สาราณุกรมหุ่นยนต์ไทย เทคโนโลยีหุ่นยนต์ในประเทศไทย
ปัจจุบันเทคโนโลยีหุ่นยนต์ในประเทศไทยได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นในรูปของงานวิจัยต่างๆ ทั้งที่ในรูปของงานวิจัยพื้นฐาน และที่ได้นำไปประยุกต์ใช้ในเชิงอุตสาหกรรม ทางการแพทย์และการช่วยเหลือคนพิการ รวมทั้งการสร้างนวัตกรรมในเชิงสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ และการเข้าร่วมการแข่งขันหุ่นยนต์ของเยาวชนไทย
งานวิจัยทางด้านหุ่นยนต์ที่น่าสนใจในประเทศไทยสามารถแบ่งออกเป็นสามกลุ่ม กล่าวคือ
1. งานวิจัยทางด้านหุ่นยนต์เคลื่อนที่และหุ่นยนต์อุตสาหกรรม ตัวอย่างของงานวิจัยในกลุ่มนี้ได้แก่หุ่นยนต์บิน หุ่นยนต์สองขาซึ่งมีลักษณะคล้ายมนุษย์ หุ่นยนต์สำรวจใต้น้ำ ฯลฯ
1.1 หุ่นยนต์บิน (Flying Robot) โดย Mechatronics and Automation Lab, School of Advanced Technologies, Asian Institute of Technology
งานวิจัยนี้เน้นการออกแบบ และควบคุมหุ่นยนต์บินได้อย่างอัตโนมัติที่มีลักษณะเป็นเฮลิคอปเตอร์ที่ติดเซนเซอร์หลายประเภทเช่น อัลตร้าโซนิคส์, GPS, Angular Rate Gyros และ Linear Accelerometer เป็นต้น งานวิจัยนี้สามารถประยุกต์ใช้งานด้านการสำรวจและการทหาร การเกษตรกรรม เป็นต้น แสดงดังในรูปที่ ๒๓
รูปที่ 23 AIT Flying Robot
1.2 หุ่นยนต์เดินสองขา (Humanoid Robot) โดยสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
งานวิจัยนี้เกี่ยวกับการศึกษาพลศาสตร์ของหุ่นยนต์เดินสองขาที่มีลักษณะคล้ายมนุษย์แต่ โดยมุ่งเน้นศึกษากลไกการเดินและการทรงตัวของหุ่นยนต์ การลดแรงกระแทกจากการก้าวเดิน การออกแบบระบบตรวจวัดและระบบควบคุมเสถียรภาพ ตลอดจนการใช้ระบบคอมพิวเตอร์วิชั่นในการนำทางและการคำนวณตำแหน่ของหุ่นยนต์
รูปที่ ๒๔ Humanoid robot
1.3 หุ่นยนต์สำรวจใต้น้ำ (ThaiXPole) โดย สำนักงานเครือข่ายวิจัยประยุกต์ทางเทคโนโลยีหุ่นยนต์และชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
งานวิจัยนี้เป็นการพัฒนาหุ่นยนต์สำรวจใต้น้ำสำหรับช่วยในการสำรวจ และเก็บข้อมูลสำหรับการร่วมสำรวจบริเวณขั้วโลกใต้ของนักวิทยาศาสตร์ไทย ดังแสดงในรูปที่ 3
รูปที่ ๒๕ ThaiXPole [3]
1.4 หุ่นยนต์จัดเก็บหางเหล็ก (Crop Collector system) โดย สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และบริษัทเหล็กสยามยามาโตะจำกัด
งานวิจัยนี้เป็นการออกแบบและจัดสร้างหุ่นยนต์อุตสาหกรรมอัตโนมัติขนาดใหญ่ เพื่อใช้ในสายการผลิตเหล็กรูปพรรณ (H.I.C) โดยพัฒนาหุ่นยนต์ขนาดใหญ่ให้สามารถเก็บหางเหล็กน้ำหนัก 300 กิโลกรัม ความยาว 500-2,000 มิลลิเมตร ความร้อนสูง 900 องศาเซลเซียส ออกจากสายพานการผลิตในเวลา 10 วินาที นำไปทิ้งภายในเวลา 50 วินาที การจัดสร้างหุ่นยนต์ดังกล่าวทำให้บริษัทสามารถเดินเครื่องการผลิตเหล็กได้อย่างเต็มกำลัง ตลอดจนเพิ่มผลผลิตให้กับบริษัทได้ตามต้องการ แสดงดังรูปที่ ๒๖
รูปที่ ๒๖ หุ่นยนต์จัดเก็บหางเหล็กความร้อนสูง
2. งานวิจัยทางด้านการทำงานร่วมกันระหว่างหุ่นยนต์กับมนุษย์ และหุ่นยนต์ทางการแพทย์
งานวิจัยในกลุ่มนี้จะเป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ให้ทำงานร่วมกับมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยเหลือมนุษย์ในการทำงานต่างๆในชีวิตประจำวัน รวมทั้งช่วยเหลือผู้พิการ และงานทางการแพทย์ ตัวอย่างของงานวิจัยในกลุ่มนี้ในประเทศไทยได้แก่ ชุดสวมแขนขาสำหรับคนพิการ การใช้สัญญาณชีวภาพในการควบคุมหุ่นยนต์ และระบบนำทางการผ่าตัดเป็นต้น
2.1 ชุดสวมแขนขา (Arm and Leg ExoskeletonX) โดย Mechatronics and Automation Lab, School of Advanced Technologies, Asian Institute of Technology
งานวิจัยนี้เน้นการออกแบบและพัฒนาต้นแบบชุดสวมแขนและขาเพื่อช่วยให้คนพิการแขนสามารถควบคุมแขนกลให้หยิบจับสิ่งของ หรือช่วยให้ผู้พิการขาสามารถเดินได้ แสดงดังรูปที่ ๒๗
รูปที่ ๒๗ AIT Arm and Leg Exoskeleton
2.2 การควบคุมแขนหุ่นยนต์โดยใช้สัญญาณไฟฟ้าทางชีวภาพ โดย สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
งานวิจัยนี้เสนอการนำสัญญาณไฟฟ้าทางชีวภาพที่เกิดขึ้นจากอากัปกิริยาต่างๆบนบริเวณใบหน้า เช่น การกลอกตา และยักคิ้ว มาวิเคราะห์เพื่อทำการแยกแยะ และจดจำรูปแบบของสัญญาณเหล่านั้น โดยมีส่วนประมวลผลเบื้องต้นเพื่อจัดสัญญาณไฟฟ้าทางชีวภาพให้อยู่ในรูปแบบที่จะนำไปแยกแยะและจดจำสัญญาณไว้ก่อน หลังจากนั้นจึงนำผลที่ได้มาใช้ควบคุมแขนหุ่นยนต์ แสดงดังรูปที่ ๒๘
รูปที่ ๒๘ การควบคุมแขนหุ่นยนต์โดยใช้สัญญาณไฟฟ้าทางภาพ
2.3 หุ่นยนต์โคบอตสามมิติ (3D Cobot) โดย ห้องปฏิบัติการสหวิทยาการมนุษย์และหุ่นยนต์ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
งานวิจัยนี้เป็นการออกแบบและพัฒนาหุ่นยนต์โคบอทแบบแขนกล ที่ช่วยกำหนดทิศทางการเคลื่อนที่ให้มนุษย์ โดยสามารถเคลื่อนที่ได้ 3 องศาอิสระ ที่มีลักษณะเป็นแบบเชิงเส้นตามแนวแกน X, Y และ Z โดยเราจะนำหุ่นยนต์โคบอทจอยสติกมาทำการพัฒนาให้ได้ตามวัตถุประสงค์ ซึ่งจะทำให้ใช้ล้อจำนวนทั้งหมดเพียงแค่ 3 ล้อเท่านั้น และทำให้ลักษณะของโครงสร้างมีลักษณะที่ง่ายขึ้น โดยเรียกหุ่นยนต์โคบอทตัวนี้ว่า “หุ่นยนต์โคบอทสามมิติ (3D Cobot)” แสดงดังรูปที่ ๒๙
รูปที่ ๒๙ CU Cobot
2.4 ระบบนำทางการผ่าตัด โดย สำนักงานเครือข่ายวิจัยประยุกต์ทางเทคโนโลยีหุ่นยนต์และชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
งานวิจัยนี้เป็นการพัฒนาระบบนำทาง เพื่อช่วยในการผ่าตัดโดยพยามลดการฉายเอกซเรย์ รวมทั้งพัฒนาระบบหุ่นยนต์ช่วยในการผ่าตัด แสดงดังรูปที่ ๓๐
รูปที่ ๓๐ ระบบนำทางการผ่าตัด
3. นวัตกรรมทางด้านหุ่นยนต์จากการแข่งขันหุ่นยนต์ในประเทศไทย
3.1 ทีมฟุตบอลหุ่นยนต์ขนาดเล็ก small-sized RoboCup soccer
การแข่งขัน Robocup เป็นการแข่งขันที่พัฒนาหุ่นยนต์เคลื่อนที่แบบใช้ล้อเพื่อเลี้ยงลูกบอลและทำประตูฝ่ายตรงข้าม การแข่งขันประเภทนี้ต้องอาศัยความรในเรื่องของคอมพิวเตอร์วิชั่นในการหาตำแหน่งของตัวหุ่นยนต์และลูกบอล และใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ในการวางแผนการบุกและรับ ผู้ชนะเลิศจะได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันระดับนานาชาติ
รูปที่ ๓๑ ทีม Plasma-z จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
3.2 หุ่นยนต์กู้ภัย (Rescue Robot)
การแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัย เป็นการแข่งขันการพัฒนาหุ่นยนต์ที่ควบคุมด้วยคนหรือหุ่นยนต์อัตโนมัติเพื่อใช้ในการกู้ภัย ในการแข่งขันจะใช้สนามจำลองที่มีหุ่นเหยื่อวางอยู่ตามตำแหน่งต่าง ๆ หุ่นยนต์จะต้องใช้เซ็นเซอร์ในการสำรวจตำแหน่ง อุณหภูมิ เสียงและการเคลื่อนไหวของหุ่นเหยื่อ เพื่อสร้างแผนที่และระบุตำแหน่ง รวมทั้งสภาวะของหุ่นเหยื่อได้อย่างถูกต้อง
รูปที่ ๓๑ หุ่นยนต์กู้ภัย Independent จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศจากการแข่งขัน World RoboCup Rescue Robot ในปี 2549 และ 2550
3.3 รถอัจฉริยะ (Intelligent Vehicle)
การแข่งขันรถอัจฉริยะเป็นการแข่งขันเพื่อพัฒนารถอัตโนมัติที่สามารถเคลื่อนที่จากจุดเริ่มต้นไปสู่จุดหมายปลายทางได้โดยไม่ต้องมีคนเข้าไปควบคุมหรือเกี่ยวข้อง โดยรถอัจฉริยะนี้จะต้องมีความสามารถในการหลบหลีกสิ่งกีดขวาง และปฏิบัติตามสัญญาณจราจรได้อย่างถูกต้อง
รูปที่ ๓๒ ทีม Jack-o-lantern จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศจากการแข่งขันประจำปีพ.ศ.2550
ท่านผู้อ่านสามารถส่งข้อคิดเห็น/เสนอแนะมาที่ผู้เขียนที่ djitt@fibo.kmutt.ac.th
——————————————————————————————
ข้อมูลจำเพาะของผู้เขียน
ดร. ชิต เหล่าวัฒนา จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาและทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา
ภายหลังจบการศึกษา ดร. ชิต ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม ฟีโบ้ (FIBO) เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เพื่อทำงานวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนให้คำปรึกษาหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และบริษัทข้ามชาติ (Multi-national companies) ในประเทศไทยด้านการลงทุนทางเทคโนโลยี การใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติชั้นสูง และการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกของประเทศไทยที่เปิดสอนระดับปริญญาโทสาขาวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติโดยเฉพาะ