
สหวิทยาการมนุษย์และหุ่นยนต์
อีกไม่นานมหาวิทยาลัยต่างๆของไทยจะได้ต้อนรับนักศึกษาหน้าใหม่ทั้งระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา วิศวกรรมศาสตร์ยังคงเป็นสาขาที่น้องๆหลายคนได้เลือกศึกษาเพื่อหาความรู้เพิ่มเติมสำหรับการประกอบอาชีพในอนาคตไม่ว่าจะเป็นวิศวกรในโรงงานอุตสาหกรรม ประกอบอาชีพอิสระ (Techno Entrepreneur) หรือแม้กระทั่งศึกษาต่อจนจบปริญญาเอกจนไปถึงนักวิชาการทางเทคโนโลยี ในห้วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา วิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเป็นศาสตร์ใหม่ที่เยาวชนไทยให้ความสนใจมาก วันนี้ผมจึงขอนำท่านผู้อ่านไปเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการชั้นแนวหน้าของไทยด้านสหวิทยาการมนุษย์และหุ่นยนต์ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ห้องปฏิบัติการสหวิทยาการมนุษย์และหุ่นยนต์ที่ผมกล่าวถึงนี้ อยู่ภายใต้การดูแลของผศ.ดร.วิทยา วัณณสุโภประสิทธิ์ ผศ.ดร.รัชทิน จันทร์เจริญ และดร.ศุภวุฒิ จันทรานุวัฒน์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการทำงานร่วมกันระหว่างหุ่นยนต์กับมนุษย์ เพื่อเพิ่มศักยภาพการทำงานในรูปแบบต่างๆ เป็นการรวมข้อดีของมนุษย์และหุ่นยนต์เข้าด้วยกัน โดยเน้นงานวิจัยหลัก 3 ด้านดังนี้
-
วิจัยบุกเบิกด้านมนุษย์และหุ่นยนต์ เน้น Cobot: Collaborative Robot, Haptic Interface อุปกรณ์ที่สร้างความรู้สึกเสมือนจริง
-
วิจัยด้านวิศวกรรมมนุษย์ เน้นพัฒนา Vibrotactile สำหรับผู้พิการทางสายตา Sport Robotics Engineering ร่วมกับคณะแพทย์ศาสตร์
-
วิจัยด้านหุ่นยนต์ เน้นพัฒนา Fluidic and Electronics Continuous Variable Transmission, Laser Local Positioning System, Mobile Robot System, Odometry Localization for Mobile Robot
ตัวอย่างของงานวิจัยของห้องปฏิบัติการสหวิทยาการมนุษย์และหุ่นยนต์ ได้แก่
1. 3D Cobot
งานวิจัยนี้เป็นการออกแบบและพัฒนาหุ่นยนต์โคบอทแบบแขนกล ที่ช่วยกำหนดทิศทางการเคลื่อนที่ให้มนุษย์ โดยสามารถเคลื่อนที่ได้ 3 องศาอิสระ ที่มีลักษณะเป็นแบบเชิงเส้นตามแนวแกน X, Y และ Z โดยเราจะนำหุ่นยนต์โคบอทจอยสติกมาทำการพัฒนาให้ได้ตามวัตถุประสงค์ ซึ่งจะทำให้ใช้ล้อจำนวนทั้งหมดเพียงแค่ 3 ล้อเท่านั้น และทำให้ลักษณะของโครงสร้างมีลักษณะที่ง่ายขึ้น โดยเรียกหุ่นยนต์โคบอทตัวนี้ว่า “หุ่นยนต์โคบอทสามมิติ (3D Cobot)” แสดงดังรูปที่ 1
รูปที่ 1 CU Cobot
2. T Cobot
การออกแบบและพัฒนาต้นแบบหุ่นยนต์โคบอทสำหรับโครงการวิจัยนี้ ทีมวิจัยได้วางแนวทางการออกแบบของหุ่นยนต์โคบอทเป็นแบบชนิด Wheel Joint เนื่องจากมีความเหมาะสมต่อลักษณะการใช้งานในงานวิจัยนี้ และขนาดของหุ่นยนต์โคบอทจะต้องมีขนาดที่พอเหมาะสำหรับทำงานได้บนโต๊ะ และสามารถเคลื่อนย้ายได้ง่าย โครงสร้างคร่าวๆของหุ่นยนต์โคบอทในเบื้องต้นจึงประกอบด้วย Wheel Joint จำนวน 3 Joints เพื่อทำให้โคบอทตั้งอยู่ได้ด้วยตัวเอง และสามารถเคลื่อนที่ได้บนพื้นระนาบ (X, Y, ) ดังรูปที่ 2
รูปที่ 2 CU T Cobot
3. Double CVT
อุปกรณ์ปรับเปลี่ยนอัตราทดแบบต่อเนื่องเชิงมุม (CVT) ถูกออกแบบขึ้นโดยเกิดจากการนำอุปกรณ์ปรับเปลี่ยนอัตราทดแบบต่อเนื่องแบบล้อมาประยุกต์สร้างขึ้น เพื่อให้ได้ลักษณะอัตราทดของความเร็วเชิงมุม งานวิจัยนี้ได้ออกแบบโดยนำ CVT 2 ชุดมาต่อขนานกัน เราจึงเรียกว่า “Double CVT” มีจุดมุ่งหมายเพื่อนำไปต่อกับชุดแขนกลแบบ 5 ก้านต่อ ทำให้เราสามารถพัฒนาอุปกรณ์ชิ้นนี้เป็นหุ่นยนต์โคบอทอีกรูปแบบหนึ่ง ที่มีลักษณะเคลื่อนที่บนพื้นระนาบ (X, Y) แสดงดังรูปที่ 3
รูปที่ 3 CU Double CVT
4. Laser Local Positioning System
Laser Local Positioning System หรือ LPS คืออุปกรณ์ที่สามารถวัดและบอกตำแหน่งความละเอียดสูงของเป้าหมายต่างๆได้ แสดงดังรูปที่ 4 ทำงานโดยอาศัยแสงเลเซอร์ ทำให้เกิดความสะดวกในการใช้งาน อีกทั้งยังทำให้เกิดความแม่นยำสูง ความสามารถอีกอย่างของอุปกรณ์ LPS นี้สามารถที่จะติดตามการเคลื่อนที่ของเป้าหมายได้อีกด้วย
รูปที่ 4 CU LPS
5. Arm Movement Guidance using Vibrotactile Feedback
ปัญหาหนึ่งที่สำคัญในปัจจุบันของคนตาบอดคือ การได้รับข้อมูลที่ไม่เพียงพอของสิ่งแวดล้อมรอบตัว ดังนั้นจึงมีการค้นคิดระบบต่างๆในการให้ข้อมูลเหล่านี้แก่คนตาบอดผ่านสัมผัสอื่นๆแทนดวงตา งานวิจัยนี้จะนำเสนอในส่วนของระบบแนะนำการเคลื่อนไหวโดยใช้สัญญาณสั่น เพื่อให้ผู้ใช้สามารถเดินทางหลบหลีกสิ่งกีดขวางได้ โดยจะศึกษาในส่วนของความสัมพันธ์ของสัญญาณสั่นและการเคลื่อนไหวของมนุษย์ โดยที่จะศึกษาการเคลื่อนไหวใน 1 องศาอิสระ และเลือกใช้สัญญาณสั่นในการส่งข้อมูล แสดงดังรูปที่ 5
รูปที่ 5 CU Arm Movement Guidance
น้องๆที่เข้าศึกษาต่อ ณ. สถาบันการศึกษาแห่งนี้และสนใจจะทำวิทยานิพนธ์ที่ห้องปฏิบัติการสหวิทยาการมนุษย์และหุ่นยนต์ ผมแนะนำว่าให้รีบเข้าหาท่านอาจารย์ผู้ดูแลเพื่อขอคำปรึษาในเรื่องที่ตนสนใจว่าตรงกับแนวทางวิจัยของห้องปฏิบัติการวิจัยหรือไม่? อย่างไร? แล็ปวิจัยดีๆ อาจารย์เก่งๆอย่างนี้ผมเชื่อว่าที่ว่างมีจำกัดครับ
ท่านผู้อ่านสามารถส่งข้อคิดเห็น/เสนอแนะมาที่ผู้เขียนที่ djitt@fibo.kmutt.ac.th