากศูนย์เทคโนโลยีโลหะ และวัสดุแห่งชาติ (MTEC)  ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ MTEC ว่ามีความเชี่ยวชาญในการนำหุ่นยนต์มาใช้ในด้าน Material processing & Handling และ Medical application และ

SS 12 01 2009 pic 3

จากการศึกษาโดย MTEC พบว่าปัญหาในด้านวิทยาการหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ มีอยู่ 2 ประการ คือ ภาคอุตสาหกรรมที่ซื้อเครื่องจักรมาใช้ขาดความรู้ในการใช้ และการปรับเปลี่ยน/ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีให้เหมาะสมกับงาน อีกทั้งยังขาดความเชื่อมั่นในผลงานวิจัยของไทย พร้อมกับได้เสนอทางแก้ไขให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในงานวิจัยตั้งแต่ระยะแรก โดยทางดร.ธนกรได้ให้ความเห็นว่าประเทศไทยยังขาด System Integrator ในด้านวิทยาการหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ  ดร.วิทยา และดร.ประภาส จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับงานวิจัยทางด้านวิทยาการหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ  (Robotics and Automation :RA) มีสาขาที่เกี่ยวข้องอย่างน้อย 3 สาขาได้แก่
• สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า มีงานวิจัยทางด้าน Power drive, Actuator และ Control Theory
• สาขาวิศวกรรมเครื่องกล มีงานวิจัยทางด้าน Mobile Robot, Industrial Robot และ Human Robot Interaction
• สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มีงานวิจัยทางด้าน AI, Geometry, Mobile Robot และ Embedded System

SS 12 01 2009 pic 4

ดร.สัญญา จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงงานวิจัยทางด้าน RA ที่ดำเนินอยู่ในมหาวิทยาลัยมี 3 สาขา คือ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ สาขาวิศวกรรมอุตสาหการ และสาขาวิศวกรรมเครื่องกล โดยมีผลงานวิจัยด้านการออกแบบ Jig – Fixture, Embedded System, เครื่องช่วยคนพิการในการเดิน และ รถเข็นช่วยในการยืน  ดร.ปัญญา จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สรุปงานวิจัยในสาขาวิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมไฟฟ้า และวิศวกรรมการผลิต ที่เกี่ยวข้องกับ RA โดยเน้นการวิจัย และพัฒนา ซึ่งสามารถนำไปใช้งานได้จริงทางด้านเกษตรกรรม และวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร  โดยขณะนี้มีการสนับสนุนให้นิสิตตั้งบริษัทแล้ว 6 บริษัท ภายในระยะเวลา 2 ปี  คุณพัชรินทร์ และคุณกรเดช จากสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยีไทย – ญี่ปุ่น กล่าวถึงการสนับสนุนกิจกรรมทางด้าน RA ว่ามี 2 ส่วน คือ กิจกรรมการแข่งขัน และ การฝึกอบรม โดยมีการจัดกิจกรรมการแข่งขันหุ่นยนต์ในระดับอุดมศึกษา 14 ครั้ง ระดับมัธยมศึกษา 7 ครั้ง การแข่งขัน PLC 2 ครั้ง และ การแข่งขัน Automation Kaizen Award ส่วนด้านการฝึกอบรม มีการจัดการอบรมการควบคุม PLC  ดร.สถาพร จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้รับการติดต่อจากกระทรวงกลาโหมให้จัดสร้างหุ่นยนต์กู้ระเบิด เพื่อนำไปใช้งานจริงโดยเน้นเทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อน และสามารถซ่อมแซม แก้ไข ได้ง่ายดร.จักรกฤษณ์ จากมหาวิทยาลัยมหิดล สรุปภาพรวมของมหาวิทยาลัยว่ามีหลักสูตรที่เกี่ยวข้องในด้าน RA คือ สาขาวิศวกรรมเครื่องกล (แมคคาทรอนิกส์) สาขาวิศวกรรมชีวการแพทย์ (ปริญญาตรี, โท และเอก) สำหรับการวิจัยของ BART Lab เน้นด้าน Medical, Automation, Function Medical Simulation และ EKG นอกจากนี้ AI Lab เน้นการวิจัยด้านการทำนายการเกิดโรคมะเร็ง โรคอ้วน และโรคเบาหวาน โดยการใช้ Intelligence System ในด้านการแพทย์มีความร่วมมือกับโรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลวัดไร่ขิง และโรงพยาบาลทรวงอก ดร.ถวิดา จากสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี แจ้งว่าที่สถาบันฯมีการเปิดสอนใน 2 หลักสูตร ประกอบด้วย สาขาวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และสาขาการพัฒนาความสามารถทางการแข่งขันเชิงอุตสาหกรรม ส่วนงานวิจัยด้าน RA มีด้วยกันหลากหลายประเภท โดยเน้นอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์

SS 12 01 2009 pic 5

นอกจากนั้นยังมีการบริการวิชาการให้คำปรึกษาที่เกี่ยวข้องกับ RA แก่บริษัทต่างๆ ในโครงการของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คุณพรชัย จากบริษัท FA Tech ได้กล่าวถึงปัญหาในด้านประสิทธิภาพของนักศึกษาที่จบใหม่ ซึ่งไม่สามารถทำงานได้ทันที ต้องจัดให้มีการอบรมก่อนการทำงานซึ่งกินเวลานาน อีกทั้งยังขาดความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ ปัญหาที่สำคัญอีก 2 ประการคือ การที่บริษัทขนาดใหญ่ไม่สนับสนุนให้วิศวกรสร้างสรรค์ผลงานของตนเอง และ การขาดแหล่งข้อมูลในการเข้าถึงงานวิจัย สำหรับการเติบโตของอุตสาหกรรมด้าน RA หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจประเทศไทย ได้ส่งผลกระทบให้ภาคอุตสาหกรรมไทยมีการเจริญเติบโตเพียง 10 เท่า (ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา) ในขณะที่ประเทศเกาหลีเติบโตถึง 100 เท่า  คุณยุทธพงษ์ จากบริษัท Isuzu กล่าวถึงการขาดการสนับสนุน ในสายงานหรือตำแหน่ง ที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่ชนะการแข่งขันหุ่นยนต์ ซึ่งได้เสนอว่าควรมีการสนับสนุนในส่วนนี้เพิ่มขึ้น เพื่อป้องกันบุคลากรด้าน RA หันไปประกอบอาชีพอื่นๆ ที่ไม่ตรงกับสาขาวิชาที่จบมา คุณขวัญจิต จากบริษัท Seagate ได้ให้ข้อมูลว่าในภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ RA มีอัตราการเปลี่ยนงานอยู่ในระดับสูง ยังขาดบุคคลกรที่ตรงสาขามาก

จากข้อมูลความเห็นข้างต้นจะพบว่าเแต่ละสถาบันการศึกษานั้นมีความพร้อมคณาจารย์ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีหุ่นยนต์โปรดหารือท่านอาจารย์เหล่านั้นโดยตรง สำหรับน้องนักศึกษาที่สนใจเรียนหุ่นยนต์ฟรีที่ฟีโบ้ อย่าลืมติดต่อคุณดลยาทิพย์ (study@fibo.kmutt.ac.th) โทร. 02-470-9339 และ 02-470-9691 ครับ สมองน้อง..สมองคนไทยไม่เคยแพ้ใคร คนรุ่นผมพร้อมส่งโอกาสให้น้องไปสร้างสมองกลอัจฉริยะของไทย ดังเพลงที่ผมชอบ คุณแอ๊ดคาราบาวร้องไว้อย่างน่าฟัง

คนไทยไม่ชูคนไทย ฝรั่งหน้าไหนเขาจะมาชูเรา…..
ลูกหลานไทยยังมีเก่งหลายคน ซ่อนตัวสร้างตนรอโอกาสสักที
เจอที่ไหน อย่าได้รอรี มาช่วยบายศรีช้างเผือกเมืองไทย

ท่านผู้อ่านสามารถส่งข้อคิดเห็น/เสนอแนะมาที่ผู้เขียนที่ djitt@fibo.kmutt.ac.th


 

ข้อมูลจำเพาะของผู้เขียน

ดร. ชิต เหล่าวัฒนา จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาและทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา

djitt2

ภายหลังจบการศึกษา ดร. ชิต ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม “ฟีโบ้ (FIBO)” เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เพื่อทำงานวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนให้คำปรึกษาหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และบริษัทข้ามชาติ (Multi-national companies) ในประเทศไทยด้านการลงทุนทางเทคโนโลยี  การใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติชั้นสูง และการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกของประเทศไทยที่เปิดสอนระดับปริญญาโทสาขาวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติโดยเฉพาะ

 

 

 


Categories: บทความของ ดร. ชิต เหล่าวัฒนา