หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ - Institute of Field roBOtics (FIBO)
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • ไทย
    • อังกฤษ

หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ

หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต  สาขาวิชาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ

สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

หลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2556  

 

ชื่อหลักสูตร

ภาษาไทย  :  หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ

ภาษาอังกฤษ  :  Bachelor of Engineering Program in Robotics and Automation Engineering

 

ชื่อปริญญาและสาขาวิชา

ชื่อเต็ม (ไทย)  :  วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ)           

ชื่อย่อ (ไทย)  :  วศ.บ. (วิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ)

ชื่อเต็ม (อังกฤษ)  :  Bachelor of Engineering (Robotics and Automation Engineering)

ชื่อย่อ (อังกฤษ)  :  B.Eng. (Robotics and Automation Engineering)

ปรัชญา

หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เป็นหลักสูตรที่มีความเป็นสหวิทยาการ ซึ่งผสมผสานระหว่างศาสตร์ทางด้านวิศวกรรมไฟฟ้า เครื่องกล และคอมพิวเตอร์ เพื่อผลิตบัณฑิตที่ดี มีความรับผิดชอบ มีคุณธรรม จริยธรรม ปฏิบัติงานได้จริง มีความรู้ ความเข้าใจในพื้นฐานวิชาชีพ สามารถคิด วิเคราะห์ จัดการกับปัญหาได้ สามารถทำงานเป็นทีมที่ใช้ความรู้ข้ามสาขาวิชาได้ สามารถสร้างนวัตกรรมทางด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ที่เป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม รวมทั้งช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของคนในสังคม ด้านการศึกษา ความปลอดภัย การแพทย์ ความบันเทิง ซึ่งเป็นส่วนเสริมสร้างความสามารถทางด้านการแข่งขันและการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

ความสำคัญ

ในปัจจุบันประเทศไทยมีความจำเป็นที่ต้องพัฒนาความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้สามารถแข่งขันและดำรงอยู่ได้ในสังคมโลก ประเทศไทยจึงต้องมีการสร้างกำลังคน กำลังสมองทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีความสามารถในการวิจัยและพัฒนา ให้เกิดนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และต่อสังคมโดยรวม

สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าว จึงได้จัดทำหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ที่มีความเป็นสหวิทยาการ ที่ผสมผสานระหว่างศาสตร์ทางด้านวิศวกรรมไฟฟ้า เครื่องกล และคอมพิวเตอร์ขึ้น เพื่อเป็นส่วนที่จะสร้างกำลังคน กำลังสมองที่มีความสามารถในการประยุกต์ใช้งานทางด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ซึ่งจะเป็นเทคโนโลยีที่สำคัญสำหรับเสริมสร้างความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมไทย ตลอดจนความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยรวม และยกระดับความเป็นอยู่ของคนไทย รวมทั้ง การผนวกความรู้ ความเข้าใจในพื้นฐานด้านการจัดการเทคโนโลยีด้วย เพื่อให้ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดให้คุ้มค่าที่สุด โดยหลักสูตรนี้เป็นสหวิทยาการที่เน้นความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ถึงแม้ในปัจจุบัน ณ ปี พ.ศ.2556 ยังไม่มีใบประกอบวิชาชีพวิศวกรเฉพาะทางด้านนี้ แต่หลักสูตรจะมีการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบใหม่ที่เน้นผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นหลัก (Outcome-based Curriculum) และแนวคิดการเรียนรู้ที่เน้นการเชื่อมโยงเนื้อหาหลักสูตรกับการลงมือปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาจริง และทำให้หลักสูตรสามารถผลิตบัณฑิตได้ตามคุณลักษณะที่ระบุไว้ในปรัชญาของหลักสูตร

วัตถุประสงค์

  • เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความเข้าใจทางด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาในเชิงกระบวนการผลิตและการสร้างนวัตกรรม
  • เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความพร้อมในการศึกษาต่อเนื่อง เพื่อทำวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติระดับสูงต่อไป และสามารถเป็นผู้ประกอบการทางด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติได้
  • เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความสามารถในการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ใช้ควบคุมการทำงานของฮาร์ดแวร์ที่ได้วิจัยและพัฒนาขึ้นได้ และสามารถทำงานเป็นทีม เพื่อนำความรู้ทางด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติไปประยุกต์ใช้กับการประกอบอาชีพได้อย่างหลากหลาย

คุณสมบัติของผู้เข้าศึกษา

  • สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่ามัธยมศึกษาตอนปลายที่เน้นกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ และ/หรือกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ จากสถาบันการศึกษาซึ่งกระทรวงศึกษาธิการรับรอง หรือผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) จากสถาบันการศึกษาซึ่งกระทรวงศึกษาธิการรับรอง ในสาขาวิชาเครื่องกล ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ หรือสาขาวิชาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
  • ผ่านการคัดเลือกตามเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และ/หรือเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับ การคัดเลือกของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ/หรือการคัดเลือกโดยสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

 

ระยะเวลาการศึกษา

ตามหลักสูตร 4 ปีการศึกษา

 

รายวิชาที่เปิดสอน iconpdf

 

การรับสมัครเข้าศึกษา

นักศึกษาสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://admission.kmutt.ac.th/

การวัดผลและการสำเร็จการศึกษา

การวัดผลและการสำเร็จการศึกษาให้เป็นไปตามระเบียบมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา

อาจารย์ประจำหลักสูตร arrowOrange 

Categories: ไม่ทราบหมวดหมู่