การเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ด้วยปัญญา (Constructionism)
ภายใต้ความร่วมมือระหว่างมูลนิธิศึกษาพัฒน์ และ เอ็มไอที (Massachusetts Institute of Technology) ได้มีการจัดตั้ง โรงเรียนดรุณสิขาลัยที่มีการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ด้วยปัญญา (Constructionism) ณ. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี โดยท่านพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา รับหน้าที่เป็น “ครูใหญ่” การเรียนรู้ประเภทนี้เป็นรูปแบบที่มุ่งเน้นให้นักเรียนเป็นผู้สร้างความรู้ขึ้นด้วยตนเองผ่านการลงมือสร้างสิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้นมา เช่น การเขียนหนังสือสักเล่ม ทำการทดลองวิทยาศาสตร์ การแสดงละคร การสร้างภาพยนตร์ หรือการเขียนคำสั่งควบคุมการทำงานด้วยคอมพิวเตอร์ เป็นต้น ซึ่งผู้อำนวยให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ หรือที่เรียกว่า Facilitator นั้น จะทำหน้าที่สร้างบรรยากาศที่ให้ผู้เรียนได้ใช้ความคิด มีความกระตือรือร้นและมีแรงจูงใจในการเรียน มีการสะท้อนความคิดให้กับครูและเพื่อนเพื่อปรับปรุงชิ้นงานหรือผลงานให้ดีขึ้น และมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเรียนรู้ของตนเองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นอยู่ตลอดเวลา สำหรับท่านผู้ปกครองที่ติดต่อผมมา ผมในฐานะผู้ประสานงานของมูลนิธิศึกษาพัฒน์ขอให้ข้อมูลเบื้องต้นดังต่อไปนี้ ในรายละเอียดขอให้ท่านทั้งหลายโปรดติดต่อทางโรงเรียนเองนะครับ
การเรียนรู้แบบ Constructionism ที่ถูกนำนำมาใช้กับโรงเรียนดรุณสิกขาลัยนั้น ได้มีการประยุกต์แนวความคิดจากทฤษฎี Constructionism ของ Professor Seymour Papert จาก MIT Media Lab ให้เหมาะสมกับธรรมชาติของผู้เรียนรู้ในสภาพสังคมและวัฒนธรรมไทย โดยแนวทางประยุกต์ที่ใช้นั้นจะดำเนินการตามแนวความคิดดังต่อไปนี้
- การเรียนรู้ตามธรรมชาติจะเกิดจากทัศนคติของผู้เรียน ถ้าผู้เรียนมีทัศนคติที่ดีต่อการเรียน จะทำให้การเรียนรู้เต็มไปด้วยความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา การเรียนรู้ที่เกิดมาจากการบังคับจะทำให้ผู้เรียนเกิดทัศนคติที่ไม่ดีต่อการเรียนรู้ ซึ่งอาจจะทำให้กระบวนการทางความคิดของผู้เรียนหยุดชะงัก ซึ่งเทคนิคที่ได้นำมาใช้ก็คือการให้ผู้เรียนเลือกทำโครงงานจากสิ่งที่สนใจ หลังจากนั้น ผู้อำนวยการเรียนการสอน (Facilitator) จะทำการบูรณาการ (Integration) องค์ความรู้ที่จำเป็นเข้าไประหว่างการทำโครงงานนั้นๆ จะทำให้ผู้เรียนเข้าใจความหมายและสามารถเชื่อมโยงองค์ความรู้ที่ได้เข้ากับสิ่งที่สนใจ
- การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา ไม่ถูกจำกัดเฉพาะในห้องเรียนหรือห้องคอมพิวเตอร์แต่เพียงเท่านั้น (Anywhere, anytime)
- สภาพแวดล้อมในการเรียนที่ดี (Learning Environment) จะทำให้การเรียนรู้นั้น เป็นไปอย่างมีสนุกสนาน
และมีประสิทธิภาพ (แนวความคิดนี้ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับ สภาพแวดล้อมเสมือนในการใช้งานเครื่องคอมพิวเตอร์)
- การสร้างองค์ความรู้ (New Knowledge) นั้น จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ถ้าผู้เรียนไม่มีโอกาสในการนำเสนอผลงานที่สร้างให้กับผู้อื่น (Show and Share) เนื่องจากการนำเสนอผลงานนั้นจะเป็นขั้นตอนในการช่วยตรวจสอบว่า ผลงานที่สร้างมานั้นมีความถูกต้องและครบถ้วนแล้วหรือไม่ อีกทั้งคำถามที่จะเกิดขึ้นจากการนำเสนอผลงานนั้น จะเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความต้องการในการปรับปรุงผลงานต่อไปเรื่อยๆ โดยผ่านการเรียนรู้สิ่งต่างๆเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
- การเรียนรู้เป็นทีม (Team Learning) จะช่วยให้ผู้เรียนมีความสามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆได้อย่างดีขึ้น อีกทั้งยังจะส่งเสริมให้ผู้เรียนพัฒนาความสามารถในการทำงานเป็นทีมร่วมกับผู้อื่น ซึ่งรูปแบบในการพัฒนาโปรแกรม (Applications) และเนื้อหาในการเรียนรู้ (Knowledge Content) นั้น ควรจะมีการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาแบบ Open Source Project ซึ่งต้องการการเชื่อมต่อกันเป็นระบบเน็ตเวิร์ค หรืออินเตอร์เน็ต
- เนื่องจากองค์ความรู้ในปัจจุบันนั้น ได้มีการเปลี่ยนแนวความคิดจากองค์ความรู้แบบแยกส่วน มาเป็นองค์ความรู้แบบเป็นองค์รวมมากขึ้น ดังนั้น เครื่องมือที่จะช่วยในการเรียนรู้ จะต้องมีความสามารถในการสร้างผลงานในลักษณะของโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อให้ผู้เรียนมีความคิดที่เป็นระบบ (Systematic Thinking) และต้องมีความสามารถในการทำ Simulation ได้เพื่อพัฒนาการคิดอย่างเป็นองค์รวมของผู้เรียน (Systems Thinking)
กิจกรรมในห้องเรียนนั้นเน้นการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติและการเรียนรู้ร่วมกันเป็นทีม โดยประกอบด้วยกิจกรรมทั้ง 8 กิจกรรมดังต่อไปนี้
- การวางแผนการเรียนรู้ (Planning)
- การสร้างกระบวนการกลุ่มและการเรียนรู้ร่วมกัน (Collaborative and Teamwork)
- การค้นหาข้อมูลที่สอดรับและสนับสนุนในหัวข้อที่นักเรียนสนใจ (Data Searching)
- การเชื่อมโยงหัวข้อการเรียนรู้เพื่อมองให้เห็นกระบวนการ กลไก และระบบ (Data Linkage)
- การจดบันทึกสิ่งที่ได้เรียนรู้ ทั้งเนื้อหาและเพื่อสะท้อนพฤติกรรมการเรียนของนักเรียน (Recording)
- การฝึก (Practice) ทักษะการเรียนรู้ที่จำเป็นกับการเรียนรู้ด้วยตนเอง ได้แก่ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ เป็นต้น
- การประเมินตนเอง เพื่อพัฒนาชิ้นงานและพัฒนาพฤติกรรมการเรียนรู้ (Self Evaluation)
- การนำเสนอ เพื่อสะท้อนกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาองค์ความรู้ของตนเอง
ท่านผู้อ่านสามารถส่งข้อคิดเห็น/เสนอแนะมาที่ผู้เขียนที่ djitt@fibo.kmutt.ac.th