ก่อนหน้าผมได้พูดถึงการใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ในการผ่าตัดมะเร็งลำได้ไปแล้ว วันนี้ขอแนะนำระบบหุ่นยนต์เพื่อเปลี่ยนกระดูกตะโพก ผมได้รับทราบจากคุณหมอหลายท่านว่า สตรีไทยที่มีบุตรธิดาหลายคนเมื่อมีอายุมากขึ้นจะประสบกับปัญหากระดูกผุกร่อนโดยเฉพาะตรงตำแหน่งตะโพก
ทั้งนี้ ในช่วงที่คุณแม่ตั้งครรภ์ลูกๆ ดึงแคลเซียมจากแม่เพื่อเสริมสร้างกระดูกตัวเอง หากไม่มีการทดแทนทางธรรมชาติหรือรับประทานเสริมเข้าไปตามหลักการทางแพทย์ที่ถูกต้องแล้ว มีโอกาสสูงที่ต้องไปรับการผ่าตัดกระดูกตะโพก ตามรูป ตำแหน่งรอยร้าว (Fracture) ส่วนใหญ่ปรากฏอยู่ด้านบนของกระดูก Femur ที่มีลักษณะเป็นหัวทรงกลม (Femoral Head) ทำหน้าที่คล้ายๆกับ Ball Join ในกลไกเครื่องจักรทั่วไป บริเวณนี้นี่เองมีแรงและแรงบิดกระทำอยู่ในปริมาณมากจนความเค้น(Stress)ที่เกิดขึ้นเกินกว่ากระดูกที่ผุกร่อนสามารถรับได้
ก่อนที่จะมีหุ่นยนต์มาช่วยผ่าตัดเรื่องนี้ คุณหมอประสบกับความยุ่งยากในการคว้านโพรงใน Femur ให้มีขนาดพอดีกับ Implant ที่ทำจากโลหะไร้สนิม ที่ต้องทำให้พอดีหรือเหลือช่องว่างไว้นิดหน่อย ก็เพื่อไม่ต้องใส่สารเชื่อมประสาน(Cementless)ระหว่างเนื้อเยื่อ ภายใน Femur กับ Implant ปล่อยให้มีการขยายตัวของเนื้อเยื่อตามธรรมชาติมาประสานเอง มีหลักฐานทางการแพทย์ว่า วิธีนี้ทำให้การวางตัวของ Implant ใน Femur จะเสถียรในระยะยาวกว่าการใส่ซีเมนต์เข้าไป ลักษณะการคว้านด้วยมือนี้ใกล้เคียงกับการใช้ลิ่มตอกสกัดหินหรือปูนในงานก่อสร้าง
แหม..แค่จิตผมนึกถึงก็เสียวแล้วครับ แต่ความเป็นจริงมันไม่ใช่เรื่องความเจ็บปวดขณะนั้น ช่องว่างที่เกิดจากการสกัดด้วยมือมีถึง 1-4 มม. ซึ่งใหญ่เกินไปที่เนื้อเยื่อธรรมชาติจะขยายมาเชื่อมประสานได้ ดังนั้นเวลาเดินจึงไม่หนักแน่นดังธรรมชาติ ผมเดาว่าคงเหมือนกับเราขับรถที่ช่วงล่างหลวมคลอน ความมั่นใจในการขับรถนั้นลดลงไปเยอะเลย
เทคโนโลยีหุ่นยนต์ทำงานด้วยละเอียดถึง 4/1000 นิ้ว ประมาณ 0.1 มม อนุมานว่า หุ่นยนต์ที่ช่วยคว้านโพรงนี้ต้องมีการควบคุมแรงกระทำ ดังนั้นความละเอียดคงอยูประมาณ 0.1 มม ซึ่งถือว่าดีกว่าการใช้มือสกัดถึง 10 เท่าตัว นอกจากนี้ ลักษณะของกระดูก Femur จะมีการบิดตัวในแนวแกนเช่นเดียวกับใบพัดเครื่องบินแต่ไม่มากเท่า หินเจียรที่จับโดยหุ่นยนต์ 6 องศาอิสระ สามารถทำงานตามโปรไฟล์ (Profile) นี้ได้อย่างง่ายดายในขณะที่มือคนทำได้ไม่ดีหรืออาจทำไม่ได้เลย
ผู้เข้าทำการรักษาจะถูกยึดกับเตียงผ่าตัดที่มีตำแหน่งแน่นอน คุณหมอจะใช้เครื่อง CT Scan ในการหาตำแหน่งของ Femur ดังกล่าวในสามมิติ จากนั้นอาศัยภาพซ้อนสามมิติในการหาขนาดและวางตำแหน่งของ Implant ให้เหมาะสมกับขนาดมิติของ Femur ตรงนี้ยังคงต้องอาศัยประสบการณ์คุณหมอ หุ่นยนต์เพียงมาช่วยไม่สามารถมาทดแทนผู้เชี่ยวชาญได้เลย จากนั้นระบบก็จะสร้างโปรไฟล์การเคลื่อนที่และความเร็วของการคว้านโพรง และเพื่อให้การเคลื่อนที่สัมผัสของคนไข้มีผลต่อสมรรถนะของระบบน้อยที่สุด เราจึงฝังหมุดไทเทเนียมใกล้ๆบริเวณ Femur แล้วใช้หมุดดังกล่าวเป็นจุดอ้างอิงในการคำนวณ
ตอนพัฒนาขึ้นใหม่ๆใน ปี ค.ศ. 1993 ใช้สุนัขทดลองไปหลายสิบตัว ตอนนี้ระบบมีมาตรฐานสูงขึ้นและใช้ในเชิงพาณิชย์แล้วครับ แต่ให้ปลอดภัยอย่างไร? พวกเราอย่าไปลองดีกว่าถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ขออวยพรให้ท่านผู้อ่านทุกท่าน มีสุขภาพดีทั้งกายและใจ สามารถพิจารณาสิ่งรอบข้างอย่างไม่ติดสมมุติ แต่เป็นไปตามสภาวธรรมจริง โภชังโฆ สติสังขาโต ธัมมานังวิจโย
ท่านผู้อ่านสามารถส่งข้อคิดเห็น/เสนอแนะมาที่ผู้เขียนที่ djitt@fibo.kmutt.ac.th
——————————————————————————————
ข้อมูลจำเพาะของผู้เขียน

ดร. ชิต เหล่าวัฒนา จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาและทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา
ภายหลังจบการศึกษา ดร. ชิต ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม ฟีโบ้ (FIBO) เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เพื่อทำงานวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนให้คำปรึกษาหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และบริษัทข้ามชาติ (Multi-national companies) ในประเทศไทยด้านการลงทุนทางเทคโนโลยี การใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติชั้นสูง และการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ |