จินตนาการศิลปะสู่หุ่นยนต์และอนาคต - Institute of Field roBOtics (FIBO)
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • English
    • Thai

จินตนาการศิลปะสู่หุ่นยนต์และอนาคต

logo robot brain

จินตนาการศิลปะสู่หุ่นยนต์และอนาคต

——————————————————————————————

       เรากำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ด้านสังคมและเทคโนโลยีอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มิได้มีความหมายเฉพาะเพียงเนื้อหาด้านเทคโนโลยีเท่านั้น หากแต่เทคโนโลยีใหม่ๆที่เกิดขึ้นนี้จะช่วยให้เราสามารถจัดการแก้ปัญหาเชิงระบบที่ซับซ้อนได้จนกระทั่งเราเข้าใจพฤติกรรมมนุษย์และสังคมของเราดีขึ้น

ปัญหาที่พูดถึงนี้ส่วนใหญ่เป็นปัญหาที่มนุษย์ก่อขึ้นมาเกือบทั้งสิ้นทั้งที่ไม่ตั้งใจหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์และด้วยกิเลสตัณหาความโลภไม่เข้าใจในสภาวะธรรมชาติของความเป็นจริงที่อยู่เบื้องหน้า ผมเชื่อว่าเราทุกคนนั้นคงไม่ต้องการมอบมรดกสังคมที่วุ่นวายสับสนแก่ลูกหลานในอนาคต หากแต่อยากเห็นพวกเขามี “วิธีคิดและปัญญา” พอที่ช่วยให้สามารถเผชิญปัญหาใหม่ๆได้

5

ในคราวที่จัดตั้งสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทยเมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว ผมได้เอ่ยกับเพื่อนๆว่า สังคมมองนักเทคโนโลยีส่วนใหญ่สนใจแต่เพียงพัฒนาวัตถุเท่านั้น จริงหรือไม่จริงเป็นอีกเรื่อง แต่เราก็ไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบต่อผลกระทบเชิงลบของเทคโนโลยีที่เราสร้างขึ้นได้ ทางเลือกใดที่มนุษย์ตัดสินใจลงไปควรอยู่บนพื้นฐานความพร้อมของข้อมูลหรือแม้กระทั่งความมั่นใจในการคาดคะเนผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น

วิวัฒนาการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสายตาของผมนั้นเป็นเครื่องมือสำคัญช่วยให้มนุษย์ตัดสินใจและบริหารงานได้ถูกต้องแม่นยำขึ้น ในช่วงนี้เรายังได้ประจักษ์ถึงความพยายามของรัฐบาลไทยที่ลงทุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาและการดูแลสุขภาพถ้วนหน้าถึงรากหญ้าประชาชน โอกาสสำคัญเช่นนี้คนไทยจึงควรทำความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีได้อย่างสอดคล้องกับศิลปวัฒนธรรมอันดีงาม

มนุษย์เปลี่ยนแปลงโลกผ่านการออกแบบโดยน้ำมือของมนุษย์เอง หากมองไปรอบๆตัวท่านผู้อ่านจะพบว่า เกือบทุกสิ่งทุกอย่างถูกออกแบบผสมผสานกับเนื้อหาทางศิลปวัฒนธรรม โดยนักออกแบบ ทีมงาน และองค์กรต่างๆ ดังนั้นศิลปวัฒนธรรม และวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีจึงเกี่ยวพันกันอย่างลึกซึ้งแยกออกจากกันไม่ได้

Walkman และ iPod เป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นผ่านการออกแบบนวัตกรรมเทคโนโลยีขั้นสุดยอด

ในทำนองเดียวกันกับเสื้อผ้าที่เราใส่ อาหารที่เราทานเข้าไป และสิ่งแวดล้อมที่เราอยู่ สิ่งประดิษฐ์และงานออกแบบเหล่านี้สะท้อนเอกลักษณะ ของมนุษย์ในยุคนั้นๆ ศิลปะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญสร้าง “ความฝัน” สู่ความคิดใหม่เสมอ นักศิลปะท้าทายวิธีคิดของสังคม บางครั้งยังให้มุมมองและวิสัยทัศน์ใหม่ในการใช้งานอุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ ในขณะที่เทคโนโลยีหนุนให้ฝันเหล่านั้นเป็นจริงแม้ว่าท้องฟ้าความฝันของนักศิลปะจะไกลสุดเอื้อมก็ตาม เทคโนโลยีและศิลปะจึงเป็นปัจจัยการเปลี่ยนแปลงของกันและกัน

วิทยาการหุ่นยนต์ เป็นที่รวมของเทคโนโลยีสุดยอดหลายๆสาขาข้างต้นเข้าด้วยกัน เป็นเวทีแสดงความสามารถของมนุษยชาติในปัจจุบัน งานประยุกต์ใช้งานหุ่นยนต์มีมากมายเหลือคณานับ อาทิเช่น หุ่นยนต์ช่วยให้คนแก่ คนพิการสามารถเดินไปไหนมาไหนได้สะดวกขึ้น ล่าสุด ชุดสวมหุ่นยนต์(Robotic Exoskeleton) ที่พัฒนาขึ้นโดย UC Berkeley ช่วยให้มนุษย์สามารถแบกน้ำหนักถึง 200 กิโลกรัม วิ่งขึ้นทางลาดชันได้อย่างสบาย อีกด้านหนึ่งเรากำลังทดลองใช้หุ่นยนต์ในโรงพยาบาลเพื่อให้คนไข้สามารถไปถึงสถานที่และได้รับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงที การผ่าตัดเปลี่ยนกระดูกสะโพก หุ่นยนต์ที่พัฒนาโดย IBM ก็ปฏิบัติการได้ด้วยความละเอียดสูง แผลผ่าตัดหายได้เร็วขึ้น

ยังมีหุ่นยนต์ในประเทศญี่ปุ่นที่ช่วยงานเกษตรกรรมต่างๆ และอีกไม่นานเราคงได้เห็น “รถหุ่นยนต์” (Intelligent Vehicle) ที่สามารถควบคุมและขับเคลื่อนหลบหลีกสิ่งกีดขวางได้เองอย่างอัตโนมัติ ทำให้เราไม่เครียดจากภาวะจราจรติดขัด

นักศิลปะ และนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ เช่น Karel Capek และ Fritz Lang ได้จินตนาการประยุกต์ใช้งานหุ่นยนต์ข้างต้นตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1920-1927. ประมาณ 80 ปีมาแล้ว นักเทคโนโลยีเพิ่งทำจินตนาการนั้นสำเร็จเมื่อเร็วๆนี้เอง แม้ในรายละเอียดอาจผิดเพี้ยนไปบ้าง แต่ตั้งอยู่บนพื้นฐานระดับจิตใจของผู้ใช้เทคโนโลยีนั้นด้วย กฎหุ่นยนต์สามข้อของ Issac Asimov ที่ว่าหุ่นยนต์ต้องไม่ทำร้ายมนุษย์-ทำงานตามคำสั่งมนุษย์-ต้องปกป้องตนเอง ในความเป็นจริงหุ่นยนต์ยังปฏิบัติตามคำสั่งที่เราตั้งโปรแกรมไว้ แต่เป็นเรื่องน่าเศร้าที่มนุษย์ผู้ใช้เทคโนโลยี กลับละเลยกฎข้อหนึ่งเสียเอง มนุษย์ได้ใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์สร้างระบบนำร่องอัตโนมัติติดไว้ที่ขีปนาวุธมีไว้ “ฆ่าและทำลาย” เพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง

สมองของนักเทคโนโลยีและนักศิลปะได้สรรค์สร้างสิ่งต่างๆมากมาย พร้อมอธิบายความลึกลับซับซ้อนของธรรมชาติ แต่เรากลับมีความเข้าใจ “สมอง” ของมนุษย์น้อยมาก นักวิจัยทั่วโลกกำลังวิจัยค้นหาความลึกลับของสมองนี้โดยใช้วิทยาการปัญญาประดิษฐ์ นักศิลปะอย่าง Stelarc ติดตั้งแขนหุ่นยนต์เข้าร่างกายตนเอง เพื่อแสดงงานศิลปะที่เกิดจากการปฏิสัมพันธ์ของการปรับตัวเชิงศิลปะของสมองในสภาวะแวดล้อมที่มีเทคโนโลยีเป็นปัจจัย

ในขณะที่ผลวิจัยดังกล่าวยังไม่มีอะไรชัดเจน พุทธศาสนิกชนเช่นเราท่าน น่าจะก้าวข้ามเรื่องทางโลกที่เต็มไปด้วยทุกข์ ทำเข้าใจทั้งอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาได้ รู้แจ้งสภาวะต่างๆตามความเป็นจริง ทั้ง สังขตธรรม และ อสังขตธรรม จนทำให้พ้นทุกข์ได้ระดับหนึ่งเมื่อจิตนิ่งและเข้าถึง “ปัญญาแท้” แล้ว ผลงานที่ออกมาก็จะมีแต่ความสร้างสรรและประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติอย่างแท้จริง

ท่านผู้อ่านสามารถส่งข้อคิดเห็น/เสนอแนะมาที่ผู้เขียนที่ djitt@fibo.kmutt.ac.th

ข้อมูลจำเพาะของผู้เขียน

djitt2

      ดร. ชิต เหล่าวัฒนา จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาและทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา

     ภายหลังจบการศึกษา ดร. ชิต ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม “ฟีโบ้ (FIBO)” เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เพื่อทำงานวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนให้คำปรึกษาหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และบริษัทข้ามชาติ (Multi-national companies) ในประเทศไทยด้านการลงทุนทางเทคโนโลยี  การใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติชั้นสูง และการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ

Categories: Post from Dr.Jiit