เทคโนโลยีหุ่นยนต์สำหรับการเตรียมพร้อม ป้องกัน และบรรเทาภัยพิบัติ - Institute of Field roBOtics (FIBO)
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • ไทย
    • อังกฤษ

เทคโนโลยีหุ่นยนต์สำหรับการเตรียมพร้อม ป้องกัน และบรรเทาภัยพิบัติ

logo robot brain

เทคโนโลยีหุ่นยนต์สำหรับการเตรียมพร้อม ป้องกัน และบรรเทาภัยพิบัติ


สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
หรือที่รู้จักกันดีในนาม สวทช (NSTDA) ได้จัดงานประชุมวิชาการประจำปี สวทช. NAC2011 ผมเพิ่งได้รับข้อมูลงานสัมมนาครั้งนี้จากลูกศิษย์เก่าฟีโบ้ ดร.ปาษาณ กุลวานิช ปัจจุบันทำงานอยู่ที่ กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดร. ปาษาณ รับผิดชอบฐานะประธานสัมมนาหัวข้อเทคโนโลยีหุ่นยนต์สำหรับการเตรียมพร้อม ป้องกัน และบรรเทาภัยพิบัติ ในวันที่ 25 มีนาคม 2554 เวลา 13.30 – 16.30 ห้องประชุม CC-404 อาคารศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย

2011-03-22-1

 

ดร. ปาษาณ เป็นอีกผู้หนึ่งที่แสดงบทบาทนำในการใช้หุ่นยนต์เพื่องานประยุกต์ในภาคสนาม โดยมีความเชื่อว่าเทคโนโลยีหุ่นยนต์แบบเคลื่อนที่ได้ภาคสนามมีความเหมาะสมสำหรับเป็นเครื่องมือในการช่วยแบ่งเบาภาระในงานป้องกันและการเตรียมรับมือภัยพิบัติได้เป็นอย่างดีเนื่องจากหุ่นยนต์ฯประเภทนี้มีความสามารถในการเคลื่อนที่ในสิ่งแวดล้อมภายนอกห้องปฏิบัติการได้ซึ่งเมื่อใช้ร่วมกับระบบเซนเซอร์ที่เหมาะสมจะทำให้ข้อมูลที่เก็บได้มีความเป็นพลศาสตร์ซึ่งบางครั้งเป็นที่ต้องการมากกว่าข้อมูลที่ได้จากสถานีเก็บข้อมูลซึ่งอยู่นิ่งกับที่ หุ่นยนต์ฯสามารถนำมาประยุกต์ช่วยในการเก็บข้อมูลทางด้าน สิ่งแวดล้อมทั้งทางด้านเคมี ชีววิทยา และทางฟิสิกส์ รวมทั้งสามารถใช้ตรวจสอบข้อมูลทางด้านภูมิสารสนเทศเช่นการทำแผนที่สภาพท้องน้ำ แผนที่จากภาพถ่ายทางอากาศ ซึ่งเหล่านี้เป็นข้อมูลที่สำคัญในการใช้วางแผนป้องกันอุบัติภัยหรือใช้วางแผนเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติที่ยังไม่เกิดขึ้น รวมทั้งนำมาใช้บรรเทาภัยพิบัติในกรณีที่เกิดภัยพิบัติไปแล้ว ในกรณีที่ต้องการเก็บตัวอย่างจากสิ่งแวดล้อมหุ่นยนต์ฯยังสามารถรับการติดตั้งระบบเก็บตัวอย่างทำให้สามารถเก็บตัวอย่างจากสิ่งแวดล้อมเช่น น้ำ อากาศ ดิน หรือวัตถุอื่นๆที่ไม่เกิดจากธรรมชาติ หุ่นยนต์ฯสามารถนำมาใช้ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้ปฏิบัติงานในงานส่วนที่ผู้ปฏิบัติการไม่ต้องการเสี่ยงหรือไม่พึงประสงค์จะเข้าไปในพื้นที่เช่น พื้นที่ใต้น้ำหรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ พื้นที่ที่มีหมอกควันพิษ พื้นที่ที่มีแดดจัดและมีอากาศร้อนหรือหนาวเกินไปไม่เหมาะกับการทำงานอย่างต่อเนื่อง พื้นที่ภัยพิบัติที่ไม่สามารถเข้าถึงได้โดยมนุษย์เป็นต้น

2011-03-22-2

ทั้งนี้หุ่นยนต์ฯสามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่องด้วยความถูกต้องและมีความแม่นยำในการปฏิบัติงานซึ่งในบางครั้งหุ่นยนต์ฯอาจจะปฏิบัติงานได้ลุล่วงเร็วกว่า แม่นยำกว่าและวางใจได้มากกว่ามนุษย์ นอกจากนี้เมื่อใช้คู่กับแหล่งพลังงานทดแทนเช่นพลังงานแสงอาทิตย์ยังสามารถเพิ่มระยะเวลาปฏิบัติการได้ยาวนาน ประเทศไทยถือได้ว่าเป็นประเทศที่เยาวชนให้ความสนใจในเทคโนโลยีหุ่นยนต์มากเป็นอันดับต้นๆจะเห็นได้จากการเข้าร่วมในกิจกรรมการแข่งขันหุ่นยนต์หลากหลายรายการทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งการได้รับรางวัลจากการเข้าแข่งขันหุ่นยนต์ต่างๆมากมาย คำถามของสังคมปัจจุบันคือเราเก่งกันแต่ในสนามแข่งขันเท่านั้นหรือ? เทคโนโลยีหุ่นยนต์ของไทยมีความพร้อมในการใช้งานจริงเพียงใด? หรือสามารถประยุกต์ใช้ในการช่วยสังคมได้อย่างคุ้มค่าการลงทุนหรือไม่? การบรรยายเรื่องเทคโนโลยีหุ่นยนต์สำหรับการเตรียมพร้อม ป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติ จะนำเสนอเทคโนโลยีหุ่นยนต์แบบเคลื่อนที่ได้ใช้ในภาคสนามซึ่งมีศักยภาพในการนำไปใช้ในภารกิจที่กำหนด ระบบหุ่นยนต์ที่จะนำเสนอทั้งสิ้น 5 ระบบสามารถแบ่งตามการใช้งานคือ หุ่นยนต์กู้ภัย หุ่นยนต์ดำน้ำ (ROV) อากาศยานไร้คนขับ (UAV) เรือหุ่นยนต์ และระบบการเชื่อมโยงเครือข่ายเซนเซอร์อันเป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนระบบหุ่นยนต์ภาคสนามให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เทคโนโลยีเหล่านี้ถูกพัฒนาโดยคนไทยซึ่งมีศักยภาพและความพร้อมที่อาจจะตอบโจทย์จากสังคมได้บ้างโดยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับการป้องกันสังคมจากภัยพิบัติและสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ได้รับความสนใจจากทั้งประชาชนชาวไทยและประชาคมโลกในปัจจุบัน

วิทยากรผู้บรรยาย ผศ.ดร. จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์: “การปรับปรุงและพัฒนาหุ่นยนต์กู้ภัยจากสนามแข่งขันสู่การใช้งานบรรเทาภัยพิบัติ” ผศ.ดร. อรรณพ เรืองวิเศษ: “การประยุกต์ใช้อากาศยานไร้คนขับในภารกิจที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมพร้อมและบรรเทาภัยพิบัติ ” ดร. ปรัชญา เปรมปราณีรัชต์: “ยานกลดำน้ำขนาดเล็กสำหรับงานทางด้านสิ่งแวดล้อม” ดร. อภินันทน์ ตั้นพันธุ์ และ ดร.ถวิดา มณีวรรณ: “การวิจัยสร้างกลุ่มหุ่นยนต์ขนาดเล็กเพื่อวางเครือข่ายสื่อสารฉุกเฉินแบบมัลติมีเดียในพื้นที่สถานการณ์ภัยพิบัติ” และปิดท้ายด้วย ดร. ปาษาณ กุลวานิช: “การใช้เรือหุ่นยนต์สำหรับการแก้ปัญหาอุทกภัยและงานจัดการสิ่งแวดล้อม”

เรื่องเหล่านี้สำหรับประเทศไทยแล้ว ผมเห็นว่าเราก็ต้องมีความพร้อมเหมือนกัน หากดูจากการใช้พลังงานของประเทศคงจะหลีกเลี่ยงการใชเพลังงานนิวเคลียร์ไม่ได้ แต่เผอิญช่วงนี้เกิดเหตุในประเทศญี่ปุ่นหลังจากแผ่นดินไหว มีสึนามิแล้วเกิดวิกฤตกัมมันตภาพรังสีรั่วไหลออกมา คงจะมีผลทำให้แผนการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไทยคงต้องเลื่อนออกไปเสียก่อน อย่างไรก็ตามหากจะไม่ใช้พลังงานประเภทนี้คนไทยเราจำเป็นต้องมีสำนึกเรื่องการประหยัดพลังงานได้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว ผมได้ฟังวิทยากรวิทยุท่านหนึ่งบอกว่าได้ไปเที่ยวทีประเทศเยอรมันนี เห็นการใช้ Solar Cell จึงเข้าใจผิดว่าคนเยอรมันเขาอยู้ได้เพราะพลังงานนี้ ที่จริงเขามีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์อยู่ถึง 35 แห่ง ครับ

ปัจจุบันอัตราส่วนการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้นต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยเรามากกว่าหนึ่ง นั่นคือยิ่งหาเงินได้มากขึ้นกลับต้องมีค่าใช้จ่ายทางพลังงานมากยิ่งกว่าอีก หรืออีกนัยหนึ่งคือยิ่งยากจนลงนั่นเอง


ท่านผู้อ่านสามารถส่งข้อคิดเห็น
/เสนอแนะมาที่ผู้เขียนที่ djitt@fibo.kmutt.ac.th
http://th.wikipedia.org/wiki/ชิต_เหล่าวัฒนา

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Categories: บทความของ ดร. ชิต เหล่าวัฒนา