กลุ่มเรื่องวิจัยที่ควรมุ่งเน้น - Institute of Field roBOtics (FIBO)
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • ไทย
    • อังกฤษ

กลุ่มเรื่องวิจัยที่ควรมุ่งเน้น

logo robot brain

กลุ่มเรื่องวิจัยที่ควรมุ่งเน้น

ผมได้รับเอกสาร นโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยของชาติ ฉบับที่ 8 (ฉบับร่างเพื่อขอความคิดเห็น) ของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ผมเห็นว่ามีสาระที่นักวิจัยและสาธารณะชนอาจสนใจ จึงได้คัดย่อมาดังนี้ครับ

  • ยุทธศาสตร์การวิจัยที่ 1 การสร้างศักยภาพและความสามารถเพื่อการพัฒนาทางสังคม
  • ยุทธศาสตร์การวิจัยที่ 2 การสร้างศักยภาพและความสามารถเพื่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ
  • ยุทธศาสตร์การวิจัยที่ 3 การสร้างศักยภาพและความสามารถเพื่อการพัฒนานวัตกรรมและบุคลากรทางการวิจัย
  • ยุทธศาสตร์การวิจัยที่ 4 การเสริมสร้างและพัฒนาทุนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  • ยุทธศาสตร์การวิจัยที่ 5 การปฏิรูประบบวิจัยของประเทศเพื่อการบริหารจัดการความรู้ ผลงานวิจัยนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ ทรัพยากร และภูมิปัญญาของประเทศ สู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์และสาธารณะด้วยยุทธวิธีที่เหมาะสมที่เข้าถึงประชาชนและประชาสังคมอย่างแพร่หลาย

จาก 5 ยุทธศาสตร์การวิจัยดังกล่าว เมื่อพิจารณาความสำคัญกลุ่มเรื่องวิจัยที่ควรมุ่งเน้น โดยคำนึงถึงวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้น ความต้องการผลงานวิจัยและความรู้ เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาและนำไปสู่การเสริมสร้างและการพัฒนาประเทศโดยเร็ว ประการสำคัญ เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งในระดับภูมิภาค อาจมุ่งเน้นในกลุ่มเรื่องที่มีความจำเป็นต้องการผลงานวิจัยในพื้นที่ด้วย ดังนั้น จึงกำหนด กลุ่มเรื่องวิจัยที่ควรมุ่งเน้น 13 กลุ่มเรื่อง และคาดว่าจะใช้งบประมาณเพื่อการวิจัยปีละ ประมาณ 22,400 ล้านบาท ดังนี้

การประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียง
การวิจัยเกี่ยวกับการสร้างจิตสำนึกของชุมชนด้านเศรษฐกิจพอเพียง การนำแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่การพัฒนานวัตกรรมและองค์ความรู้ ควบคู่ไปกับการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี เสริมสร้างความมั่นคงในการดำรงชีวิต ขจัดความยากจน และพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน รวมทั้งการต่อยอดภูมิปัญญาให้เกิดประโยชน์เชิงพาณิชย์และสาธารณะ ตลอดจนการจัดการงานและอาชีพในอนาคตของสังคมไทย
เป้าประสงค์  :  สังคมมีความเข้มแข็ง ลดปัญหาความยากจน ลดปัญหาการว่างงาน ประชาชนสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมั่นคง

ประมาณการงบประมาณ : คาดว่าจะใช้ปีละ 2,000 ล้านบาท

ความมั่นคงของรัฐและการเสริมสร้างธรรมาภิบาล
การวิจัยเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศไทย การปฏิรูปการเมืองทุกระดับ ความมั่นคงของรัฐ  การปรับปรุงและพัฒนากฎหมาย การมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ การเสริมสร้างคุณธรรมและจริยธรรม เพื่อเสริมสร้างธรรมาภิบาล  รัฐสวัสดิการเพื่อความมั่นคงของชีวิต ความมั่นคงกับประเทศเพื่อนบ้าน ปัญหาสถานการณ์ชายแดนและการพัฒนาขีดความสามารถในการจัดการด้านความมั่นคง รวมทั้งการบริหารรัฐกิจร่วมระหว่างรัฐบาล ท้องถิ่นและกลุ่มประชาสังคม

เป้าประสงค์ : เกิดความมั่นคงในประเทศ เกิดความปรองดอง มีความสมานฉันท์และความเป็นธรรมในสังคม ประชาชนมีความผาสุก

ประมาณการงบประมาณ : คาดว่าจะใช้ปีละ 2,500 ล้านบาท

การปฏิรูปการศึกษาและสร้างสรรค์การเรียนรู้
การวิจัยเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษา การจัดการศึกษา และรูปแบบการศึกษาที่เชื่อมโยงสู่ภูมิปัญญาท้องถิ่น  รวมทั้งการบริหารจัดการการเรียนรู้สู่ระบบเศรษฐกิจชุมชน และการพัฒนาระบบการเรียนรู้ด้วยตนเอง

เป้าประสงค์ : ยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา มีการพัฒนาการศึกษาที่สอดคล้องกับท้องถิ่นและความต้องการของประเทศ อันนำไปสู่การสร้างเสริมความเข้มแข็งของสังคมฐานความรู้ในทุกระดับ และสร้างความพร้อมของประเทศเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ประมาณการงบประมาณ : คาดว่าจะใช้ปีละ 1,500 ล้านบาท

การจัดการทรัพยากรน้ำ
การวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับระบบและโครงสร้างการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งน้ำผิวดินและน้ำใต้ดิน ทั้งในและนอกระบบชลประทานของประเทศ ตลอดจนลุ่มน้ำ ให้มีประสิทธิภาพและประหยัด รวมทั้งการวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบต่างๆ ต่อการจัดการทรัพยากรน้ำในอนาคต

เป้าประสงค์ : มีการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีระบบและมีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนและคุณภาพที่ดีของสิ่งแวดล้อม

ประมาณการงบประมาณ : คาดว่าจะใช้ปีละ 1,000 ล้านบาท

ภาวะโลกร้อนและพลังงานทางเลือก
การวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน พลังงานทดแทน พลังงานชีวภาพ พืชพลังงาน และพลังงานทางเลือก ที่ก่อให้เกิดความคุ้มค่า ประหยัด มีประสิทธิภาพ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

เป้าประสงค์ :
สังคมมีความรู้และมีจิตสำนึกเกี่ยวกับผลกระทบอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศและการใช้พลังงานอย่างเหมาะสม ก่อให้เกิดการประหยัดเงินตราต่างประเทศในการนำเข้าพลังงาน  ลดการขาดแคลนพลังงาน และลดมลพิษจากการใช้พลังงาน รวมทั้งลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของประเทศ

ประมาณการงบประมาณ : คาดว่าจะใช้ปีละ 1,100 ล้านบาท

การเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออกและลดการนำเข้า
การวิจัยเกี่ยวกับการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและเพิ่มผลิตภาพการผลิต เพื่อพัฒนาศักยภาพการส่งออกในกลุ่มสินค้าที่สร้างรายได้หลักจากการส่งออกและสร้างรายได้ให้กับชุมชน  การวิจัยเพื่อต่อยอดภูมิปัญญาให้เกิดประโยชน์เชิงพาณิชย์ เกิดประโยชน์ต่อชุมชน ท้องถิ่น และสาธารณะ   รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพสินค้าและผลิตภัณฑ์  มาตรฐานสินค้าและผลิตภัณฑ์ ความปลอดภัยของอาหาร (Food Safety) และความมั่นคงด้านอาหาร (Food Security)

เป้าประสงค์ :
เพิ่มมูลค่าสินค้าและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจชุมชน สร้างรายได้ให้กับประเทศ ก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม

ประมาณการงบประมาณ : คาดว่าจะใช้ปีละ 4,000 ล้านบาท

การป้องกันโรคและการรักษาสุขภาพ
การวิจัยเกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพ ระบบการบริหารจัดการด้านบริการสาธารณสุข ประสิทธิภาพการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข  การติดเชื้อ  วิทยาการใหม่ทางสาธารณสุข การพึ่งพาตนเองและเสริมสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพในกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส รวมถึงการวิจัยด้านการแพทย์พื้นบ้าน การแพทย์แผนไทย และแพทย์ทางเลือก  และการวิจัยเพื่อต่อยอดภูมิปัญญาให้เกิดประโยชน์เชิงพาณิชย์และสาธารณะ

เป้าประสงค์ :  คุณภาพชีวิตของประชาชนและระบบการจัดการสาธารณสุขดีขึ้น และมีความมั่นคงด้านสุขภาพของประเทศ

ประมาณการงบประมาณ : คาดว่าจะใช้ปีละ 2,500 ล้านบาท

การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาคุณค่าความหลากหลายทางชีวภาพ
การวิจัยเกี่ยวกับการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในด้านต่างๆ การพัฒนาคุณค่าความหลากหลายทางชีวภาพ การใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเหมาะสมและยั่งยืน การเชื่อมต่อภูมิปัญญาท้องถิ่นกับองค์ความรู้ใหม่ให้เกิดประโยชน์เชิงพาณิชย์และสาธารณะ และการเสริมสร้างจิตสำนึกที่ดีในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

เป้าประสงค์  :  มีคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนและสังคม มีการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่เหมาะสมบนฐานความรู้

ประมาณการงบประมาณ : คาดว่าจะใช้ปีละ 1,000 ล้านบาท

เทคโนโลยีใหม่และเทคโนโลยีที่สำคัญเพื่ออุตสาหกรรม
การวิจัยและพัฒนาเพื่อเสริมสร้างเทคโนโลยีใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีชีวภาพ และเทคโนโลยีที่สำคัญสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมทุกระดับ การวิจัยเพื่อเป็นการชี้นำการพัฒนาการประดิษฐ์คิดค้นและนวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์  รวมทั้งการวิจัยเกี่ยวกับการจัดการเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ

เป้าประสงค์ : เสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยมีเทคโนโลยีที่นำไปสู่การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่สนับสนุนภาคการผลิต ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ

ประมาณการงบประมาณ : คาดว่าจะใช้ปีละ 2,500 ล้านบาท

การบริหารจัดการการท่องเที่ยว
การวิจัยเพื่อการบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยว การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และการมีส่วนร่วมของชุมชนกับการพัฒนาการท่องเที่ยว โดยคำนึงถึงความเชื่อมโยงกับประชาคมอาเซียน

เป้าประสงค์ :
สร้างคุณค่าจากวิถีชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่น สร้างรายได้ให้กับชุมชน เพิ่มรายได้ให้กับประเทศ และนำไปสู่การสร้างเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ

ประมาณการงบประมาณ : คาดว่าจะใช้ปีละ 1,500 ล้านบาท

สังคมผู้สูงอายุ
การวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุ ระบบและมาตรการส่งเสริมดูแล การจัดการ สวัสดิภาพและสวัสดิการผู้สูงอายุให้มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม การส่งเสริมบทบาทของผู้สูงอายุในสถาบันสังคมและชุมชน การนำศักยภาพของผู้สูงอายุมาใช้ในการพัฒนาประเทศและภูมิภาคอาเซียน ตลอดจนการถ่ายทอดภูมิปัญญาสู่สังคม

เป้าประสงค์ :
ผู้สูงอายุมีศักยภาพที่พัฒนาขึ้นเพื่อสร้างคุณค่าให้กับสังคมตลอดจนมีสวัสดิการและสวัสดิภาพต่างๆ ในการดำเนินชีวิตอย่างมั่นคง

ประมาณการงบประมาณ : คาดว่าจะใช้ปีละ 800 ล้านบาท

ระบบโลจิสติกส์
การวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์อย่างบูรณาการ ทั้งในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาประสิทธิภาพและมาตรการให้บริการด้านโลจิส ติกส์ การพัฒนาบุคลากรด้านโลจิสติกส์ และระบบบริหารจัดการขนส่งที่เหมาะสม รวมทั้งการเชื่อมโยงระบบขนส่งและโลจิสติกส์ในภูมิภาคและเครือข่ายคมนาคมกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว ความมั่นคง ตลอดจนส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

เป้าประสงค์ : ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ประมาณการงบประมาณ : คาดว่าจะใช้ปีละ 1,500 ล้านบาท

การปฏิรูประบบวิจัยของประเทศ
การวิจัยเกี่ยวกับการปฏิรูประบบวิจัยของประเทศที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ในมิติต่างๆ เช่น นโยบายการวิจัย  งบประมาณการวิจัย ประเด็นการวิจัย สถาบันวิจัย บุคลากรวิจัย โครงสร้างพื้นฐานสำหรับการวิจัย มาตรฐานการวิจัย การจัดการผลผลิตการวิจัย ฐานข้อมูลการวิจัย การเชื่อมโยงระหว่างเครือข่ายผู้เกี่ยวข้องในระบบวิจัยซึ่งรวมถึงผู้ใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัย การติดตามและประเมินผล กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และอื่นๆ ทั้งในส่วนกลางและในส่วนภูมิภาค เพื่อเป็นพื้นฐานอันมั่นคงในการพัฒนาประเทศสู่สังคมฐานปัญญา (Wisdom-Based Society) และนำไปสู่สังคมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy and Society) โดยคำนึงถึงความเชื่อมโยงการนำองค์ความรู้จากต่างประเทศมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

เป้าประสงค์    :

  1. มีระบบการวิจัยของประเทศที่เข้มแข็ง มีเอกภาพและ           มีประสิทธิภาพที่มีกลไกการขับเคลื่อนที่สามารถประสานทุกภาคส่วนของระบบให้มาทำงานสอดคล้องสัมพันธ์กันได้อย่างแท้จริง…เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ
  2. มีระบบวิจัยที่เป็นส่วนหนึ่งที่ฝังตัว (embedded) อย่างแนบแน่นอยู่ในองค์กร และสามารถทำหน้าที่ขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาอย่างมั่นคงให้กับประเทศ…โดยอาศัยฐานความรู้
  3. เพื่อสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรม โดยให้มีการนำไปใช้ประโยชน์เพื่อสร้างขีดความสามารถของประเทศ และก่อให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ทุกระดับ
  4. นำไปสู่การกำหนดนโยบาย  เป้าหมาย และยุทธศาสตร์   การวิจัย ทั้งระยะสั้น ระยะยาว

ประมาณการงบประมาณ : คาดว่าจะใช้ปีละ 500 ล้านบาท

ท่านผู้อ่านสามารถส่งข้อคิดเห็น/เสนอแนะมาที่ผู้เขียนที่ djitt@fibo.kmutt.ac.th

Categories: บทความของ ดร. ชิต เหล่าวัฒนา