สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรีได้รับการติดต่อให้ประมวลข้อมูลความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีหุ่นยนต์ เพื่อให้เด็กไทยได้มีแหล่งข้อมูลสำหรับการค้นคว้าเบื้องต้น กระผมจึงขอให้ทีมนักวิจัยหลักของสถาบันฯ ร่วมกันทำงานชิ้นสำคัญนี้ครับ โดยได้แยกแยะหัวตามข้อดังต่อไปนี้ (1) ส่วนประกอบของหุ่นยนต์:ดร. สาทิสส์ ทรงชน (2) การเคลื่อนที่ของหุ่นยนต์:ดร. สโรช ไทรเมฆ (3) การติดต่อสื่อสารระหว่างมนุษย์กับหุ่นยนต์: ดร.สยาม เจริญเสียง และ (4) เทคโนโลยีหุ่นยนต์ในประเทศไทย: ดร. ถวิดา มณีวรรณ์
ผมหวังว่าข้อมูลต่อไปนี้ จะช่วยนำทางน้องๆที่สนใจสาขาวิชานี้เริ่มต้น ก้าวไปอย่างมั่นคงเพื่อศึกษาต่อเชิงลึก พัฒนาตนสู่การนักเทคโนโลยีหุ่นยนต์ เพื่อมาสานต่อกิจกรรมงานวิจัยและพัฒนาที่รุ่นเราบุกเบิกทำไว้ครับ
ส่วนประกอบของหุ่นยนต์
โครงสร้าง (Frame)
โครงสร้างเป็นส่วนประกอบหลักสำคัญของหุ่นยนต์ที่ทำหน้าที่จับยึดทำให้อุปกรณ์ต่าง ๆ ทำงานร่วมกันและป้องกันมิให้หลุดแยกออกจากกัน โดยที่โครงสร้างของหุ่นยนต์อาจมีลักษณะแตกต่างกันไปตามแต่ผู้ประดิษฐ์จะทำขึ้นให้มีหน้าที่การทำงานตามวัตถุประสงค์ของหุ่นยนต์นั้นๆ เช่นในรูปที่ ๑-ก แสดงโครงสร้างของหุ่นยนต์ไจโรสโคป โดยทั่วไปถ้าหากหุ่นยนต์ถูกสร้างขึ้นเพื่อลอกเลียนแบบการทำงานหรือการเคลื่อนที่ของสิ่งมีชีวิต โครงสร้างนั้นก็จะถูกออกแบบมาให้มีลักษณะคล้ายกับสิ่งมีชีวิตชนิดนั้นๆ ดังในรูปที่ ๑-ข แสดงโครงสร้างของขาหุ่นยนต์เลียนแบบขามนุษย์
โครงสร้างของหุ่นยนต์ถ้าหากเปรียบเทียบกับมนุษย์ก็จะเปรียบเหมือนกับโครงกระดูกของมนุษย์ แต่โครงสร้างของหุ่นยนต์จะสร้างจากวัสดุที่มีความแตกต่างกัน โดยขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ในการใช้งาน โดยวัสดุที่นิยมนำมาสร้างเป็นโครงสร้างของหุ่นยนต์ ได้แก่ ไม้, อะลูมิเนียม, เหล็ก, พลาสติก, ไททาเนียม ฯลฯ ซึ่งการจะเลือกใช้วัสดุก็ขึ้นอยู่กับลักษณะที่จะนำไปใช้งาน เช่น ถ้าต้องการสร้างหุ่นที่จะต้องมีนำหนักเบาก็อาจพิจารณาเลือกใช้ อะลูมิเนียม เป็นต้น ทั้งนี้ในการเลือกใช้ก็ต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วย เช่น กระบวนการผลิต และราคา เป็นต้น
รูปที่ ๑ ก) แสดงโครงสร้างของหุ่นยนต์ไจโรสโคป |
|
สายพาน (Belt)
สายพานเป็นอุปกรณ์ส่งถ่ายกำลังระหว่างเพลาแบบที่หยุ่นตัวได้ การส่งกำลังด้วยสายพานทำได้โดยติดตั้งรอบพูลเลย์ตั้งแต่สองอันขึ้นไป ซึ่งแรงในแนวสัมผัสจะถูกส่งถ่ายจากพูลเลย์ขับไปยังพูลเลย์ตามโดยอาศัยความเสียดทานระหว่างสายพานและพูลเลย์ ส่วนการติดตั้งสายพานขับทำได้หลายแบบเช่น สายพานแบบปิดสำหรับขับเพลาที่ขนานกันให้หมุนไปในทิศทางเดียวกัน สายพานแบบไขว้ สำหรับขับเพลาที่ขนานกันให้หมุนในทิศทางตรงกันข้าม สายพายแบบกึ่งไขว้ สำหรับเพลาที่ข้ามกัน และสายพานแบบทำมุมกันสำหรับเพลาที่ตัดกัน เป็นต้น
ชนิดของสายพานที่นิยมใช้โดยทั่วไปในหุ่นยนต์มี ๔ ชนิด คือ สายพานแบน (Flat Belt) มีหน้าตัดขวางเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า สายพานโอ (O-Belt) มีหน้าตัดขวางเป็นวงกลม สายพานวี (V-Belt) มีหน้าตัดขวางเป็นสามเหลี่ยม และสายพานไทม์มิ่ง (Timing Belt) ซึ่งมีลักษณะเหมือนกับสายพานแบน แต่ที่สายพานมีฟันเพื่อจะให้ขบกับล้อเฟืองทำให้ไม่มีการลื่นไถล
โซ่ (Chain)
โซ่เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการส่งกำลังระหว่างเพลา โดยที่ในการส่งกำลังจะประกอบไปด้วยโซ่ที่ไม่มีปลายคล้องรอบจานโซ่ตั้งแต่สองอังขึ้นไป จานโซ่เป็นล้อที่มีฟันรูปร่างพิเศษเพื่อรับกับร่องของโซ่ ในการขับด้วยโซ่นั้นข้อโซ่จะขบกับฟันของจานโซ่จึงไม่มีการลื่นไถล ทำให้การส่งกำลังมีอัตราทดคงที่เช่นเดียวกับการขับด้วยเฟือง โซ่จะทำหน้าที่ส่งกำลังระหว่างเพลาที่ขนานกันเท่านั้น การติดตั้งโซ่โดยปกตินิยมติดตั้งให้แนวจุดศูนย์กลางของจานโซ่ทั้งคู่อยู่ในแนวระดับ หรือทำมุมกับแนวระดับไม่เกิน ๖o องศา และจะต้องให้ด้านล่างเป็นด้านหย่อน ไม่นิยมการติดตั้งให้แนวศูนย์กลางของจานโซ่ทั้งคู่อยู่ในแนวดิ่ง หรือด้านบนเป็นด้านหย่อน เนื่องจากโซ่มักจะหลุดจากจานโซ่ได้ง่ายเมื่อโซ่เกิดการยืดเพียงเล็กน้อย
ล้อตีนตะขาบ (Track Wheel)
ล้อตีนตะขาบเป็นอุปกรณ์ชนิดหนึ่งที่ขับเคลื่อนหุ่นยนต์นอกจากล้อและขา ซึ่งตีนตะขาบมีข้อได้เปรียบการขับเคลื่อนแบบอื่นก็คือ สามารถทำงานได้ในสภาพพื้นผิวที่ขุขระมากๆได้ดีกว่าล้อกลมปกติ เช่น พื้นที่มีคู หิน บ่อ หรือ เปียก และนอกจากนี้ล้อตีนตะขาบยังสามารถเปลี่ยนทิศทางการเคลื่อนที่ ณ จุดที่ต้องการได้โดยทันที นอกจากนี้ตีนตะขาบยังสามารถนำไปใช้กับการขนถ่ายสิ่งของด้วย โดยสามารถใช้ตีนตะขาบยกสิ่งของได้โดยการกดและยกขึ้นเหมือนกับเป็นสานพานลำเลียง ดูตามในรูปที่ ๒ แสดงตัวอย่างของล้อตีนตะขาบของหุ่นยนต์ที่สร้างขึ้นเองในประเทศไทยเรา
คัปปลิ้ง (Coupling)
คัปปลิ้งเป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่ส่งถ่ายแรงบิดระหว่างเพลาสองเพลา อันหนึ่งเป็นเพลาขับและอีกอันหนึ่งเป็นเพลาตาม และต่อเพลาสองเพลาซึ่งอาจไม่ได้ติดตั้งอยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกันเข้าด้วยกัน คัปปลิ้งยังช่วยในการประกอบให้ง่ายขึ้นนอกจากจะทำหน้าที่ต่อการส่งกำลังระหว่างเพลาหรือส่วนอื่นๆ ของชิ้นต่อโยง ชนิดของคัปปลิ้งถ้าหากจะแบ่งตามการตัดต่อกำลังก็จะแบ่งได้ดังต่อไปนี้ ๑) คัปปลิ้งแบบตัดต่อกำลังไม่ได้ คัปปลิ้งแบบนี้จะไม่สามารถต่อกำลังกัลป์เพลาขับในขณะหมุนทำงานได้ โดยทั่วไปจะนำมาใช้ในการส่งถ่ายแรงบิดระหว่างเพลาที่มีแนวศูนย์ร่วมกัน คัปปลิ้งแบบตัดต่อกำลังไม่ได้นี้มีอยู่หลายแบบด้วยกัน ได้แก่ ๑.๑)คัปปลิ้งแบบฝาประกบ (Split coupling) ทำจากเปลือกเหล็กหล่อสองชิ้น สำหรับการใช้งานนั้นจะยึดอัดด้วยสกรูให้บีบอัดเพลาทั้งสองไว้ ใช้งานในรอบที่ต่ำและปราศจากแรงกระแทก ๑.๒)คัปปลิ้งแบบหน้าแปลน (Flange coupling) จะประกอบด้วยหน้าแปลนสองชิ้นที่สวมอัดอยู่ที่ปลายเพลาและมีสกรูร้อยขันยึดเข้าด้วยกัน ใช้ส่งกำลังที่รอบสูงกว่าแบบฝาประกบ ๑.๓) คัปปลิ้งแบบยูนิเวอร์เซล (Universal joint) แสดงไว้ในรูปที่ ๓ ซึ่งประกอบด้วยข้อต่อกากบาทและส่วนที่ขยับเลื่อนไปตามแนวแกน ใช้สำหรับเพลาที่มีแนวศูนย์ไม่ร่วมกัน ๒) คัปปลิ้งแบบตัดต่อกำลังได้ จะใช้งานเมื่อเราต้องการที่จะตัดต่อกำลังให้เพลาทั้งสอง โดยคัปปลิ้งแบบนี้จะส่งถ่ายแรงบิดผ่านชิ้นส่วนคัปปลิ้งที่ขบเข้าด้วยกัน ซึ่งที่เราพบเห็นและมีใช้กันบ่อยมากที่สุดก็คือ คัปปลิ้งเขี้ยว ซึ่งเขี้ยวจะเลื่อนขบกันเมื่ออยู่ในสภาพหยุดนิ่งหรือความเร็วรอบของเพลาต่างกันเพียงเล็กน้อย
ข้อต่อ (Joint)
เป็นอุปกรณ์ที่ใช้เชื่อมต่อชิ้นส่วนที่เคลื่อนที่สัมพัทธกันของหุ่นยนต์ ซึ่งโดยทั่วไปมี 2 ชนิด คือ ข้อต่อหมุน (Rotational Joint) เป็นข้อต่อที่ต่อกับชิ้นส่วนที่เคลื่อนที่ในลักษณะที่มีการหมุนรอบข้อต่อ และข้อต่อเชิงเส้น (Linear Joint) เป็นข้อต่อที่ต่อกับชิ้นส่วนที่มีการเคลื่อนที่ในลักษณะเป็นเชิงเส้น เช่น เคลื่อนแบบไป-กลับ ในแนวเส้นตรงหรือโค้ง
ก้านต่อโยง (link)
ก้านต่อโยงในที่นี้หมายถึงชื่อเรียกชิ้นส่วนขอวัตถุที่นำมาเชื่อมต่อเพื่อสร้างการเคลื่อนไหวของหุ่นยนต์ซึ่งหากนำก้านต่อโยงหลายๆ อันมาต่อรวมกันจะเรียกว่า กลไกก้านต่อโยงดังแสดงตัวอย่างในรูปที่ ๔
มอเตอร์ไฟฟ้ากระแสตรง (Direct Current Motor : DC Motor)
มอเตอร์ที่ติดตั้งให้กับหุ่นยนต็เปรียบเสมือนกล้ามเนื้อของหุ่นยนต์ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวขับเร้าให้กลไกเคลื่อนไหวเป็นผลให้หุ่นยนต์เคลื่อนที่ไปได้ เช่นเมื่อติดตั้งมอเตอร์เข้ากับชุดของล้อแล้วหุ่นยนต์ของเราจะสามารถวิ่งรอบๆ ได้ ถ้าติดตั้งมอเตอร์เข้ากับคันโยกและข้อต่อบริเวณไหล่ของหุ่นยนต์ แขนก็จะสามารถเคลื่อนที่ขึ้น-ลงได้ และเมื่อติดตั้งมอเตอร์เข้ากับลูกกลิ้งและส่วนหัวของหุ่นยนต์จะทำให้หุ่นยนต์สามารถหมุนตัวไปทางด้านหน้าหรือหลังได้
มอเตอร์กระแสตรงเป็นเลือกหนึ่งในการใช้งาน ซึ่งจะทำหน้าที่เปลี่ยนพลังงาน จากพลังงานไฟฟ้าเป็นพลังงานกล โดยประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ส่วนที่อยู่กับที่ (Stator) และส่วนที่เคลื่อนที่ (Rotor) มอเตอร์กระแสตรงแบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ ๑) มอเตอร์ไฟฟ้ากระแสตรงแบบอนุกรม (Series Motors) มอเตอร์ชนิดนี้อาร์เมเจอร์จะต่ออนุกรมกับขดลวดที่อยู่กับที่ ทำให้สามารถปรับค่าที่เส้นแรงของสนามแม่เหล็กได้โดยเหมาะสมกับสภาวะการใช้งานที่ต้องการแรงบิดสูงที่ความเร็วต่ำ ๒)มอเตอร์ไฟฟ้ากระแสตรงแบบขนาน (Shunts Motors) มอเตอร์ชนิดนี้ขดลวดที่อาร์เมเจอร์จะต่ดขนานขดลวดที่อยู่กับที่ มอเตอร์ชนิดนี้สามารถปรับเส้นแรงแม่เหล็กได้อย่างอิสระ ทำให้ควบคุมพารามิเตอร์ (Parameter) ของมอเตอร์ให้มีค่าคงที่ เหมาะกับลักษณะงานที่มีความต้องการแรงบิดสูง ๓)มอเตอร์ไฟฟ้ากระแสตรงแบบผสม (Compound) มอเตอร์ชนิดนี้มีลักษณะการต่อแบบนำมอเตอร์แบบอนุกรมและมอเตอร์แบบขนานเข้ารวมกัน ทำให้สภาวะการทำงานอยู่ระหว่างการต่ออนุกรมและขนานในตัวเดียวกัน
ไมโครคอนโทรลเลอร์ (Microcontroller)
ความแตกต่างของหุ่นยนต์กับเครื่องจักรกลธรรมดาก็คือหุ่นยนต์มีระดับขั้นการทำงานด้วยตัวเองสูงกว่าเครื่องจักรกลธรรมดาซึ่งอาจเปรียบเทียบได้กับสมองสั่งงานเช่นเดียวกับในมนุษย์ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากหุ่นยนต์ไม่มีสมองไว้สั่งการ ก็อาจจะเดินตรงไปชนกับฝาผนังได้ ซึ่งถ้าหุ่นยนต์มีสมองควบคุม สมองก็จะประมวลผลข้อมูลจากอุปกรณ์ตรวจจับทำให้สามารถหลีกเลี่ยงการชนของฝาผนัง ในหุ่นยนต์ที่มีการควบคุมที่ซับซ้อนและมีเงื่อนไขการทำงานที่มีการปรับเปลี่ยนค่าหรือ เงื่อนไขที่ซับซ้อน เราจำเป็นต้องมีสมองที่มีความซับซ้อนในการในการโปรแกรมเงื่อนไขการทำงานลงไปในตัวหุ่นยนต์ ซึ่งอุปกรณ์ที่เป็นสมองของหุ่นยนต์นั่นก็คือ ไมโครคอนโทรลเลอร์ เป็นอุปกรณ์หลักในการควบคุมการทำงาน เพราะการควบคุมด้วยไมโครคอนโทรลเลอร์ทำให้สามารถเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการทำงานด้วยการเปลี่ยนโปรแกรมและ ยังสามารถทำงานในเงื่อนไขที่ซับซ้อนได้อีกด้วย
ไมโครคอนโทรลเลอร์จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ได้รับความนิยมที่สุดสำหรับการสร้างสมองให้กับหุ่นยนต์ เนื่องจากไมโครคอนโทรลเลอร์มีราคาไม่แพง ต้องการแหล่งจ่ายไฟต่ำ (5 โวลต์) และสามารถโปรแกรมได้ด้วยโปรแกรมประยุกต์บนเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (PC) เมื่อการโปรแกรมเสร็จสิ้น ไมโครคอนโทรลเลอร์จะสามารถทำงานได้ด้วยตัวเอง ซึ่งไมโครคอนโทรลเลอร์ ที่นิยมใช้มีอยู่ 2 ประเภท คือ แบบที่โปรแกรมด้วยภาษาระดับต่ำได้เพียงอย่างเดียว และแบบที่โปรแกรมด้วยภาษาระดับสูงได้ โดยแบบหลังนี้จะมีโปรแกรมปฏิบัติการเพื่อควบคุมการดาวน์โหลดของโปรแกรมภาษาชั้นสูงลงในไมโครคอนโทรลเลอร์อีกทอดหนึ่ง ในรูปที่ ๕ แสดงตัวอย่างของไมโครคอนโทรลเลอร์ที่ใช้ควบคุมหุ่นยนต์
สเตปปิ้งมอเตอร์ (Stepping motor)
โดยทั่วไปแล้วมอเตอร์ไฟฟ้ากระแสตรงหรือมอเตอร์ไฟฟ้ากระแสสลับ จะมีการหมุนที่ต่อเนื่อง อาจไม่สะดวกมากนักหากต้องการสั่งการทำงานให้เคลื่อนที่เป็นองศาตามที่สเตปปิ้งมอเตอร์สร้างไว้ สเตปปิ้งมอเตอร์จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถนำไปช้งานควบคุมทิศทางการหมุนตามตำแหน่งที่ต้องการได้หากตำแหน่งนั้นตรงกับสเต็ปของมอเตอร์พอดี ลักษณะการทำงานของสเตปปิ้งมอเตอร์ จะต้องป้อนสัญญาณพัลส์ (Pulse) ให้กับขดสเตเตอร์ทำให้เกิดแรงผลักที่โรเตอร์ จึงเกิดการหมุนของสเตปปิ้งมอเตอร์ เมื่อหมุนครับ 1 รอบ เท่ากับ 360 องศา ถ้าเสเตปปิ้งมอเตอร์มีการหมุนเท่ากับ 5 องศาต่อสเต็ป ดังนั้น ความละเอียด ของการหมุนของ สเตปปิ้งมอเตอร์ตัวนี้เท่ากับ 72 สเต็ปต่อรอบ โดยทั่วไปแล้วสเตปปิ้งมอเตอร์ถูกใช้งานอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน เพราะสามารถควบคุมการหมุนตำแหน่งใดก็ได้ เช่น หัวอ่าน CD ROM, Tape Classes ตลอดจนอุตสาหกรรมผลิตต่างๆ เช่น หุ่นยนต์อุตสาหกรรม, ระบบสายพาน เป็นต้น ชนิดของสเตปปิ้งมอเตอร์แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ แบบแม่เหล็กถาวร แบบเปลี่ยนแปลงค่ารีลักแทนต์ และแบบผสม ในรูปที่ ๖ ได้แสดงส่วนประกอบต่างของของสเตปปิ้งมอเตอร์ไว้
ชุดขับมอเตอร์ (Motor driver)
การขับเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ระบบกลไกเกิดการเคลื่อนไหวตามการสั่งงาน ส่วนใหญ่การทำงานของชุดขับจะเหมือนกับการทำงานของสวิทช์ที่เปิดปิดตามสัญญาณที่ชุดควบคุมส่งออกมา ชุดขับมอเตอร์อุปกรณ์ที่ใช้ในการควบคุม ตำแหน่ง ความเร็วของมอเตอร์ ซึ่งรับสัญญาณมาจากไมโครคอนโทรลเลอร์ในการควบคุม ตัวอย่างเช่น การขับมอเตอร์ไฟฟ้ากระแสตรงมีหลักการทำงานคือเมื่อป้อนแรงดันและกระแสให้กับมอเตอร์แล้วมอเตอร์จะหมุน โดยความเร็วในการหมุนนั้นขึ้นกับขนาดของแรงดันและกระแสที่จ่ายให้มอเตอร์ แต่แรงดันและกระแสที่ป้อนให้นั้นต้องไม่เกินค่าที่มอเตอร์สามารถรับได้ด้วย ไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดความรอ้นขึ้นที่ตัวมอเตอร์และเกิดความเสียหายขึ้น ส่วนทิศทางการหมุนของมอเตอร์นั้นขึ้นกับขั้วของแหล่งจ่ายที่เราป้อนให้แก่มอเตอร์ ในรูปที่ ๗ แสดงชุดขับมอเตอร์ (Motor driver)
เซอร์โวมอเตอร์ (Servo motor)
เซอร์โวมอเตอร์เป็นมอเตอร์ชนิดพิเศษที่สามารถควบคุมให้ทำงานเฉพาะตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งได้ โดยที่เซอร์โวมอเตอร์ประกอบด้วย DC มอเตอร์, ชุดเกียร์ทดรอบ, เซ็นเซอร์จับตำแหน่งของเพลา และวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่ควบคุมมอเตอร์ ซึ่งคำว่า ?เซอร์โว? มาจากการที่ระบบมีความสามารถที่จะควบคุมพฤติกรรมของตัวมันเองได้ ซึ่งมันสามารถวัดตำแหน่งของตัวมันเองและชดเชยกำลังงานที่เสียไปด้วยสัญญาณควบคุมทีป้อนกลับมา ในรูปที่ ๗ แสดงตัวอย่างของเซอร์โวมอเตอร์
เอนโคดเดอร์ (Encoder)
เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการวัดมุมเพลาของมอเตอร์ ซึ่งมีอยู่ 2 ชนิด คือ ๑)เอนโคดเดอร์ อินคริเมนต์ (Incremental Encoder) โดยทั่วไปเรียกว่าเอนโคดเดอร์แบบโรตารี(Rotary Encoder) จะสร้างสัญญาณพัลล์ (Pulse) ที่แปรผันตรงกับการหมุนของเพลามอเตอร์ซึ่งจะหมุนด้วยความเร็วเท่ากับเพลาของมอเตอร์นั่นเอง โดยเอนโคดเดอร์แบบโรตารีจะประกอบด้วย จานหมุน และอุปกรณ์ตรวจจับ (Sensor) โดยจานหมุนจะมีช่องเล็กๆ เมื่อเพลาของมอเตอร์หมุนจะทำให้จานหมุนไปตัดลำแสงของเซ็นเซอร์ ทำให้ชุดรับแสงมีการรับสัญญาณเป็นช่วงๆ จึงทำให้สัญญาณเอาต์พุทมีลักษณะเป็นพัลล์ ๒)เอนโคดเดอร์แบบสัมบูรณ์ (Absolute Encoder) หรือโดยทั่วไปเรียกว่าโพเทนชิโอมิเตอร์(Potentiometer) เป็นเอนโคดเดอร์อีกชนิดหนึ่งที่อาศัยหลักการของ ออปติคโดยทั่วไปแล้วการทำงานคล้ายกับเอนโคดเดอร์แบบโรตารี โดยการเคลื่อนที่ของ โพเทนชิโอมิเตอร์จะแปรผันโดยตรงกับความเร็ว หรือระยะทางของการเคลื่อนที่ เอนโคดเดอร์ ชนิดนี้จะนิยมใช้มากในระบบคอนโทรลจะให้ความเที่ยงตรงและสามารถบอกได้ทุกตำแหน่งของการเคลื่อนที่ ตลอดจนมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่า ในรูปที่ ๘ แสดงตัวอย่างของเอนโคดเดอร์
เซ็นเซอร์ (Sensor)
เซ็นเซอร์เป็นส่วนที่สำคัญอีกอันหนึ่งในการทำงานของหุ่นยนต์ เพราะเซ็นเซอร์เปรียบเสมือนกับประสาทสัมผัส เช่น เป็น หู ตา ของหุ่นยนต์ ในการทำงานของมนุษย์จะมีตาเป็นอวัยะที่ทำหน้าที่รับภาพ หูทำหน้าที่รับเสียง ผิวหนังทำหน้าที่รับรู้สัมผัสและอุณหภูมิ อวัยะเหล่านี้ทำการเปลี่ยนการสัมผัสทาง ตา หู ผิวหนัง ให้กลายเป็นสัญญาณทางประสาทส่งให้สมอง เช่นเดียวกับเซ็นเซอร์จะทำหน้าที่เปลี่ยน แสง เสีย สัมผัส อุณหภูมิ ให้กลายเป็นสัญญาณไฟฟ้าที่จะส่งให้ส่วนควบคุม
เซ็นเซอร์เองก็แบ่งประเภทคล้ายประสาทสัมผัสของมนุษย์ เช่น เซ็นเซอร์แสงที่ทำหน้าที่เปลี่ยน แสง สี เป็นสัญญาณไฟฟ้าเหมือนตา, เซ็นเซอร์เสียก็ทำหน้าที่เปลี่ยนเสียงเป็นสัญญาณไฟฟ้าเหมือนหู, เซ็นเซอร์สัมผัสและอุณหภูมิ เป็นสัญญาณไฟฟ้าเหมือนผิวหนัง เซ็นเซอร์แก๊สก็ทำหน้าที่ตรวจวัดสารเคมีที่ฟุ้งกระจายเหมือนจมูก นอกจากที่ยังมีเซ็นเซอร์ชนิดต่างๆ อีกมากมายในการเป็นสัญญาณรับรู้ให้หุ่นยนต์ เช่น เซ็นเซอร์วัดตำแหน่ง (Position Sensor), เซ็นเซอร์วัดความเร็ว (Velocity Sensor), เซ็นเซอร์วัดความเร่ง (Acceleration Sensor), เซ็นเซอร์วัดแรง (Force Sensor), เซ็นเซอร์วัดแรงบิด (Torque Sensor) เป็นต้น
|
|
|
|
|
|
|
|
บทความนี้ถูกเผยแพร่ในเวปไซด์ http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9500000149390
ท่านผู้อ่านสามารถส่งข้อคิดเห็น/เสนอแนะมาที่ผู้เขียนที่ djitt@fibo.kmutt.ac.th
——————————————————————————————
ข้อมูลจำเพาะของผู้เขียน
ดร. ชิต เหล่าวัฒนา จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาและทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา
ภายหลังจบการศึกษา ดร. ชิต ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม ฟีโบ้ (FIBO) เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เพื่อทำงานวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนให้คำปรึกษาหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และบริษัทข้ามชาติ (Multi-national companies) ในประเทศไทยด้านการลงทุนทางเทคโนโลยี การใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติชั้นสูง และการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ