คาร์บอนฟุตพริ๊นท์ - Institute of Field roBOtics (FIBO)
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • ไทย
    • อังกฤษ

คาร์บอนฟุตพริ๊นท์

logo robot brain
คาร์บอนฟุตพริ๊นท์

มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์อย่างต่อเนื่อง ทั้งการใช้พลังงานในงานเกษตรกรรม การพัฒนาและการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม การขนส่ง การตัดไม้ทำลายป่า รวมทั้งการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในรูปแบบอื่นๆ ล้วนเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดภาวะโลกร้อนซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์และนับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น

brain 2011 02 01 01
เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงเกิดแนวคิดในการสร้างสังคม “คาร์บอนต่ำ” (Low-carbon Society) ที่มีหลักการสำคัญ 3 ประการ คือ (1) Carbon Minimization เป็นสังคมที่มีกระบวนการหรือกิจกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้จริง (2) Simpler and Richer กิจกรรมการลดก๊าซเรือนกระจกสามารถกระทำได้ง่ายในชีวิตประจำวันและสร้างรายได้ให้แก่สังคม และ (3) Co-Existing with Nature เป็นกิจกรรมที่สอดคล้องไปกับสภาพแวดล้อมและการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และจากแนวคิดดังกล่าวได้นำไปสู่การจัดการระดับพื้นที่ (Area-based) หรือที่เรียกว่าเมืองลดคาร์บอน (Low-carbon City) กล่าวคือ เป็นการจัดการการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของเมืองใดเมืองหนึ่งจากฐานเดิมที่ไม่เคยมีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาก่อน

การจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของ องค์กรทั่วไปที่ไม่จำกัดขนาดหรือลักษณะของกิจกรรม ซึ่งอาจเป็นองค์กรของเอกชน องค์กรของรัฐ หรือที่เรียกว่าองค์กรซีเอฟโอ (Carbon Footprint for Organization: CFO) เป็นวิธีการประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยจากกิจกรรมทั้งหมดขององค์กรและคำนวณออกมาในรูปคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า อันจะนำไปสู่การกำหนดแนวทางการบริหารจัดการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งในระดับเมือง ระดับโรงงาน ระดับอุตสาหกรรม และระดับประเทศ อย่างไรก็ตาม กิจกรรมการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรในประเทศไทยยังมีน้อยมาก เนื่องจากองค์กรส่วนใหญ่ยังขาดความรู้และไม่ทราบเทคนิคและวิธีการคำนวณ และไม่เคยมีการดำเนินการในส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาก่อน ดังนั้น องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) จึงได้มีการจัดทำ “โครงการส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อมุ่งสู่การเป็นเมืองลดคาร์บอน” ขึ้นเพื่อกำหนดแนวทางหรือหลักเกณฑ์การประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำหรับใช้เป็นเครื่องมือในประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ขององค์กรฯ อันจะเป็นการช่วยเสริมสร้างศักยภาพให้กับท้องถิ่นของไทยในการบริหารจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อมุ่งไปสู่การเป็นเมืองลดคาร์บอน และท้ายสุดเป็นเมืองตัวอย่างของประเทศไทยและของประชาคมโลกต่อไป

ดร. วรพจน์ อังกสิทธิ์ แห่งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) ได้นำทีมนักวิจัยและนักศึกษาของสถาบันดำเนินการศึกษาโครงการนี้โดยเริ่มจากศึกษามาตรฐานการวิเคราะห์คาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรของต่างประเทศ เช่น มาตรฐาน Greenhouse Gas Protocol ของ WRI/WBCSD, มาตรฐาน ISO 14064-1, ISO/TR 14069 และทบทวนบทความ, วรรณกรรม และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาแนวคิดและทฤษฎีที่เป็นประโยชน์สำหรับนำมาเป็นแนวทางในการดำเนินโครงการ ทีมวิจัยได้ติดต่อประสานงาน ลงพื้นที่เพื่อชี้แจงรายละเอียดโครงการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 4 แห่ง คือ เทศบาลนครภูเก็ต เทศบาลเมืองสีคิ้ว เทศบาลเมืองแกลง และเทศบาลตำบลอัมพวา

ผลที่คาดว่าจะได้รับ คือ แนวทางหรือหลักเกณฑ์การประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่เหมาะสมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของไทย ตลอดจนวิธีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกิจกรรมต่างๆ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เส้นฐานของกิจกรรมที่สำคัญ และวิธีการตรวจวัด รวมทั้งตัวชี้วัดและเกณฑ์มาตรฐานสำหรับการเป็นเมืองลดคาร์บอน

ท่านผู้อ่านสามารถส่งข้อคิดเห็น/เสนอแนะมาที่ผู้เขียนที่ djitt@fibo.kmutt.ac.th
http://th.wikipedia.org/wiki/ชิต_เหล่าวัฒนา

Categories: บทความของ ดร. ชิต เหล่าวัฒนา