คิดได้แต่ไม่รู้ - Institute of Field roBOtics (FIBO)
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • English
    • Thai

คิดได้แต่ไม่รู้

 logo robot brain

คิดได้แต่ไม่รู้

 ได้ยินมาว่า มีการศึกษาวงสวิงและการตีกอล์ฟของแชมป์อย่างคุณไทเกอร์ วูดส์ รายงานการศึกษามีความหนาถึง 2,000 หน้ากระดาษ A4 โดยมีประเด็นการศึกษาครอบคลุมด้านโครงสร้างของข้อแขน ข้อมือ และกระดูกส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง จนถึงพลศาสตร์การเคลื่อนไหว ผมกำลังค้นหาเอกสารนี้อยู่ สิ่งที่ผม “ทึ่ง” มากกว่าผลการศึกษานี้ คือ คุณไทเกอร์ วูดส์ ไม่เห็นจำเป็นต้อง “รู้” อย่างที่รายงานการศึกษานั้นพยายามจะรู้ แต่ก็ตีกอล์ฟเป็นแชมป์มาแล้วหลายสมัย ในขณะเดียวกัน คนอย่างผมที่มีพื้นฐานวิศวกรรมอาจมีความเข้าใจรายงานการศึกษานั้น ตั้งใจอ่านไปมาหลายรอบ ก็ไม่สามารถตีกอล์ฟได้เก่งเหมือนแชมป์ไทเกอร์ วูดส์ ได้เลย!!
12

ความรู้และความสามารถด้านกอล์ฟในระดับแชมป์นี้ จึงไม่สามารถถ่ายทอดผ่านคำพูดหรือตัวอักษรได้ (Tacit Knowledge)

อันที่จริง มีความรู้นานัปการ ในลักษณะนี้ที่ผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองเรามีอยู่มาก แม้ว่าท่านเหล่านั้นได้เกษียณจากการทำงานปกติไปแล้วก็ตาม หากผู้เยาว์อย่างพวกเราเคารพท่าน มีโอกาสทำงานรับใช้ท่านเหล่านั้นอย่างใกล้ชิด หรือได้สัมผัส เพียง

แค่ “วิธีคิด” ของท่าน ก็สามารถเห็นทางสว่างและความจริง ที่ยากต่อการสื่อสารให้ครบถ้วนด้วยการพูดหรือเขียนได้

วิทยาการหุ่นยนต์ จากซีกโลกตะวันตกสนใจศึกษาอวัยวะรับรู้ของมนุษย์เพียงห้าอย่างคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย โดยรวมเอาอายตนะที่หกทางพุทธศาสนา คือ “ใจ” ไปกับระบบประสาทและสมอง

ความก้าวหน้าของวิทยาการปัจจุบัน ถึงขั้นนำข้อมูลที่ได้รับจากอวัยวะรับรู้ทั้งห้าในรูปแบบ Audio, Video Clips และอื่น ๆ มาผสมผสานกันเป็น Multimedia เพื่อใช้ฝึกหุ่นยนต์ในงานประยุกต์ที่เราไม่สามารถเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์สั่งงานหุ่นยนต์ได้ ตัวอย่างงานในลักษณะนี้ คือ การฝึกผ่าตัด โดยให้คุณหมอผู้เชี่ยวชาญสวมถุงมือหุ่นยนต์ (Phantom Hands) หุ่นยนต์ก็จะบันทึกการเคลื่อนไหวของแต่ละข้อนิ้ว/ข้อมือ สัมพัทธ์กับเวลาและแรง/แรงบิด ที่คุณหมอท่านนั้นใช้ในการผ่าตัด ในขณะเดียวกันข้อมูลด้าน Video, Audio และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผ่าตัดนั้น ถูกบันทึกและเรียนรู้ด้วย เมื่อใช้งานมือหุ่นยนต์ดังกล่าวหลายครั้งขึ้น ความรู้ในการขยับมีดผ่าตัดให้ถูกต้องของคุณหมอ จึงถูกถ่ายทอดไปยังสมองกลอัจฉริยะของหุ่นยนต์ เมื่อนำอุปกรณ์นี้มาฝึก การขยับข้อมือ/ข้อนิ้ว (Motor Skill) ให้แก่คุณหมอมือใหม่นั้น ระบบคอมพิวเตอร์จะนำข้อมูลจาก Multimedia Database ที่สร้างไว้ก่อนหน้านี้ มาจำลองสถานการณ์เป็นความจริงเสมือน (Virtual Reality) โดยคุณหมอมือใหม่เหล่านั้นสามารถปฏิสัมพันธ์ (Interaction) กับภาพการเคลื่อนไหวต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับแรง/แรงบิด กระทำโดยคุณหมอ หากบิดข้อมือผิดทางหรือออกแรงมากเกินไประบบคอมพิวเตอร์จะเตือนและวิธีการหรือแนะนำทิศทางที่ถูกต้องให้

12-1

ระบบความจริงเสมือนที่ผมพูดถึงนี้ แตกต่างกับเกม Virtual Reality ที่น้อง ๆ เล่นตามห้างสรรพสินค้าทั่วไป ตรงที่มีบูรณาการปฏิสัมพันธ์ด้านแรงกระทำ เข้าไปในระบบ และมีการถ่ายทอดความชำนาญโดยการบังคับ (constraints) ว่าเคลื่อนที่ / เคลื่อนไหว หรือออกแรงอย่างไรจึงถูกต้อง

มาถึงตอนนี้ เรามักเจอคำว่า Haptic Interface ซึ่งก็คือ อุปกรณ์ที่แสดงผลของแรงเพื่อให้มนุษย์สามารถสัมผัสและรู้สึกจนกระทั่งโยกย้ายวัตถุเสมือนในสิ่งแวดล้อมที่เป็น Virtual Reality เพื่อให้ประเทศไทยทันต่อการพัฒนาเทคโนโลยีสาขานี้ ทางสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม ได้ทำวิจัยระบบความจริงเสมือนที่เกี่ยวข้องกับหุ่นยนต์ โดยได้รับความกรุณาด้านทุนวิจัย จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว.) รัฐบาลไทย

ในต่างประเทศ นอกเหนือจากการประยุกต์ใช้ด้านการแพทย์และกายภาพบำบัดแล้ว ยังมีการใช้งานด้านอุตสาหกรรมงานประกอบชิ้นงานในระหว่างกระบวนการออกแบบ ทั้งนี้เนื่องจากยังไม่มีชิ้นงานออกมาจริงๆ แต่เราต้องการทราบและแก้ไขความยุ่งยากในงานกระบวนผลิตที่ต้องประกอบชิ้นงานเข้าด้วยกัน การใช้ระบบนี้จึงลดต้นทุนและเวลาลงมาก ในงานวิจัยนาโนเทคโนโลยี ระบบใกล้เคียงกันกับระบบนี้ทำให้นักวิจัยสามารถสัมผัสอะตอมขนาดไมครอนได้ อีกไม่นานเราอาจมีเครื่องให้เราได้ท่องเที่ยวไปในห่วงโซ่ DNA ของเราเองได้

กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ มีการพัฒนาระบบ 3D- Virtual Reality เพื่อฝึกการขับเรือดำน้ำหลบหินโสโครก ความสามารถเฉพาะตัวของพลขับได้ถูกถ่ายทอดไปยังเพื่อนคนอื่นได้ สัญชาตญาณบางอย่าง ที่ในอดีตไม่สามารถถ่ายทอดได้เลย บัดนี้เราทำได้แล้ว นักวิทยาการหุ่นยนต์เชื่อว่า จากนี้ไปเทคโนโลยีหุ่นยนต์จะช่วยส่งผ่านและพัฒนาต่อยอดความรู้ Tacit Knowledge จากมนุษย์รุ่นหนึ่งไปยังรุ่นต่อไปได้ตราบเท่าที่สื่อกลางเหล่านี้ยังคงมีอยู่

ขอเน้นว่าเทคโนโลยีนี้เกิดขึ้นได้จากการปฏิสัมพันธ์ หรือปฏิบัติ มากกว่าการ ฟัง พูด อ่าน เขียน เรื่องนี้ก็เป็นความจริงในการศึกษาพุทธศาสนา ต่อให้ฟังเทศน์เก่ง คิดตามที่พ่อแม่ครูบาอาจารย์ สั่งสอนได้ดีเพียงใด หากไม่ปฏิบัติด้วยตนเอง ก็ไม่มี “ทางรู้” เลย มีได้แต่เพียง “ตัวกูไม่มีตัวกูของกู” เท่านั้น

ท่านผู้อ่านสามารถส่งข้อคิดเห็น/เสนอแนะมาที่ผู้เขียนที่ djitt@fibo.kmutt.ac.th

——————————————————————————————
ข้อมูลจำเพาะของผู้เขียน

djitt2

     ดร. ชิต เหล่าวัฒนา จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาและทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา

     ภายหลังจบการศึกษา ดร. ชิต ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม “ฟีโบ้ (FIBO)” เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เพื่อทำงานวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนให้คำปรึกษาหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และบริษัทข้ามชาติ (Multi-national companies) ในประเทศไทยด้านการลงทุนทางเทคโนโลยี  การใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติชั้นสูง และการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ

Categories: Post from Dr.Jiit