หุ่นยนต์เพื่อนอัจฉริยะ - Institute of Field roBOtics (FIBO)
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • ไทย
    • อังกฤษ

หุ่นยนต์เพื่อนอัจฉริยะ

logo robot brain

หุ่นยนต์เพื่อนอัจฉริยะ

271 1

มนุษย์มีความหวังว่าสักวันหนึ่งในอนาคตอันใกล้นี้จักต้องมีหุ่นยนต์อัจฉริยะเป็นเพื่อนที่บ้านพักอาศัย ร่วมชีวิตประจำวันของมนุษย์ ในบางครั้งเขาต้องช่วยเหลือบริการงานต่างๆ ในบ้านหุ่นยนต์ประเภทนี้จึงต้องมีความสามารถในการติดต่อปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ได้ในระดับที่เข้าใจซึ่งกันและกันได้

สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล และเอสซีจีจัดการแข่งขันหุ่นยนต์เพื่อนอัจฉริยะ ชิงแชมป์ประเทศไทย (Thailand Robot @ Home Championship) เป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยมุ่งเน้นการพัฒนาหุ่นยนต์ให้มีความสามารถดังกล่าวข้างต้น ลักษณะการแข่งขันหุ่นยนต์เพื่อนอัจฉริยะ เป็นการทดสอบหุ่นยนต์ตามพันธกิจต่างๆ โดยมีการกําหนดมาตรฐานการทดสอบ เพื่อเป็นกรอบอ้างอิงและวัดผล ระดับความสามารถของหุ่นยนต์ ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ในด้านต่างๆ ด้วยทั้งนี้ในการแข่งขันฯ จะจำลองสถานการณ์และสถานที่ภายในบ้าน การดำเนินชีวิตประจำวันของมนุษย์โดยมีหุ่นยนต์เป็นผู้ช่วยเหลือ เช่นการทำงานทดแทนมนุษย์ หรือแม้กระทั่งการสื่อสารพูดคุย และทำกิจกรรมร่วมกัน ถือเป็นการแข่งขันที่ท้าทายและมีประโยชน์ต่อการยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีของมวลมนุษย์ โดยทีมชนะเลิศประเทศไทย จะได้เป็นตัวแทนเข้าร่วมการแข่งขัน RoboCup @ Home ซึ่งจะจัดขึ้นในปี 2555 ณ ประเทศเม็กซิโก

ลักษณะหุ่นยนต์ที่เข้าร่วมการแข่งขัน ต้องเป็นหุ่นยนต์เคลื่อนที่แบบอัตโนมัติ โดยไม่มีการวางแผนคำสั่ง แผนที่หรือแผนการเคลื่อนที่เบื้องต้นที่ทำให้หุ่นยนต์ไม่มีความเป็นอัตโนมัติขนาดของหุ่นยนต์ไม่ควรเกินขนาดของประตูทั่วไป คือมีความสูงไม่เกิน 200 เซนติเมตร และความกว้างไม่เกิน 70 เซนติเมตร โดยไม่จำกัดน้ำหนักของหุ่นยนต์ ข้อพึงระวังคือ ในกรณีที่หุ่นยนต์ไม่สามารถขยับเคลื่อนที่ไปมาด้วยตัวเองได้ในระหว่างการแข่งขัน สมาชิกในทีมต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการเคลื่อนย้ายหุ่นยนต์เข้าหรือออกจากสนามด้วยวิธีที่ง่ายและรวดเร็ว

สนามที่ใช้ในการแข่งขันหุ่นยนต์เพื่อนอัจฉริยะ จะประยุกต์ใช้สภาพแวดล้อมโดยรอบเหมือนกับสภาพในบ้านจริง ประกอบด้วยห้องที่เชื่อมต่อกัน เช่น ห้องนั่งเล่น ห้องครัว ห้องน้ำหรือห้องนอน โดยอาจจะมีพื้นที่ที่ถูกออกแบบเพื่อใช้ในการเตรียมตัวก่อนการแข่งขันโดยเฉพาะกำแพงที่ใช้ในสนามแข่งขันถูกกำหนดตำแหน่งตายตัว จะไม่มีการเคลื่อนย้ายกำแพงในระหว่างการแข่งขัน ในสนามแข่งขันจะมีประตูอย่างน้อย 2 ประตูซึ่งใช้เป็นจุดเริ่มต้นของหุ่นยนต์ สำหรับพื้นสนามถูกจำลองให้เหมือนภายในบ้าน โดยจะเรียบเสมอกัน ไม่มีขั้นบันไดและทางต่างระดับ แต่มีความเป็นไปได้ที่จะมีระดับของพื้นที่ต่างกันเล็กน้อยเนื่องจากธรณีประตูหรือทางเดินสายไฟ เป็นต้นเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ในการตกแต่งสนามแข่งขันจะเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ตกแต่งบ้านทั่วไป ไม่ได้ระบุชนิดและจำนวนที่ใช้ และเนื่องจากหุ่นยนต์ควรจะสามารถปฏิบัติงานในชีวิตจริงได้ เพราะฉะนั้นตำแหน่งการวางเฟอร์นิเจอร์จะสามารถถูกปรับเปลี่ยนได้

271 2

ผู้เข้าร่วมแข่งขันจะออกแบบและพัฒนาหุ่นยนต์อัตโนมัติเพื่อใช้ในในการรับคำสั่งต่างๆจากมนุษย์ ดังนั้นตัวหุ่นยนต์จึงต้องประกอบไปด้วยเซนเซอร์ต่างๆมากมาย เช่นกล้องไว้ใช้ในการรับภาพ ไมโครโฟนไว้รับฟังเสียง เซนเซอร์ต่างๆที่ใช้ในการนำทางเคลื่อนที่และตรวจสิ่งกีดขวาง อุปกรณ์และกลไกในการหยิบจับสิ่งของต่างๆ กลไกการเคลื่อนที่ นอกจากนี้แล้วหุ่นยนต์ยังจะต้องมีการประมวลผลที่ชาญฉลาด เพราะจะต้องแยกแยะคำสั่งที่ได้รับจากมนุษย์ สามารถที่จะคิดวิเคราะห์ในคำสั่ง แยกแยะสิ่งต่างๆ และทำภารกิจที่ได้รับมอบหมายได้สำเร็จลุล่วง โดยคณะกรรมการจะพิจารณาให้คะแนนหุ่นยนต์ที่สามารถรับคำสั่งและตอบสนองต่อคำสั่งด้วยเสียงเป็นสำคัญ ในการแข่งขันจะแบ่งเป็น 5 ภารกิจดังนี้

ภารกิจที่ 1 การเคลื่อนที่หลบสิ่งกีดขวาง Navigation

เป็นการแข่งขันวัดความสามารถของหุ่นยนต์ในการเคลื่อนที่หลบหลีกสิ่งกีดขวางโดยอัตโนมัติจากจุดเริ่มตั้นไปยังตำแหน่งที่กำหนด

ภารกิจที่ 2 การจดจำและการแยกแยะใบหน้าของบุคคล

หุ่นยนต์ต้องจดจำบุคคลที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนให้ได้ หลังจากนั้นเมื่อนำบุคคลนั้นมาแสดงตัวอีกครั้ง หุ่นยนต์ต้องสามารถบอกได้ว่าบุคคลนั้นเป็นใคร

ภารกิจที่ 3 การเดินตามคน Follow me

การแข่งขันนี้เป็นการทดสอบการติดตามบุคคลของหุ่นยนต์ ซึ่งหุ่นยนต์ต้องสามารถติดตามผู้ควบคุมไปตามเส้นทางที่กำหนดได้

ภารกิจที่ 4 การหยิบสิ่งของบนโต๊ะ Manipulation

ให้หุ่นยนต์หยิบจับวัตถุบนโต๊ะตามคำสั่ง ซึ่งหุ่นยนต์ของแต่ละทีมต้องสามารถหยิบจับวัตถุที่กำหนดได้ตามคำสั่ง

ภารกิจที่ 5 การแสดงความสามารถพิเศษของหุ่นยนต์ Open Challenge

กำหนดให้หุ่นยนต์แสดงความสามารถพิเศษโดยการแสดงความสามารถของหุ่นยนต์นั้น ต้องเป็นไปในทางที่สร้างสรรค์ แสดงถึงความฉลาดในการปฏิบัติงาน หรือการตัดสินใจของหุ่นยนต์

การแข่งขันรอบชิงชนะเลิศของประเทศไทยถูกจัดในวันที่ 21-22 มกราคมที่ผ่านมา ณ ศูนย์การค้าเดอะมอลล์ สาขางามวงศ์วาน ผมได้รับเชิญไปเป็น Commentator สำหรับหุ่นยนต์ที่เข้าชิงรอบสุดท้าย 8 ทีม ต้องยอมรับว่าฝีมือเด็กไทยสุดยอดจริงๆ เอาเป็นว่า 8 ทีมนี้ หากได้ไปงาน RoBoCup @ Home ที่ประเทศเม็กซิโก ก็คงเข้ารอบสุดท้ายทั้งหมด ผมขอชื่นชมและแสดงความยินดียิ่งต่อ ทีม ขอไข่ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศพร้อม ถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เป็นตัวแทนประเทศไทยเพื่อไปคว้าแชมป์โลกในปีนี้ครับ

ส่งใจไปซ้อมฝากใจไปแข่งชีพจรเต้นแรง เชียร์คนเก่ง หุ่นยนต์

ไทย…

Categories: บทความของ ดร. ชิต เหล่าวัฒนา