หุ่นยนต์มิตรไมตรีจิต
![]() แต่เมื่อพิจารณาความเป็นจริง หุ่นยนต์ที่ถือกำเนิดมายังโลกนี้มีอายุมาแล้วกึ่งศตวรรษ ได้สร้างประโยชน์มากมายในภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่มีสภาวะแวดล้อมที่อันตรายต่อมนุษย์ กระบวนการสร้างชิ้นงานที่ต้องมีความละเอียดสูง งานรักษาความปลอดภัยและต่อต้านวินาศกรรม การสำรวจสถานที่ที่มนุษย์ไม่สามารถเข้าถึงได้โดยง่าย เช่น การสำรวจภูเขาไฟ และแม้กระทั่งนอกโลก เช่น ดาวอังคารเป็นต้น ผมจึงเห็นว่าหุ่นยนต์ในระยะต้นนี้เป็นอุปกรณ์ที่ทำให้มนุษย์สามารถดำรงชีพและทำงานได้หลายอย่างขึ้น ทั้งนี้ เทคโนโลยีหุ่นยนต์ เป็นศาสตร์ที่ทำงานตามกฎเกณฑ์ธรรมชาติ (Physics) และขณะเดียวกันก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้มนุษย์เข้าใจธรรมชาติมากยิ่งขึ้น ผมได้ปรารภกับเพื่อนๆ นักวิจัยที่ มีเดียแล็บ สถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาซูเซตส์ (MIT) ว่า ณ ช่วงเวลานี้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ได้มาถึงจุดเปลี่ยนจากการแทนแรงงานคนไปอีกสถานะหนึ่งแล้ว พวกเราได้เห็นผลลัพธ์งานวิจัยด้านแฮปติกส์ (Haptics)ที่ทำให้ หุ่นยนต์ สามารถเรียนรู้ความรู้ความชำนาญของมนุษย์ประเภทถ่ายทอดไม่ได้ทางคำพูดหรือตัวอักษร (Tacit Knowledge) แฮปติกส์เป็นวิธีการหนึ่งในเทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่สร้างความสัมพันธ์ระหว่างการเคลื่อนที่ แรง/โมเมนต์ที่เกิดขึ้น และข้อมูลทางภาพที่เห็น (Visual Information) ซึ่งไม่มีสมการคณิตศาสตร์หรือคำพูดที่อธิบายได้อย่างสมบูรณ์แบบ ปัจจุบันมีการสร้างถุงมือผ่าตัดที่มีอุปกรณ์แฮปติกส์ติดตั้งอยู่ แล้วให้คุณหมอผู้เชี่ยวชาญใช้งาน ความสัมพันธ์ข้างต้นจึงถูกบันทึกไว้ เมื่อคุณหมอฝึกหัดมาใช้ถุงมือนี้ แฮปติกส์จะสร้างแนวทาง (Guidelines) ให้คุณหมอได้ขยับนิ้วขยับมือได้อย่างถูกต้อง ความชำนาญจึงถูกถ่ายทอดจากคุณหมออาวุโสไปยังคุณหมอมือใหม่ภายในระยะเวลาที่สั้นลง เมื่อประยุกต์หลักการทำนองเดียวกันนี้ในบรรดากิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ เราจึงเห็นโอกาส รำไร ในการรักษาความสามารถของคนรุ่นเก่าๆ ที่กำลังสาบสูญไป ท่านผู้อ่านที่นิยมดูพระพุทธรูป คงเห็นด้วยกับกระผมว่า เราคงหาช่างปัจจุบันค่อนข้างยากที่มีฝีมือใกล้เคียงกับบรรพบุรุษสมัยสุโขทัย พระพุทธรูปสมัยนั้นมีรูปร่างทุกส่วนสวยงามยิ่งนัก พระพักตร์เปี่ยมด้วยพระเมตตา หุ่นยนต์จะถ่ายทอดความชำนาญนี้ได้ อย่างน้อยหุ่นยนต์ต้องมี ปฏิสันถาร (Interaction) กับมนุษย์ ดังนั้นการวิจัยและพัฒนา หุ่นยนต์มิตรไมตรีจิต (Social Robots) จึงเริ่มขึ้น เพื่อให้มนุษย์เริ่มยอมรับในขั้นต้นได้บ้าง หุ่นยนต์ควรมีรูปร่างคล้ายมนุษย์ เช่น หุ่นยนต์อะซิโม จากฮอนด้า นอกเหนือจากนี้สภาวะแวดล้อมต้องพร้อมให้เขาเรียนรู้ด้วย มนุษย์ผู้เป็นพี่เลี้ยงต้องเข้าใจการอยู่ร่วมกับหุ่นยนต์ก่อนที่จะทำให้เรียนรู้การมาอยู่ร่วมกับเรา |
![]() หุ่นยนต์ต้องสามารถตีความ (Cognition) การแสดงออกของมนุษย์ในสังคมชนกลุ่มมาก ไม่ว่าจะเป็นทางหน้าตา คำพูด แม้กระทั่งลักษณะทางกายบางประการ ในขณะเดียวกัน หลังจากเรียนรู้หุ่นยนต์สามารถเลียนแบบการแสดงออกดังกล่าว หรือเลือกที่จะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่ต้อง สื่อสาร ให้พี่เลี้ยงเข้าใจความหมายของแต่ละอาการที่เขาแสดงออกมาให้เห็น เป็นที่น่าสนใจว่าในระยะแรกๆ ของการพัฒนาหุ่นยนต์มิตรไมตรีจิตนี้ นักวิจัยหลายกลุ่มเริ่มหาแนวทางสอนให้หุ่นยนต์รู้จักความแตกต่างระหว่างความจำเป็น (Need) และความต้องการ (Want) ผมเลยเสริมต่อไปเลยว่า ในระบบประสาทเทียม (Synthetic Nervous System) ที่สร้างขึ้นมานี้ เราควรใส่ สติ ในลักษณะของ Precaution Module ให้เขาสามารถแยกแยะการกระทำที่อาจจะมีผลเสียตามมา มิใช่รอให้ตรวจสอบ (Sensing) ได้ก่อนแล้วค่อยหยุดการกระทำ เพราะอาจสายเกินไปและผลเสียหายได้เกิดขึ้นแล้ว |
|
——————————————————————————————
ข้อมูลจำเพาะของผู้เขียน
ดร. ชิต เหล่าวัฒนา จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาและทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา
ภายหลังจบการศึกษา ดร. ชิต ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม ฟีโบ้ (FIBO) เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เพื่อทำงานวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนให้คำปรึกษาหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และบริษัทข้ามชาติ (Multi-national companies) ในประเทศไทยด้านการลงทุนทางเทคโนโลยี การใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติชั้นสูง และการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ