ความสำคัญของอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไทย - Institute of Field roBOtics (FIBO)
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • ไทย
    • อังกฤษ

ความสำคัญของอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไทย

logo robot brain

ความสำคัญของอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไทย

article172-1
รูปที่ 1 ส่วนประกอบของฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์

อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย และปัจจุบัน มูลค่าส่งออกมากกว่า 1.4 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 32 ของมูลค่าการส่งออกของประเทศ อุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมของประเทศที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในการประชุมเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2548 ให้จัดทำแผนปฏิบัติการปรับโครงสร้าง โดยตั้งเป้าหมายว่าอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์จะเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่จะทำให้มูลค่าเพิ่มของภาคอุตสาหกรรมทั้งหมดหลังการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพิ่มจาก 2.3 ล้านล้านบาทในปี 2547 เป็น 3.3 ล้านล้านบาทในปี 2551 เนื่องจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูงในด้านการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ประเทศ และความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก สำหรับผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ส่งออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์และชิ้นส่วน โดยในปี พ.ศ. 2548 ที่ผ่านมาไทยสามารถส่งออกฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ทั้งที่สำเร็จรูปและที่เป็นชิ้นส่วนได้สูงถึง 415,711 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 29 ของการส่งออกสินค้าไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด และคิดเป็นร้อยละ 10 ของการส่งออกโดยรวมของทั้งประเทศ นอกจากนั้นในปีเดียวกันประเทศไทยได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลิตและส่งออกฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์อันดับ 1 ของโลกเป็นปีแรกโดยมีส่วนแบ่งถึงร้อยละ 42 ของตลาดโลก การที่การผลิตและส่งออกจากประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์รายใหญ่ของโลกถึง 4 บริษัท คือ Seagate, Hitachi Global Storage Technology (HGST), Western Digital (WD), และ Fujitsu/Toshiba (ข้อมูลแสดงในตารางที่ 1) ได้เข้ามาตั้งฐานการผลิตอยู่ในประเทศไทย โดยเฉพาะภายหลังรัฐบาลประกาศให้มีการส่งเสริมการลงทุนเป็นการเฉพาะสำหรับกิจการประกอบฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2547 บริษัทเหล่านี้ต่างขยายกำลังการผลิตจนทำให้ประเทศไทยถูกจัดว่าเป็นฐานการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่สำคัญของโลกอีกประเทศหนึ่ง นอกเหนือจากสิงคโปร์ มาเลเซีย และจีน
ตารางที่ 1 การเข้ามาของผู้ประกอบการฮาร์ดดิสก์รายใหญ่ในประเทศไทย

article172-2

อุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ไม่เพียงก่อให้เกิดการลงทุนจากต่างประเทศและสร้างรายได้แก่ประเทศในฐานะของสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดการจ้างงานในประเทศถึง100,000 อัตรา และสร้างอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ อีกจำนวนมาก

ตารางที่ 2 การผลิต และการส่งออกของอุตสาหกรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ของไทย

article172-3

ที่มา: The International Disk Drive Equipment and Materials Association ประเทศไทย (IDEMA Thailand) สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และ สำนักงา่นคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)
หมายเหตุ: ปี 2549 เป็นข้อมูลประมาณการ

HDD Value Chain

article172-4

รูปที่ 2 แสดงห่วงโซ่มูลค่าของอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์

กลยุทธ์การพัฒนา

จากการวิเคราะห์ถึงความสามารถและศักยภาพของคลัสเตอร์ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ในประเทศไทย ทั้งในด้านจุดแข็ง จุดอ่อน อุปสรรค และโอกาส รวมทั้งเป้าหมายของการพัฒนาคลัสเตอร์ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ พบว่ายุทธศาสตร์สำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถครองความเป็นอันดับหนึ่งในด้านการผลิตของโลกไปจนถึงปี 2553 (5 ปี) โดยการบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ในระยะสั้นและระยะกลางนั้น ในส่วนที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควรเร่งดำเนินการ ได้แก่ กลยุทธศาสตร์สำคัญ 6 กลยุทธ์ที่ภาครัฐและภาคเอกชนควรช่วยกันดำเนินการเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและลดจุดอ่อนของคลัสเตอร์ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ของประเทศไทย กล่าวคือ

กลยุทธ์ที่ 1: การรักษาการลงทุนเดิมและขยายฐานการลงทุนในอนาคต
การรักษาผู้ประกอบฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์รายเดิมที่มีอยู่จำเป็นต้องมีนโยบายและมาตรการส่งเสริมให้เกิดความมั่นใจในการลงทุนระยะยาว เช่น นโยบายสนับสนุนสำหรับผู้ที่ขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง หรือผู้ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการใช้นโยบายการส่งเสริมการลงทุนและการสร้างบรรยากาศในการลงทุน เพื่อดึงผู้ประกอบฮาร์ดดิสก์รายใหม่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย
กลยุทธ์ที่ 2: พัฒนาแรงงานไทยให้มีจำนวนมากขึ้นและมีคุณภาพดีขึ้น
ในปัจจุบัน บุคลากรในด้านการผลิตของไทยที่มีทักษะสูงยังมีปริมาณไม่เพียงพอ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับปริมาณการผลิตที่จะขยายตัวสูงขึ้นในอนาคต ถึงแม้ทางบริษัทจะมีการฝึกอบรมอย่างสม่ำเสมอให้กับพนักงานก็ยังไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการบุคลากรที่มีทักษะสูงได้ ดังนั้น ระบบการศึกษาทั้งในระดับมหาวิทยาลัยและระดับอาชีวศึกษา จำเป็นจะต้องมีหลักสูตรการผลิตบุคลากรในด้านการผลิตเพื่อรองรับความต้องการที่จะขยายตัวในอนาคต
กลยุทธ์ที่ 3: พัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุนและชิ้นส่วนที่เข้มแข็งในประเทศไทย
โครงสร้างของอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ในประเทศไทยยังเป็นการกระจุกตัวของบริษัทต่างชาติ และเชื่อมโยงกับผู้ผลิตชิ้นส่วนในภูมิภาคมากกว่ากับผู้ประกอบการในประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสนับสนุน เช่น งานโลหะ งานแม่พิมพ์ งานพลาสติก ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ clean room, metal finishing, heat treatment, equipment repair ซึ่งยังไม่สามารถเชื่อมโยงเข้ากับการผลิตอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องพัฒนาและยกระดับความสามารถทางธุรกิจและเทคโนโลยีของผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศให้สามารถทำงานร่วมกับบริษัทต่างชาติที่อยู่ในประเทศและเป็นที่ยอมรับให้ได้
กลยุทธ์ที่ 4: พัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรมด้านการผลิต รวมทั้งเทคโนโลยีเกี่ยวข้องการบริการและสนับสนุนการผลิต
การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์ HDD ในอนาคต ทำให้ผู้ผลิตจำเป็นต้องยกระดับเทคโนโลยีกระบวนการผลิตในประเทศไทย ดังนั้น การพัฒนาเทคโนโลยีด้านการผลิตที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิต เช่น เทคโนโลยีเครื่องจักรกลอัตโนมัติ (automation) การตรวจวัดความแม่นยำ การกำจัดสิ่งสกปรกและ ESD และเทคโนโลยีด้านการออกแบบทั้งในส่วน process design และ product design จึงเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการพัฒนาขึ้นมาให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์
ผมขอยกตัวอย่างโครงการวิจัยใน ปีงบประมาณ 2552 มีแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น 1.โครงการการจัดตั้งห้องบริการทดสอบ ESD ซึ่งเป็นการร่วมมือระหว่าง WD และ NECTEC ในการจัดตั้งศูนย์ทดสอบไฟฟ้าสถิตย์เพื่อส่งเสริมให้เกิดความรู้ความเข้าใจในการทดสอบ ESD โดยกลุ่มเป้าหมายมีทั้งนักวิจัยจากสวทช.(MTEC,NECTEC) และนักวิจัยภายนอก(ม.เทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง) เพื่อใช้ทดสอบในโครงการวิจัยพัฒนา (RDE) และบริษัท/ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ และ 2.โครงการสนับสนุนการผลิตเครื่องจักรAutomation ซึ่งเป็นการทำโครงการวิจัยพัฒนาร่วมกับ HGST และ SUT เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการSMEsไทยสามารถผลิตและเข้าสู่อุตสาหกรรมการผลิตHDDได้ งปม.โครงการทั้งสิ้น 17.1 ลบ. เป็นการร่วมลงทุนเพื่อทำการพัฒนาต้นแบบจาก HGST เป็นเงิน 12 ลบ. และHDDI ร่วมลงทุน 5.1 ลบ.เพื่อพัฒนาและสนับสนุนการผลิตHDD (Jig fixture,Indirect Material and Automation)
กลยุทธ์ที่ 5: สร้างตลาดฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ภายในประเทศ
ในการสร้างตลาดฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ในประเทศจำเป็นต้องทำให้เกิด forward linkage ไปยังอุตสาหกรรมปลายน้ำ เช่น อุตสาหกรรม ICT และ consumer electronics โดยอาศัยมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมโยงดังกล่าว
กลยุทธ์ที่ 6: ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาระบบลอจิสติกส์ (logistics)
การพัฒนาห่วงโซ่อุปทานจำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเป็นช่องทางการไหลของข้อมูลสารสนเทศ และพัฒนากระบวนการในการเชื่อมต่อการโอนถ่ายข้อมูลและสารสนเทศระหว่างสมาชิกในโซ่อุปทานด้วยกัน รวมทั้งพัฒนามาตรฐานการเชื่อมต่อข้อมูลสารสนเทศในมุมมองของกระบวนการธุรกิจซึ่งจะทำให้เกิดมาตรฐานของการเชื่อมต่อ เพื่อนำมาใช้พัฒนาระบบลอจิสติกส์ (logistics) เพื่อสนับสนุนการจัดการด้านการผลิตและการจัดส่งสินค้า รวมทั้งใช้ในขั้นตอนทางภาษี และศุลกากร
เป้าหมาย
เป้าหมายหลักของโครงการคือ การยกระดับความสามารถทางการแข่งขันระหว่างประเทศ และส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตฮาร์ดไดรฟ์ไดรฟ์และอุปกรณ์ อันดับ 1 ของโลกในทศวรรษหน้า
“To enhance international competitiveness and promote Thailand as the world #1 HDD manufacturer through the next decade.”ทั้งนี้เพื่อให้ถึงเป้าหมายหลักดังกล่าว จึงมีการกำหนดเป้าหมายด้านอื่นๆ ที่รองรับความยั่งยืนของการพัฒนาเพิ่มอีก 4 ด้านประกอบด้วย การสร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศ การพัฒนาบุคลากรทักษะสูง การสร้างงานวิจัยและพัฒนา และ การส่งเสริมผู้ประกอบการไทย ดังนี้

1. สร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศโดยการเพิ่มห่วงโซ่การผลิตต้นน้ำและการนำฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ไปสร้างมูลค่าในหอุตสาหกรรมอื่นเช่น consumer product, PC ซึ่งเป็นการสร้างอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ให้ยั่งยืนในประเทศ
2. การผลิตวิศวกรและช่างเทคนิค ที่มีความรู้ความสามารถทางด้านเทคโนโลยีของฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ รวมถึงเทคโนโลยีด้านการผลิตและทดสอบ เพื่อให้สามารถออกแบบและแก้ปัญหาผลิตภัณฑ์ หรือ เทคโนโลยีการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ให้กับภาคการผลิต
3. มีการสร้างงานวิจัยพัฒนาขั้นสูง เพื่อรองรับการออกแบบผลิตภัณฑ์ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ และเทคโนโลยีขั้นสูงที่ใช้ในการผลิตและทดสอบ เพื่อกระตุ้นให้อุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ มีการลงทุนผลิตชิ้นส่วนที่มูลค่าสูงในประเทศและดำเนินการวิจัยและพัฒนาเอง
4. ส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการของไทย ให้ประกอบธุรกิจในอุตสาหกรรมสนับสนุน (supporting industry) ของอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์รวมถึงการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ กับอุตสาหกรรมอื่นในประเทศ



แนวทางในการดำเนินงาน
โปรแกรมฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟภายใต้ NECTEC มีแนวทางในการดำเนินงานเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการวิจัยพัฒนาและสร้างต้นแบบอุตสาหกรรมในประเทศ ผ่านปัจจัย/กลไกสนับสนุนในการดำเนินงานต่างๆ ดังนี้

โจทย์วิจัยและแผนที่นำทางการพัฒนาเทคโนโลยี :
โปรแกรมฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟมีนโยบายที่ชัดเจนในการดำเนินงานและสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาที่โจทย์วิจัยนั้นต้องมาจากภาคอุตสาหกรรม การพัฒนาเทคโนโลยีต้องสอดรับกับแผนงานความต้องการของผู้ผลิตและอุตสาหกรรมสนับสนุน โปรแกรมฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟมีแผนที่นำทางการพัฒนาเทคโนโลยี(Technology Roadmap)ที่ชัดเจน ที่ผ่านการระดมสมองร่วมกับภาคอุตสาหกรรมและเครือข่ายนักวิจัย เพื่อให้ได้ทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยีที่จำเป็นในการเพิ่มผลผลิตและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันที่ตรงกับความต้องการในปัจจุบันและในอนาคตของภาคอุตสาหกรรม และทำให้เชื่อมั่นได้ว่า งบประมาณปัจจัยการสนับสนุนต่างๆ ที่ลงไปในโจทย์วิจัยต่างๆนั้น สอดรับกับทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยีและตรงกับความต้องการของภาคเอกชน
กระบวนการ/กลไกสนับสนุนทุนวิจัย :
โปรแกรมฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ ได้ร่วมกับบริษัทผู้ผลิต HDD รายใหญ่ทั้ง 4 รายจัดทำข้อสัญญา Master Research Collaborative Agreement ซึ่งกำหนดกระบวนการ/กลไกสนับสนุนทุนวิจัยทั้ง In Cash และ In Kind มีข้อตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาของผลงานวิจัย ตลอดจนได้ร่วมกันจัดวางขั้นตอนกระบวนการในการอนุมัติและติดตามโครงการวิจัยอย่างต่อเนื่อง
บุคลากรวิจัยและการบริหารจัดการ :
โปรแกรมฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟได้จัดตั้งศูนย์วิจัยร่วมเฉพาะทาง (I/U CRC) เทคโนโลยีฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ 3 ศูนย์ด้าน Advanced Manufacturing, HDD Components และ Data Storage and Application ร่วมกับสถาบันการศึกษาได้แก่ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มจธ., ม.ขอนแก่น และ สจล.ตามลำดับ เพื่อบริหาร สนับสนุนงานวิจัยและพัฒนา และเชื่อมโยงเครือช่าย/กลุ่มนักวิจัยเข้าสู่อุตสาหกรรม HDD และจัดตั้งหน่วยวิจัยย่อย (Research Unit) 3 หน่วยด้านกระบวนการผลิตชุดหัวบันทึก, ด้านกระบวนการผลิตชุดหัวบันทึก หัวอ่าน และเวเฟอร์ และด้านส่วนประกอบ HDD ร่วมกับ มทส., มธ., และ ม. สงขลา ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากนักวิจัยภายในในสวทช. ในศูนย์แห่งชาติทั้ง NECTEC, NECTEC, NANOTEC และโปรแกรม CPMO ทำให้มีเครือข่ายนักวิจัย ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกว่า 100 ท่านทั้งภายในและต่างประเทศ และครุภัณฑ์บางส่วนในการดำเนินการวิจัย ทดสอบขั้นพื้นฐาน
การถ่ายทอดเทคโนโลยีขั้นสูงจากต่างประเทศ:
โปรแกรมฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ มีเครือข่ายนักวิจัย องค์ความรู้ และกลไกสนับสนุนที่พร้อมต่อการรองรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีขั้นสูงจากต่างประเทศ เพื่อนำมาดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาต่อยอดภายในประเทศ และถ่ายทอดเทคโนโลยีต่อให้กับบุคลากร/ผู้ประกอบการภายในประเทศ โดยที่ผ่านมา โปรแกรมฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ ได้ร่วมดำเนินโครงการฝึกอบรมทางเทคนิคและถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงในต่างประเทศสำหรับอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ร่วมกับบริษัทผู้ผลิต HDD จำนวน 5 โครงการ มีผู้ผลิตเข้าร่วมจำนวน 3 บริษัท ส่งนักวิจัย/ผู้เชี่ยวชาญจากสวทช. ภาครัฐ และภาคเอกชนไปรับการอบรมเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศแล้ว จำนวน 54 คน โดยปัจจุบัน และอยู่ระหว่างพัฒนาโครงการวิจัยต่อยอดที่จะนำไปสู่ต้นแบบกระบวนการ/ผลิตภัณฑ์ได้ จำนวน 18 โครงการใน 1-2 ปี
การสนับสนุน SME ไทยในกลุ่ม Automation และ Precision Tools เพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์
โปรแกรมฯ ร่วมกับภาคอุตสาหกรรมฯ และบริษัท SMEs ไทยที่มีความพร้อม ร่วมกันพัฒนาต้นแบบเครื่องจักร Automation และ Precision Tools ที่ได้รับโจทย์โดยตรงจากบริษัทในอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ โดยเน้นเฉพาะเครื่องจักรที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงและมีปริมาณความต้องการต่อไปอีกมากในอนาคต โดยที่ทางโปรแกรมฯ เข้าร่วมในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายบางส่วนที่จำเป็นต้องลงทุนเพื่อการพัฒนาต้นแบบเครื่องจักรหรือชิ้นงานเหล่านั้น โดยที่มีคณาจารย์จากสถาบันอุดมศึกษาดำเนินการสนับสนุนทางด้านองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องที่จำเป็นต้องพัฒนาขึ้นใหม่ในการสร้างต้นแบบเครื่องจักรหรือชิ้นงาน และถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs เพื่อพัฒนาต่อไปสู่ความสามารถด้านการออกแบบและการสร้างเครื่องจักรใหม่ สร้างความเข้มแข็งและความสามารถในการแข่งขันที่ยั่งยืน และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ผลิต HDD

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ
โปรแกรมนี้ให้ผู้ลงทุนในอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์และชิ้นส่วนเกิดความมั่นใจในความพร้อมของบุคลากรในประเทศไทย และมั่นใจว่ามีแหล่งสนับสนุนทางเทคโนโลยี และสามารถตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย (แทนการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น) โดยคาดว่าจะทำให้เกิดการขยายการลงทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมนี้อย่างน้อย 35,000 ล้านบาท(บริษัท Hutchison ผู้ผลิต Suspension ได้วางแผนการลงทุนในประเทศไทยและอยู่ระหว่างดำเนินการด้านการลงทุนกับ BOI ซึ่งมีการทำธุรกรรมแล้ว) โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมระดับต้นน้ำ เช่น อุตสาหกรรมแผ่นบันทึกข้อมูล หรือ media (การผลิตแผ่นและเคลือบแผ่นบันทึกข้อมูล) ซึ่งเป็นชิ้นส่วนหลักในฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์และมีต้นทุน คิดเป็นร้อยละ ๑๐ ของต้นทุนชิ้นส่วนการผลิตทั้งหมด โดยที่ผ่านมานั้นผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์จะนำเข้าแผ่น media สำเร็จรูปจากต่างประเทศทั้งสิ้น ดังนั้น การผลิตได้เองในประเทศจะช่วยลดการนำเข้าแผ่น media จากต่างประเทศได้อย่างน้อยปีละ 50,000 ล้านบาท และยังก่อให้เกิดรายได้จากการส่งออกแผ่น media ไปจำหน่ายนอกประเทศอีกจำนวนหนึ่งด้วย นอกจากนั้น ผู้ประกอบการไทยเพิ่มยอดขายให้แก่อุตสาหกรรม HDD จำนวน 1% ของ Turn over ทั้งหมด (ประมาณ 5,000 ล้านบาท) ประมาณจากยอดขายในอุตสาหกรรมHDD ทั้งหมด ประมาณ 500,000 ล้านบาท (ที่มา: รายงานการศึกษาโครงการส่งแสริมผู้ประกอบการรองรับอุตสาหกรรมการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ โดย สวค. และ ประมาณจากแนวโน้มของตลาดโลกและการขยายตัวของไทยที่ผ่านมา) เนื่องจากในอนาคตจะมีการนำฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ไปใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ มากขึ้น ไม่เฉพาะกับเครื่องคอมพิวเตอร์เท่านั้น แต่รวมเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน อุปกรณ์เพื่อความบันเทิง เป็นต้น แหล่งที่มา : รายงานโครงการยกระดับความสามารถทางเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมไฟฟ้าขอิเล็กทรอนิกส์ (ส่วนของอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์-อนุมัติโดยครม.)

ผลกระทบต่อการพัฒนาเทคโนโลยี
การพัฒนาบุคลากรทางเทคนิคและความสามารถทางเทคโนโลยีจะทำให้ประเทศไทยมีองค์ความรู้ในด้านเทคโนโลยีการวัด (Metrology) เทคโนโลยีด้านแผ่นเก็บข้อมูล (Disk Storage Technology) รวมไปถึงเทคโนโลยีในกระบวนการผลิต (Process Technology) ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้ไม่เพียงมีประโยชน์ต่อการผลิตในอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์เท่านั้น แต่ยังจะทำให้เกิด Spill over effect ทางเทคโนโลยีไปสู่อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ในอนาคต กล่าวคือ (1) เทคโนโลยีเหล่านี้สามารถประยุกต์ไปใช้การพัฒนา nano-technology (2) บุคลากรที่ผ่านการอบรมทางเทคนิคหรือเทคโนโลยีกับเครื่องมือเหล่านี้จะมีความรู้ทางเทคนิคขั้นสูง ซึ่งสามารถใช้ทักษะทั้งในด้านการควบคุมการผลิตและการวิเคราะห์ปัญหาในการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ซึ่งในที่สุดประเทศไทยจะเป็นแหล่งบุคลากรที่มีความรู้ขั้นสูงในอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ของโลก ซึ่งเป็นปัจจัยดึงดูดที่สำคัญในการช่วยขยายฐานการพัฒนาเทคโนโลยีไปสู่อุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ได้อีกด้วย ซึ่งในที่สุดจะทำให้ไทยลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศและช่วยให้ไทยเป็นผู้นำในเทคโนโลยีด้านนี้ในอนาคต

ผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
การขยายตัวของอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์จะส่งผลให้ความต้องการแรงงานและการจ้างงานสูงขึ้นด้วย โดยคาดว่าจะมีการจ้างงานในอุตสาหกรรมนี้ถึง 150,000 คนในปี 2554 นอกจากนั้นรายได้ของแรงงานจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากทำงานในอุตสาหกรรมที่ใช้ความรู้และทักษะมากขึ้น อันทำให้เกิดความกินดีอยู่มากขึ้นและช่วยลดปัญหาทางสังคมหลายประการ นอกจากนั้นการผลิตด้วยเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยขึ้นและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจะช่วยลดปัญหามลภาวะ และที่สำคัญคือการไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้ความรู้และเทคโนโลยีจะช่วยให้ประเทศไทยก้าวไปสู่สังคมฐานความรู้ (Knowledge Economy) เช่นประเทศที่พัฒนาแล้วอื่นๆ ต่อไป

ผู้ที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมโปรดติดต่อ โปรแกรมฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ HDDI ที่เบอร์โทรศัพท์ 025646957-9 ครับ


ท่านผู้อ่านสามารถส่งข้อคิดเห็น/เสนอแนะมาที่ผู้เขียนที่ djitt@fibo.kmutt.ac.th

——————————————————————————————


Categories: บทความของ ดร. ชิต เหล่าวัฒนา