รัฐบาลส่งเสริม อุตสาหกรรมฮาร์ดดิสค์ - Institute of Field roBOtics (FIBO)
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • ไทย
    • อังกฤษ

รัฐบาลส่งเสริม อุตสาหกรรมฮาร์ดดิสค์

logo robot brain

รัฐบาลส่งเสริม อุตสาหกรรมฮาร์ดดิสค์

ในปัจจุบัน อุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์และชิ้นส่วนในประเทศไทยเป็นอุตสาหกรรมการผลิตที่ก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อประเทศไทยอย่างมาก โดยมีสัดส่วนของปริมาณการผลิตรวมเป็นอันดับ 1 ของโลก มีการจ้างแรงงานกว่า 150,000 คน และการส่งออกมากกว่า 4 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม การดึงดูดการลงทุนของประเทศเพื่อนบ้านและประเทศพัฒนาใหม่ เช่น ประเทศจีน ประเทศมาเลเซีย การพัฒนาของเทคโนโลยีใหม่เพื่อรองรับการผลิตสำหร้บฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ที่มีขนาดเล็ก หรือที่มีความสามารถในการจุข้อมูลมากขึ้น ตลอดจนความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานที่จะรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลอย่างมาก ต่อการคงอยู่ของอุตสาหรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ในประเทศไทย ดังนั้น โจทย์ที่สำคัญสำหรับประเทศไทยคือ ทำอย่างไรจะรักษาฐานการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่สำคัญของโลกที่เป็นอยู่ให้คงอยู่ต่อไปในประเทศไทยและทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มภายในประเทศและความเชื่อมโยงต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงได้มอบหมายให้ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ดำเนินกิจกรรมส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ภายใต้โปรแกรมฮาร์ดิสก์ไดรฟ์ (HDDI) โดยมีพันธกิจหลักคือ

  1. การวิจัยและพัฒนา ( Research Development )
  2. การพัฒนาศักยภาพบุคลากร ( Human Resource Development )
  3. การพัฒนาผู้ประกอบการ ( Supply Chain Development ) และ
  4. การศึกษา และผลักดันนโยบายเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรม (Policy Development )

ทั้งนี้การดำเนินงานใน Strategic Project Alliance (SPA) I โปรแกรม HDDI ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินกิจกรรมภายใต้พันธกิจทั้ง 4 ด้าน รวมทั้งสิ้น 482.2 ล้านบาท (65% ของกิจกรรมทั้งหมด) อีกทั้งยังได้รับความร่วมมือ สนับสนุนจากภาคอุตสาหกรรมฯ และร่วมผลักดันโครงการต่างๆ ทั้งด้านเครื่องมือ อุปกรณ์ งานวิจัย และอื่นๆ รวมถึงงบประมาณเพื่อดำเนินกิจกรรมร่วมกันทั้งส้นเป็นเงิน 278.67 ล้านบาท (37%) ความร่วมมือที่เกิดขึ้นจากทุกฝ่ายในการดำเนินกิจกรรมรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 760.86 ล้านบาท รายละเอียดดังตาราง

ตารางที่ 1 : สรุปการใช้งบประมาณของ HDDI – SPA I

2010 10 12 12
โปรแกรมฯ โดยส่วนงานพัฒนาเทคโนโลยี พันธกิจ Reaserach Development and Engineering (RDE) มีภารกิจหลักในการสนับสนุนและสร้างคลัสเตอร์การวิจัยและพัฒนาทคโนโลยีฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ในระดับต้นน้ำ รวมทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยมีเป้าหมายของผลผลิตตลอดปี 2549 – 2553 ให้เกิดโครงการวิจัยและพัฒนาเพื่อรองรับกระบวนการผลิตและทดสอบ จำนวน 100 โครงการ ภายใต้กรอบงบประมาณจำนวน 229 ล้านบาทสำหรับกิจกรรมนี้ ในระยะที่ผ่านมา ได้วางแผนกิจกรรมที่มุ่งตอบสนองการยกระดับขีดความสามารถในการทำวิจัยพัฒนาในประเทศของอุตสาหกรรม HDD ผ่านกระบวนการจัดวางกลไกการสนับสนุนงานวิจัย การสร้างเครือข่ายงานวิจัยร่วมกับสถาบันการศึกษาและภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนกิจกรรมการถ่ายทอดเทคโนโลยีขั้นสูงจากภาคอุตสาหกรรมสู่นักวิจัยภาครัฐ เพื่อให้สามารถต่อยอดเทคโนโลยีได้ภายในประเทศ

ตารางที่ 2 : สัดส่วนการรูปแบบการสนับสนุนโครงการวิจัยจาก สวทช. และภาคอุตสาหกรรม และมูลค่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโครงการวิจัย

2010 10 12 13

จากผลการดำเนินงานในช่วงปึ 49 – มิถุนายน 2553 พันธกิจ RDE ได้สนับสนุนโครงการวิจัยทั้งหมด 174 โครงการ งบประมาณสนับสนุนทั้งหมด 145.67 ล้านบาท โดยภาคเอกชนลงทุนสนับสนุน จำนวน 65.38 ล้านบาท (44.89%) และสวทช. สนับสนุนงบประมาณวิจัยทั้งหมด จำนวน 80.29 ล้านบาท (55.11%) และเกิดโครงการวิจัยที่สามารถประเมินผลกระทบได้เท่ากับ 8,641 ล้านบาท

นอกจากนั้น ยังได้ร่วมกับบริษัทผู้ผลิต HDD 3 รายหลัก (Seagate, WD, Hitachi) สนับสนุนโครงการอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อเสริมสร้างความสามารถของวิศวกร และตัวแทนภาครัฐในการวิจัยพัฒนา โดย งบประมาณทั้งโครงการ 183.04 ล้านบาท โดยภาคเอกชนลงทุนสนับสนุน จำนวน 123 ล้านบาท (67.2 %) และสวทช. สนับสนุนงบประมาณวิจัยทั้งหมด จำนวน 60.04 ล้านบาท (32.8 %) และสามารถประเมินผลกระทบเชิงเศรษฐกิจ (Impact )ได้เท่ากับ 375 ล้านบาท คิดเป็น 204.9 %

ผลจากความร่วมมือด้านการอบรมเชิงเทคนิคและการถ่ายทอดเทคโนโลยีขั้นสูงในต่างประเทศ ร่วมกับ ภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ นักวิจัยตัวแทนภาครัฐเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 37 คนและเกิดงานวิจัยต่อเนื่อง 62 โครงการ อีกทั้งยังมีการอบรมภายในประเทศโดยผู้เขียวชาญจากต่างประเทศให้กับวิศวกรของบริษัท 3,344 คน นักศึกษาและอาจารย์เข้ารับการอบรม 248 คน โดยวิศวกร นักวิจัยจากภาคอุตสาหกรรมรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีในต่างประเทศทั้งสิ้น 31 คน สามารถสร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจได้กว่า 375,000,000 บาท (สามร้อยเจ็ดสิบห้าล้านบาท) เกิดการถ่ายทอดกระบวนการ Head Stack Assembly 9 กระบวนการ มีเทคโนโลยีใหม่บรรจุในสายการผลิต 4 เทคโนโลยี

ตารางที่ 3 : เปรียบเทียบงบประมาณกับผลกระทบจากการดำเนินกิจกรรมด้านการอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีขั้นสูงของสวทช.และภาคอุตสาหกรรม

2010 10 12 14

พันธกิจสำคัญด้านพัฒนาศักยภาพบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ถือเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ทางสวทช. ได้ให้การสนับสนุนโดยความร่วมมือจากทั้งภาคอุตสาหกรรม และสถาบันการจัดอบรม ให้มีการพัฒนาหลักสูตรที่ตอบความต้องการของภาคอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง มีการพัฒนาหลักสูตรอบรม และจัดอบรมให้กับวิศวกร และช่างเทคนิค

การพัฒนาบุคลากรในปี 2549 ถือเป็นก้าวสำคัญของความร่วมมือและการทำงานเชิงรุกของโปรแกรมฯ ในการจัดให้มีกิจกรรมส่งเสริม และเตรียมความพร้อมของนักศึกษา คณาจารย์ในภาคมหาวิทยาลัยให้ตระหนักรู้ถึงความสำคัญ และความก้าวหน้าของเทคโนโลยีด้าน ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ด้วยการสนับสนุนทุนการศึกษา และทำความร่วมมือกับ 15 สถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ให้เกิดการพัฒนาหลักสูตรทีเกี่ยวข้อง อีกทั้งยังเริ่มพัฒนาหลักสูตรการอบรมและแนวทางการสนับสนุนอย่างเป็นระบบ

การดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้เริ่มขึ้นในปี 2550 เกิดจากความร่วมมือของเครือข่ายวิจัยร่วม (Industrial University Collaborative Research Center – I/U CRC) ได้แก่ ศูนย์วิจัยร่วมเฉพาะทางด้านส่วนประกอบฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (มหาวิทยาลัยขอนแก่น) ศูนย์วิจัยร่วมภาครัฐและเอกชน วิทยาลัยร่วมด้านทคโนโลยีการบันทึกข้อมูลและการประยุกต์ใช้ (สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง) และศูนย์วิจัยร่วมเฉพาะทางด้านการผลิตขั้นสูงในอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี)

ถึงปัจจุบัน ปี 2553 โครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรและการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศร่วมกับอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ เกิดกิจกรรมสนับสนุนการพัฒนาวิศวกร ช่างเทคนิค นักศึกษา และคณาจารย์ต่างๆ อย่างเป็นระบบโดยมีผลการดำเนินงานดังนี้

กิจกรรมด้านการอบรมให้กับวิศวกรและช่างเทคนิค โดยโปรแกรมฯ ได้สร้างความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมในการจัดทำหลักสูตรและเข้ารับการอบรมกว่า 40 บริษัท โดย 11 สถาบันการศึกษา พัฒนาหลักสูตรเฉพาะทางด้านเทคโนโลยีฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ 111 หลักสูตร เพื่อจัดอบรมให้กับวิศวกร ช่างเทคนิค จำนวน 27,123 คน (47,415 mandays) นักศึกษา นักวิจัยและตัวแทนภาครัฐ จำนวน 288 คน ทั้งยังมีความร่วมมือกับบริษัท Western Digital ( Thailand) Co., Ltd. ในการจัดตั้ง Hard Disk Drive Technology Training Institute (HTTI) เพื่อจัดอบรมให้กับวิศวกร และช่างเทตนิค ของบริษัท รวมถึง Suppliers และนักวิจัย ตัวแทนภาครัฐ นักศึกษา อาจารย์ ซึ่งสามารถสร้างผลกระทบได้กว่า 18,410,000 บาท ( สิบแปดล้านบาท) ต่อปี

ผลงานจากการสนับสนุนทุนการศึกษา เกิดงานวิจัยจากทุนการศึกษา (โจทย์จากภาคอุตสาหกรรม) จำนวนมากกว่า 300 โครงการ มีการสนับสนุนสหกิจศึกษา ฝึกงานนักศึกษาระดับปริญญาตรี 277 คน ทุนวิจัยเพื่อการศึกษาระดับปริญญาโท 233 คน ระดับปริญญาเอก 29 คน

ทั้งนี้ผลในการสนับสนุนทุนการศึกษา (วิจัย) ดังกล่าว สามารถผลิตบัณฑิต สำเร็จการศึกษาไปแล้วทั้งสิ้น 275 คน สามารถสร้างต้นแบบห้องปฎิบัติการ (Lab Prototype) 63 ต้นแบบ ต้นแบบภาคสนาม (Field Prototype) 20 ต้นแบบภาคอุตสาหกรรม (Industrial Prototype ) 26 ต้นแบบ มีการยื่นจดสิทธิบัตร 3 โครงการ

เกิดความร่วมมือ 3 ฝ่าย ระหว่าง ภาคอุตสาหกรรม (Seagate และ WD) สถาบันการศึกษา ( AIT, KMITL, SUT) และสวทช. ในการสนับสนุนทุนระดับปริญญาโท แก่วิศวกร ทั้งสิ้น 3 โครงการ โดยให้การสนับสนุนวิศวกรไปแล้วทั้งสิ้น 113 คน สามารถสร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจได้กว่า 12,600,000 บาท ( สิบสองล้านหกแสนบาท) จากความร่วมมือระหว่าง WD & AIT & NSTDA อีกทั้งมีการพัฒนาหลักสูตรด้านเทคโนโลยีฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ระดับปริญญาโท และเอก โดยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (โท-เอก) มหาวิทยาลัยขอนแก่น (โท) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (AIT)

กิจกรรมด้านการพัฒนากำลังคนได้รับการจัดสรรงบประมาณทั้งสิ้น 223.07 ล้านบาท โดยจัดสรรเพื่อการฝึกอบรม 22.22 ล้านบาท (5%) ทุนการศึกษาโดยสวทช 182.53 ล้านบาท และทุนการศึกษาโดยความร่วมมือ 3 ฝ่าย (สวทช. ภาคอุตสาหกรรมฯ และสถาบันการศึกษา) 18.32 ล้านบาท (38%) ของงบประมาณที่ทางโปรแกรมฯ ได้รับการสนับสนุน โดยกิจกรรมดังกล่าวสร้างผลกระทบได้ (รวมที่อยู่ระหว่างการพิจารณา) เป็นทั้งสิ้น 295.62 ล้านบาท ทั้งนี้ยังมีนักศึกษาส่วนหนึ่งที่ยังอยู่ในระบบ จะได้สร้างผลงานและผลกระทบที่เป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมฯ ในปีต่อๆไป

2010 10 12 15

ในส่วนงาน Supply chain development มีภารกิจหลักในการสนับสนุนและพัฒนาผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสนับสนุน โดยเฉพาะกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ยังขาดความสามารถในการแข่งขันกับผู้แข่งขันจากต่างประเทศ โดยพบว่า SMEs ของประเทศไทยมีสัดส่วนมูลค่าในอุตสาหกรรมสนับสนุนค่อนข้างต่ำเพียง 20% และโดยเฉพาะผู้ประกอบการด้าน Automation มีเพียง 5% เท่านั้นจากมูลค่ารวมของอุตสาหกรรมสนับสนุนประมาณ 20,000 ล้านบาท

2010 10 12 16การดำเนินงานที่ผ่านมาในช่วงปี 2549-2553 ได้ดำเนินกิจกรรมหลักคือ การจัดตั้งห้องปฏิบัติการกลาง (Central Lab) สำหรับอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ การสนับสนุนการศึกษากลไกการส่งเสริม และโครงการสนับสนุนและสร้างผู้ประกอบการไทยเข้าสู่อุตสาหกรรมด้าน Automation โดยมีการใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้น 93.95 ล้านบาท โดยเป็นเงินจาก สวทช. จำนวน 61.3 ล้านบาท (65%) และภาคเอกชนจำนวน 32.65 ล้านบาท (35%) สามารถประเมินผลกระทบเชิงเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นได้จากกิจกรรม 80.37 ล้านบาท และมีผู้ประกอบการไทย (SMEs) ที่พัฒนาเข้าสู่อุตสาหกรรม Automation จำนวน 10 ราย โดยมีรายละเอียดต่างๆ แสดงได้ดังกราฟ

2010 10 12 17

ความสำเร็จของการดำเนินกิจกรรมของโปรแกรมฯ เกิดขึ้นจากความร่วมมือจากกลุ่มอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ และสถาบันการศึกษารวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ได้เล็งเห็นความสำคัญ และร่วมผลักดันให้เกิดกิจกรรมอันส่งผลที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งบริษัทฯ สถาบันการศึกษา อาจารย์ และยังสร้างเสริมศักยภาพโดยรวมของประเทศ กระทั่งสามารถเป็นสิ่งจูงใจให้เกิดการลงทุนจากต่างประเทศ อันได้แก่ บริษัท Hutchinson Co., Ltd. ประกาศการลงทุนผลิต Suspension ในประเทศไทยเมื่อต้นปี 2552 เพราะเล็งเห็นความพร้อมและการสนับสนุนด้านกำลังคนของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช) เป็นต้น

2010 10 12 18

การวิจัยและพัฒนา รวมถึงการสนับสนุนผู้ประกอบการไทย และการพัฒนาบุคลากรเป็นเสมือนจักรกลสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ดังนั้นแล้วการให้การสนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมร่วมกับภาคอุตสาหกรรมฯ จำเป็นต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง มีระบบ และมีแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน สวทช.เล็งเห็นความสำคัญดังกล่าวจึงได้สนับสนุนการดำเนินกิจกรรมของโปรแกรมฯ ด้วยดีตลอดมา ดังผลการดำเนินงานที่กล่าวมาข้างต้น และจะยังคงให้การสนับสนุนโปรแกรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ในการพัฒนาบุคลากร ผู้ประกอบการไทย และงานวิจัยในอนาคต เพื่อสร้างงาน สร้างโอกาส และสร้างรายได้ให้กับประเทศด้วยความสามารถในการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์

ท่านผู้อ่านสามารถส่งข้อคิดเห็น/เสนอแนะมาที่ผู้เขียนที่ djitt@fibo.kmutt.ac.th

Categories: บทความของ ดร. ชิต เหล่าวัฒนา