คนญี่ปุ่นบอกว่าไทยจะเป็นผู้นำหุ่นยนต์ของโลก
Prof. Satoshi Tadokoro ผู้เชี่ยวชาญด้านงานวิจัยหุ่นยนต์และนโยบายของประเทศญี่ปุ่น ได้กล่าวว่า “ประเทศไทย หากได้รับการส่งเสริมอย่างจริงจังจากผู้บริหารระดับนโยบายและรัฐบาล ซึ่งประเทศไทยมีความพร้อมด้านบุคลากรและมีความตื่นตัวในเรื่องวิชาการหุ่นยนต์อยู่แล้ว คงอีกไม่นาน อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ คงจะเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศ และประเทศไทยก็จะเป็นประเทศผู้นำทางด้านการผลิตหุ่นยนต์เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมของโลก อย่างแน่นอน”
ทำไม? ผู้สร้างนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศมหาอำนาจทางเทคโนโลยีอย่างญี่ปุ่นจึงกล่าวเช่นนี้ เพื่อความกระจ่างผมได้รับความกรุณาข้อมูลและรายละเอียดจาก ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทยและได้ทำหน้าที่โค้ชทีมหุ่นยนต์กู้ภัยไทยจนได้เป็นแชมป์โลกถึง 4 สมัยซ้อน ดังต่อไปนี้ครับ‘หุ่นยนต์กู้ภัยไทยครองแชมป์โลกสมัยที่ 4’ ข้อความนี้ ยากนักที่คนไทย โดยมากจะไม่ได้ยินข่าวในช่วงต้นเดือน กรกฎาคมที่ผ่านมา ทั้งหนังสือพิมพ์ยักใหญ่หลายฉบับที่ลงข่าวในหน้า 1 และข่าวทีวีทุกช่องที่มุ่งประเด็นเรื่องความสำเร็จของเด็กไทยไปสร้างชื่อในเวทีโลก World RoboCup 2009 (เวิร์ลด์โรโบคัพ 2009) ณ เมืองกราซ ประเทศออสเตรีย
หลายคนคงแปลกใจว่าประเทศที่มีรากฐานทางเกษตรกรรม อย่างประเทศไทย จะมีทีมหุ่นยนต์กู้ภัยตัวแทนประเทศ ที่ทุกๆ ปี จะมีการสลับสับเปลี่ยนทีมตัวแทนประเทศ ซึ่งได้มาจากการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยภายในประเทศ เพื่อคัดตัวแทนประเทศไปแข่งขันในเวทีโลก ไม่ได้จำเป็นว่าต้องเป็นทีมเดิม กลุ่มเดิม หรือจากสถาบันการศึกษาเดิม ก็เป็นอันว่า ต้องคว้าแชมป์โลก เอาชนะทีมหุ่นยนต์จากประเทศมหาอำนาจทางเทคโนโลยี อย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่น เยอรมนี สหรัฐอเมริกา สวีเดน อิหร่าน หรือจีน มาเป็นเวลาถึง 4 ปีติดต่อกัน ได้แก่ ในการแข่งขัน World RoboCup 2006 ณ เมืองเบรเมน ประเทศเยอรมนี และ World RoboCup 2007 ณ เมืองแอตแลนต้า ประเทศสหรัฐอเมริกา ทีมอินดิเพนเด้นท์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ปราจีนบุรี สามารถครองแชมป์โลก 2 สมัยติดต่อกันได้ ในการแข่งขัน World RoboCup 2008 ณ เมืองซูโจว ประเทศจีน ทีมพลาสมา อาร์เอ็กซ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นตัวแทนของประเทศไทยในปีนั้น ก็สามารถคว้าแชมป์โลก เอาไว้ได้ และล่าสุดทีมไอราพโปร จากมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กรุงเทพฯ ก็สามารถทิ้งห่างเอาชนะทีมต่างๆ และคว้าแชมป์โลกในการแข่งขัน World RoboCup 2009 ได้อีกครั้ง รายละเอียดของการแข่งขันในปีนี้ของทีมไทย และคำตอบต่อข้อสงสัยที่ว่า ทำไมทีมหุ่นยนต์กู้ภัยไทยถึงได้ครองเป็นเจ้าโลกอย่างนี้ จะถูกสรุปในบทความนี้จากมุมมองของผู้ที่ติดตามและผลักดันคนหนึ่ง ซึ่งดำเนินการอยู่เบื้องหลังอย่างต่อเนื่องในการคว้าแชมป์การแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยโลกทั้ง 4 ปี ที่ผ่านมา
ส่วนแรกนี้ จะกล่าวถึงความเป็นมาของ ทีมไอราพโปร จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมแกล้าพระนครเหนือ และเรื่องราวรายละเอียด ระหว่างการแข่งขัน ณ เมืองกราซ โดยจะเริ่มที่ความเป็นมาของทีม ในการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยชิงแชมป์ประเทศไทย ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนฯ ซึ่งจัดขึ้นในเดือนตุลาคม และธันวาคม ที่ผ่านมา โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย และเครือซิเมนต์ไทย (SCG) เป็นผู้จัด ทีมไอราพโปร ซึ่งผ่านเข้ารอบสุดท้าย โดยถูกแนะนำให้รวมทีมกันระหว่างทีมรุ่นพี่ ไอราพโปรวัน และรุ่นน้อง ไอราพโปรทู ซึ่งทำให้ทีมมีความแข็งแกร่งขึ้นอย่างเห็นได้ชัด สำหรับในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศของการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยชิงแชมป์ประเทศไทยนั้น ทีมไอราพโปร สามารถทำคะแนนนำได้อย่างต่อเนื่องทุกรอบของการแข่งขัน และในที่สุดจึงสามารถคว้าแชมป์ประเทศไทย จากทีมผู้เข้าแข่งขันทั้งสิ้น 80 ทีม โดยมีทีมระดับโลกมาเข้าร่วมแข่งด้วย คือ ทีม NU-Tech R แชมป์จากประเทศญี่ปุ่น ทีม เอ็ม.อาร์.แอล. แชมป์จากประเทศอิหร่าน และทีม Resquake จากประเทศอิหร่านซึ่งเป็นทีมที่ได้รับรางวัลเทคนิคยอดเยี่ยมด้านสมรรถนะการเคลื่อนที่ (Best-In-Class: Mobility) ในการแข่งขัน World RoboCup มาหลายครั้ง
หลังจากได้รับตำแหน่งแชมป์ประเทศไทย ภาระกิจใหญ่หลวงของ ทีมไอราพโปร ก็เริ่มขึ้น พวกเขารู้ว่า พวกเขา คือ ตัวแทนประเทศไทย ที่จะต้องไปรักษาแชมป์โลกให้กับประเทศไทย ให้ได้เป็นสมัยที่ 4 ซึ่งทีมไอราพโปรก็ได้เริ่มเตรียมตัว อย่างต่อเนื่อง โดยได้พัฒนาสร้างหุ่นยนต์กู้ภัยขึ้นมาใหม่ 3 ตัว คือ หุ่นยนต์กู้ภัยชนิดควบคุมระยะไกล ไออาร์ 1 และไออาร์ 2 และหุ่นยนต์กู้ภัยชนิดอัตโนมัติ ไออาร์ออโต้ สำหรับหุ่นยนต์กู้ภัยของทีมไอราพโปร โดยเฉพาะหุ่นยนต์ไออาร์ 1 และ ไออาร์ 2 เป็นหุ่นยนต์ที่มีความแข็งแรงและสมรรถนะในการเคลื่อนที่ปีนป้ายดีเยี่ยม นอกจากนี้ แขนกลที่มีคุณลักษณะที่ยืดยกตัวได้มีความยาวและสูงมาก จึงเสริมความสามารถในการค้นหาข้อมูลของเหยื่อเคราะห์ร้ายได้ดียิ่งขึ้น ทีมไอราพโปรจึงมีความพร้อมเป็นอย่างมากในภาระกิจครั้งนี้ที่ประเทศออสเตรีย
ในการไปร่วมการแข่งขันใน World RoboCup แต่ละครั้ง ทีมตัวแทนประเทศไทยจะได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุน ทั้งในการพัฒนาหุ่นยนต์และเงินสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมการแข่งขันจากเครือซิเมนต์ไทย (SCG) และนอกจากนี้สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทยจะดูแลและให้ความสนับสนุนเชิงเทคนิค แนวทางข้อแนะนำ แผนกลยุทธ์และการดูแลเรื่องการประสานงานต่างๆ ด้านกฎกติกาในระหว่างการแข่งขัน ซึ่งผมในฐานะหัวหน้าโค้ชซึ่งได้ทำหน้าต่อเนื่องมาเป็นเวลา 4 ปี เป็นตัวแทนสมาคมฯ และในปีนี้ก็ได้ รศ.ดร.วรา วราวิทย์ ซึ่งเคยร่วมเป็นที่ปรึกษาทีมหุ่นยนต์กู้ภัย ในสมัยการแข่งขันที่ เยอรมนีและสหรัฐอเมริกา ก็มาร่วมด้วย
ทีมไอราพโปร ณ ออสเตรีย ประกอบไปด้วย นักศึกษาทั้งในระดับปริญญาโท และตรี จากภาควิชาต่างๆ รวม 10 คน โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาทีมที่ติดตามอีก 2 ท่าน ทีมไอราพโปร เดินทางไปถึงเมืองกราซ ในวันที่ 27 มิถุนายน ซึ่งการแข่งขันฯ อยู่ระหว่างวันที่ 1 – 5 กรกฎาคม ดังนั้นน้องๆ ทีมไอราพโปร ได้เข้าพักเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนล่วงหน้าพอสมควร สำหรับเมือง กราซ เป็นที่ขนาดไม่ใหญ่มากอยู่ทางทิศตะวันตกของประเทศออสเตรีย ไม่ไกลกับชายแดนประเทศเยอรมนี โรงแรมที่พักของทีมก็อยู่ท่ามกลางขุนเขา ซึ่งสภาพความเป็นอยู่สบายและน่าอยู่มาก จึงทำให้น้องๆ ทีมไอราพโปรผ่อนคลายพอสมควร
ในปีนี้สนามการแข่งขันซึ่งจำลองสภาพของบริเวณที่ต้องการการกู้ภัย ซึ่งในปีนี้มีการเพิ่มเติมรายละเอียดสนาม และกฎกติกาให้มีความเข้มข้นเหมือนจริงมากยิ่งขึ้น โดยการนำรถในสภาพที่ยับเยินมาใช้ในสนามเพื่อเป็นที่ซ้อนผู้ประสบภัยจำลอง เป็นการสร้างความท้าทายมากยิ่งขึ้นสำหรับทีมที่เข้าแข่งขัน เมื่อวันแข่งขันรอบคัดเลือกมาถึง ทีมไอราพโปรก็เริ่มลงสนามอย่างมั่นใจ โดยในสองวันแรกในรอบคัดเลือกนี้ สนามถูกแบ่งออกเป็น สองส่วน คือสนาม A และ B ซึ่งทุกทีมต้องแข่งขัน 4 รอบแข่ง รอบแข่งละ 15 นาที โดยจะคัดทีมออกประมาณครึ่งหนึ่ง ทีมไอราพโปร สามารถทำคะแนนนำเป็นที่ 1 ในการค้นหาผู้ประสบภัยโดย ที่ 2 ตามมาติดๆ ด้วย ทีม Pelican United อดีตแชมป์โลก จากประเทศญี่ปุ่น และทีม Casualty จากประเทศออสเตรเลีย นอกจากนี้ มีทีมที่เข้ารอบรองชนะเลิศทั้งสิ้น 9 ทีม จากผู้เข้าร่วมแข่งขันทั้งหมด 22 ทีม
ในรอบรองชนะเลิศ สนามแข่งขันถูกปรับให้มีความยากยิ่งขึ้นโดย มีการเพิ่มรายละเอียด สิ่งกีดขวาง และที่สำคัญ คือ ผู้จัดได้เปิดสนามแข่งรวมกัน เป็นสนามใหญ่สนามเดียว ดังนั้น ขนาดของสนามจึงมีผลต่อการแข่งขัน ซึ่งทีมที่หน้ากลัว ก็ยังเป็นทีม Pelican United จากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นทีมใหญ่ที่ได้นำหุ่นยนต์มาเข้าร่วมแข่งขัน ถึง 5 ตัว ทั้งนี้ทีม Pelican United มีผู้ดูแลทีมระดับเจ้าพ่อของวงการทางด้านหุ่นยนต์ระดับโลกร่วมอยู่ถึง 4 ศาสตราจารย์ และนักศึกษาระดับ ปริญญาเอกและโท กว่า 10 คน จาก 3 หน่วยวิจัย 2 สถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น คือ มหาวิทยาลัยโตโฮกุ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีชิบะ นอกจากนี้ ทีมแชมป์ประเทศญี่ปุ่นประจำปีนี้ ทีม Shinobi จากมหาวิทยาลัยเกียวโต ซี่งได้รวมทีมกับทีม อาร์.อาร์.ที. อุพซาร่า จากประเทศสวีเดน ก็เป็นทีมที่น่าจับตามอง ทีมอื่นๆ ที่สำคัญก็คือ ทีมแชมป์ประเทศอิหร่าน อย่าง เอ็ม.อาร์.แอล. ทีมCasualty จากประเทศออสเตรเลีย ซึ่งมีหุ่นยนต์ที่สามารถปรับเปลี่ยนระบบจากระบบควบคุมระยะไกล เป็นระบบการนำทางเคลื่อนที่อัตโนมัติ และทีมรวมดาราอย่างทีม Resquake จากอิหร่านและทีม Resko จากเยอรมนี ซึ่งทั้งสองทีมมักจะได้รางวัลเทคนิคยอดเยี่ยมด้านสมรรถนะการเคลื่อนที่และเทคนิคยอดเยี่ยมด้านหุ่นยนต์อัตโนมัติ ตามลำดับ
ในรอบรองชนะเลิศนี้ มีการแข่งขัน 3 รอบแข่ง รอบละ 20 นาที เพื่อค้นหาทีมที่ดีที่สุดเพียง 3 ทีม เพื่อแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ โดย ทีมไอราพโปร สร้างผลลัพธ์ที่ทุกๆ ทีมต้องตกตะลึง คือ หุ่นยนต์กู้ภัยชนิดควบคุมระยะไกล สามารถค้นหาผู้ประสบภัยจำลองได้ครบทุกตัวในสนาม และยังได้คะแนนจาก หุ่นยนต์อัตโนมัติอีกด้วย รวม 31 เหยื่อ และทีมคู่ปรับอย่าง Pelican United จากประเทศญี่ปุ่นก็ตามมาติดๆ แบบหายใจลดต้นคอ คือ 29 เหยื่อ และสำหรับทีมในลำดับที่ 3 ที่ผ่านเข้ารอบ มีคะแนนเท่ากัน 2 ทีม จึงให้เข้ารอบสุดท้ายทั้งคู่คือ ทีม Casualty จากประเทศออสเตรเลีย และทีม เอ็ม.อาร์.แอล. แชมป์ประเทศอิหร่าน ทั้งนี้ในรอบชิงชนะเลิศ จะมีการแข่งขัน เพียงรอบแข่งเดียว ให้เวลาเพียง 15 นาที รวมคะแนนกับรอบรองชนะเลิศ และมีการปรับสนามให้ยากขึ้นอีกด้วย ทีมไทยและทีมญี่ปุ่นจึงมีความสูสีเป็นอย่างมาก
ในรอบชิงชนะเลิศทีมไทยจะแข่งเป็นทีมสุดท้าย และเมื่อเริ่มรอบชิงชนะเลิศ ผู้ร่วมการแข่งขันต่างแสดงให้เห็นถึง ความกดดันที่แต่ละทีมมี โดย ทีมต่างๆ ทำได้ไม่ดีมากนัก โดยเฉพาะทีมคู่แข่งของเรา Pelican Unite ซึ่งในที่สุด้นหาได้แค่เพียง 5 เหยื่อ แล้วหุ่นยนต์ก็ไปติดอยู่ที่ล้อซากรถยนต์ที่วางไว้กลางสนามการแข่งขัน ทำให้ทีมไทยมีโอกาสเป็นอย่างมาก และทีมไอราพโปรก็ไม่ได้ทำให้ทุกคนผิดหวัง สามารถค้นหาผู้ประสบภัยจำลองได้ในรอบนี้ถึง 7 เหยื่อ โดยคะแนนรวมทิ้งห่างทีมคู่แข่งจากญี่ปุ่น คือ 38 ต่อ 33 คว้าแชมป์โลกมาครองได้เป็นสมัยที่ 4
สำหรับการแข่งขัน World RoboCup Rescue ในปีนี้กรรมผู้จัด ประกอบไปด้วย Mr.Adam Jacoff จากสถาบันมาตรฐานและเทคโนโลยีแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา ในฐานะประธานการจัดการแข่งขัน Prof.Andreas Birk จากมหาวิทยาลัยเจค็อบ ประเทศเยอรมนี Prof. Jahanez Pallenze จากทีม Resko ประเทศเยอรมนี เช่นกัน Mr. Ehsan จากทีม Resquake ประเทศอิหร่าน Prof. Tetsuya Kimura ประเทศญี่ปุ่น และผมที่ได้รับเลือกเป็นกรรมการด้านเทคนิคและคณะกรรมการจัดการแข่งขันตัวแทนสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ซึ่งในระหว่างการตัดสินคะแนนในรายละเอียด ต้องคอยนั่งลุ้นอยู่ตลอดเวลา เพราะคือในรายละเอียด โดยเฉพาะการสร้างแผนที่อัตโนมัติเพื่อระบบตำแหน่งผู้ประสบภัยจำลอง ซึ่งนับเป็นจุดอ่อนของทีมไทย มีคะแนนที่น่าเป็นห่วง เมื่อเปรียบเทียบกับทีมนักเทคโนโลยีอย่าง ทีมจากญี่ปุ่นและอิหร่าน แต่เนื่องจากความสามารถของเด็กไทย ที่ทำคะแนนห่างจากการค้นหาจำนวนผู้ประสบภัยของไทย ทำให้สามารถเอาชนะมาได้ในครั้งนี้
สำหรับส่วนสุดท้าย จะขอสรุปเหตุเบื้องหลังความสำเร็จครั้งนี้และในครั้งที่ผ่านๆ มา ซึ่งสิ่งสำคัญที่ผลักดันประกอบไปด้วย 4 ส่วน คือ (1) การสนับอย่างจริงจังและต่อเนื่องจากทางภาคเอกชน คือ เครือซิเมนต์ไทย (SCG) ซึ่งการส่งเสริมอย่างจริงจังและจริงใจ เป็นส่วนสำคัญให้ทั้งผู้จัดร่วมอย่างสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย และนิสิต นักศึกษา ที่เข้าร่วมประกวดการแข่งขันตั้งแต่การแข่งขันในระดับประเทศ มีความสนิทใจที่จะทำงานร่วมกัน (2) เบื้องหลังความสำเร็จในส่วนต่อมาคือ การจัดการแข่งขันในระดับประเทศ คือ การแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยชิงแชมป์ประเทศไทย ซึ่งมีมาตรฐานทั้งการจัดการ ผู้เข้าร่วม และการตัดสิน ที่มีระดับมาตราฐานสูงมากเพียงพอ ที่จะคัดตัวแทนประเทศไทยไม่ว่าทีมใด ก็สามารถจะเขย่าบังลังค์โลกหุ่นยนต์กู้ภัยได้ทันที (3) เบื้องหลังความสำเร็จอีกอันหนึ่งที่สำคัญ คือ ความกระตือรือร้น ความใส่ใจอย่างจริงจัง ของน้องๆ เด็กๆ ทีมนิสิต นักศึกษา ที่เข้าร่วมการแข่งขันตั้งแต่ในรอบคัดเลือกในระดับประเทศ รวมถึงการสนับสนุนจากสถาบันการศึกษานั้นๆ อีกด้วย และท้ายที่สุด (4) ผู้ที่เบื้องหลังความสำเร็จในกลุ่มสุดท้ายที่ส่งผลให้วงการหุ่นยนต์ของประเทศไทยมายืนอยู่ ณ จุดนี้ได้ คือ การร่วมแรงร่วมใจในการผลักดันข่าวสารความเคลื่อนไหวที่ต่อเนื่อง โดยสื่อมวลชนในทุกแขนงและผู้ประสานงานกับสื่อมวลชนทุกท่าน ที่ได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจ รวมถึงความจริงใจที่ได้ให้มากับวงการกิจกรรมทางวิชาการของเยาวชนไทย วงการหุ่นยนต์ไทย และวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย อย่างต่อเนื่องตลอดมา ผมขอขอบคุณทุกๆ ท่านที่ได้เข้าร่วมกันผลักด้นให้นานาประเทศได้รู้จักประเทศไทยในอีกมุมมองหนึ่ง ซึ่งผมได้รับฟังคำวิจารณ์ จากผู้เชี่ยวชาญด้านงานวิจัยหุ่นยนต์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญระดับนโยบายของประเทศญี่ปุ่น Prof. Satoshi Tadokoro ได้กล่าวกับผมไว้ว่า “ประเทศไทย หากได้รับการส่งเสริมอย่างจริงจังจากผู้บริหารระดับนโยบายและรัฐบาล ซึ่งประเทศไทยมีความพร้อมด้านบุคลากรและมีความตื่นตัวในเรื่องวิชาการหุ่นยนต์อยู่แล้ว คงอีกไม่นาน อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ คงจะเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศ และประเทศไทยก็จะเป็นประเทศผู้นำทางด้านการผลิตหุ่นยนต์เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมของโลก อย่างแน่นอน”
ท่านผู้อ่านสามารถส่งข้อคิดเห็น/เสนอแนะมาที่ผู้เขียนที่ djitt@fibo.kmutt.ac.th
——————————————————————————————