เบื้องหลังความสำเร็จของ เด็กไทยกับการได้แชมป์โลก หุ่นยนต์กู้ภัย สองปีซ้อน(2)
ปีที่เบรเมน ทีม อินดิเพนเดนท์จาก สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ปราจีนบุรี ประกอบไปด้วย 1) นายพินิจ (โน๊ต) หัวหน้าทีมและผู้บังคับหุ่นยนต์ 2) นายเนติ (เน) ผู้ดูแลเรื่องระบบแสดงผลและโปรแกรมคอมพิวเตอร์ 3) นายกอล์ฟ ผู้ดูแลเรื่องระบบอิเลกทรอนิกส์ของหุ่นยนต์ 4) นายหนุ่ม ผู้ดูแลเรื่องระบบทางกลของหุ่นยนต์ และ 5) นายอดิศักดิ์ (ยิ้ม) ผู้ควบคุมทีมและผู้จุดประกายให้ทีมทำงานไปได้ด้วยดี ทั้งนี้ทางทีมได้มีท่าน รองคณบดีฝ่ายวิจัย (ตำแหน่ง ณ เวลานั้น) รศ.ดร.วรา วราวิทย์ ได้เดินทางไปช่วยดูแลและให้กำลังใจเป็นอย่างดีอีกด้วย ปีนี้มีทีมที่น่ากลัวจากหลายประเทศ โดยเฉพาะเจ้าภาพ ทีม ไอยูบี จากประเทศเยอรมนี ทีมแชมป์เก่า เพลลิแกนยูไนเต็ด จากประเทศญี่ปุ่น นอกจากนี้ก็ยังมี ทีมจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งชาติประเทศเกาหลี ทีมระดับอาจารย์จากประเทศออสเตรเลีย และทีมจากมหาวิทยาลัยมลรัฐโคโลราโด ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นต้น สำหรับทีมอินดิเพนเดนท์ ยังเป็นม้านอกสายตาของทุกๆ ทีม ผมก็มีหน้าที่ไปเจริญสัมพันธไมตรีกับผู้จัดการแข่งขัน โดยประธานกรรมการคือ นายอาดาม จาคอบ (Mr. Adam Jacob) จากสถาบันตรวจสอบและมาตรฐานแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา (National Institute of Standard and Testing NIST) เพื่อไม่ให้เด็กไทยของเราเสียโอกาสทางด้านกฎกติกาและภาษาเนื่องจากระหว่างการแข่งขัน ผู้บังคับหุ่นยนต์จะต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและคำสั่งจากกรรมการประจำสถานีบังคับฯ ผมจึงทำหน้าที่เข้าไปช่วยเป็นล่าม เพื่อสื่อสารระหว่างผู้บังคับและกรรมการ อย่างไรก็ตาม นายพินิจ (โน๊ต) ผู้บังคับหุ่นยนต์ของทีม อินดิเพนเดนท์ ก็พยายามที่จะสื่อสารด้วยตัวเองเสมอ นับว่าเป็นความพยายามที่ดี ปีที่เบรเมน ผมบอกได้ว่า ทีมอินดิเพนเดนท์ พร้อมมากๆ โดยมีการสร้างหุ่นยนต์ใหม่เพิ่มขึ้นอีกตัวหนึ่ง ชื่อว่าอิมเพาส์ (Impulse) ซึ่งเป็นหุ่นยนต์เคลื่อนแบบใช้สายพาน แต่ไม่ใช่ธรรมดา ทั้งชุดขับเคลื่อนสายพานซ้ายและขวา สามารถเปลี่ยนรูปทรงได้ โดยสามารถเหวี่ยงเป็นแขนเหวี่ยงไปด้านหน้าและหลังได้ ซึ่งระหว่างการแถลงข่าวเพื่อโชว์ตัวหุ่นยนต์ก่อนไปแข่งขัน ผมได้พูดเอาไว้ว่า ปีนี้ เราไปลุ้นแชมป์โลกกัน เด็กไทยของเราในทีมอินดิเพนเดนท์ทุกคน มีระเบียบวินัยเป็นอย่างมาก พวกเขามีความเป็นระบบในการไล่เรียงการตรวจเช็คสิ่งต่างๆ ตามขั้นตอนที่ดี ผมและอาจารย์วรา ได้มีโอกาสใช้ความมีประสบการณ์เพื่อช่วยในการคิดวางแผนการแข่งขันอยู่บ้าง และน้องๆ ก็มีความเคารพและทำตามเป็นอย่างดี ไม่เพียงเท่านั้น น้องๆ ยังใช้ไหวพริบและการประยุกต์ดัดแปลงคำแนะนำของพวกผม ให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด พวกเขาเป็นนักศึกษาตัวอย่างในใจผมจริงๆ |
สนามแข่งขันที่เมืองเบรเมน อนุญาตให้ผู้เข้าร่วมแข่งขันสามารถทดสอบและซ้อมจนถึงเวลาเที่ยงคืน และผมขอบอกว่า เด็กไทยของเราทุกคน อยู่ซ้อมและปรับปรุงพัฒนาหุ่นยนต์ของเรา จนต้องถูกเชิญออกเป็นคนสุดท้ายของสนามอยู่หลายคืน เวิร์ลด์โรโบคัพ เลสคิว 2006 เป็นการแข่งขันที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับพวกเราชนชาวไทยเป็นอย่างยิ่ง และผมขอยืนยันว่า เราไม่ได้ชนะเลิศรางวัลแชมป์โลกมาโดยบังเอิญ ฝีมือและความตั้งใจล้วนๆ ทั้งนี้พี่ๆ ผู้ดูแลและตัวแทนจากเครือซิเมนต์ไทยที่ไปร่วมสนับสนุนถึงที่ก็สมควรจะได้รับคำขอบคุณเป็นอย่างสูง โดยเฉพาะคุณมัทนา เหลืองนาคทองดี ผู้อำนวยการสำนักงานสื่อสารองค์กร เครือซีเมนต์ไทย และคุณปารินทร์ ขันธหิรัญ ผู้ดูแลจากเครือซิเมนต์ไทย ที่ได้มาคลุกคลีนอนกินและร่วมด้วยช่วยหาชิ้นส่วนอุปกรณ์ในการทำหุ่นยนต์ให้ทีมอินดิเพนเดนท์มาถึงปีปัจจุบัน ณ เวิร์ลด์ โรโบคัพ เรสคิว (WorldRoboCup Rescue 2007) ที่จัดขึ้นที่สถาบันเทคโนโลยีจอร์เจีย (Georgia Tech) เมืองแอตแลนต้า มลรัฐจอร์เจีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ทางสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทยและเครือซิเมนต์ไทย เห็นพ้องกันว่า เราน่าจะให้ทีมอินดิเพนเดนท์ แชมป์โลกจากเบรเมน 2006 เดินทางไปป้องกันแชมป์โลกร่วมกับทีมผู้ชนะเลิศในการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยชิงแชมป์ประเทศไทยประจำปีล่าสุดนี้
สำหรับการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยชิงแชมป์ประเทศไทย ปี 2549 ที่ผ่านมาเป็นการแข่งขันที่สูสีกันเป็นอย่างยิ่ง คือใน 8 ทีมสุดท้ายที่ผ่านเข้ามาสู่การแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ ประกอบด้วยทีมจากสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยหอการค้า มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลฯ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เป็นต้น ทั้งนี้ผลปรากฏออกมาว่า ทีมรุ่นน้องของแชมป์โลก ทีมอินดิเพนเดนท์ คือทีม ไอเดียล (Ideal) จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ปราจีนบุรี ได้คะแนนสูงสุดและชนะเลิศการแข่งขันเป็นตัวแทนของประเทศไทยไปร่วมการแข่งขันที่แอตแลนต้า โดยสมาชิกทีมประกอบไปด้วย ผมได้มีโอกาสมาร่วมทีมเดินทางไปแข่งขันในการแข่งขัน เวิร์ลด์ โรโบคัพ เรสคิว 2007 ที่เมืองแอตแลนต้าในฐานะ โค้ชที่ปรึกษา อีกครั้ง ปีนี้ทีมของเราใหญ่มาก มีถึง 12 คน ประกอบด้วยสมาชิกทีมอินดิเพนเดนท์ 5 คน สมาชิกทีมไอเดียล 3 คน และกลุ่มอาจารย์ที่ปรึกษาและผู้ดูแล อีก 4 คน คือ 1) รศ.ธีรศิลป์ ทุมวิภาต รองอธิการบดี สจพ. 2) รศ.ดร.วรา วราวิทย์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า สจพ. 3) คุณสมภพ กิ่งเงิน ตัวแทนและผู้ดูแลทีมจากเครือซิเมนต์ไทย และ 4) ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ ตัวผมเองที่เพิ่งจะได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย เร็วๆ นี้ โดยเราเริ่มการเดินทางที่สนามบินสุวรรณภูมิ กรุงเทพฯ เมื่อเวลา 3.00 น. ของวันที่ 29 มิถุนายน 2550 มีญาติสนิทเพื่อฝูงของทีมต่างๆ ไปส่งอยู่จำนวนหนึ่ง จากนั้นพวกเราก็เริ่มเดินทางออกไป ประมาณ 6.00 น. การเดินทางไปสหรัฐอเมริกา สำหรับผมและอาจารย์ผู้คุ้นเคย เป็นเรื่องที่น่าลำบากใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะต้องนั่งบนเครื่องบิน เป็นเวลานานมากกว่า 24 ชม. เมื่อรวมเวลาทั้งหมด แต่สำหรับนักศึกษาเด็กไทย ทั้งสมาชิกทีมอินดิเพนเดนท์และทีมไอเดียล ดูท่าจะยังตื่นเต้นอยู่จนลืมความเหนื่อยล้าไป เราเดินทางไปถึงที่สนามบินนานาชาติเมืองแอตแลนต้า ประเทศสหรัฐอเมริกา อย่างสะบักสะบอมนิดหน่อย ประมาณสี่ทุ่มกว่า ของวันที่ 29 มิถุนายน 2550 เวลาของประเทศสหรัฐอเมริกา มีนักเรียนไทยจากสมาคมนักเรียนไทยในสถาบันเทคโนโลยีจอร์เจีย มารับและช่วยอำนวยความสะดวก อยู่จำนวนหนึ่ง และทางเครือซิเมนต์ไทยได้ติดต่อประสานงานให้มีรถมารับเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามกว่าที่เราจะได้เข้านอนหลังอาหารมื้อเย็นจานด่วนแบบเบอเกอร์ของเราก็ หลังตีสองแล้ว รุ่งเช้าวันต่อมาเป็นวันที่ทุกคนควรจะพักผ่อน เพื่อให้มีการปรับเวลาของร่างกายให้เหมาะสมกับสภาวะเวลานั้นๆ เรียกว่าต้อง เอาชนะอาการเจทแลก (Jet Lag) ให้ได้ เวลาเที่ยงตรงผมเริ่มไปแวะตามห้องพักของสมาชิกทีมอินดิเพนเดนท์และทีมไอเดียล ผมต้องบอกว่าตกใจและดีใจที่พบว่า น้องๆ เขาเริ่มประกอบหุ่นยนต์ ที่เราแยกส่วนในระหว่างการขนส่งกันแล้ว ผมรู้สึกดีมากครับสำหรับเรื่องความมุ่งมั่นของพวกเขา ตอนบ่ายแก่ๆ ผมก็จัดตัวแทนทีมบางส่วนออกเดินไปดูยังสนามแข่งขันเพื่อให้ทราบถึงกำหนดการ และทางเข้าออกเพื่อไม่ให้ตื่นเต้นกัน นับจากวันนั้น พวกเราก็เริ่มเคลื่อนย้ายหุ่นยนต์ และ อุปกรณ์ต่างๆ เข้าไปยังบริเวณที่ถูกจัดไว้สำหรับการแข่งขัน ภายในบริเวณโรงยิมอเนกประสงค์ของทางสถาบันฯ เราก็เริ่มเตรียมความพร้อม และเข้าฝึกซ้อมตามขั้นตอนที่ได้เตรียมมา ผมยังรู้สึกว่าสมาชิกทีมอินดิเพนเดนท์ แชมป์โลกจาก เบรเมน 2006 ยังไม่ค่อยเข้าที่เข้าทาง ในขณะที่ทีมรุ่นร้องอย่างทีมไอเดียล มาแบบสบายมากไร้กังวล นอกจากทีมสองทีมตัวแทนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ก็ยังมีทีม CEO Mission II จากมหาวิทยาลัยหอการค้า ที่ได้รองแชมป์จากประเทศไทย 3 ปีซ้อนและได้รับการสนับสนุนจากทางมหาวิทยาลัยหอการค้าเอง ให้เข้ามาร่วมการแข่งขัน เวิร์ลด์ โรโบคัพ เรสคิว 2007 อีกด้วย ทั้งหมดจึงมีทีมจากประเทศไทยทั้งสิ้น 3 ทีมที่จะมาเข้าร่วมแข่งขันในปีนี้ —————————————————————————————— ดร. ชิต เหล่าวัฒนา จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาและทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา
|