คืนก่อนที่ผมจะต้องเดินทางไปศึกษาต่อที่ ญี่ปุ่นด้วยทุนมอมบูโช อาจารย์หริส สูตะบุตร ปกติจะทำงานจนดึกดื่น ได้เรียกผมไปพบท่านถามว่าเตรียมตัวเรียบร้อยแล้วหรือยัง? แล้วพูดต่อขึ้นมาว่าเมื่อผมเรียนจบแล้วหากไม่กลับช่วยทำงานที่บางมดถือว่า ไม่เห็นใจอาจารย์ที่แบกรับภาระการสอนงานวิจัยไว้มากมาย และถ้าไม่ยอมกลับมาเมืองไทย…ใช้ไม่ได้เพราะไม่เห็นแก่ประเทศชาติ ขณะที่ผมกำลังงุนงงกับคำอวยพรของท่านนั้น ก็โดนไล่กลับให้ไปแพ็คกระเป๋าและพักผ่อนให้เพียงพอ
ต่อมาผมจึงพบว่าคำอวยพรนี้กลายเป็นคาถา “ ขมังเวทย์” ทำให้ผมไม่ลืมปูมหลังและเจตนารมณ์ตลอดจนวิสัยทัศน์ของผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัย เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จนกระทั่งมีความกล้าหาญสานต่อพันธะกิจของท่านเหล่านั้น สร้างเขี้ยวเล็บทางปัญญาให้กับประเทศ ด้วยการจัดตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการพัฒนาหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้)” ขึ้นมา
ฟีโบ้วาสนาดีมากที่มีสถานที่ตั้ง และพวกเราได้ทำงานอยู่ในสิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ มีหลักสูตรเชิง “ปฏิบัติ” ที่เข้มข้น ตามแนวทางของมหาวิทยาลัยที่โด่งดังระดับโลก เช่น Massachusetts Institute of Technology (M.I.T) และ Tokyo Institute of Technology (T.I.T) ผมเห็นว่าการต่อยอดไปถึงงานวิจัยเชิงทฤษฎีนั้นง่ายกว่าการทำย้อนศรเพราะได้ พิสูจน์ทดลองปฏิบัติด้วยตนเอง นั่นคือพื้นฐานการศึกษาของผมที่บางมดทำให้ผมเข้าถึงงานวิจัยระดับปริญญาเอก ได้โดยไม่ยุ่งยากมากนักและมีสิ่งประดิษฐ์ที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยได้รับ US Patents ถึง 2 ชิ้น
แรงหนุนจากคณาจารย์และเพื่อนร่วมงานภาค วิชาวิศวกรรมเครื่องกลรวมทั้ง ดร. พิชิต ฤกษนันทน์ และ ดร. สุรเชษฎ์ ชุติมา เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผมเหนื่อยน้อยลงมากในช่วงก่อร่างสร้างตัวของฟีโบ้ ผมยังได้รับการชี้แนะและ “อบรม” อย่างดีดังเดิมเสมอต้นเสมอปลายจากอาจารย์เก่าแก่ เช่น อาจารย์บันเทิง สุวรรณตระกูล อาจารย์สมยศ จันเกษม อาจารย์สุชัย ศศิวิมลพันธ์ อาจารย์ไพบูลย์ หังสพฤกษ์ ฯลฯ เหมือนครั้งที่ผมยังเป็นลูกศิษย์ท่านแม้นว่าในปัจจุบันผมมีโอกาสเข้าหาท่าน เหล่านั้นน้อยลงเนื่องจากมีภาระเพิ่มขึ้นมากทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย ผมยังเชื่อว่า หากขาดการสนับสนุนข้างต้นดังกล่าว ฟีโบ้ก็คงเป็นเพียง “ศูนย์กระดาษไร้วิญญาณ” ที่ปรากฏได้แต่เพียงในแผนดำเนินการของรายงานประจำปีเท่านั้น อันเป็นสิ่งด้อยค่าและอนุชนรุ่นหลังมิสามารถนำไปใช้อ้างอิงหรือดำเนินการต่อ ไปได้
บัดนี้ฟีโบ้มีอายุครบ 10 ปีแล้ว ด้วย พละทั้งห้าคือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ของ บุคลากรรุ่นใหม่ คือ ดร. สยาม เจริญเสียง ดร. ถวิดา มณีวรรณ์ คุณ อนุสรา มีชัย ฯลฯ ทำให้ฟีโบ้เลื่อนวิทยฐานะขึ้นเป็นสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม ขยายกิจกรรมออกไปมากมายจนแวดวงการศึกษาและสาธารณะชนรู้จัก ฟีโบ้อย่างกว้างขวาง ฟีโบ้ได้รับการกล่าวขวัญถึงในฐานะสถาบันวิจัยชั้นนำของประเทศไทยที่นำไป เทียบกับหน่วยงานวิจัยหุ่นยนต์ของประเทศเพื่อนบ้านโดยไม่ต้องอายใครเลย
นิยายจีนกำลังภายในกล่าวปรัชญาชีวิตไว้ อย่างจับใจว่า “ไม่มีงานเลี้ยงใดไม่เลิกรา” จริงอยู่ที่ผมชอบวิทยาการหุ่นยนต์ และหลงใหลบรรยากาศการทำงานของฟีโบ้ที่ตกทอดมาจากบางมด แต่ผมนั้นกำหนดรู้อยู่ที่รู้เสมอ จึงแจ้งด้วยปัญญาว่าเวลานี้ฟีโบ้ได้สั่งสมประสบการณ์พอสมควรแล้ว สามารถก้าวต่อไปอีก 10 ปีข้างหน้าขึ้นเป็นผู้นำเทคโนโลยีหุ่นยนต์ระดับนานาชาติได้ ซึ่งต้องอาศัยความคิดและความรู้ที่สอดคล้องกับความจริงเบื้องหน้า พร้อมๆกับส่งเสริมสนับสนุนคนรุ่นใหม่เหล่านี้ขึ้นมาเป็นผู้นำอยู่ตลอดเวลา ฟีโบ้จึงจะวัฒนาสถาพรได้อย่างแท้จริง
ชิต เหล่าวัฒนา
12 ตุลาคม 2548
Cambridge, Massachusetts