ไอน์สไตน์กับศาสนา - Institute of Field roBOtics (FIBO)
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • ไทย
    • อังกฤษ

ไอน์สไตน์กับศาสนา

logo robot brain

ไอน์สไตน์กับศาสนา

ศาสตราจารย์ ดร. สิทธิชัย โภไคยอุดม เป็น Fellow of the IEEE ที่มีความเชี่ยวชาญด้าน Solid-State Electronics ในอันดับต้นๆของโลก ท่านอาจารย์สิทธิชัยแต่งตำราทางเทคนิคด้วยความเข้าใจที่ลึกซึ้ง ผู้อ่านจึงทำความเข้าใจได้ง่ายขึ้นท่านเคยบอกผมว่าท่านจะลาโลกหลังจากที่แต่งตำราเล่มที่สองเสร็จสิ้น หากเป็นยุทธจักรบู้ลิ้มต้องถือว่าท่านกำลังถ่ายทอดสุดยอดกระบวนท่าให้แก่อนุชนรุ่นหลังดังนั้นนอกจากผมหาเก็บไว้อ่านส่วนตัวแล้วยังซื้อแจกลูกศิษย์ด้วยอย่างไรก็ตามผมดีใจมากที่วันนี้ ศ.สิทธิชัย ยังสุขภาพแข็งแรง ไม่ได้ลาโลกอย่างที่ประกาศไว้ จนถึงปัจจุบันเขียนออกมาเป็นเล่มที่หกแล้ว และยังคงประกาศลาโลกทุกเล่มเช่นเคยผมเดาว่าเป็นมุขแก้ เคล็ด ให้อายุยืนยาวครับในเล่มที่หกนี้เกี่ยวข้องกับทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ปัจฉิมบทได้กล่าวถึง ไอน์สไตน์กับศาสนา ซึ่งน่าสนใจมาก จึงขอคัดลอกมาดังต่อไปนี้


266 1

เรื่องราวส่งท้ายหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนจะแสดงความเห็นในบางเรื่องที่เกี่ยวกับตัวของไอน์สไตน์ ซึ่งยังคงมีความเข้าใจผิดกันอยู่อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องเกี่ยวกับปรัชญาส่วนตัวของไอน์ไสตน์กับศาสนารวมทั้งศาสนาพุทธด้วย ซึ่งไม่ตรงกับความจริงและไม่น่าจะมีความสลักสำคัญอะไรเกี่ยวกับศาสนาพุทธของเรา เพราะผู้เขียนเชื่อเสมอว่าศาสนาพุทธมีความยิ่งใหญ่และลึกซึ้งเกินกว่าที่ความเห็นของนักวิทยาศาสตร์คนใดคนหนึ่งจะมีผลต่อพระธรรมคำสั่งสอนขององค์พระพุทธเจ้าที่เรามีความศรัทธาและมีความเคารพอยู่ในสายเลือดกันอยู่แล้ว

ก่อนอื่นคงไม่มีใครไม่ยอมรับว่าไอน์สไตน์เป็นอัจฉริยะคนสำคัญคนหนึ่งของโลก แต่เช่นเดียวกันกับคุณลักษณะของอัจฉริยะทั่วไป ไอน์สไตน์จะมีอัจฉริยภาพเหนือกว่านักวิทยาศาสตร์คนอื่นในรุ่นของเขาก็เฉพาะในบางเรื่องเท่านั้น ไม่ใช่ว่าไอน์สไตน์ จะรู้ดีเรื่องดีหรือมีความเห็นที่ถูกต้องในทุกเรื่องเสมอไป

 

266 2

อัจฉริยภาพของไอน์สไตน์จะมีอยู่เพียงด้านเดียวคือ เขามีความสามารถในการหยั่ง เห็นปรากฏการณ์ทางกายภาพได้ลึกซึ้งมาก ทำให้เขาสามารถสรุปปรากฏการณ์ธรรมชาติมาเป็นกฏของเอกภพได้ โดยที่นักวิทยาศาสตร์รุ่นเดียวกับเขามักมองข้ามไป เช่นในการสรุปว่าความเร็วของแสงในอวกาศที่ปราศจากแรงโน้มถ่วงจะมีค่าคงที่เสมอไม่ว่าผู้วัดจะเคลื่อนที่ตามหรือทวนลำแสงด้วยความเร็วเท่าไหร่ก็ตาม ซึ่งจะมีผลทำให้ทั้งระยะทางและเวลาเป็นจำนวนสัมพัทธ์มิใช่จำนวนสัมบูรณ์อีกต่อไป และจะมีผลทำให้อนุภาคที่มีค่ามวลนิ่งไม่เท่ากับศูนย์และมีความเร็วเริ่มต้นต่ำกว่าความเร็วของแสงไม่มีทางที่จะมีความเร็วเท่าหรือมากกว่าแสงได้ ซึ่งความหยั่งเห็นดังกล่าวนี้เป็นเรื่องราวของทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษของเขาซึ่งไอน์ไสตน์ได้เสนอในปี ค.ศ.1905

ส่วนในกรณีของทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป ซึ่งหลังจากพยายามอยู่นาน ไอน์สไตน์ ก็ได้เสนอทฤษฎีที่มีความสมบูรณ์ในปี คศ.1915-1916 โดยไอน์สไตน์ได้แสดงความหยั่งเห็นว่าอัตราเร่งเชิงอิเนอร์เชียกับอัตราเร่งเชิงแรงโน้มถ่วงจะมีความสมมูลกัน ซึ่งทำให้เขาสามารถค้นพบได้ในที่สุดว่ามวลจะมีผลทำให้สเปซไทม์เกิดความโค้ง และความโค้งของสเปซไทม์จะควบคุมลักษณะการเคลื่อนที่เชิงอิสระของอนุภาคอีกทอดหนึ่ง

ส่วนในกรณีของทฤษฎีกลศาสตร์เชิงควอนตัม ไอน์สไตล์ก็ได้แสดงความหยั่งเห็นว่า แสงจะมีการเดินทางในลักษณะของอนุภาค โดยแต่ละอนุภาคของแสงจะมีค่าพลังงานที่แน่นอนซึ่งจะแปรผันโดยตรงกับค่าความถี่ของแสง โดยมิได้อธิบายว่าอนุภาคของแสงจะมีความถี่ได้อย่างไร หรือแม้กระทั่งว่าอนุภาคของแสงจะมีขนาดเท่าใดซึ่งไอน์สไตน์ ได้นำแนวคิดของเขาดังกล่าวมาอธิบายทฤษฎีไฟฟ้าพลังแสงได้สำเร็จในปี ค.ศ.1905 เช่นกัน

ซึ่งความหยั่งเห็นอันลึกซึ้งดังกล่าวนี้ ทำให้เกิดการปฏิวัติแนวคิดใหม่เกี่ยวกับกาพภาพทางธรรมชาติอย่างสิ้นเชิง และมีส่วนเป็นอย่างมากในการที่ทำให้วิทยาศาสตร์ได้ก้าวสู่ยุคใหม่ในปัจจุบัน จึงสมควรยิ่งที่เราจะยกย่องให้ไอน์สไตล์ เป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่และมีความสำคัญของโลกคนหนึ่ง

แต่แม้กระทั่งความสามารถในการหยั่งเห็นปรากฏการณ์ธรรมชาติของไอน์สไตน์ ก็ใช่ว่าความเห็นของไอน์สไตน์จะถูกในทุกเรื่องไป ซึ่งเราจะยกตัวอย่างได้บางเรื่องเช่น ในเรื่องราวของทฤษฎีกลศาสตร์เชิงควอนตัม ซึ่งไอน์สไตน์ไม่ยอมรับว่าอนุภาคในขณะที่เคลื่อนที่อิสระและไม่ถูกวัดคุณสมบัติต่างๆ จะมีคุณลักษณะอยู่ในการทับซ้อนเชิงเส้นของสถานะต่างๆ ดังนั้นเราจะไม่สามารถบอกสถานะของอนุภาคได้ แต่เมื่อมีการวัดสถานะของอนุภาค ปรากฏว่าอนุภาคจะแสดงเพียงสถานะเดียว โดยโอกาสที่จะแสดงสถานะใดสถานะหนึ่งนั้นจะขึ้นอยู่กับค่าความน่าจะเป็นประจำตัวของแต่ละสถานะของอนุภาค แต่ไอน์สไตน์ไม่เห็นด้วย เพราะเขาเชื่อว่าสถานะของอนุภาคอิสระจะเป็นสถานะเดียวกันกับค่าที่เราวัดได้ ในปัจจุบันนี้จากการทดลองเชิงเบลล์ เราจะสามารถแสดงได้เด็ดขาดว่าแนวคิดของไอน์สไตน์ผิด แต่เราไม่สามารถจะสรุปได้แน่นอนว่าแนวคิดของการยุบตัวของสถานะอื่นๆยกเว้นค่าที่วัดได้จะถูกต้องแน่นอน

 

266 3

ข้อผิดพลาดในการหยั่งเห็นของไอน์สไตน์อีกประการหนึ่ง ซึ่งจะให้ไอน์สไตน์มิได้มีผลงานเพิ่มเติม(ที่สำคัญ)ตลอดชีวิตที่เหลือของเขาหลังจากที่เขาได้เสนอทฤษฎีสัมพันธภาพทั่วไปแล้วอีกเลย รวมเป็นระยะเวลากว่า 30 ปี ต้องถือได้ว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก โดยไอน์สไตน์เชื่อว่าเขาน่าจะรวมทฤษฎีสัมพันธภาพทั่วไปของเขา (หรือทฤษฎีแรงโน้มถ่วง) ร่วมกับทฤษฎีแม่เหล็กไฟฟ้าของแมกซ์เวลล์ได้ ซึ่งในความพยายามมากกว่า 30 ปี ของไอน์สไตน์ดังกล่าว เขาได้ตีพิมพ์บทความมากมายหลายบทความ แต่จะผิดทุกบทความโดยบางครั้งก็จะเป็นความผิดพลาดทางคณิตศาสตร์(ซึ่งไอน์สไตน์ไม่ได้มีความสามารถมากนัก) แต่บางครั้งก็จะเป็นความผิดพลาดในทางตรรกะทางกายภาพในลักษณะเส้นผมบังภูเขาอย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งทำให้นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ของโลกในสมัยนั้น มีความสงสารไอน์สไตน์มาก เพราะในบั้นปลายของชีวิตของไอน์สไตน์ เขาเกือบจะเป็นตัวตลกทางด้านฟิสิกส์จากผลงานตีพิมพ์ของเขา และไม่มีใครให้ความสำคัญหรือใส่ใจต่อบทความแต่ละบทความของเขาเลย เพราะทุกคนจะเห็นได้ชัดว่ามีข้อผิดพลาดประการใดบ้างปรากฏอยู่ ซึ่งถ้าไอน์สไตน์ไม่หลงดื้อพัฒนาทฤษฎีดังกล่าวอยู่จนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายของชีวิตด้วยอาการหลอดโลหิตขั้วหัวใจแตก เราอาจจะได้แนวคิดใหม่ๆที่เป็นประโยชน์จากมันสมองของไอน์สไตน์อีกมากมายหลายเรื่องก็เป็นได้

นอกจากอัจฉริยภาพในการหยั่งเห็นปรากฏการณ์ทางกายภาพที่ลึกซึ้งของไอน์สไตล์แล้ว บุคลิกภาพประจำตัวของไอน์สไตน์อีกประการหนึ่งซึ่งมีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ทั้งต่อความสำเร็จและความล้มเหลวของไอน์สไตน์คือ เขาจะมีความพากเพียรวิริยะอุตสาหะ ในการหมกมุ่นแก้ปัญหาของเขามาก พูดง่ายๆก็คือเขาจะมีบุคลิกในลักษณะกัดอะไรแล้วไม่ยอมปล่อยเป็นอันขาด ซึ่งทำให้เขาสามารถพัฒนาทฤษฎีสัมพันธภาพทั่วไปของเขาสำเร็จ แต่ในขณะเดียวกันก็นำไปสู่การสูญเสียเวลาถึงครึ่งชีวิตของเขาในการพยายามจะรวมทฤษฎีแรงโน้มถ่วงกับทฤษฎีแม่เหล็กไฟฟ้าเข้าด้วยกัน (ซึ่งถึงแม้ในปัจจุบันนี้ ก็ยังไม่มีใครทำได้สำเร็จ)

แม้ว่าไอน์สไตน์จะมีชื่อเสียงหรือดัง กว่านักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆในรุ่นของเขามาก แต่ชื่อเสียงในระดับซุปเปอร์สตาร์ของไอน์สไตน์มิได้มาจากการยกย่องของนักวิทยาศาสตร์ด้วยกัน แต่มาจากการตัดสินใจของสื่อที่จะปั้นไอน์สไตน์ให้เป็นซุปเปอร์สตาร์ต่างหาก ทั้งๆที่สื่อเองก็ไม่ได้เข้าใจทฤษฎีของไอน์สไตน์เลย ซึ่งจากความดังของไอน์สไตน์ดังกล่าวนี้เอง ทำให้ความเห็นต่างๆของไอน์สไตน์ในทุกเรื่องดูจะมีความสำคัญไปหมด ศาสนาคริสต์นิกายต่างๆพยายามจะคาดคั้นให้ไอน์สไตน์ตอบว่าเขาเชื่อเรื่องของพระผู้เป็นเจ้าหรือไม่ ซึ่งไอน์สไตน์ก็มักจะตอบเสมอว่า เขาเชื่อว่ามีอำนาจเหนือความเข้าใจของมนุษย์อยู่ซึ่งอาจจะเรียกว่าพระผู้เป็นเจ้าก็ได้ แต่พระผู้เป็นเจ้าในแง่ของเขานั้นจะไม่ใช่พระผู้เป็นเจ้าที่จะมาให้ความสนใจหรือดูแลทุกข์สุขและพฤติกรรมของมนุษย์ ซึ่งคำตอบของไอน์สไตน์ทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ผู้นำศาสนาคริสต์ต่างๆค่อนข้างมาก

ส่วนในเรื่องของศาสนาพุทธนั้น ปัจจุบันเป็น แฟชั่น ที่มีผู้พยายามจะแสดงบทความหรือหนังสือว่าไอน์สไตน์ได้เคยแสดงความเห็นสนับสนุนศาสนาพุทธในเรื่องต่างๆอย่างกว้างขวาง แต่ปรากฏว่ามักจะเป็นการแสดงความเห็นแบบลอยๆโดยเราจะไม่สามารถค้นควาหาหลักฐานทางประวัติศาสตร์มาสนับสนุนได้ หลักฐานที่ปรากฏแน่ชัดนั้นกลับกลายเป็นว่า ไอน์สไตน์เคยกล่าวถึงศาสนาพุทธในทางที่ดีในขณะที่เขากำลังต้อนรับนักบวชจากอินเดียที่พยายามมาเยี่ยมเยียนเขาในบางครั้งเท่านั้น

ในความคิดส่วนตัวของผู้ขียนก็คือ ไอน์สไตน์มิได้มีอัจฉริยภาพทางด้านปรัญชาและศาสนาเลย ดังนั้นความคิดของไอน์สไตน์ในเรื่องดังกล่าวไม่น่าที่เราจะให้ความสำคัญมาก เพราะขนาดแนวคิดทางฟิสิกส์ซึ่งเขามีความชำนาญยังมีผิดอยู่เสมอเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาสนาพุทธของเรามีความยิ่งใหญ่และลึกซึ่งมากอยู่แล้ว ดังนั้นความเห็นของไอน์สไตน์ ในเชิงศาสนาพุทธจึงไม่น่าจะมีความสำคัญต่อศรัทธาและความเชื่อของเรา เราควรจะแยกศาสนาออกจากวิทยาศาสตร์ในขณะนี้ ทั้งนี้เพราะความรู้ทางวิทยาศาสตร์ของเรายังมีน้อยและตื้นเขินมาก ไม่น่าจะนำไปอธิบายหลักการทางศาสนาซึ่งมักจะเกี่ยวข้องกับศรัทธาที่ลึกซึ้งและยิ่งใหญ่ได้ ในอนาคตอีกแสนยาวนานเมื่อเรามีความรู้ทางวิทยาศาสตร์มากกว่านี้มากๆแล้วเท่านั้น เราจึงจะมีโอกาสนำทั้งสองแนวคิดนี้มาบรรจบกันได้

Categories: บทความของ ดร. ชิต เหล่าวัฒนา