ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อประสิทธิภาพรัฐวิสาหกิจ
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาและเพิ่มมูลค่ารัฐวิสาหกิจให้เป็นเครื่องมือของรัฐในการพัฒนาประเทศ สครมีภารกิจหลักของหน่วยงานบริหารและพัฒนารัฐวิสาหกิจและหลักทรัพย์ของรัฐ โดยการเสนอแนะนโยบายและมาตรการกำกับดูแล การประเมินผล และการพัฒนารัฐวิสาหกิจ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพรัฐวิสาหกิจและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ทรัพย์สินของรัฐ ส่งผลให้รัฐวิสาหกิจต่างๆมีศักยภาพในการเป็นกลไกของรัฐเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน พร้อมทั้งกำกับดูแลและประเมินผลรัฐวิสาหกิจโดยกำหนดทิศทางการกำกับดูแลรายสาขา และบริหารจัดการเพื่อสร้างฐานรายได้และมูลค่าให้แก่ทรัพย์สินของรัฐ
การบริหารข้อมูลด้านการคลังนั้น คณะรัฐมนตรีได้กำหนดนโยบายที่จะปรับปรุงระบบการบริหารงานการคลังภาครัฐ ที่เกี่ยวกับระบบการเบิกจ่ายงบประมาณ ระบบการบัญชี ระบบการจัดซื้อและว่าจ้างมาตรฐาน ระบบบริหารหนี้สาธารณะ ระบบทรัพยากรบุคคลและเงินเดือน ระบบการชำระเงิน ระบบการตรวจสอบ ระบบข้อมูลสารสนเทศและประเมินผล ให้เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งถือเป็นการรวมศูนย์ระบบการเงินการคลังภาครัฐของประเทศ (Central Database)
โครงการเปลี่ยนการบริหารการเงิน การคลัง ภาครัฐสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ (Government Fiscal Management Information System หรือที่เรียกย่อ ๆ ว่า GFMIS เป็นการออกแบบ จัดสร้าง ระบบบริหารงานการคลังภาครัฐ ของประเทศไทยอย่างสมบูรณ์แบบในด้าน รายรับ รายจ่าย การกู้เงิน เงินคงคลัง บัญชีการเงินแบบเกณฑ์คงค้าง บัญชีสินทรัพย์ถาวร บัญชีต้นทุน บัญชีบริหาร แบบ Single Entry รวมถึงการจัดซื้อ จัดจ้าง การจัดทำ การอนุมัติ การเบิกจ่าย การปรับปรุง และการติดตามการใช้งบประมาณ ที่เน้นการจัดประสิทธิภาพและประสิทธิผล แบบ Output – Outcome เพื่อสร้างให้เกิดฐานข้อมูลกลางด้านการเงิน การคลัง ภาครัฐ แบบ Matrix และ Online Real Time ทั้งตามโครงสร้างกระทรวง ทบวง กรม และพื้นที่จังหวัด CEO
นโยบายรัฐบาล ได้กำหนดให้ขยายระบบงาน GFMIS เพื่อสามารถรองรับข้อมูลการเงิน ของรัฐวิสาหกิจ เพื่อจัดทำงบการเงินรวมรัฐวิสาหกิจ และวิเคราะห์รายได้และรายจ่าย ในรายละเอียด ทุกประเภทรายได้ ในแต่ละพื้นที่ จังหวัด รวมถึง การลงทุนของรัฐ ในแต่ละรัฐวิสาหกิจ สำนักงานกำกับและบริหารโครงการ GFMIS จึงได้เสนอการขยายระบบงาน GFMIS เพื่อรองรับข้อมูลการเงินรัฐวิสาหกิจ ผ่านสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง หรือ Government Fiscal Management Information System – State of Enterprise: (GFMIS-SOE) โดยตั้งเป้าหมายการจัดทำระบบงานและดำเนินการ ให้เกิดประโยชน์ ดังนี้
1. จัดทำระบบการวางแผน ติดตาม และเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณ รายละเอียด การจัดซื้อจัดจ้าง ตามนโยบายรัฐบาล ในแต่ละช่วงเวลา เปรียบเทียบผลการเบิกจ่ายเงิน กับแผนการใช้เงิน รายเดือน ในทุกรัฐวิสาหกิจ ทั้งรัฐวิสาหกิจที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณอุดหนุนจากรัฐ และรัฐวิสาหกิจที่รัฐควบคุมติดตามการใช้จ่ายงบประมาณโดยตรง
2. บันทึกรายได้ที่จัดเก็บ ในแต่ละพื้นที่ จังหวัด ตามประเภทรายได้ และแหล่งที่มาของรายได้ว่ามาจากธุรกิจประเภทไหน และมีการวิเคราะห์ค่าใช้จ่าย ต้นทุน แยกตามประเภทค่าใช้จ่าย ต้นทุน ต่างๆ
3. จัดทำข้อมูลและนำเสนอข้อมูลตามรูปแบบ State Enterprise Review (SER) ซึ่งเป็นการนำเสนอข้อมูลในภาพรวมของรัฐวิสาหกิจ ประกอบด้วยข้อมูลองค์กร ข้อมูลคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ เพื่อที่จะทำให้ทราบถึงปัญหา อุปสรรค รวมทั้งบทสรุป บทวิเคราะห์ผลการดำเนินงาน Financial Ratio ในลักษณะเดียวกับการรายงานเสนอผู้ถือหุ้นของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์
4. กำหนดมาตรฐานผังบัญชีรวมสำหรับรัฐวิสาหกิจ เพื่อจัดทำงบการเงินรวมของรัฐวิสาหกิจ ทั้ง สินทรัพย์ หนี้สิน เงินกู้ การลงทุน รวมถึงการ Consolidate งบการเงินแผ่นดิน
5. บันทึกข้อมูลรายละเอียดสินทรัพย์ถาวรหลักที่สำคัญ ตามประเภทสินทรัพย์หลัก ระยะเวลาการคิดค่าเสื่อมราคา และตามมูลค่าตลาด (Market Value)
6. บันทึกและจัดสร้างให้เกิดฐานข้อมูลบริหารหลักทรัพย์ของภาครัฐทั้งหมด (Investment Portfolio Database) เป็นฐานข้อมูลสำหรับเก็บข้อมูลหลักทรัพย์ต่างๆ เงินลงทุนในรัฐวิสาหกิจและบริษัทต่างๆ โดยเก็บราคาทุน ราคาตลาด และข้อมูลผลตอบแทน รวมถึงการเก็บข้อมูลงบการเงินบริษัท(ที่ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ)ที่ถือหุ้นอยู่ ใช้เป็นข้อมูลในการวิเคราะห์ภาพรวมของเงินลงทุนของรัฐ
ด้วยภารกิจดังกล่าว ทำให้ในปัจจุบันทาง สคร. ต้องทำการเชื่อมโยงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศระหว่างรัฐวิสาหกิจต่างๆ และระบบบริหารการเงินการคลังภาครัฐ แบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อรองรับข้อมูลรัฐวิสาหกิจ (GFMIS-SOE) เพื่อให้การบริหารนโยบายเศรษฐกิจของประเทศให้เจริญเติบโตและมีเสถียรภาพ เพื่อให้ข้อมูลสำหรับการตัดสินใจมีครบถ้วน ถูกต้อง ทันสมัยและรวดเร็วทันต่อการตัดสินใจ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือให้ผู้บริหารสามารถกำหนดนโยบายและมาตรการได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพมากที่สุด
ในปัจจุบันสคร.ได้พบปัญหาในการนำข้อมูลจากฐานข้อมูล GFMIS-SOE มาทำการวิเคราะห์สถานะและประสิทธิผลของรัฐวิสาหกิจต่างๆ เนื่องจากข้อมูลจากทางด้านรัฐวิสาหกิจเข้ามาล่าช้าและไม่ครบถ้วน ประกอบกับการนำข้อมูลออกจากฐานข้อมูล GFMIS-SOE มาทำการวิเคราะห์มีความล่าช้าและไม่ทันเวลา ส่งผลให้ประสิทธิภาพของโครงการไม่ตอบสนองตามวัตถุประสงค์ของโครงการตามที่กำหนดไว้ทั้งหมด
ทางสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี จึงได้นำเสนอแนวทางการแก้ไขและพร้อมที่จะให้คำปรึกษา ในการออกแบบและแนะนำวิธีการปรับปรุงโครงสร้างของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อให้การทำงานของโครงการนี้มีการส่งผ่านข้อมูลอย่างอัตโนมัตือย่างมีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยในเบื้องต้นสถาบันจะทำการออกแบบรูปแบบการนำเข้าข้อมูลของรัฐวิสาหกิจให้มีความรวดเร็วและมีความถูกต้องมากขึ้น เพื่อให้สามารถนำข้อมูลที่ได้รับมาวิเคราะห์ได้ตามที่ต้องการ
ท่านผู้อ่านสามารถส่งข้อคิดเห็น/เสนอแนะมาที่ผู้เขียนที่ djitt@fibo.kmutt.ac.th