เมืองไม่เอาถ่าน - Institute of Field roBOtics (FIBO)
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • ไทย
    • อังกฤษ

เมืองไม่เอาถ่าน

logo robot brain

เมืองไม่เอาถ่าน

เมืองไม่เอาถ่าน หรือชื่อทางการคือเมืองลดคาร์บอน (Low-carbon City) คือ เมืองที่ดำเนินการตามแนวคิดในการสร้างสังคม คาร์บอนต่ำ” (Low-carbon Society)ภายใต้หลักการสำคัญ 3 ประการ คือ

  • Carbon Minimization เป็นสังคมที่มีกระบวนการหรือกิจกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้จริง
  • Simpler and Richer กิจกรรมการลดก๊าซเรือนกระจกสามารถกระทำได้ง่ายในชีวิตประจำวันและสร้างรายได้ให้แก่สังคม
  • Co-Existing with Nature เป็นกิจกรรมที่สอดคล้องไปกับสภาพแวดล้อมและการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ

267 1

ดร. วรพจน์ อังกสิทธิ์ แห่งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) ได้นำทีมนักวิจัยของฟีโบ้ทำงานร่วมกับนักวิจัยขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ดำเนินการโครงการส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อมุ่งสู่การเป็นเมืองลดคาร์บอนโดยเริ่มจากศึกษามาตรฐานการวิเคราะห์คาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรของต่างประเทศ เช่น มาตรฐาน Greenhouse Gas Protocol ของ WRI/WBCSD, มาตรฐาน ISO 14064-1, ISO/TR 14069 และทบทวนบทความ, วรรณกรรม และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาแนวคิดและทฤษฎีที่เป็นประโยชน์สำหรับนำมาเป็นแนวทางในการดำเนินโครงการ ทีมวิจัยได้ติดต่อประสานงาน และทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 4 แห่งที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองไม่เอาถ่าน คือ เทศบาลนครภูเก็ต เทศบาลเมืองสีคิ้ว เทศบาลเมืองแกลง และเทศบาลตำบลอัมพวา

เมืองไม่เอาถ่านเหล่านี้มีแนวปฎิบัติดังต่อไปนี้

  1. การประเมินก๊าซเรือนกระจกเพื่อใช้เป็นเส้นฐาน และการพยากรณ์ (Conduct a baseline emission inventory and forecast)
  2. ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ตามเป้าหมายในปีที่ตั้งไว้ (Adopt an emissions reduction target for the forecast year)
  3. การพัฒนาแผนงานเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (Develop a Local Climate Action Plan)
  4. การนำกฎระเบียบและข้อกำหนดแนวทางในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปปฏิบัติและวัดผล (Implement policies and measures)
  5. การติดตามและตรวจสอบผลลัพธ์ (Monitor and verify results)

โดยที่เส้นฐาน (baseline)คือการบันทึกปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (หรือปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์) ขององค์กร ณ ช่วงเวลาหนึ่งที่ผ่านมาเพื่อทำหน้าที่เป็นจุดเริ่มต้นสำหรับองค์กรที่มีความตั้งใจจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยปกติใช้ปริมาณการปล่อยของช่วงเวลาหนึ่งปี อีกทั้งเป็นพื้นฐานสำหรับองค์กรในการสร้างกลยุทธ์การลดคาร์บอน องค์กรสามารถระบุแหล่งกำเนิดก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ และสร้างกรอบการทำงานในการจัดการจัดการคาร์บอนขององค์กรได้

ผมขอยกตัวอย่างในแนวปฏิบัติข้อ 2: ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ตามเป้าหมายในปีที่ตั้งไว้ ดังนี้

  • องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรตั้งเป้าหมายในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นทางการ
  • ตั้งเป็นจำนวนร้อยละของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีการคำนวณในปีฐาน เช่น องค์กรฯ จะทำการลดก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 20 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากเส้นฐานของปี 2554 ให้ได้ภายในปี 2569 เป็นต้น
  • การตั้งเป้าหมายนี้จะทำให้ผู้บริหารองค์กรฯ มีการส่งเสริมและสร้างกรอบการทำงาน นำไปสู่การปฏิบัติที่สามารถวัดผลเป็นรูปธรรมได้

ผมขอแสดงความยินดียิ่งต่อ เมืองไม่เอาถ่าน นำร่อง ทั้งสี่แห่ง ที่ดำเนินการล้ำหน้าและเป็นต้นแบบให้แก่เทศบาลอื่นๆของประเทศในขณะเดียวกัน สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของมิติทางเทคโนโลยีและมิติทางนโยบายจึงได้จัดตั้งศูนย์คาร์บอนฟุตพริ้นขึ้นเพื่อให้การสนับสนุนวิทยาการ การจัดการและข้อมูลเชิงนโยบาย เพื่อให้สนันสนุนกิจกรรมด้านนี้ของประเทศศูนย์คาร์บอนฟุตพริ้นนี้อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของ ดร. วรพจน์ อังกสิทธิ์ ครับ

Categories: บทความของ ดร. ชิต เหล่าวัฒนา