เทคโนโลยีหุ่นยนต์และคอมพิวเตอร์ ในทางการแพทย์ - Institute of Field roBOtics (FIBO)
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • ไทย
    • อังกฤษ

เทคโนโลยีหุ่นยนต์และคอมพิวเตอร์ ในทางการแพทย์

logo robot brain

เทคโนโลยีหุ่นยนต์และคอมพิวเตอร์

ในทางการแพทย์

คณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ วุฒิสภา จะจัดสัมมนา เรื่อง “การพัฒนาอุตสาหกรรมวัสดุและอุปกรณ์ทางการแพทย์และเครื่องมืด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ” ในวันพุธที่ 27 กรกฎาคม 2554 ที่โรงแรมเรดิสัน สาเหตุที่คณะกรรมาธิการตื่นตัวในเรื่องนี้ก็เพราะว่าปัจจุบันทั่วโลกมีการใช้จ่ายเพื่อสุขภาพในส่วนของเครื่องมืแพทย์ถึงปีละ 6 ล้านล้านบาท และมีแนวโน้มจะสูงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากวิทยาการทางแพทย์มีความก้าวหน้ามาก ประชากรมีอายุเฉลี่ยสูงขึ้น เมื่อมาพิจารณาประเทศไทยประเทศเดียว พบว่า 80% ของงบประมาณกระทรวงสาธารณสุข (12,000 ล้านบาท) ใช้ไปในการนำเข้าวัสดุและอุปกรณ์ทางการแพทย์จากต่างประเทศ ดังนั้น ด้วยความเป็นห่วง ท่านกรรมาธิการจัดสัมนาครั้งนี้เพื่อหาหนทางส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการไทย ตลอดจนการสร้างเครือข่ายที่ช่วยสนับสนุนการส่งเสริมข้างต้น

2011-07-18 01

อันที่จริงคนไทยมีความสามารถเรื่องการประดิษฐ์ไม่ต่างกับชาติที่พัฒนาแล้ว แต่ขาดการสนับสนุนอย่างจริงจังจากภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะกลไกด้าน “Venture Capitals:VC” ที่พร้อมเสี่ยงกำไร/ขาดทุนกับผู้ผลิตรายย่อย (SMEs ) รายย่อยเหล่านี้ไม่มีกำลังพอที่จะแบกรับภาระดอกเบี้ยธนาคารหรอกครับ วันก่อนผมก็ได้พบกับ ดร. โรม แพทย์ไทยที่ทำงานอยู่แคลิฟลอเนียร์ สหรัฐอเมริกา ดร. โรม มีความสนใจอย่างยิ่งที่จะผนวกการให้บริการแคปซูลตรวจวัดภายในลำไส้ ท่านผู้อ่านคงจะพบเห็น/ฟังคำโฆษณาว่าบางโรงพยาบาลในกรุงเทพได้เริ่มใช้เทคนิคนี้กันบ้างแล้วนะครับ เขาได้เข้ามาระดมทุน VC กับนักลงทุนไทยผ่านการประสานงานของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ นัยว่าหากประสบความสำเร็จในการให้บริการครอบคลุมพื้นที่เป้าหมายทั้งสหรัฐอเมริกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จักดำเนินสร้างโรงงานผลิตแคปซูลที่ว่านี้ในประเทศไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าอนุโมทนาอย่างยิ่ง

แคปซูลที่ผมกล่าวถึงนี้มีการติดตั้งกล้องและเซนเซอร์ต่างเช่นเดียว “หุ่นยนต์งู”เพื่อการสำรวจมะเร็งลำไส้ ที่ผมเคยประดิษฐ์และได้สิทธิบัตรของสหรัฐอเมริกา ผมเห็นว่าเทคโนโลยีแคปซูลนี้เหนือกว่าสิ่งประดิษฐ์ของผมมาก กล่าวคือ คนไข้แค่กลืนแคปซูลเล็กๆนี้เข้าไป จึงไม่ต้องทนเจ็บปวดในช่องทวาร ลำไส้และหลอดอาหาร เฉกเช่นในกรณีที่ใช้ Endoscope ตรวจลิ้นปิด-เปิดกันกรดไหลย้อนกลับ นอกจากนี้เทคโนโลยีสือสารและคอมพิวเตอร์ได้ถูกนำมาใช้เพื่อแพทย์ได้เห็นภาพ (Images) ภายในอย่างละเอียด ในปัจจุบันต้องใช้แพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญสูงในการตีความหมายและอ่านความผิดปกติที่เกิดขึ้นจากภาพ ผมเชื่อว่าเทคนิคง่ายๆในระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) จะช่วยแพทย์ตีความหมาย (Cognition) เหล่านี้ได้อย่างไม่ยากเย็นนัก ผมยังได้แนะนำ ดร.โรม ว่าแคปซูลเวอร์ชั่นใหม่ ควรมีกลไลขับเคลื่อน (Propelling Mechanism)โดยอาศัยความแตกต่างความดันระหว่างภายในและภายนอก เพื่อสามารถวิ่งไปตำแหน่งภายในเวลาที่ต้องการ มิใช่ต้องอาศัยการเคลื่อนตัวธรรมชาติของเนื้อเยื่อ (Peristaltic action) แต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น

2011-07-18 02

30 ปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และหุ่นยนต์ได้ถูกนำมาใช้ในการแพทย์มาก โดยเริ่มตั้งแต่การเก็บข้อมูลอย่างอัตโนมัติ (Data Acquisition) ข้อมูลเหล่านี้ใช้ประโยชน์ทั้งในช่วงการผ่าตัดวิกฤต (Critical Surgery) และช่วงเฝ้าติดตามผล การวางแผนขั้นตอนทางการแพทย์ ความเข้าใจและการใช้งานของมนุษย์และอุปกรณ์ (Man-Machine Interface) ที่มีการนำ Virtual Reality มาใช้ในสภาพแวดล้อมที่มีปัจจัยหลายตัวและแพทย์ที่ทำหน้าที่ต้องรู้ค่าเหล่านี้อยู่ตลอดเวลา (Real-Time) น้องๆที่เล่นเกมคอมพิวเตอร์เหล่านี้ ย่อมจะคุ้นเคยเทคโนโลยีและหากโตขึ้นมีโอกาสเป็นคุณหมอ ก็จะสามารถใช้เครื่องมือเหล่านี้ได้อย่างเชี่ยวชาญ คุณพ่อคุณแม่ควรปล่อยให้น้องๆได้สัมผัสกับเทคโนโลยีในรูปแบบเกมคอมพิวเตอร์บ้างนะครับ

2011-07-18 03

หมอผ่าตัดมือดีส่วนใหญ่จะไม่ดื่มแอลกอฮอล์ เพราะท่านเกรงว่ามือสั่นการผ่าตัดจะอันตรายมาก ทำนองเดียวกันหุ่นยนต์เลเซอร์ผ่าตัดเรตินา เราไม่ยอมให้การตอบสนอง (Response) นั้นแกว่งไปมา (Overshoot) ซึ่งอาจทำให้หุ่นยนต์เคลื่อนที่ช้าไปบ้าง ดีกว่าที่มือหุ่นยนต์เคลื่อนที่เปะปะทำให้ตาเราบอดได้ การล็อคตัวคนไข้ (Fixturing) เพื่อให้หุ่นยนต์รู้ตำแหน่งที่ชัดเจนก็มีส่วนสำคัญทำให้การผ่าตัดโดยหุ่นยนต์สำเร็จจนได้ผลลัพท์ดี การเคลื่อนไหวของหุ่นยนต์ (Robotic Manipulators) มีความละเอียดและแม่นยำมาก จึงถูกนำมาใช้ในมาช่วยคนไข้ต้องการผ่าตัดที่ปลอดภัย โดยเฉพาะผู้ที่มีจังหวะชีวิตถึงขั้น สส (สมองเสื่อม) สว (สูงวัย) รมต (ลมต:ลูกหมากโต) ในอนาคตหากโอกาสอำนวย ผมจะมาพูดถึงบทบาทของหุ่นยนต์ช่วยการผ่าตัดสมองและต่อมลูกหมากครับ

 

Categories: บทความของ ดร. ชิต เหล่าวัฒนา