คาถาของนักหุ่นยนต์ - Institute of Field roBOtics (FIBO)
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • English
    • Thai

คาถาของนักหุ่นยนต์

logo robot brain

คาถาของนักหุ่นยนต์

article36-1ผมได้พบและพูดคุยกับบัณฑิตท่านหนึ่งที่มีพื้นฐานการศึกษาดีมาก:ปริญญาตรีจาก มหาวิทยาลัยเยล และปริญญาโท 2 ใบ จากฮาวาร์ด และ สแตนฟอร์ด แต่สิ่งที่ผมประทับใจมากกว่าคือแทนที่จะมาประกอบอาชีพสร้างรายได้และผลประโยชน์ให้กับตนเอง กลับเลือกเส้นทางเดินที่มีอุดมการณ์เพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถของเด็กไทย ให้เด็กไทยมีโอกาสฝึกฝน “วิชาคิด” รู้จักเอาใจเขามาใส่เรา ผสมกลมกลืนตัวเองกับสิ่งแวดล้อมและสังคมได้ ให้เข้าใจด้วยการปฏิบัติว่าเมื่อใดเราฝืนธรรมชาติ ทุกข์ก็ตามมาทันที

ผมจึงได้อนุโมทนาไปขอให้สามารถทำความฝันสู่ความเป็นจริงจนสร้างทำประโยชน์แก่เด็กๆและบ้านเกิดเมืองนอนได้ และในฐานะที่ผมเป็นผู้ประสานงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ของมูลนิธิศึกษาพัฒน์ รับผิดชอบโครงการความร่วมมือระหว่าง ประเทศไทยและสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาซูเซสต์ จึงได้แนะนำให้บัณฑิตผู้มีอุดมการณ์ท่านนี้ไปเยี่ยมชม กิจกรรมด้านการเรียนรู้และวิจัย ของมีเดียแล็บ ที่ปรมาจารย์ด้านศึกษาคือ ศาสตราจารย์ ซีมัวร์ แพพเพิร์ต เป็นผู้บุกเบิกก่อตั้งไว้

อาจารย์ได้กล่าวไว้ว่า “การเรียนรู้ที่ดีขึ้นมิได้เกิดการใช้วิธีการสอนที่ดีขึ้น เพียงแต่ให้โอกาสให้ผู้เรียนรู้ได้สร้างองค์ความรู้จากข้อมูลที่ได้รับมา” ผมทราบว่าตอนนี้ท่านได้เกษียณแล้วกลับไปอยู่ที่บ้านเกิด:มลรัฐเมนแล้ว

ผมปีติยินดีมากที่เห็นคนไทยรุ่นใหม่ให้คุณค่าของการศึกษาเด็กเล็กเช่นบัณฑิตท่านนี้ ตั้งแต่ผมกลับจากสหรัฐอเมริกาเมื่อสิบปีก่อน ผมเห็นว่า ระบบและสิ่งแวดล้อมการศึกษาของไทยในปัจจุบัน ทรมานเด็กมาก เรียนเสร็จแล้วต้องกวดวิชากันอุตลุดต่อเนื่องอย่างดุเดือด เจ็ดวันไม่มีวันหยุด มีแรงกดดันมาก เป็นแรงกดดันที่เกิดจากการแข่งขันและท้าทาย เอาตัวรอด

แน่นอนครับว่า “ชีวิตคือการแข่งขัน” แต่ผมปรารถนาไม่อยากเห็นผลการแข่งขันโดยเฉพาะเรื่องการศึกษาของเด็กๆ เยาวชนมาแบ่งแยก ผู้ชนะและผู้แพ้ คนเก่งและคนด้อย เพราะในความเป็นจริง ไม่มีผู้ชนะผู้แพ้อย่างแท้จริง ผู้ที่แข็งแกร่งในสายตาผมคือผู้ที่ทำให้เพื่อนที่อ่อนด้อยกว่าลุกขึ้นยืนและสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ที่สำคัญอย่าลืมคำว่า “เพื่อน”
article36-2        วันรับปริญญาเอกของผมที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอนนั้นบัณฑิตต้องวิ่งเข้าแถวสู่เต็นท์ผ้าขนาดใหญ่ ท่านอธิการบดีมายืนกำกับทักทายอยู่หน้าเต็นท์ ด้วยการตบไหล่เบาๆและกระซิบ “คาถาสำคัญ” แก่ลูกศิษย์ กลุ่มเพื่อนผมมีอยู่ด้วยกัน f40 กว่าคน ปัจจุบันเป็นนักวิจัยนักวิชาการที่มีชื่อเสียงสร้างผลงานด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์มากมาย บางคนเป็นผู้บริหารระดับสูงของบริษัทชั้นนำของสหรัฐอเมริกา 500 อันดับแรก เมื่อพวกเรากลับมาเจอกันในงาน Reunion ของมหาวิทยาลัยคุยกันและสำนึกถึงคุณค่าคาถาของอาจารย์ คาถานั้นคือ “Hurry up …..go along with your friends” คาถานี้สอนให้เราเดินหน้าไปพร้อมๆกัน แบ่งปันความคิด ช่วยกันทำงาน มิใช่แข่งขันกัน

บางครั้งการมีสัมมาสติและปัญญามองย้อนกลับไปในอดีตที่ผ่านมาของตนก็ทำให้สามารถค้นพบตัวเองและสิ่งที่เราต้องการทำให้สำเร็จจนเกิดประโยชน์ได้ และอาจ “สัมผัส” ที่มาที่ไปว่าเราเกิดมาทำไม และมีจุดแข็งอยู่ที่ใดที่นำไปใช้ทำงานได้ สาธารณะชนเข้าใจว่า ผมและเพื่อนร่วมงานที่สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม-ฟีโบ้ มีหน้าที่สร้างหุ่นยนต์

อันที่จริงฟีโบ้นั้น “สร้างคน” แต่จะสร้างให้ดีและเก่งนั้น เราต้องให้นักศึกษาได้สัมผัสและปฏิบัติงานจริงงานจริง

ในเมื่อฟีโบ้ต้องการสร้างผู้นำด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์จึงมีความจำเป็นที่นักศึกษาของต้องลงมือออกแบบและสร้างหุ่นยนต์ขึ้นมาจริงๆ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องนำหุ่นยนต์ที่สร้างขึ้นไปใช้ในงานภาคสนามได้ ดังนั้น ความอยากที่จะมาศึกษาต่อที่ฟีโบ้เพราะเห็นว่าเป็นสถาบันที่มีผลงานมากมายและมีคณาจารย์เก่งๆทำงานอยู่นั้น น่าเป็น “ศรัทธาเทียม” ที่มีประโยชน์เพียงแค่เปิดประตูบานหนึ่งเข้าสู่โลกของวิทยาการหุ่นยนต์ นักศึกษาทุกคนต้องอาศัย “ศรัทธาแท้” คือเชื่อมั่นในตนเองจึงจะจบได้รับปริญญาจากฟีโบ้ นักศึกษาต้องทำงานอย่างหนักและรู้ซึ้งในเรื่องที่วิจัยดีกว่าอาจารย์ที่ปรึกษา เมื่อถึงตอนสอบปากเปล่าปกป้องวิทยานิพนธ์ ต้องทำให้คณะกรรมการสอบรู้สึกเสมือนกลับไปเป็นนักศึกษาเพราะได้เรียนรู้เพิ่มเติมจากผู้เข้าสอบ

การให้โอกาสนักศึกษาค้นหาหัวข้อวิจัยเองนั้นมีความสำคัญมาก แม้ต้องใช้เวลามากขึ้นก็ตาม เนื่องจากหัวข้อวิจัยที่ได้นั้นเกิดจากความสนใจของนักศึกษาเอง เมื่อ “ใจ” มา พลังการค้นคว้ามหาศาลก็บังเกิดขึ้น เพื่อนๆ ผมหลายคนโดนอาจารย์ที่ปรึกษาบังคับให้ทำงานวิจัยในหัวข้อที่ได้รับทุนสนับสนุน มา ไม่ทำได้ไม่ได้เพราะต้องอาศัยทุนดังกล่าวมาจ่ายค่าเล่าเรียน จึงเกิดความทุกข์และผลงานที่ออกมาไม่ดีเท่าที่ควรarticle36-3
ผมเองมีวาสนาดีเรื่องนี้กล่าวคือ ได้ทำงานในเรื่องที่ชอบ บทเรียนที่ผมได้เห็นมาจากบรรยากาศงานวิจัยของมหาวิทยาลัยต่างแดน ได้สนับสนุนฟีโบ้ให้มีงานวิจัยนักศึกษามีความริเริ่มและผูกพันตั้งแต่การเขียนโครงการขอทุนการวิจัย หากเป้าหมายการขอทุนอยู่ที่ภาคเอกชนอุตสาหกรรม โครงการที่เสนอไปต้องสะท้อนความต้องการของผู้สนับสนุนด้วย ดังนี้เองนักศึกษาจึงได้เรียนรู้รอบด้านผสานความสนใจส่วนตัวจึงได้หัวข้องานวิจัยที่มีค่ายิ่ง ผลผลิตสำคัญมิใช่เพียงงานวิจัยที่ได้แต่รวมถึงนักวิจัยที่มีคุณภาพสูง

ผมขอเรียนว่ามีหุ่นยนต์หลายตัวที่ฟีโบ้สร้างขึ้นตามโจทย์ที่อุตสาหกรรมตั้งให้ทำ เช่น หุ่นยนต์ล้างท่อ หุ่นยนต์ล้างถังน้ำมัน หุ่นยนต์กู้ภัย หุ่นยนต์เก็บท่อนเหล็กร้อน (Crop collector) ในสายการผลิต ทีมงานนักวิจัยและนักศึกษาก็ดำเนินการได้อย่างมีความ “มันส์” และรู้สึกท้าทายไม่แตกต่างจากงานวิจัยไฮเทคเลย ตลอดจนต้องทำงานเป็นทีมตามคาถาที่ผมกล่าวไว้ข้างต้น

พอเริ่มประสบการณ์ทำงานมาระยะหนึ่ง ผมเห็นค่อนข้างชัดเจนว่าไม่มีงาน ด้านเทคนิคใดที่เราทำไม่ได้หรอกครับ แต่ที่จะพลาดคือการสื่อสารและการทำงานอย่างจริงจัง สมัยผมอยู่ในทีมกว่า 60 คน สร้างหุ่นยนต์ต้นแบบไปดาวอังคารนั้น ทุกคนต้องทำงานส่งกันเป็นทอดๆ ถ้าติดขัดคนเดียวโครงการรวมก็พลาดเป้าได้ ดังนั้นอย่าช้า เหมือนตอนผมเด็กๆเตะฟุตบอลอยู่ในป่าช้าท้ายวัด ตะโกนบอกเพื่อน

“ส่งลูกเร็วๆหน่อยเพื่อน เลี้ยงบอลเก่งไม่กลัว กลัวช้า (โว้ย)”
——————————————————————————————
ข้อมูลจำเพาะของผู้เขียน

djitt2

ดร. ชิต เหล่าวัฒนา จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาและทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา

 
ภายหลังจบการศึกษา ดร. ชิต ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม “ฟีโบ้ (FIBO)” เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เพื่อทำงานวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนให้คำปรึกษาหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และบริษัทข้ามชาติ (Multi-national companies) ในประเทศไทยด้านการลงทุนทางเทคโนโลยี  การใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติชั้นสูง และการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ

 

 

 

Categories: Post from Dr.Jiit