หุ่นยนต์ “นะโม”
จินตนาการสู่ความเป็นจริง
สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) ร่วมฉลอง 50 ปีแห่งการก่อตั้ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี โดยได้เปิดตัวหุ่นยนต์ต้อนรับตัวล่าสุดชื่อว่า “นะโม” ขึ้น
น้องๆที่สนใจสามารถดูรายละเอียดจากเว็ปไซด์ฟีโบ้: https://fibo.kmutt.ac.thweb07/thai//index.php?option=com_content&task=view&id=766&Itemid=136
หุ่นยนต์ “นะโม”ได้รับการออกแบบขึ้นเพื่อศึกษาการเคลื่อนไหว และท่าทางโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมถวายการรับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งมีพระมหากรุณาธิคุณเสด็จเป็นองค์ประธานในการเปิดอาคารเรียนและวิจัยทางวิศวกรรมศาสตร์ นิทรรศการรัชกาลที่ 9 และนิทรรศการ 50 ปีแห่งการก่อตั้งมหาวิทยาลัยฯ อันเป็นการแสดงศักยภาพของมหาวิทยาลัยฯในการส่งเสริมและสนับสนุนงานวิจัย การแสดงผลงานวิชาการ และสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ จากทั้งนักวิจัย อาจารย์ ตลอดจนนักศึกษาในระดับต่างๆ
“นะโม” (NAMO : Novel Articulated MObile platform) เป็นหุ่นยนต์ที่ท่อนบนมีลักษณะเป็น humanoid หรือหุ่นยนต์ที่มีลักษณะคล้ายมนุษย์ ส่วนท่อนล่างเป็นล้อล้อเพื่อเพิ่มความคล่องตัวและเสถียรภาพในการเคลื่อนที่ มีความสามารถในการต้อนรับ และนำเยี่ยมชมสถานที่ซึ่งต่อไปอาจปรับเปลี่ยนไปใช้ในการแสดงสินค้า นำชมสถานที่ต่างๆ เช่น พิพิธภัณฑ์ นิทรรศการ เป็นต้น “นะโม” ได้รับการออกแบบและจัดสร้างโดยคณะผู้วิจัยประกอบด้วย ดร.ถวิดา มณีวรรณ์ นายบุญเลิศ มณีฉาย นายวรวิทย์ พันธ์ปัญญาเทพ และทีมนักออกแบบจาก Collaborative Development KMUTT City Center ด้านกายภาพ “นะโม” มีควมสูงประมาณ 130 cm ประกอบด้วยมอเตอร์ที่ข้อต่อต่างๆในร่างกายท่อนบน 16 ตัวด้วยกัน และ ท่อนล่างเป็นฐานสามล้อที่สามารถเคลื่อนที่ได้ทุกทิศทาง (three-wheeled omnidirectional mobile base) หุ่นยนต์นะโมสามารถทำท่าทางต่างๆจากการใช้เทคนิคการรู้จำท่าทาง สามารถหันศีรษะติดตามวัตถุที่สนใจได้โดยอัตโนมัติโดยอาศัยเทคนิคการประมวลผลภาพจากกล้องที่ติดอยู่ภายในศีรษะ นอกจากนั้นนะโมยังสามารถพูดประโยคง่ายๆในภาษาไทยได้อีกด้วย
ในงานนิทรรศการนี้ผมมีโอกาสได้สังเกตเห็นประกายตาของเด็กๆที่ให้ความสนใจ “นะโม” อย่างเห็นได้ชัด เด็กที่ผมกล่าวถึงนี้มีอายุตั้งแต่ 5-6 ขวบขึ้นไป ส่วนหนึ่งอาจมีจินตนาการคิดไปถึงว่า “นะโม” มีชีวิตจิตใจและเป็นเพื่อน ผู้ใหญ่เช่นเราต้องให้ความสำคัญจินตนาการความ “ใฝ่ฝัน” ของเด็กอย่าเพียงแต่มองว่าเป็นกา “เพ้อฝัน” นะครับ
ความ “ใฝ่ฝัน” และมานะพยายามของชนชาติญี่ปุ่นเป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างความสามารถพัฒนาอุปกรณ์ตามจินตนาการของตนสำเร็จมาแล้วหลายชิ้นงาน ตัวอย่างเช่น หุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ “อาซิโม” จากค่ายฮอนด้า ที่นักวิชาการหุ่นยนต์ทั่วโลกไม่เคยคาดคิดว่าจะเป็นจริงได้ในทศวรรษนี้ ผมเองสมัยศึกษาอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น (พ.ศ. 2529) เคยเห็นภาพเขียนอายุประมาณ 100 กว่าปี แสดงถึงจินตนาการ ของบรรพบุรุษแดนอาทิตย์อุทัยนี้เป็น สะพานไม้ไผ่ยาว 30 กิโลเมตร เชื่อมต่อเกาะใหญ่สองเกาะคือ เกาะฮอนชูและเกาะชิโกกุ สะพานนี้เป็นจริงแล้วเมื่อ 20 กว่าปีที่ผ่านมา แต่สร้างด้วยเหล็กและคอนกรีต พลังจินตนาการนั้นเป็นส่วนสำคัญในสังคมญี่ปุ่น ผู้ใหญ่ญี่ปุ่นได้ให้ความสนใจต่อจินตนาการของเด็กๆค่อนข้างมาก
จินตนาการนั้นเป็น “เหตุใกล้” ที่นำมาด้วยขบวนการเรียนรู้อย่างวิทยาศาสตร์ ซึ่งสามารถพัฒนาขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง (Spiral Up) เช่นที่ ปรมาจารย์ด้านเรียนรู้ Peter Senge กล่าวไว้ตามไดอะแกรม หรือ นักฟิสิกส์รางวัลโนเบล Richard Feymann ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เกิดจากการจินตการหรือการเดา (Guess) เมื่อนำมาวิเคราะห๋ผ่านเครื่องมือทางคณิตศาตร์ (Compute) แล้วไปเปรียบเทียบ (Compare) กับประสบการณ์หรือการทดลอง (Experience and Experiment) ถ้าผลลัพท์สอดคล้องกันเราก็ได้ความรู้หรือทฏษฎีที่ถูกต้อง หากขัดแย้งก็ต้องโยนสิ่งที่เราเดาไว้นั้นทิ้งไป แม้ชื่อเรื่องที่เราตั้งไว้ตอนต้นจะไพเราะเพราะพริ้งเช่นใดก็ตาม
เรากำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ด้านสังคมและเทคโนโลยีอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มิได้มีความหมายเฉพาะเพียงเนื้อหาด้านเทคโนโลยีเท่านั้น หากแต่เทคโนโลยีใหม่ๆที่เกิดขึ้นนี้จะช่วยให้เราสามารถจัดการแก้ “ปัญหา” เชิงระบบที่ซับซ้อนได้จนกระทั่งเราเข้าใจพฤติกรรมมนุษย์และสังคมของเราดีขึ้น ปัญหาที่ผมพูดถึงนี้ส่วนใหญ่เป็นปัญหาที่มนุษย์ก่อขึ้นมาเกือบทั้งสิ้นทั้งที่ไม่ตั้งใจหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์และด้วยกิเลสตัณหาความโลภไม่เข้าใจในสภาวะธรรมชาติของความเป็นจริงที่อยู่เบื้องหน้า ผมเชื่อว่าเราทุกคนนั้นคงไม่ต้องการมอบมรดกสังคมที่วุ่นวายสับสนแก่ลูกหลานในอนาคต หากแต่อยากเห็นพวกเขามี “วิธีคิดและปัญญา” พอที่ช่วยให้สามารถเผชิญปัญหาใหม่ๆได้
ในคราวที่จัดตั้งสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทยเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ผมได้เอ่ยกับเพื่อนๆและน้องๆว่า สังคมมองนักเทคโนโลยีส่วนใหญ่สนใจแต่เพียงพัฒนาวัตถุเท่านั้น จริงหรือไม่จริงเป็นอีกเรื่อง แต่เราก็ไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบต่อผลกระทบเชิงลบของเทคโนโลยีที่เราสร้างขึ้นได้ ทางเลือกใดที่มนุษย์ตัดสินใจลงไปควรอยู่บนพื้นฐานความพร้อมของข้อมูลหรือแม้กระทั่งความมั่นใจในการคาดคะเนผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น วิวัฒนาการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสายตาของผมนั้นเป็นเครื่องมือสำคัญช่วยให้มนุษย์ตัดสินใจและบริหารงานได้ถูกต้องแม่นยำขึ้น ในช่วงนี้เรายังได้ประจักษ์ถึงความพยายามของรัฐบาลไทยที่ลงทุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาและการดูแลสุขภาพถ้วนหน้าถึงรากหญ้าประชาชน โอกาสสำคัญเช่นนี้คนไทยจึงควรทำความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีได้อย่างสอดคล้องกับศิลปวัฒนธรรมอันดีงามของเรา
มนุษย์เปลี่ยนแปลงโลกผ่านการออกแบบโดยน้ำมือของมนุษย์เอง หากมองไปรอบๆตัวท่านผู้อ่านจะพบว่า เกือบทุกสิ่งทุกอย่างถูกออกแบบผสมผสานกับเนื้อหาทางศิลปวัฒนธรรม โดยนักออกแบบ ทีมงาน และองค์กรต่างๆ ดังนั้นศิลปวัฒนธรรม และวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีจึงเกี่ยวพันกันอย่างลึกซึ้งแยกออกจากไม่ได้ iPhone และ BlackBerry เป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมสื่อสารที่เกิดขึ้นผ่านการออกแบบนวัตกรรมเทคโนโลยีขั้นสุดยอด ในทำนองเดียวกันกับเสื้อผ้าที่เราใส่ อาหารที่เราทานเข้าไป และสิ่งแวดล้อมที่เราอยู่ สิ่งประดิษฐ์และงานออกแบบเหล่านี้สะท้อนเอกลักษณะ ของมนุษย์ในยุคนั้นๆ ศิลปะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญสร้าง “ความฝัน” สู่ความคิดใหม่เสมอ นักศิลปะท้าทายวิธีคิดของสังคม บางครั้งยังให้มุมมองและวิสัยทัศน์ใหม่ในการใช้งานอุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ในขณะที่เทคโนโลยีหนุนให้ฝันเหล่านั้นเป็นจริงแม้ว่าท้องฟ้าความฝันของนักศิลปะจะไกลสุดเอื้อมก็ตาม เทคโนโลยีและศิลปะจึงเป็นปัจจัยการเปลี่ยนแปลงของกันและกัน
วิทยาการหุ่นยนต์ (Robotics) เป็นที่รวมของเทคโนโลยีสุดยอดหลายๆสาขาข้างต้นเข้าด้วยกัน เป็นเวทีแสดงความสามารถของมนุษยชาติในปัจจุบัน งานประยุกต์ใช้งานหุ่นยนต์มีมากมายเหลือคณานับ อาทิเช่น หุ่นยนต์ช่วยให้คนชรา คนพิการสามารถเดินไปไหนมาไหนได้สะดวกขึ้น ชุดสวมหุ่นยนต์(Robotic Exoskeleton) ช่วยให้มนุษย์สามารถแบกน้ำหนักถึง 200 กิโลกรัม วิ่งขึ้นทางลาดชันได้อย่างสบาย อีกด้านหนึ่งเรากำลังทดลองใช้หุ่นยนต์ในโรงพยาบาลเพื่อให้คนไข้สามารถไปถึงสถานที่และได้รับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงที การผ่าตัดเปลี่ยนกระดูกสะโพก (Hip Replacement) ด้วยหุ่นยนต์ที่มีความละเอียดสูง แผลผ่าตัดหายได้เร็วขึ้น ยังมีหุ่นยนต์ที่ฟีโบ้กำลังพัฒนาขึ้นช่วยงานเกษตรกรรมต่างๆ และอีกไม่นานเราคงได้เห็น “รถหุ่นยนต์” (Intelligent Vehicle) ที่สามารถควบคุมและขับเคลื่อนหลบหลีกสิ่งกีดขวางได้เองอย่างอัตโนมัติทำให้เราไม่เครียดจากภาวะจราจรติดขัด
ผมเชื่อว่าผลงานที่เกิดจาก “ปัญญาแท้” มีแต่สร้างสรรค์ประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติอย่างแท้จริงครับ
ท่านผู้อ่านสามารถส่งข้อคิดเห็น/เสนอแนะมาที่ผู้เขียนที่ djitt@fibo.kmutt.ac.th
——————————————————————————————