ผลงานใหม่ทีม BotTherapist คว้ารางวัลที่ 3 ในโครงการประกวด ITCi Award “นวัตกรรมสำหรับบ้านผู้สูงวัย” โดยเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2560 นายสุจิรัชย์ อัฎฐะวิบูลย์กุล นางสาวเพ็ญพิชชา หวังลาวัลย์ และนายก้องเกียรติ รสหอมภิวัฒน์ ตัวแทนทีมส่งผลงานเข้าประกวด รับมอบเงินรางวัล โล่รางวัลพร้อมเกียรติบัตร ณ ลานชั้น LG สยามสแควร์วัน
ผลงาน “หุ่นยนต์แบบเคลื่อนที่สำหรับอยู่เป็นเพื่อนผู้สูงอายุ” (Bliss) ภายใต้การควบคุมของ ผศ.ดร.บุญเสริม แก้วกำเหนิดพงษ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรวิศวกรรมชีวภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และนายวิษณุ จูธารี นักศึกษาปริญญาเอก สาขาวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มจธ. ได้พัฒนาต่อยอดจากหุ่นยนต์ส่งเสริมพัฒนาการเด็กออทิสติก โดยออกแบบเพื่อให้เป็นเพื่อนคลายเหงาให้กับผู้สูงอายุ และช่วยอำนวยความสะดวกในการดูแลผู้สูงอายุให้กับบุตรหลาน หุ่นยนต์มีรูปลักษณ์เป็นมิตรน่ารัก ตัวหุ่นยนต์สามารถควบคุมการเปิดปิดระบบไฟฟ้าในบ้านผ่านทางระบบ IoT ได้ ภายในหุ่นยนต์มีเกมเพื่อส่งเสริมกิจกรรมต่าง ๆ ให้ผู้สูงอายุสามารถเล่นเกมร่วมกับเด็กหรือคนในบ้านได้ ซึ่งยังมีส่วนช่วยฝึกสมองเพื่อป้องกันโรคสมองเสื่อมอีกด้วย หุ่นยนต์ทำงานร่วมกับระบบคลาวด์ในการแจ้งเตือนกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ทานยา นัดพบแพทย์ แจ้งเหตุไปยังบุตรหลานเมื่อผู้สูงอายุหกล้มหรือต้องการความช่วยเหลือ และยังเป็นสื่อกลางให้แพทย์สามารถติดตามตรวจจับความผิดปกติทางสุขภาพจากข้อมูลที่หุ่นยนต์บันทึกในแต่ละวัน เพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยง และแจ้งเตือนให้บุตรหลานเฝ้าดูแลได้ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ ระบบสามารถเรียนรู้ที่จะตรวจจับได้โดยอัตโนมัติด้วย Machine Learning ในอนาคต นอกจากนี้ บุตรหลานสามารถควบคุมหุ่นยนต์ผ่านระบบสำหรับตรวจสอบความเป็นไปภายในบ้านได้ เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถใช้ชีวิตในบ้านได้อย่างมีความสุขและให้บุตรหลานคลายกังวลเมื่อผู้สูงอายุอยู่บ้านคนเดียว
นอกจาก “Bliss” แล้ว ยังมีผลงานของทีมนักศึกษาสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มจธ. อีก 2 ผลงาน ที่เข้ารอบ 16 ทีมสุดท้าย จาก 46 ผลงานทั่วประเทศ ได้แก่ ทีม “TTB” โดย นายนริศ อัศวเลิศศักดิ์ นายกิตติ ผ่องอักษร และนายไชยพร บุญญาเสถียร กับนวัตกรรม “Helper chair” เบาะรองนั่งสำหรับผู้สูงอายุที่มีปัญหาตรงข้อกระดูกที่อาจส่งผลให้เกิดปัญหาในการลุกนั่ง โดยใช้หลักการเดียวกับอุปกรณ์ที่ใช้ยกรถยนต์ Helper Chair มีเซ็นเซอร์สามารถรับรู้และบันทึกน้ำหนักของผู้สูงอายุซึ่งมีผลกับการลุกนั่ง ที่สำคัญพร้อมใช้งานทันทีเมื่อผู้สูงอายุเดินเข้ามาในระยะที่เซ็นเซอร์จับถึง ออกแบบมาเพื่อให้ใช้ง่ายไม่ซับซ้อน ใช้งานในบ้านโดยอาศัยพลังงานไฟฟ้า นอกบ้านใช้ระบบแบตเตอรี่ และทีม “Memo i-Care” โดย นางสาวพูนสิริ ใจลังการ์ นางสาวเมธิณี แสงประดิษฐ์ และนายนิธิกร คำมูล กับผลงานนวัตกรรม “Memobot” หุ่นยนต์ช่วยจ่ายยา เหมาะสำหรับผู้ป่วยอัลไซเมอร์ Memobot จะช่วยแจ้งเตือนการจ่ายยาและส่งยาให้ผู้สูงอายุอย่างถูกต้องและตรงเวลา เมื่อถึงเวลารับประทานยาจะส่งเสียงเตือนทั้งนี้เจ้า Memobot ยังจะอยู่เป็นเพื่อนเล่นคลายเหงาให้ผู้สูงอายุได้อีกด้วย ด้วยรูปลักษณ์ที่เล็ก น่ารัก สัมผัสนุ่มให้ความรู้สึกเหมือนตุ๊กตาจะทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น